วันนี้ (12 กันยายน 2567) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ลุกขึ้นตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องมีการแถลงนโยบายใหม่อีกครั้งว่า มาจากปัญหา ‘นิติรัฐ’ หรือไม่

ณัฐพงษ์กล่าวว่า ใจความสำคัญของหลักนิติรัฐคือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบบกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยความอำเภอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากการแสดงความเห็นของบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดแล้วว่า ประเทศกำลังขาดนิติรัฐ ที่ใช้อำนาจมาทำลายพรรคการเมืองของประชาชน

เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่พรรคก้าวไกลที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่ ครม.ก็กำลังตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน จึงนำมาสู่การอภิปรายในวันนี้ จัดว่าตลอด 1 ปีของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้นสูญเปล่า จากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดย 3 ปีหลังจากนี้ ณัฐพงษ์นิยามไว้ว่าเป็น ‘รัฐบาล 3 นาย’ คือ ‘นายใหญ่-นายทุน-นายหน้า’ ที่ไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากประเทศยังคงอยู่ในระบบที่ไร้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรม

หัวหน้าพรรคประชาชนชวนตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดิน 1 ปีที่ผ่านมาว่า ประชาชนได้ประโยชน์อันใด จากคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้ง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ดังนี้

1. ‘คนยากไร้’ รอคอยโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ถูกเลื่อนหลายครั้ง จากตอนแรกที่ระบุว่า จะแจกพร้อมกันถ้วนหน้า สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กลับได้มีการปรับแผนเป็นทยอยจ่ายเงินสด ทำให้นโยบายเรือธงนี้เปลี่ยนเค้าโครงไปจากเดิม ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นส่วนใหญ่

2. ‘เกษตรกรไทย’ จำนวน 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจน มีหนี้สินล้นตัว แม้ว่าจะมีการประกาศจากรัฐบาลว่า จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น อีกทั้งยังพบปัญหาหมูเถื่อนและปลาหมอคางดำที่ทำลายโครงสร้างราคาสินค้าทางการเกษตร

3. ‘ภาคธุรกิจ’ ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน ที่รัฐบาลไม่เจรจาแก้ไขสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงาน แต่เลือกใช้วิธีการฝากหนี้ไว้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ที่ท้ายที่สุดต้องนำภาษีของประชาชนไปชำระจ่าย ขณะที่แผนพัฒนาไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจมากเกินจริง ทำให้มีโรงงานไฟฟ้าเกินความต้องการสูงถึง 40% ส่งผลให้ต้นทุนที่แปลงเป็นค่าเอฟที (Fuel Adjustment Charge (at the given time):Ft) สูงขึ้น

นอกจากนั้นภาคธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการทะลักของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยสูงกว่าผู้ประกอบการต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนวิธีจากเดิม ที่อาศัยการผลิตในประเทศเป็นการนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ลดการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบลง

 4. ‘ภาคประชาชน’ ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิตจากปัญหายาเสพติดที่ ‘สาวไปไม่ถึงต้นตอ’ ในด้านสวัสดิการสังคม ก็ยังไม่พบการเพิ่มสัดส่วนตามที่ทุกพรรคการเมืองให้คำมั่นสัญญาไว้

อีกข้อมูลที่ณัฐพงษ์ได้นำมาอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาล คือตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ออกข้อสั่งการที่มีผลเทียบเท่ามติคณะรัฐมนตรีกว่า 193 เรื่อง มีเพียง 10 เรื่องที่หน่วยงานตอบรับนำกลับมารายงานกับนายกรัฐมนตรี

“สถิตินี้แสดงปัญหาได้ 2 อย่าง หากไม่ใช่เพราะอดีตนายกฯ ไม่เข้าใจกลไกระบบรัฐราชการว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร หรือเป็นอีกแบบเพราะว่ารัฐบาลขาดอำนาจนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายกฯ สั่งการอะไรไปแต่ละราชการไม่ปฏิบัติตาม” ณัฐพงษ์เล่าถึงข้อสังเกต

หัวหน้าพรรคประชาชนระบุว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลเป็นผลจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทำให้นายกฯ ขาดอำนาจนำ เพราะราชการมองออกว่า สมาธิการบริหารราชการแผ่นดินถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

สิ่งที่ณัฐพงษ์คาดหวังว่า จะเห็นจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาประกอบไปด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ

  1. ‘ด้านการศึกษา’ ที่ปัจจุบันประเทศไทยวิ่งตามไม่ทันโลก เด็กจำนวนกว่า 1 ล้านคนหลุดจากระบบการศึกษา อีกทั้งคนไทยกว่า 50% ยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคต ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการ Reskill และ Upskill ในเรื่องของแพลตฟอร์มแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านมี
  2. ‘ด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ’ อุตสาหกรรมในอนาคตอย่างเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ยังขาดการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มบุคลากรในอุตสาหกรรมกว่า 8 หมื่นราย แต่การจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 กลับมีเพียง 0 บาท
  3. ‘ด้านความท้าทายประจำวัน’ ณัฐพงษ์ระบุว่า ทุกวันนี้ประชาชนเผชิญกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่เคยถูกบรรจุไว้ใน ‘นโยบายเร่งด่วน’ สมัยรัฐบาลเศรษฐากลับไม่พบในคำแถลงของรัฐบาลชุดใหม่

หัวหน้าพรรคประชาชนยังกล่าวย้ำถึงสิ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องใดคือ ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อสร้างนิติรัฐและยุติกระบวนการนิติสงคราม โดยคาดหวังว่า จะเป็นนโยบายแรกๆ ที่ถูกบรรจุใน ‘นโยบายเร่งด่วน’ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ทุกพรรคการเมืองได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ช่วงท้ายของการอภิปราย ณัฐพงษ์สื่อสารผ่านประธานรัฐสภาไปยังนายกฯ ว่า ต้องการให้นายกฯ สื่อสารเพื่อสร้างการชี้นำทางความคิดให้กับ ครม.ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ ทั้งการ ‘แก้ไขทั้งฉบับ’ และ ‘แก้ไขรายมาตรา’ ทั้งร่างแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหามาตรฐานจริยธรรม และจัดวางตำแหน่งหน้าที่ขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เช่น คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และร่างเพิ่มเติมหมวดป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร

“ยังมีอีกหลายวาระที่เราสามารถร่วมผลักดันกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ การกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบงบประมาณ โครงสร้างภาษี การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มสวัสดิการที่วันนี้หลายคนยังได้รับไม่ทั่วถึง

“พวกเราพรรคประชาชนได้เคยเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วันนี้หลาย 10 ฉบับ กองอยู่บนโต๊ะของนายกฯ เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยร่างการเงิน ซึ่งรอการรับรองอยู่ ถ้าท่าน (แพทองธาร ชินวัตร) เห็นด้วยกับเราในวันนี้ว่า วาระเหล่านี้เราผลักดันร่วมกัน ก็เซ็นรับรองกลับมาให้เดินหน้าต่อในสภาผู้แทนราษฎร” ณัฐพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , ,