วันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) ที่รัฐสภา เกียกกาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีพลเอกประยุทธ์แถลงกลยุทธ์ ‘3 แกน สร้างอนาคตเศรษฐกิจ’ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายสินเชื่อให้คนเล็กคนน้อยเพิ่มเติม และการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยพิธาระบุว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวไว้วางใจไม่ได้ เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เข้าใจถึงโครงสร้างพื้นฐานของแผนงานที่ตนกล่าวมา แม้พลเอกประยุทธ์จะกล่าวว่าหากสำเร็จจะกลายเป็น ‘จิ๊กซอว์’ เชื่อมประเทศ

พิธาเริ่มไล่ตั้งแต่กลยุทธ์แกนที่ 1 คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ตั้งแต่รถไฟฟ้าความเร็วสูง ถนน สนามบิน และท่าเรือ ที่พลเอกประยุทธ์เคยกล่าวว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณมากกว่า 5.8 ล้านล้านบาท จากข้อมูลกลับคืบหน้าไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ย้อนแย้งจากความเป็นจริง ยกตัวอย่าง สัญญาประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ความคืบหน้า 0 เปอร์เซ็นต์, รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ความคืบหน้าในการสร้าง 4.6 เปอร์เซ็นต์ และโครงการสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เอฟ ทำมาแล้ว 1 ปี ความคืบหน้าในการสร้าง 5 เปอร์เซ็นต์

และต่อให้โครงการที่ว่าเสร็จสิ้นก็ไม่สามารถเป็นจิ๊กซอว์ได้ตามคำที่พลเอกประยุทธ์กล่าวอ้าง เพราะจะเกิดความซ้ำซ้อนของแผนเส้นทางทั้งรถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟเดี่ยวความเร็วสูง และ มอเตอร์เวย์ กลายเป็นประชาชนที่ต้องแบกรับค่าภาษีทะนุบำรุงและค่าโดยสารที่แพงขึ้น ไม่ต่างไปจากกรณีตอม่อโฮปเวลล์ กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความอัปยศที่คนไทยไม่มีวันได้ใช้

แกนที่ 2 คือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก (EV) พิธาได้หยิบยกตัวอย่างจากประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามและจีน ที่สามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังต่างประเทศได้มากกว่าประเทศไทยถึง 5 เท่า โดยพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มองถึงปัจจัยแหล่งทรัพยากรสำคัญอย่าง ‘แร่นิกเกิล’ (Nickle) ว่ามีมากพอหรือไม่ รวมไปถึงอีกหลายปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต่างจากประเทศอินโดนีเซียที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด วางแผนล่วงหน้า ซ้ำร้ายยังกลายเป็นผลเสียมากกว่าโอกาสกับความเสี่ยงที่ประเทศจะกลายเป็นสุสานของรถเครื่องยนตร์สันดาป

แกนที่ 3 คือการเงินการธนาคารที่จะให้คน 30 ล้านคนเข้าถึง ขนาดมีอำนาจเต็มที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันแผนการเงินทั้งหมดที่พูดมากลายเป็นสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ไม่เข้าใจอะไรเลย ขนาดผู้บริหารธนาคารระดับประเทศยังงงกับแผนงานการเงินที่ว่า

พิธายังระบุต่อว่า เรื่องที่ไว้วางใจไม่ได้มากที่สุด ณ เวลานี้ ไม่ใช่แค่เรื่องแกนเศรษฐกิจทั้งสาม แต่เป็นการที่พลเอกประยุทธ์ไม่รู้จักประชาชนที่ต้องแบกรับภาระมากมายมหาศาล เช่น ค่าเงินบาทอ่อนสุดในรอบ 16 ปี, หนี้สาธารณะที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ และหนี้ครัวเรือนมูลค่า 4 ล้านล้านบาท แม้แต่ราคาปุ๋ยหรือราคาอาหารก็ตาม

“เรื่องที่ไว้วางใจไม่ได้มากที่สุดคือนายกรัฐมนตรีไม่รู้จักประชาชน ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำให้ประชาชนนอนไม่หลับคือไม่มีความหวัง ท่านต้องเข้าใจว่าตอนนี้เงินเฟ้อทั้งปีจะสูงที่สุดในรอบ 24 ปี เงินบาทอ่อนที่สุดในรอบ 16 ปี หนี้สาธารณะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ปุ๋ยแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ราคาอาหารสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในเวลาแบบนี้ ประชาชนต้องการให้นายกฯ เป็นผู้นำที่จะสร้างความหวังกลับมาให้ประเทศ ไม่ใช่ให้ สมช. คิดแผน แล้วก็ไปตั้งคณะกรรมการ เดี๋ยวก็ตั้งคณะอนุกรรมการ และอนุกรรมการก็ไปตั้งที่ปรึกษา ไม่ได้มีแก่นสาร ไม่ได้มีสาระอะไรที่จะทำให้ประเทศไทยออกจากวิกฤตได้เลย

“ท่านนายกฯ ต้องเลิกได้แล้วนะครับเวลาคิดอะไรไม่ออกก็โทษจำนำข้าว เพราะตลอด 3 ปี ที่ผ่านท่านก็ใช้งบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายเหมือนกัน 2 แสน 5 หมื่นล้านบาท ในการที่จะประกันราคาสินค้าการเกษตร วันแรกที่ท่านมา ท่านบอกว่าราคาสินค้าการเกษตรดีแล้ว ก็ต้องดีขึ้นสิครับ เพราะค่าเงินบาทมันอ่อน และพอมีวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคามันก็ขึ้น ทั้งหมดไม่ได้เป็นเพราะฝีมือของท่านเลย เพราะฉะนั้น ท่านอย่าเคลมว่ามันมีประสิทธิภาพ”

ส.ส.พรรคก้าวไกลยังระบุต่อไปว่า 3 แกนที่แท้จริงของพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่ 3 แกนเศรษฐกิจที่กล่าวอ้างว่าจะพัฒนาประเทศได้ แต่เป็น 3 ทำลาย คือ

1. ทำลายศักยภาพในประเทศ ผ่านการบริหารที่ผิดพลาดล้มเหลว ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะมีแต่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีหนี้นโยบายและหนี้กองทุนน้ำมันที่ซุกไว้

2. ทำลายศักยภาพของไทยในต่างประเทศ เป็นรัฐบาลที่ไม่ทันโลก ไม่เจนจัดสนามการเมืองโลก ขาดการวางตัวเป็นกลางเพื่อรักษาสมดุลระหว่างประเทศ เช่น กรณีเครื่องบินรบเมียนมา MIG-29 รุกล้ำน่านฟ้าไทยเข้ามายิงคนในประเทศตัวเอง

และ 3. ทำลายเสรีภาพของประชาชน เป็นการบ่อนทำลายนิติรัฐ ทำลายกฎหมาย อำนาจ กติกาเพื่ออำนาจของตัวเอง เห็นได้ชัดจากอัตราการฆ่าตัวตายของคนวัยหนุ่มสาว อายุ 25-34 ปี ของไทยสูงที่สุดในอาเซียน สูงยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านย่านเดียวกันถึง 5 เท่า

“ถ้าใช้เครื่องมือใหม่ของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จากมหาวิทยาลัยปรินส์ตันมาชี้วัด ที่ชื่อดัชนี Death of Despair หรือความตายจากความสิ้นหวัง พบว่าในช่วง 5 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ก่อนโควิด คนตายจากความสิ้นหวังเพิ่มขึ้น 34 เปอร์เซ็นต์ จากปีละ 1.4 หมื่นคน เป็นปีละเกือบ 2 หมื่นคน และถ้านำมาดูในช่วงโควิด มีคนไทยตายจากความสิ้นหวังที่รวมการเลือกจะจบชีวิตตัวเองจากการฆ่าตัวตาย เสพยาจนตาย กินเหล้าจนตาย ใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมา พบว่ามีมากกว่า 4 หมื่นคน นี่คือโรคระบาดแห่งความสิ้นหวังที่มีคนตายมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดเสียอีก”

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากกว่าอำนาจและพวกพ้อง ต้องรับฟังความเห็นผู้อื่น พร้อมดึงดูดพลังจากคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้

“ในยามที่บ้านเมืองบอบช้ำ ข้าวยากหมากแพง ผู้คนสิ้นหวังด้วยวิกฤตที่เราไม่เคยเจอมาก่อนแบบนี้ นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องไม่ใช่คนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นสากล ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ต้องเป็นคนที่รับฟังคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของตัวเองและคิดว่าจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกันได้อย่างไร ต้องเป็นคนที่มีความฝันไม่ใช่เพ้อฝัน สามารถบวกทฤษฎีกับการปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง สามารถดึงดูดพลังจากคนหนุ่มสาวเพื่อหาทางไปข้างหน้าไม่ว่าจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม”

Tags: ,