พลันที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอดวิบากกรรมกรณีถือหุ้น ‘ไอทีวี’ กลับมาเป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล การเมืองไทยที่ซบเซามานานหลายเดือนก็กลับมาคึกคักขึ้นทันที ทางไปต่อของก้าวไกลดูชัดเจนขึ้นด้วยบุคลิกของ ‘พิธา’ และน่าจะก้าวกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร’ หลังเดือนเมษายนนี้ ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 มกราคมนี้ ว่าด้วยการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

เพราะแม้ว่าพรรคที่เป็นผู้นำรัฐบาลจะเป็น ‘พรรคเพื่อไทย’ และพรรคขั้วอนุรักษนิยม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสังคมได้ หลายนโยบายกลายเป็นเรื่อง ‘แป้ก’ ไม่ว่าจะดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังเริ่มต้นไม่ได้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ยังดันไม่ขึ้น ผลกระทบที่ส่งชัดเจนก็คือไม่มีช่วงเวลาไหนที่ตลาดหุ้นจะซบเซามากขนาดนี้ ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะสำรวจความนิยมกี่ครั้ง ความนิยมในตัว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มากเท่ากับพิธา และรัศมีของ แพทองธาร ชินวัตร ที่เคยพุ่งในช่วงก่อนเลือกตั้ง ก็ค่อยๆ จางลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่ยาก และใช้เวลา

จุดสำคัญก็คือ แล้วพรรคเพื่อไทยจะไปอย่างไรต่อ แล้วพรรคก้าวไกลจะเดินหน้าอย่างไรต่อ

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจข้อแรกก็คือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุด ไม่ได้มีคนเลือกมากที่สุดในรอบนี้ ขณะเดียวกัน การเลือกไปจับมือกับการเมืองขั้วเดิม ย่อมส่งผลทำให้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลง การเป็นรัฐบาลผสมทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถคุมนโยบายหลักเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตร เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ, ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาได้ เพราะอยู่กับพรรคภูมิใจไทย, ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน และอุตสาหกรรมได้ เพราะอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น แขนขาในส่วนราชการระดับภูมิภาค กล่าวคือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังอยู่ในมือของพรรคภูมิใจไทย รัฐบาลเศรษฐามีทางเลือกเดียวคือ ต้อง ‘เชื่อใจ’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าจะทำตามนโยบายของเศรษฐา เพราะถึงที่สุดแล้ว พรรคภูมิใจไทยคือคู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทย ไม่น้อยไปกว่าพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ ภาพของ ‘มืออาชีพ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นภาพจำในสมัยพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544-2548 ก็ไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม

ทั้งหมดอาจด้วยสถานการณ์ในประเทศที่เปลี่ยนไป ระบบเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนกว่าเดิม โลกไม่ได้แข่งกันด้วยการทำให้ค่าแรงขั้นต่ำถูก เป็นประเทศอุตสาหกรรมแบบรับจ้างผลิตแบบสมัยก่อน แต่คือโลกที่แข่งกันด้วยอุตสาหกรรม Tech แข่งกันด้วยอุตสาหกรรมที่ ‘ฉลาด’ และหากนำประเทศไทยไปวางบนแผนที่โลก เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบว่าไทยทั้งย่ำอยู่กับที่มานานมาก และทำให้พัฒนาการภาพรวมช้ากว่าชาติอื่นๆ ไปไกล ยากที่รัฐบาลผสมจากพรรคเพื่อไทยจะนำการเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ

เรื่องเหล่านี้ยังถูกมะรุมมะตุ้มด้วยเรื่อง ‘การเมือง’ ใครก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดศูนย์รวมอำนาจที่ ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางเสียงที่วิพากษ์จากฝั่งชนชั้นนำว่า หากปล่อยเป็นเช่นนี้ ‘ทักษิณ’ จะมีอำนาจมากเกินไปและควบคุมไม่ได้ แม้ว่าสถานะของทักษิณคือผู้ป่วยชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจก็ตาม 

ฉะนั้น การล่ารายชื่อ ส.ว.กว่า 98 คน เพื่อขออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติต่อเศรษฐาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘ทักษิณ’ ไม่สามารถแสดงอำนาจได้ตามใจชอบ 

ในเวลาเดียวกันนี้คือช่วงเวลาที่พรรคก้าวไกลจะแสดงพลัง ฉายแสงขึ้นมาได้ เมื่อพิธากลับมามีอำนาจเต็ม และชนชั้นนำเลือกจะ ‘ไฟเขียว’ ให้พรรคก้าวไกลไปต่อเพื่อลดฟืนที่จะสุมในกองไฟ และเพื่อเป็นคานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย ไม่ให้พรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่เกินไป

พิธาประกาศว่ายุทธศาสตร์จากนี้คือการแก้มือ… ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีเขตที่พรรคก้าวไกลแพ้พรรคอันดับหนึ่งไม่ถึง 5% ราว 140 เขต และหากพรรคก้าวไกลสามารถรักษาเขตเลือกตั้งเดิม ผนวกด้วยการเอา 5% ที่แพ้คืนมา พรรคก้าวไกลจะไม่เป็นเพียงพรรคอันดับหนึ่งเท่านั้น แต่จะสามารถตั้งรัฐบาล ‘พรรคเดียว’ ได้ด้วยเสียง ส.ส.ที่อาจวิ่งไปถึง 270-280 เสียง ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าพรรคการเมืองไหนจะจับมือด้วยหรือไม่

ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่ว่ากันว่าเป็น ‘มันสมอง’ คนหนึ่งของพรรค เคยบอกกับ The Momentum ว่า การเคลื่อนพรรคการเมืองแบบก้าวไกลต้องมี ‘จังหวะก้าว’ ที่แม่นยำ บางจังหวะต้อง ‘มุดต่ำ’ อยู่นิ่ง เพื่อหลบมรสุมทางการเมือง บางจังหวะก็ต้อง ‘บินสูง’ เพื่อสร้างแนวร่วม และช่วงก่อนการเลือกตั้งต้องบินสูงที่สุด เพื่อกวาดคะแนน เก็บคะแนนเล็กคะแนนน้อย เก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้เต็มกระเป๋า

หลังพิธากลับมาเต็มตัว และในช่วงปลายปีนี้ จะเริ่มกลับมาสู่ฤดูกาล ‘เลือกตั้ง’ อีกครั้ง หากแต่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ก็ถึงเวลาที่พรรคก้าวไกล หมายมั่นปั้นมือว่าจะเดินเกมเต็มที่ ยึดสนามท้องถิ่น กวาดนายก อบจ.ให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับสร้างผลงานในสภาฯ เป็นการกลับมาบินสูงอีกครั้ง หลังอยู่ในภาวะหลบต่ำมานาน

คำถามสำคัญก็คือในภาวะที่พรรคก้าวไกลกลับมาบินสูง พรรคเพื่อไทยและพรรครัฐบาล พรรคขั้วอนุรักษนิยมเดิมจะรับมืออย่างไร จะจัดการแบบไหน คำถามสำคัญก็คือ หากพรรคก้าวไกลบินสูง บรรดาชนชั้นนำ บรรดา ‘ทุนใหญ่’ ที่พรรคก้าวไกลประกาศชัดว่าเป็นศัตรู จะเตรียมตัวแบบใด หรือจะร่วมกัน ‘ทุบ’ พรรคก้าวไกลอีกรอบ

เพราะสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ การเมืองไทยจะกลับมาเป็น ‘สองข้าง’ ‘สองแพร่ง’ อีกครั้ง ข้างหนึ่งคือพรรคฝ่าย ‘อนุรักษนิยมก้าวหน้า’ ที่มีพรรคเพื่อไทยและทักษิณเป็นแกนกลาง และพรรคฝ่าย ‘เสรีนิยม’ ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ 

ขณะเดียวกัน การเมืองไทยก็ยังมีอำนาจนอกระบบที่ว่าด้วย ‘ทหาร’–‘ทุนใหญ่’ และ ‘ชนชั้นนำ’ ที่ก็ต้องการเอาตัวรอดในสภาวะที่พรรคก้าวไกลเป็นเสียงข้างมาก แต่ในขณะหนึ่งก็ไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย 

เรื่องเหล่านี้จะอุดมอยู่ในสนามการเมืองไทยตลอดปีนี้ และปีหน้า การห้ำหั่นกันระหว่างแต่ละขั้วจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ 

และเมื่อใดก็ตามที่ขั้วใดเพลี่ยงพล้ำ ก็จะกลายเป็นโอกาสของอีกขั้วเสมอ…

Tags: , , ,