เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2023 สื่อเมียนมารายงานว่า ชายชาวกะเหรี่ยง 3 คนถูกจับกุมโดยกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) เนื่องจากทางการไทยส่งตัวกลับ หลังจากพวกเขาเดินทางข้ามพรมแดนมายังบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรับการรักษาพยาบาลจากอาการบาดเจ็บ

ชายชาวกะเหรี่ยงดังกล่าว ได้แก่ ติฮะ (Thiha) วัย 38 ปี, เทต เน วิน (Htet Nay Win) วัย 31 ปี และซอ พโย เล (Saw Phyo Lay) วัย 26 ปี เป็นสมาชิกหน่วยรบพิเศษคอมมานโดแห่งกองพันสิงโต (Lion Battalion Commando Special Force) หรือปฏิบัติการในกองทัพกอทูเล (Kawthoole) ซึ่งแยกตัวจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ภายใต้พลเอก เนอดา โบ เมียะ (Nerdah Bo Mya) อดีตผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA)

ภาพของชายทั้ง 3 คน (ที่มา: Myanmar Now)

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกแห่งหน่วยรบพิเศษคอมมานโดฯ ทั้ง 3 คน พยายามข้ามชายแดนเมียนมามายังจังหวัดตาก เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของติฮะ หลังจากพวกเขาถูกโจมตีฐานทัพในจนโด (Kyondo) เมืองกอกะเร็ก (Kawkareik) รัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา

มีรายงานเพิ่มเติมว่า พวกเขาเดินทางไปยังคลินิกในวันที่ 1 เมษายน จนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองในแม่สอด เพราะหลงทาง แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยจับกุมชาวกะเหรี่ยง 3 คนนี้ และส่งไปยังสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แม้ว่าองค์กรเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้อพยพพยายามให้ความช่วยเหลือ ทว่าทางการไทยบ่ายเบี่ยง และบอกให้มาเยี่ยมพวกเขาในพรุ่งนี้

แต่เจ้าหน้าที่ไทยกลับส่งชายทั้งสามกลับไปยังประเทศต้นทาง ด้วยการลงเรือข้ามแม่น้ำเมยในเวลา 08.00 น. ซึ่งสถานที่นั้นคือฝั่งตรงข้ามฐานของกองกำลังพิทักษ์ดินแดนในหมู่บ้านอิงยินเมียอิง (Ingyin Myaing) นอกจากนี้ยังมีคนพบเห็นว่า กองกำลังดังกล่าวยิงใส่ผู้อพยพทั้งสาม ก่อนลักพาตัวหนีไป

“พอองค์กรคุ้มครองผู้อพยพไปถึงที่นั่นในเวลา 11.00 น. ทางการไทยบอกว่า ปล่อยตัวพวกเขาในตอนเช้าตรู่แล้ว วันนั้นเป็นวันที่ 4 เมษายน… หลังจากที่ทั้ง 3 คนถูกจับกุม กลุ่มกองกำลังฯ เมียนมาก็คลุมศีรษะพวกเขาด้วยถุงผ้าสีดำ” แหล่งข่าวอธิบาย

มีการคาดการณ์ว่า ติฮะอาจมีอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าอก และซอ พโย เล บาดเจ็บส่วนต้นขา อย่างไรก็ตาม อาการบาดเจ็บของเทต เน วิน ยังคงเป็นปริศนา นอกจากนั้นมีพยานที่อ้างว่าใกล้ชิดกับกองกำลัง BGF รายงานว่า ชายทั้ง 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ส่งตัวกลับไปให้ทางการเมียนมา เมืองเมียวดี (Myawaddy) ในเวลา 23.00 น. เรียบร้อยแล้ว โดยข้อมูลข้างต้น ทั้งสำนักข่าวเมียนมานาว (Myanmar-Now) และเมียนมาเพรสโฟโตเอเจนซี (Myanmar Pressphoto Agency) รายงานตรงกัน

ปัจจุบัน ทางการเมียนมายังคงนิ่งเฉย และไม่มีการยืนยันสภาพของชายทั้ง 3 คน รวมถึงที่อยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่องค์กรที่เกี่ยวข้องได้เตือนแรงงานเมียนมาที่อาศัยในแม่สอด ให้ระมัดระวังการเข้าออกพื้นที่ดังกล่าว และความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

ภาพรวมของสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเมียนมาในไทย: เหตุสืบเนื่องจากการใช้อำนาจอันโหดร้ายของกองทัพเมียนมา

ปัจจุบัน ชายแดนไทยเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยจากเมียนมาอย่างหนัก สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนหลายพันคนหลบหนีข้ามพรมแดนมายังฝั่งประเทศไทย เพราะการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กับกองทัพเมียนมา สถานการณ์รุนแรงนี้สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา นำโดยพลเอก มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) เป็นผู้นำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 

โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมา เมื่อกองกำลัง KNLA เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร เพื่อบีบให้มิน อ่อง หล่าย ลงจากอำนาจ แต่ผู้นำเผด็จการยังคงไม่มีท่าทีเป็นอื่น นอกจากการใช้กำลังกับฝ่ายตรงข้าม มีรายงานว่า ประชาชนถูกสังหารกว่า 3,212 คน ยังไม่รวมนักการโทษทางการเมืองที่ถูกจำคุกมากกว่า 1.7 หมื่นคน

เจ้าหน้าที่ทางการไทยรายงานสถานการณ์ปัจจุบันเพิ่มเติมว่า การสู้รบเกิดขึ้นแถวชายแดนประเทศไทย บริเวณจังหวัดตาก ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเมียวดี ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง มีประชาชนกว่า 3,889 คน ลี้ภัยจากความรุนแรงทางการเมืองมายังศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

“หลายคนข้ามแดนมาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2023 บางคนก็ยังรอคอยที่จะกลับไปยังเมียนมา ผู้คนไม่มีน้ำดื่ม สุขาก็ยังไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา” เจ้าหน้าที่อาสานิรนามรายงานผ่านรอยเตอร์ (Reuters) 

ประชาชนบางส่วนหลบหนีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ณ ฝั่งไทยของแม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ที่มา: AFP)

มองสถานการณ์ของไทยในประชาคมโลก: ว่าด้วยวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศ

The Momentum สอบถามความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ไปยังผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่เปิดเผยตัวตนท่านหนึ่ง

เธออธิบายรายละเอียดและโครงสร้างกฎหมายผู้ลี้ภัยของไทยอย่างน่าสนใจว่า กฎหมายภายในของประเทศไม่ได้รองรับสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ สืบเนื่องจากรัฐไทยไม่ได้ลงนามใน ‘อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951’ (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม รัฐไทยยังสามารถใช้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากช่องว่างทางกฎหมายไทยได้ เช่น สิทธิในด้านสาธารณสุข หรือสิทธิในด้านการศึกษา

“พวกเขามีสิทธิ 100% แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุก็ตาม มันมาจากช่องว่างทางกฎหมาย อย่างคำว่า ‘บุคคลควรได้รับการรักษาพยาบาล…’ ซึ่งสามารถตีความได้ว่าทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่คนไทยเท่านั้น 

“และในความเป็นจริง เราสามารถดำเนินการได้สบาย… แต่ปัญหาอยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือสถาบันที่รับเรื่อง ณ ตอนนั้น บางกรณีไม่สามารถทำได้ เพราะหน่วยงานของรัฐไทยยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับผู้ลี้ภัยอยู่มาก” เธออธิบาย

สำหรับกรณีวิกฤตการณ์ของเมียนมา ผู้ทำงานในองค์กรผู้ลี้ภัยนิรนามรายนี้ถึงกับเน้นย้ำว่า ‘อ่อนไหว’ มาก แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาโดยตรง

“ส่วนใหญ่รัฐไทยเห็นคนเมียนมาเข้ามา เขาจะถูกส่งกลับไปยังพรมแดนหรือรัฐบาลโดยตรง ซึ่งค่อนข้างเยอะและไวเลย 

“แต่ที่แน่นอนในฐานะคนทำงานสายนี้ มันต้องผ่านกระบวนการขององค์การระหว่างประเทศอย่าง UN ด้วย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกคนข้ามพรมแดนมา ไม่ได้ขึ้นสถานะเป็นผู้ลี้ภัยโดยทันที แต่ต้องไปลงทะเบียนผ่าน UN เพื่อขอสถานะต่อมา

“ขบวนการนี้เยอะและยากมาก ใช้เวลาค่อนข้างนาน คือ 1 ปีขึ้นไป กว่าจะขึ้นสถานะว่าเป็นผู้ลี้ภัย… เพราะยังมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง UN จะมีเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งต้องยื่นเอกสาร ตรวจสอบ สัมภาษณ์อย่างแน่ชัดว่า คุณหนีมาด้วยเหตุผลตามเกณฑ์ของ UNHCR หรือเปล่า?

“ถึงแม้ไทยไม่มีพันธกรณีตามกฎหมาย แต่การลงทะเบียนสำคัญอยู่ เพราะอย่างน้อย ยังคงมีองค์การระหว่างประเทศ หรือ NGO ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลืออยู่

“อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลอะไรไม่ทราบ สำหรับกรณีนี้ เมียนมาเป็นหนึ่งใน 3 สัญชาติที่ UN ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเพื่อรับสถานะผู้ลี้ภัย นอกเหนือจากอุยกูร์ ม้งลาว ตอนได้รู้ครั้งแรกก็ตกใจเหมือนกัน

นอกเหนือจากนั้นแล้ว เธอยืนยันด้วยน้ำเสียงตรงไปตรงมาว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับข้ามพรมแดนของประเทศ ขัดต่อธรรมเนียมระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีเมียนมา หรือกรณีอื่นๆ ก็ตาม

“อยากพูดในฐานะความคิดเห็นของคนทำงานด้านนี้ เราไม่เห็นด้วยเลย เอาแค่มองในหลักมนุษยธรรมก่อนนะ การที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามหนีออกมาจากประเทศตัวเอง แบบอยู่ไปฉันก็จะตายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ไม่รู้ เขาต้องตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในบ้านเกิดมาอยู่ในประเทศที่ไม่รู้เลยว่าจะต้อนรับเขาดีไหม มันไม่มีทางเลือกอื่น มันเป็นหนทางสุดท้ายของเขาแล้ว 

“เราควรจะอ้าแขนรับและช่วยเหลือเขาให้ได้มากที่สุด เรื่องนี้มันไม่ได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่รัฐยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต

“แต่ด้วยความที่โลกนี้ยังมีความคิดเรื่องรัฐ เส้นเขตแดนที่ชัดเจน คนส่วนมากจะมองว่า ใครมารุกล้ำประเทศของเราต้องส่งกลับ หรือผู้ลี้ภัยมาจากประเทศที่ความสัมพันธ์ทางการทูตเราดีมาก เช่น เมียนมา จีน รัฐไทยก็จะส่งกลับโดยที่ไม่ไตร่ตรองอะไรด้วยซ้ำ มันจึงเป็นเรื่องทางการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย” เธอทิ้งท้าย

 

อ้างอิง

https://mpapress.com/en/people-defence-force/19202/

https://myanmar-now.org/en/news/three-myanmar-resistance-fighters-detained-in-thailand-and-delivered-to-junta-ally-source/

https://prachatai.com/journal/2022/07/99643

https://karennews.org/2022/08/kawthoolei-army-how-a-broken-system-and-a-disrespect-for-the-rules-of-law-in-the-knu-gave-birth-to-another-armed-group-in-karen-state/

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/7/thousands-flee-into-thailand-amid-renewed-myanmar-fighting

Tags: , , , , , , ,