สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า ส่งจดหมายขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเจรจาในกรณีของฮาคีม อัล-อาไรบี (Hakeem al-Araibi) นักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ทางการไทยจับกุมมาเกือบสองเดือนแล้ว  

เหตุการณ์นี้เริ่มจากเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561 ขณะ ฮาคีม อัล-อาไรบี เดินทางจากเมลเบิร์นมายังกรุงเทพฯ ทางการไทยกลับจับกุมเขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยอ้างว่า มีหมายจับขององค์การตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลที่ออกตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรน ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น วิธีปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกคุมตัวตามบัญชีรายชื่อของอินเตอร์โพล คือ ต้องห้ามเข้าประเทศและผลักดันกลับประเทศที่อยู่ก่อนหน้านี้

ตามที่เมื่อปี 2012 เขาถูกทรมานและคุมขังด้วยข้อกล่าวหาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองของน้องชายในช่วงอาหรับสปริงปี 2011 และในปี 2014 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีด้วยข้อหาทำลายสถานีตำรวจซึ่งเขาปฏิเสธ และขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลียเมื่อปี 2014 และได้สถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2017 ซึ่งการได้รับสถานะผู้ลี้ภัยนั้น หมายความว่าเขาได้รับอนุญาติให้อาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้

ในจดหมายที่ทาง ฟีฟ่า แสดงเจตจำนงถึงรัฐบาลไทยในกรณีดังกล่าวว่า “ไม่ควรส่งตัว อัล-อาไรบี กลับประเทศบาห์เรน เนื่องจากตอนนี้อัล-อาไรบี ได้อาศัยและประกอบอาชีพนักฟุตบอลมืออาชีพให้กับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทางออสเตรเลียก็ได้มอบสถานะผู้ลี้ภัยให้กับเขา หลังจากที่เขาถูกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมที่บาห์เรน ประเทศบ้านเกิดของเขา” ทางฟีฟ่าจึงเรียกร้องให้ทางการไทยอนุญาตให้อัล-อาไรบี เดินทางกลับประเทศออสเตรเลียอย่างปลอดภัย และทางฟี่ฟ่าเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ยุติธรรมและเป็นไปตามข้อปฎิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ  และทางฟีฟ่ายังรอการตอบกลับ และเข้าพบนายกรัฐมนตรี จากประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานทางด้านสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความเป็นห่วงว่า หากนายอัล-อาไรบี ถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน จะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกซ้อมทรมาน

ตามปกติแล้ว อินเตอร์โพลมีนโยบายที่ไม่ดำเนินการตามหมายจับ หากบุคคลนั้นๆ ได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว และหมายจับใบแดงของอัล-อาไรบี ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยกับบาห๋เรน ก็ไม่ได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของนายอัล-อาไรบี ระบุว่า ไทยอาจใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตในการส่งตัวข้ามแดน แต่อัล-อาไรบียังสามารถปฎิเสธที่จะไม่กลับบาห์เรนได้ ดังนั้นการพิจารณาส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงไม่ได้เป็นอำนาจของศาลไทย

ด้าน สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human right watch) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า เกิดคำถามและความสับสน ว่าทำไมจึงยังมีการจับกุม ทั้งที่หมายจับของอินเตอร์โพลถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาทางการไทยมักบอกว่า เป็นความร่วมมือกับทางการบาห์เรน ทำให้ต้องจับกุม อัล-อาไรบี

 

เรื่องโดย อนัญญา นิลสำริด

 

ที่มา :

Tags: , , ,