1. เมื่อวานนี้ (10 สิงหาคม 2565) ที่รัฐสภา เวลาประมาณ 11.30 น. สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ประชุมร่วมครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ พ.ศ. … วาระ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 23 ที่เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยสูตรการ ‘หาร 500’ ให้มี ส.ส. พึงมี

อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ในเวลาประมาณ 16.30 น. อภินิหารทางการเมืองเริ่มสำแดงเดช ในขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยก่อนเริ่มมีการแสดงตนกว่า 403 คน ครบองค์ประชุม แต่เมื่อถามความเห็นชอบในการลงมติเห็นชอบในมาตรา 24/1 กลับไม่ครบองค์ประชุมจึงปิดการประชุมโดยทันทีและไม่แจ้งจำนวนผู้ลงมติ 

สภาฯ ล่ม เซ่นปมหาร ส.ส. สูตรพิสดารนี้ คงไม่น่าแปลกใจนักเมื่อมองย้อนกลับไปหลายเดือนก่อนที่มีการพลิกไปมาระหว่างการใช้สูตรหาร 100 หรือ 500 จนก่อให้เกิดความสับสนไปตามๆ กัน

อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันนี้ล่ม นั่นเท่ากับว่าการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีอันโดนปัดตกไปโดยอัตโนมัติ เพราะไม่สามารถพูดคุยให้จบได้ในเวลา 180 วัน ซึ่งมีเส้นใต้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 จึงมีผลให้ต้องกลับไปใช้ร่างกฎหมายที่เสนอมาในวาระแรกเริ่ม ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวนั้นมีความสำคัญอยู่ที่การคำนวนสูตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีการหาร 100 นั่นเอง

(1)

ย้อนกลับไปวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2-3 ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ พิจารณาแล้วเสร็จผลปรากฏว่าที่ประชุมได้ลงมติร่างเห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 ไม่ลงคะแนน 4 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่คือสัญญาณที่ชัดเจนจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเล่นเกมการเมืองสกัดกั้นพรรคการเมืองขนาดใหญ่และหวังหยุดแลนด์สไลด์ของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางมีโอกาสได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มากขึ้น แน่นอนว่าการ ‘หักดิบ’ เปลี่ยนจากสูตรหาร 100 สู่หาร 500 กลางสภาฯ หลายฝ่ายมองว่านี่คือเกมเพื่อแลกเปลี่ยนให้บรรดาพรรคเล็กเทใจมาให้กับรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามากกว่า พราะถึงแม้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า จะออกจากพรรคไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคพลังประชารัฐจะกลายเป็นพรรคขนาดกลางหรือเล็กเสียทีเดียว

(2)

บรรดาแกนนำพรรคเล็กยังดีใจได้ไม่ทันไร เมื่อจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ ความจริงก็เริ่มเฉลยออกมา เมื่อคนคิดเกมต้องการเล่นในกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ด้วยสูตร หาร 100 ตั้งแต่แรก โดยการเริ่มแสดงอภินิหารออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่าทำไมจึงไม่สามารถใช้สูตรหาร 500 ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไปก่อนหน้า หรือหากหาร 500 พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ประโยชน์อันใดอยู่ดี

(3)

หลายฝ่ายมองว่า ข่าวลือที่จะกลับมาใช้สูตรหาร 100 มีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่มองว่า หรือพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย’ จะได้ประโยชน์ ขณะที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ก็ไม่ได้เสียอะไร จากการกลับมาใช้สูตรหาร 100 จึงดีลลับลมคมในเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็มองเช่นกันว่าเป็นการตลบหลังนายกรัฐมนตรีอย่างเจ็บแสบ จากเจ้าของพรรคตัวจริงอย่าง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

(4)

ในที่สุดวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันขีดเส้นตายของการประชุมร่วมเพื่อลงมติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ พ.ศ. … วาระ 2 ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเลย 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญ

เวลา 09.40 โดยประมาณ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาประกาศยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่มีดีลลับกับพรรครัฐบาลในการให้ได้มาซึ่งสูตรหาร 100 แต่ที่ไม่สนับสนุนสูตรหาร 500 เนื่องจากเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกว่าบุคคลภายนอกใช้อำนาจบริหารมาก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติอย่างชัดเจน จึงต้องยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดก็ตาม ทั้งการไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม การวอล์กเอาต์ก็ตาม

เมื่อเริ่มมีการพิจารณามาตรา 24/1 ที่ กรรมาธิการเพิ่มขึ้นมาใหม่ เกี่ยวกับการคํานวณ และการประกาศผลการเลือกตั้ง ทางด้านพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุม ขอใช้สิทธิวอล์กเอาต์ โดยย้ำว่า เพื่อไทยไม่ร่วมสังฆกรรมกับการร่างพิจารณากฎหมายดังกล่าว โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับองค์ประชุม ก่อนถกกฎหมายลูก เนื่องจากหากไม่ครบองค์ประชุมก็ไม่สามารถลงมติได้ ด้าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้ขอมติจากที่ประชุมว่าเห็นชอบในสิ่งที่ นพ.ชลน่าน เสนอหรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นชอบที่จะดำเนินการตามญัตติ ด้วยคะแนน 283 เสียงต่อ 27 เสียง งดออกเสียง 36 เสียงและไม่ออกเสียง 28 เสียง เท่ากับว่ายังคงมีการพิจารณาต่อไป

(5)

ภายหลังการอภิปรายมาตรา 24/1 เสร็จสิ้น พรเพชรที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เรียกสมาชิกรัฐสภามาแสดงตน ใช้เวลาร่วมกว่า 15 นาที เพื่อรอสมาชิกทั้งหมดเข้าห้องประชุม โดยผลการแสดงตนปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตน 367 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไปเพียง 3 เสียงเท่านั้น จึงถือว่า องค์ประชุมครบสามารถลงมติรับรองในกฎหมายดังกล่าวได้ ไม่นาน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ขอใช้สิทธิคัดค้าน กลัวจะมีการเสียบบัตรแทนกัน จึงเสนอให้ใช้วิธีแสดงตนโดยการขานชื่อรายบุคคล มีผู้รับรองครบถ้วน จนเป็นที่มาของความอลเวงการขานรายชื่อทีละคนโดยใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่สุดท้ายผลการนับองค์ประชุมมีผู้แสดงตน 403 คน ถือว่าครบองค์ประชุม พรเพชร ประธานรัฐสภาในขณะนั้น จึงให้ ส.ส. เสียบบัตรลงคะแนนว่าจะเห็นชอบกับมาตรา 24/1 หรือไม่ แต่ปรากฏว่า องค์ประชุมไม่ครบ จึงขอปิดประชุมในเวลาประมาณ 16.17 น. 

(6)

อภินิหารสภาฯ ล่ม ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายลูกค้างอยู่ในที่ประชุม และมีแนวโน้มว่าไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพิ่มเติมแต่อย่างใด และหากไม่ทันแล้วเสร็จ นั่นหมายความว่าการคำนวนสูตร ส.ส.จำเป็นต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยอัตโนมัติ และปิดฉากละครลิงการคำนวณสูตรหาร 500 โดยทันที

ด้าน ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ ออกมาแถลงภายหลังการสภาล่มว่าฯ เหตุการณ์นี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างแน่นอน และเหตุการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความสัมพันธือันร้าวลึกระหว่าง ‘พี่-น้อง 3 ป.’ อย่างชัดเจน โดยกล่าวซ้ำว่า หากอยากได้ความจริงต้องไปถาม น้องชาย ของพลเอกประวิตร ชื่อย่อ ‘พ.’

แน่นอนว่าสูตรหาร 100 ในวันนี้ พรรคที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือพรรคเพื่อไทย เพราะหากกวาด ส.ส.เขต ได้เยอะ ก็คงไม่เสีย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่จากเดิมเคยมี ส.ส.เขต มากเกินไป จนตัดโควตา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หายไปทั้งหมด

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้เสียอะไร เพราะถึงที่สุดแล้ว หากยังคงเป็น ‘พรรคใหญ่’ ก็จะได้ประโยชน์ หากมี ส.ส. ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ครบถ้วน

(7)

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบไหนก็อยู่ในระดับ ‘เสมอตัว’ เพราะพรรคกลุ่มนี้เน้น ส.ส.เขต แต่ที่เสียแน่ๆ คือพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และบรรดาพรรค ‘ปัดเศษ’ อีกนับสิบพรรค รวมถึงพรรคพลังธรรมใหม่ ของ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ผู้ยื่นเสนอสูตรหาร 500 ต่อรัฐสภา

แน่นอน เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ เกมต่อไปอาจมีคนยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญว่ากระบวนการการประชุมในวันนี้นั้นแสนพิสดาร รวมถึงอาจมีคนยื่นให้ตีความต่อสูตรหาร 100 ที่มาจากการปล่อยให้กฎหมายหาร 500 หมดอายุ…

ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องพิสดาร และมีดีลลึกลับข้างหลังที่มองไม่เห็นอย่างแน่นอน

Tags: ,