นับตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่จีน-สหรัฐอเมริกา สิ่งที่ตามมาคือแรงกระเพื่อมความกังวลว่าประเทศใหญ่น้อยกำลังจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งประเทศไทยเองก็ดูจะหนีไม่พ้นคลื่นสงครามการค้าเช่นเดียวกัน จากตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศจีนที่ปรับตัวลดลงในระดับที่น่ากังวล

คำถามที่นักเศรษฐศาสตร์และเหล่านักลงทุนที่อยากร่ำรวยพยายามหาคำตอบก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรเศรษฐกิจจะตกต่ำ เพื่อหาจังหวะขายสินทรัพย์หรือปรับพอร์ตฟอร์ลิโอก่อนลงทุนก่อนที่จะเจ็บตัว

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (economic indicators) ที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์มหภาคนำเสนออาจมีถึงหลักร้อย แต่หากนำมาจัดกลุ่มและคัดเอาดัชนีเด่นๆ ก็จะเหลืออยู่ประมาณหลักสิบ ตัวชี้วัดเหล่านี้แหละครับที่จะช่วยบอกเราล่วงหน้าว่าสาธารณชนคิดเห็นอย่างไร และภาคส่วนไหนที่เริ่มเห็นผลกระทบ

นิยามกว้างๆ ของภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือการที่จีดีพี (Gross Domestic Products: GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติปรับตัวลดลง ซึ่งมีปัจจัยมาจากการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล หรือการส่งออกสินค้าที่ลดลงตามองค์ประกอบของจีดีพีนั่นเอง

นิยามกว้างๆ ของภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือการที่จีดีพี (Gross Domestic Products: GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติปรับตัวลดลง

ก่อนจะพาไปทำความรู้จักดัชนีเหล่านั้น ผู้เขียนขอดอกจันตัวโตๆ ว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเหล่านี้ บ้างก็ทำนายถูก บางครั้งก็ทำนายผิด หลายตัวชี้วัดเคยทายถูกทุกครั้งในอดีต แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะถูกอีกครั้งในอนาคต เพราะหน้าตาของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะทำนายและทำความเข้าใจ

ดัชนีชี้วัดด้านการจ้างงาน

ไม่มีงานก็ไม่มีเงินนะครับ เมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่ขาดรายได้จากการทำงานก็มักนำไปสู่มาตรการรัดเข็มขัดในครัวเรือน ดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เหลือเท่าที่จำเป็น ทำให้เงินไม่สะพัด พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ สุดท้ายก็นำไปสู่การเลิกจ้างงานเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด จนกว่าประชาชนจะกลับมามีกำลังซื้อใหม่อีกครั้ง

ดัชนีชี้วัดแรกที่นักเศรษฐศาสตร์จ้องตาเป็นมันคืออัตราการว่างงาน โดยนิยามของผู้มีงานทำของไทยคือผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงและได้รับค่าตอบแทนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนิยามดังกล่าวเป็นนิยามที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำมากๆ คือราวร้อยละ 1 เท่านั้น จนเมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก เนื่องจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำนั่นเอง

หากใครไม่ค่อยเชื่อตัวเลขดังกล่าวสักเท่าไร เราก็ยังมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับการจ้างงานที่น่าสนใจคือชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย/สัปดาห์ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะจัดทำและเผยแพร่เป็นรายไตรมาส ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนแนวโน้มของสภาวะเศรษฐกิจโดยให้รายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็คเป็นรายอุตสาหกรรมว่าชั่วโมงการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

การพิจารณาดัชนีชี้วัดด้านการจ้างงานก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือแนวโน้มอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หรือชั่วโมงการทำงานที่ต่ำลง อาจสะท้อนได้ว่าอนาคตทางเศรษฐกิจดูจะไม่สดใสนัก

แนวโน้มอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หรือชั่วโมงการทำงานที่ต่ำลง อาจสะท้อนได้ว่าอนาคตทางเศรษฐกิจดูจะไม่สดใสนัก

ดัชนีชี้วัดตลาดเงินและตลาดทุน

นักเศรษฐศาสตร์มักตั้งสมมติฐานว่านักลงทุนซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลข่าวสาร การขยับขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นสัญญาณชั้นดีว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มไปในทิศทางใด หากเศรษฐกิจอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ปรากฏการณ์แรกๆ ที่เราจะเห็นคือการปรับตัวลดลงของดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์ ดัชนี SET ของประเทศไทย หรือ S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี ตัวชี้วัดหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างต้องกด Subscribe คือ เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของตราสารหนี้ ซึ่งที่นักลงทุนสนใจก็คือเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่ในกรณีทั่วไป ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในระยะสั้นจะต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาว หากนำผลตอบแทนมาพล็อตกับอายุของพันธบัตร จะได้เส้นโค้งขึ้นสวยงาม

แต่ในสภาวะผิดปกติ เช่น ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในระยะสั้นจะสูงกว่าระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือนให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เป็นต้น หากนำมาพล็อตเส้นอัตราผลตอบแทน ผลที่ได้คือเส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้าน (Inverted Yield Curve) นั่นเอง

กราฟแสดงส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี และ 3 เดือน เส้นกราฟสีแดงคือช่วงเวลาที่เกิดภาวะเส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้าน (Inverted Yield Curve) ส่วนพื้นที่สีเทาคือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่สภาวะถดถอย จะเห็นว่าเส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้านจะเกิดก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยแทบทุกครั้ง ภาพจาก Federal Reserve Bank of Dallas

ตัวชี้วัดดังกล่าวมีความแม่นยำค่อนข้างมาก โดยทำนายภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาได้แทบทุกครั้งในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภาวะเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับด้านเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในสหรัฐอเมริกา จนทำให้นักลงทุนหลายต่อหลายคนหวั่นไหวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกหรือไม่

ส่วนใครสนใจเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในไทย ก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สมาคมตราสารหนี้แห่งประเทศไทยนะครับ

ดัชนีชี้วัดอสังหาริมทรัพย์

หากจะอ้างอิงผลิตภัณฑ์ไหนที่จ่ายซื้อ 1 ครั้งสร้างงานให้คนหลักร้อยคนก็คงหนีไม่พ้นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งใช้วัตถุดิบหลากหลาย ใช้แรงงานมาก ราคาสูง และยังแสดงถึงความเชื่อมั่นในระยะยาวของผู้ซื้อ แถมมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในระดับรายเดือน ทั้งมูลค่าการซื้อขาย การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ขนาดพื้นที่ก่อสร้าง และสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์

ความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดอสังหาริมทรัพย์กับตัวชี้วัดในตลาดทุนและตลาดเงินคือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นตลาดสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Assets) กล่าวคือมีการซื้อจริง ลงแรงงานจริง สร้างจริง แตกต่างจากตัวเลขดัชนีหลักทรัพย์หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรซึ่งสะท้อนสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)

สำหรับดัชนีชี้วัดด้านอสังหาริมทรัพย์ หากเห็นอาการเซื่องๆ ซึมๆ ตัวเลขไม่ขึ้นเหมือนในอดีต ก็เตรียมรับมือได้เลยครับว่าเศรษฐกิจในภาพรวมอาจกำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย แต่ผู้เขียนขอแนะนำให้ระมัดระวังการตีความตัวเลขตลาดอสังหาริมทรัพย์สักนิดนะครับ เพราะตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างอ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น การปรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการออกสารพัดมาตรการอุดหนุนโดยรัฐ เป็นต้น

ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของสาธารณชน

ดัชนีด้านสุดท้ายว่าด้วยความรู้สึกของประชาชนว่าอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจจะดีหรือจะแย่ลง ซึ่งหากดัชนีความเชื่อมั่นมีแนวโน้มลดลง นั่นหมายความว่าสาธารณชนจะเข้าสู่โหมดรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเขาหรือเธอคาดว่าจะเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านรายได้ในอนาคต

ตามทฤษฎี การคาดการณ์ของประชาชนจะเป็นคำพยากรณ์ที่ค่อนข้างแม่นยำ เพราะเมื่อครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายเมื่อไร นั่นหมายความว่าการจ้างงาน และชั่วโมงทำงานจะลดลง การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะลดลงเพราะผู้คนจะนำเงินย้ายไปเก็บในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่ความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เรื่องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องพูดถึง เลื่อนได้ก็เลื่อนไปก่อนจนกว่าจะรู้สึกว่าเชื่อมั่นการเติบโตของเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในไทยมีหลายสำนักจัดทำดัชนีชี้วัดข้างต้น เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับใครที่มองว่าเรื่องเหล่านี้ยุ่งยากน่าปวดหัวก็ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะประเด็นการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องฮอตฮิตที่ใครๆ ก็สนใจ ซึ่งแต่ละสำนักก็มีการอ้างอิงดัชนีชี้วัดแตกต่างกันออกไป สำหรับใครที่สนใจเนื้อหาสั้น กระชับ ได้ใจความ ผู้เขียนขอแนะนำให้ติดตามรายงานเศรษฐกิจและการเงินรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย

หากใครมีดัชนีชี้วัดอื่นๆ ในใจ ก็อย่าลืมมาแบ่งปันกันนะครับ!

เอกสารประกอบการเขียน

Recession Indicators, Pt 1 & Pt 2

Watch for these 6 indicators to know when a recession could be coming

A recession indicator with a perfect track record over 70 years is close to being triggered

Tags: , , , , , , ,