ทีเอ็มบีจัดงาน TMB The Economic Insight 2019 ‘เจาะลึกเศรษฐกิจไทยพร้อมตั้งรับ EEC ในยุคดิจิทัล’ ชี้ว่าในปี 2562 ระบบเศรษฐกิจโลกมีทีท่าชะลอตัวขนานใหญ่ โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่

(1) ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ที่ส่งสัญญาณว่าภาคเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงปลายของการขยายตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late Economic Cycle)

(2) ระดับราคาน้ำมัน และค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคการผลิต (PMI) ที่อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2561 (ราคาน้ำมันโลกลดลงถึง 35% จาก 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล สู่ 53.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลเมื่อปลายปี 2561 ขณะที่ค่าดัชนี PMI ลดลงตลอดทั้งปี 2561 จาก 54.5 สู่ 51.5)

(3) สถานการณ์บีบคั้นของจีน ทั้งจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้ค่าดัชนี PMI ของบริษัททุกขนาดติดลบ และความพยายามรัดเข็มขัดเพื่อปรับลดระดับหนี้ของประเทศลง (จีนมีระดับหนี้ 267% ของ GDP เป็นหนี้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 162% ของ GDP รวมถึงมีหนี้นอกระบบที่ต้องจัดการ) นอกจากนี้สภาพตลาดหุ้นที่ราคาตกต่ำ ก็ทำให้ระดับความมั่งคั่งของคนจีนเริ่มมีปัญหา

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวด้วยแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก อัตราการเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.0% ในปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น สำหรับการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2561 เนื่องด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน การที่ไทยถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อ

ทั้งนี้การส่งออกของไทยในปีนี้มีตลาดรองรับที่สำคัญ คือ CLMV (+9.0%), อาเซียน (+6.5%), ญี่ปุ่น (+5.5%), ยุโรป (+4.5%) และสหรัฐอเมริกา (+4.5%) ตามลำดับ มีสินค้าส่งออกที่โดดเด่น ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องจักร สินค้าอาหาร และสินค้าจากการเกษตร

การท่องเที่ยวของไทยยังเป็นบวก แม้ว่าจะมีผลประทบจากยอดนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจนมีอัตราการเติบโตรายเดือนติดลบในช่วงปลายปีที่แล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยก็จะคงขยายตัวด้วยแรงสนับสนุนของนักท่องเที่ยวจากอาเซียน เอเชียตะวันออก และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี คาดว่าระดับนักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาในเวลาอีกไม่นาน และธุรกิจท่องเที่ยวไทยควรหันไปให้ความสนใจกลุ่มคนจีนที่มีการใช้จ่ายระดับกลางถึงบน และกลุ่มที่เดินทางเองโดยไม่ใช้บริษัททัวร์

ในด้านระบบการเงิน ทีเอ็มบี คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ด้วยอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายและเพื่อคงขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินไว้

จากสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว ธุรกิจไทยยังคงมีโอกาสที่ดี โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ด้วยอัตราค่าแรงที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (เมื่อเทียบกับ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์) และระดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูง (Ease of doing business ranking ในปี 2561 ไทยอยู่อันดับ 26) นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับกลยุทธ์ เช่น มองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ พัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมสูงขึ้น สร้างความแตกต่างของสินค้า ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีของหน่วยงานภาครัฐ เช่น BOI และประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงสร้างเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

ทีเอ็มบีชี้ว่า โอกาสทองที่สำคัญ อยู่ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ซึ่งมุ่งพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง โดยโอกาสทางธุรกิจอันดีมี 2 ส่วน ได้แก่

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ EEC การก่อสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างโรงงาน โดยมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง มูลค่า 220 พันล้านบาท เมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 300 พันล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 มูลค่า 110 พันล้านบาท และท่าเรือมาบตาพุด เฟสที่ 3 มูลค่า 55 พันล้านบาท

ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปัจจุบันมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

ประกอบด้วยกลุ่ม First S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

และกลุ่ม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถเติมเต็มพื้นที่โครงการ EEC ได้ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมแฟชั่น

ทั้งนี้ในช่วงปี 2559 จนถึงเดือนกันยายน ปี 2561 ได้มีโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเป็นมูลค่ารวม 913 พันล้านบาท และกรอบระยะเวลาในช่วงปี 2018-2023 การลงทุนผ่านบีโอไอในโครงการ EEC มีมูลค่ารวม 600 พันล้านบาท โดยคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีรายได้ 1 ล้านล้านบาท และ 2.83 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยมีมาตรการส่งเสริมโครงการ EEC อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%

Tags: , , , , , , ,