DDproperty เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย วิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 ว่ายังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านหรูราคา 10 ล้านขึ้นไป ไตรมาสแรกตลาดคึกคักเพราะต้องเร่งโอนก่อนมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยมี 3 ปัจจัยที่อาจกระทบตลาดทำให้ภาพรวมชะลอตัวลง

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะยังโตต่อเนื่องมาจากปี 2561 โดยเฉพาะไตรมาสแรกของปีที่จะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะต้องเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป

โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับผู้ที่ผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไป รวมไปถึงผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบ้านขึ้นไป โดยต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำร้อยละ 10-30

“เกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะทำให้ 3 เดือนแรกของปี 62 ตลาดอสังหาฯ จะโตมาก เพราะต้องเร่งโอนย้าย หลังจากนั้นน่าจะมีชะลอตัวลงบ้าง แนวโน้มผู้ประกอบการจะเน้นเลือกพัฒนาโครงการในพื้นที่ที่มีความต้องการจริงๆ ส่วนผู้ซื้อก็จะคิดมากขึ้นในการเลือกซื้อประเภทที่อยู่อาศัย”

กมลภัทร กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงในปีหน้า นอกจากมาตรการใหม่ของธปท. แล้วยังมีเรื่องของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

“ในปี 61 กลุ่มตลาดระดับไฮเอนด์ที่ราคาบ้านตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นเติบโตถึง 14% และน่าจะโตต่อเนื่องมาถึงปี 62 แม้จะมีมาตรการของธปท. ก็ตาม เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อ และมีความสามารถในการผ่อนชำระ ส่วนกลุ่มลูกค้าระดับกลางคือราคาบ้านต่ำกว่า 8 ล้านบาท และระดับล่างต่ำกว่า 3 ล้านบาท อาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง”

ในแง่ผู้ประกอบการก็จะเน้นพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทมิกซ์ยูสและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียมเพื่อผู้สูงวัย และนำเทคโนโลยีสมาร์ตโฮมต่างๆ เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น และมีการขยายโครงการไปยังทำเลเกิดใหม่ตามแนวรถไฟฟ้า เช่น ผู้ประกอบการจะขยายโครงการไปยังทำเลเกิดใหม่ที่มีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เช่น ป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ราคาพุ่งสูงกว่า 36% และบางแค ราคาเติบโตกว่า 17% ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งเขตปริมณฑล และเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

“ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีปัญหาเรื่องฟองสบู่ เนื่องจากอุปทานที่ลดลง 5% ในปี 61 สะท้อนอัตราการดูดซับ หรือสินค้าที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างขายดี โดยคอนโดมิเนียมยังเป็นสินค้าที่มีมากสุดในตลาดมากถึง 53% บ้านเดี่ยว 6% ทาวน์เฮ้าส์ 5% และอื่นๆ 0.3 %”

Tags: , , , ,