โลกของเราเพิ่งจะยอมรับว่ามนุษย์อาจมีได้มากกว่าสองเพศเมื่อไม่นานมานี้

หลายสิบปีหรือหลายร้อยปีก่อน บุคคลที่มีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอเพศเดียวกัน บุคคลที่รู้สึกอยากเป็นเพศชายแม้เพศกำเนิดจะเป็นหญิง หรือบุคคลที่อยากเป็นเพศหญิงแม้เพศกำเนิดจะเป็นชาย พวกเขาล้วนถูกมองว่าเป็นบุคคลวิกลจริต บ้างก็ถูกมองว่าเป็นบาป เป็นพวกนอกรีต เป็นคนไม่ดีที่ควรจะต้องรักษาหรือขับไล่ออกไปจากชุมชน

วันเวลาผ่านไป กลุ่มคนที่มีความคิด รสนิยม และอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ พวกเขาหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับสร้างสรรค์วัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่ และใช้ชีวิตตามปกติเมื่อออกไปพบปะกับคนอื่นๆ ในสังคม

เมื่อ 70-80 ปีก่อน เราอาจเดินสวนกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากบนท้องถนน แต่ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าพวกเขามีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกับคนทั่วไป เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่า เมื่อกลับบ้านไปพวกเขามีคนรักเพศเดียวกันรออยู่ แต่ก็ต้องบอกกับทุกคนว่าเป็นเพื่อนสนิท เป็นเหมือนพี่น้องที่ขาดกันไม่ได้ และไม่มีวันได้สิทธิเหมือนกับคู่แต่งงานชายหญิง มิหนำซ้ำ ถ้ามีใครรู้ถึงความสัมพันธ์แท้จริงขึ้นมา เรื่องอาจไปถึงหูตำรวจ และพวกเขาจะมีความผิดตามกฎหมาย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายพื้นที่บนโลกมีกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ โลกของเรามีข้อห้ามหลายอย่างที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถทำอะไรได้ดังหวัง แม้สิ่งที่ต้องการทำนั้นจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใครก็ตาม

นิวยอร์กในช่วงปี 1950-1970 มีเกย์โดนจับกุมเป็นจำนวนมากจากข้อห้ามต่างๆ เช่น ห้ามคนเพศเดียวกันเต้นรำในที่สาธารณะ ห้ามคนเพศเดียวกันจับมือกันในที่สาธารณะ สถานบันเทิงห้ามขายเครื่องดื่มแก่คนที่มีลักษณะคล้ายกับว่าจะเป็นรักร่วมเพศ (ที่สร้างความสงสัยมากว่าวัดจากตรงไหน) กฎหมายที่ระบุว่าห้ามแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของเพศตรงข้ามเกินสามชิ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจชอบลงพื้นที่ตรวจผับบาร์เพื่อดูว่าในร้านมีเกย์กี่คน ตรวจหาผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อจับกุม ด่าทอ พูดลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ก่อนจะจับกุมตัวไปยังโรงพักเพื่อให้พวกเขาจ่ายค่าปรับฐานเป็น LGBTQ+

ที่ต้องหยิบยกเหตุการณ์ในนิวยอร์กขึ้นมา เป็นเพราะในเดือนมิถุนายน 1969 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ สิ่ง ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนความอดทนถึงขีดสุด พวกเขาต่อต้านตำรวจ ตะโกนคำว่า “Gay Power!” ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ใส่กุญแจมือด้วยเหตุผลเพียงว่าเป็น LGBTQ+ การต่อต้านลุกลามกลายเป็นจลาจลขนาดย่อมในร้านสโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ชื่อดังย่านกรีนิชวิลเลจ แม้เหตุการณ์จะสงบลงด้วยการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ แต่ในคืนถัดมาและต่อเนื่องไปอีกหกคืน ผู้คนแห่แหนกันมายังบาร์เกย์ที่ถูกเผา คราวนี้ไม่ใช่แค่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นชายหญิงทั่วไปที่ไม่อาจทนดูชุมชนเพศทางเลือกถูกรังแกได้อีกแล้ว

เหตุการณ์ลุกฮือที่สโตนวอลล์ ปี 1969 ถือเป็นส่วนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถึงจะเริ่มต้นจากความรุนแรงแต่ก็ทำให้คนทั่วไปให้ความสนใจกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ชุมชนที่เคยซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดเริ่มออกมาสู้ที่แจ้งอย่างภาคภูมิ องค์กรเกย์ (Gay Liberation Front: GLF) ตัดสินใจจัดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในปี 1970 วันเดียวกับเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์

ในขบวนที่ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศทำให้เราเห็นการกระทำบางอย่างที่กล้าหาญ การกระทำที่ไม่หวั่นต่อกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิอีกต่อไป ผู้หญิงสองคนเดินจับมือกันในขบวน แดร็กควีนแต่งตัวจัดจ้านไม่ตรงเพศกำเนิด ผู้ชายสองคนจูบกันต่อหน้าสาธารณชน พวกเขาปลดเปลื้องตัวตนอย่างภาคภูมิใจต่อหน้าผู้คน

นับจากวันนั้นจนถึงตอนนี้ โลกของเราเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก หลายพื้นที่บนโลกผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยกเลิกการบำบัดแก้เกย์ เคารพในอัตลักษณ์ของคนทุกเพศ แต่ถ้าพูดถึงประเทศไทย ดินแดนศิวิไลซ์ที่หลายคนเรียกว่าเป็น ‘สวรรค์ของ LGBTQ+’ ก็จะพบว่าคำกล่าวนั้นเกินความเป็นจริงไปมากพอดู

“โลกอาจเดินไปไกล แต่ไทยยังไม่ไปไหน” สิ่งที่จะยืนยันประโยคข้างต้นเห็นได้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2564 เผยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่าการสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังมีประชาชนเรียกร้องว่ากฎหมายมาตรา 1448 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน แต่การระบุว่ากฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญคงไม่สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมไทยได้เท่ากับรายละเอียดยาวเหยียดถึงเหตุผลที่ว่า LGBTQ+ ไม่สมควรสร้างครอบครัวและได้สวัสดิการต่างๆ เหมือนกับคู่แต่งงานชาย-หญิง

“วัตถุประสงค์ของการสมรสคือการที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ การไม่กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

“เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันจำนวนหนึ่ง ที่จะสูญเสียไปจากการที่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้เฉพาะระหว่างชายและหญิงเท่านั้น กับผลประโยชน์ทางมหาชนที่คุ้มครองชายและหญิงในการก่อตั้งครอบครัวอันเป็นสถาบันสำคัญพื้นฐานของสังคมแล้ว จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของกลุ่มแรกที่สูญเสียไปไม่อาจเทียบได้กับการทำลายกฎธรรมชาติ และสถาบันครอบครัวอันเป็นหลักสำคัญในการสร้างสังคมและดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ”

จึงไม่แปลกใจที่ในช่วงเวลาหนึ่งสังคมไทยจะเทรนด์แฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ จนขึ้นเป็นแท็กที่มีความนิยมอันดับหนึ่งได้ในเวลาแค่ไม่กี่นาที

ไม่เพียงเท่านี้ ณ การประชุมสภาของไทย เรายังได้เห็นว่ามีทั้งนักการเมืองที่ต้องการผลักดันสิทธิทางเพศและนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิเท่าเทียมแก่ LGBTQ+

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ส.ส. รายหนึ่ง อภิปรายฯ ถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า เขากับคนไทยอีกมากไม่สามารถยอมรับกฎหมายนี้ได้เพราะขัดกับความเชื่อทางศาสนา หรือการที่ ส.ส. อีกรายหนึ่งกล่าวแสดงความไม่พอใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า “แล้วท่านอยากจะวินิจฉัยให้ผมเป็นสัตว์สายพันธุ์ไหน”

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการปะทะทางความคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นประเด็นที่หนักหนาสำหรับสังคมไทย อาจต้องขบคิดกันว่าเราจะเดินไปอย่างเชื่องช้า มอบความเข้าอกเข้าใจให้กับผู้คนที่ไม่เห็นว่า LGBTQ+ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกับคนอื่นๆ ได้อีกนานแค่ไหน เพราะระหว่างที่พวกเขากำลังก้าวเดินอย่างระมัดระวัง มี LGBTQ+ อีกมากที่ยังคงถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ และคู่รักเพศเดียวกันอีกหลายคู่ที่ไม่อาจประวิงเวลาหรือรอความเมตตาจากสังคมได้อีกแล้ว

เนื่องในเดือนมิถุนายน เดือนแห่งความเท่าเทียม เดือนแห่งการเดินขบวนเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศของทุกคน The Momentum ขอเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงจุดยืนว่าคนทุกคนควรได้รับสิทธิที่พึงได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ประกอบอาชีพอะไร มีสถานะใด ทุกคนควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ สมควรได้รับเกียรติ และมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน

“การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศไม่จำเป็นที่จะต้องทำแค่ในเดือนมิถุนายน แต่เราสามารถเคารพตัวตน อัตลักษณ์ และศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ได้ทุกเมื่อเชื่อวัน”

Tags: , , , , , , , , , ,