ภาษาอังกฤษมีวิธีการสร้างคำขึ้นมาใช้หลายแบบ ทั้งเติมส่วนเติมหน้าเติมหลังต่างๆ (เช่น เติม re- หน้า brand เป็น rebrand แล้วเติม -ing ต่อท้ายเป็น rebranding) จับคำมาชนกันเป็นคำประสม (เช่น เอา police มารวมกับ man เป็น policeman) ไม่ก็ยืมมาจากภาษาอื่น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

นอกเหนือจากวิธีเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่พบได้ไม่น้อยทีเดียว นั่นก็คือจับส่วนประกอบของคำสองคำมาฉีกและรวมร่างกันใหม่ คล้ายสัตว์ประหลาดของแฟรงเก้นสไตน์ เกิดเป็นลูกผสมที่มีทั้งองค์ประกอบของทั้งสองคำ เช่น เอาเสียงต้นคำว่า smoke มาผสมรวมกับเสียงท้ายของคำว่า fog เป็นคำว่า smog เพื่อใช้เรียกสิ่งที่มีลักษณะของทั้งหมอกและควัน เป็นต้น

วิธีการสร้างคำแบบนี้เรียกว่า portmanteau มาจากคำว่า porte ที่แปลว่า ถือ รวมกับ manteaux ที่แปลว่า เสื้อคลุม รวมแล้วหมายถึง องครักษ์ที่ทำหน้าที่ถือเสื้อคลุมของเชื้อพระวงศ์ ต่อมาคำนี้ถูกนำไปใช้เรียกกระเป๋าเดินทาง เนื่องจากกระเป๋าแบบนี้มีฝาสองฝั่งที่ปิดรวมเป็นกระเป๋าใบเดียวได้ Lewis Caroll ผู้แต่ง Alice’s Adventures in Wonderland จึงนำคำนี้มาใช้เรียกการผสมคำแบบนี้ (Caroll ใช้วิธีสร้างคำแบบนี้เยอะมากในกลอน Jabberwocky)

นอกจากคำว่า smog แล้ว ภาษาอังกฤษยังมีคำอีกจำนวนไม่น้อยที่ประกอบขึ้นด้วยวิธีนี้

เพื่อให้รับกับบรรยากาศที่มีหมอกควันตลบอบอวลในประเทศ สัปดาห์นี้จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทดสอบกันว่าในบรรดา 15 คำต่อไปนี้ คุณดูส่วนประกอบข้างในออกกี่คำ

Level 1: เริ่มง่ายๆ ก่อน

Breathalyzer

คำนี้คือเครื่องตรวจระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่ตำรวจชอบยื่นให้เราเป่ายามค่ำคืนนั่นเอง มาจาก breath (ลมหายใจ) รวมกับ analyzer (เครื่องวิเคราะห์) นั่นเอง

Staycation

บางครั้งพอถึงวันหยุดเราก็ไม่ได้อยากเดินทางไปไหนไกลๆ รู้สึกว่าแค่ได้นอนเอกเขนกอยู่บ้านหรือเที่ยวใกล้ๆ บ้านก็เพียงพอแล้ว คำที่ใช้เรียกวันพักผ่อนแบบนี้คือ staycation มาจาก stay คืออยู่บ้านหรือไม่ได้ออกนอกประเทศ รวมกับ vacation ที่แปลว่า วันหยุด นั่นเอง บางคนก็เรียกว่า holistay มาจาก holiday รวมกับ stay  

Brunch

คำนี้ใช้เรียกอาหารมื้อสายๆ สำหรับผู้ไม่ประสงค์ตื่นเช้าแต่ให้แบกท้องไปกินมื้อเที่ยงเลยก็รู้สึกว่าผิดผี เกิดจากการเอาเสียงต้นในคำ breakfast มารวมกับคำว่า lunch นั่นเอง

Netiquette

เราอาจเคยเห็นเพื่อนร่วมชาติของเราที่ชอบสแปมภาษาไทยในคอมเมนต์วิดีโอต่างชาติ (คำว่า spam จริงๆ แล้วก็เป็น portmanteau เช่นกัน) พฤติกรรมแบบนี้เรียกได้ว่าขาด netiquette หรือมารยาทในโลกอินเทอร์เน็ต (เรียกว่าสมบัติผู้ดีฉบับโลกออนไลน์ก็คงไม่ผิดนัก) ประกอบร่างจากคำว่า internet กับ etiquette (มารยาท)

Bromance

คำนี้ใช้เรียกความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนชายที่สนิทสนมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน ชวนให้คนภายนอกจิ้นว่าให้จับเป็นคู่รักกันก็น่าจะดี แต่อันที่จริงแล้วทั้งสองฝ่ายไม่ได้คิดเกินเลยหรือประสงค์เปลี่ยนเพื่อนรักเป็นเพื่อนร่วมเตียง มีส่วนประกอบเป็นคำว่า brother (พี่ชายน้องชาย) กับคำว่า romance (ความรักเชิงชู้สาว) นั่นเอง

Level 2: เริ่มยากละ

Throuple

แม้ภาษาไทยจะมีสำนวน ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ แต่ในโลกปัจจุบัน คนจำนวนไม่น้อยก็พึงใจที่จะแบ่งปันความรักออกไปมากกว่าแค่คนสองคน เกิดเป็นความสัมพันธ์แบบที่เรียกกันว่า polyamory หรือ การมีคนรักหลายคน (มาจาก poly- แปลว่า หลาย รวมกับ amor แปลว่า ความรัก) หากในความสัมพันธ์นี้มีคนสามคนที่ตกลงปลงใจคบหากัน เราก็จะเรียกว่า throuple (หรือ thruple) เป็น portmanteau ที่เกิดจากคำว่า three ประกอบร่างกับ couple ที่แปลว่า คู่รัก นั่นเอง

ส่วนถ้าความสัมพันธ์นั้นมีคนจำนวนมากกว่านั้น ก็อาจเรียกแต่ละคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ว่า polycule มาจาก poly- ที่แปลว่าหลายแบบในคำว่า polyamory มารวมกับส่วนท้ายของคำว่า molecule ให้ภาพเหมือนเป็นโมเลกุลหนึ่งในสารประกอบนี้

Electrocute

แม้จะเห็นคำว่า cute ในคำ แต่คำนี้ไม่ได้มีความน่ารักแต่อย่างไร เพราะหมายถึงไฟดูด (ไม่ได้ใช้คำว่า short) หรือการประหารด้วยเก้าอี้ไฟฟ้า ที่ใช้ในความหมายนี้ก็เพราะคำนี้ประกอบขึ้นจาก electro- ที่หมายถึง ไฟฟ้า รวมเข้ากับ execute ที่แปลว่า ประหาร นั่นเอง

Cyborg

ปกติคำนี้ใช้หมายถึงคนที่มีส่วนประกอบเป็นหุ่นยนต์ ทำนองว่าเป็นครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์ เหมือนชื่อฮีโร่ Cyborg ในจักรวาล DC คำนี้ดูเผินๆ เราอาจไม่คิดว่าเป็นคำที่ผสมขึ้นจากคำอื่น แต่อันที่จริงแล้วคำนี้ก็เป็น portmanteau เช่นกัน ประกอบร่างจากคำว่า cybernetic (เป็นคุณศัพท์ของ cybernetics หรือศาสตร์ว่าด้วยกลไกการควบคุมและถ่ายทอดข้อมูลระหว่างระบบทางชีววิทยาและระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น) และคำว่า organism ที่หมายถึง สิ่งมีชีวิต คำนี้จึงใช้เรียกสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนประกอบเป็นหุ่นยนต์นั่นเอง

Hazmat

หากใครเคยดูหนังสืบสวนหรือหนังเกี่ยวกับการแพทย์ อาจมีโอกาสได้เห็นตัวละครเจ้าหน้าที่ต่างๆ ใส่ชุดคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสารพิษหรือเชื้อโรคเข้า ชุดแบบนี้เรียกว่าชุด hazmat suit ส่วนคำว่า hazmat นั้นก็ไม่ได้เกิดมาบนโลกแบบนี้เลย แต่เกิดจากการรวมร่างระหว่าง hazardous และ material ที่รวมกันแล้วหมายถึง วัตถุอันตราย นั่นเอง

Modem

คำนี้เป็นคำที่เราใช้เรียกอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำงานด้วยการเปลี่ยนรูปสัญญาณดิจิทัล (ศัพท์เทคนิคเรียก กล้ำสัญญาณ) จากต้นทางให้อยู่ในรูปที่รับส่งผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้ แล้วก็แปลงสัญญาณกลับให้มาอยู่ในรูปเดิมรูปเดิมได้ที่ปลายทาง (เรียกอีกอย่างว่า แยกสัญญาณ) ด้วยเหตุนี้เครื่องนี้จึงเป็นทั้งเครื่องกล้ำสัญญาณ (modulator) และเครื่องแยกสัญญาณ (demodulator) จึงเอาสองคำนี้มาประกอบกันแบบ portmanteau เป็นคำว่า modem เพื่อใช้เรียกอุปกรณ์นี้

Level 3: แกกก ใครจะไปดูออกวะ

Velcro

คนไทยรู้จักเวลโครในชื่อ ตีนตุ๊กแก หรือ แถบหนามเตย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ยึดของสองสิ่งเข้าด้วยกัน พบเห็นได้ตามสายคาดรองเท้าของเด็ก ปกติมีลักษณะเป็นแถบผ้าไนลอน ฝั่งหนึ่งมีขนไนลอนขนาดเล็กลักษณะคล้ายตะขอเรียงเป็นแถบทั่วทั้งพื้นผิว ส่วนอีกฝั่งเป็นขุยละเอียดลักษณะคล้ายห่วง ผลิตโดยวิศวกรชาวสวิสชื่อ George de Mestral หลังเห็นเมล็ดต้น burdock ติดตามเสื้อและตามตัวหมาของตนเอง ด้วยลักษณะของสิ่งประดิษฐ์นี้ เขาเลยเอาคำฝรั่งเศสสองคำมาผสมกัน คือ velour (กำมะหยี่) และ crochet (ตะขอ) เกิดเป็นชื่อ Velcro

Pixel

คำนี้ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า จุดภาพ หมายถึง จุดที่ประกอบรวมกันเป็นภาพ ปกติเรามักได้ยินคำนี้เวลาพูดถึงความละเอียดหน้าจอหรือความละเอียดที่กล้องถ่ายภาพได้ แต่อาจไม่เคยนึกมาก่อนว่าคำนี้เป็นลูกผสมระหว่างคำสองคำ อันที่จริงแล้ว คำนี้ประกอบขึ้นจากคำว่า picture ที่แปลว่า ภาพ และคำว่า element ที่แปลว่า องค์ประกอบ นั่นก็เพราะแต่ละพิกเซลเป็นองค์ประกอบของภาพนั่นเอง

Bit

บิต นับเป็นหน่วยข้อมูลที่เล็กที่สุด เป็นเลขฐานสองและมีค่าเป็น 0 หรือ 1 ปกติเราอาจจะได้ยินคำนี้เวลาพูดถึงความเร็วในการรับส่งข้อมูล เช่น 10 Mbps หรือ เมกะบิตต่อวินาที แม้ว่าคำนี้จะชวนให้นึกถึงคำว่า a bit ที่แปลว่า เล็กน้อย แต่อันที่จริงแล้วเป็นคนละคำกัน เพราะคำว่า bit ที่เป็นหน่วยข้อมูลนี้ประกอบขึ้นจากส่วนแรกของคำว่า binary (ฐานสอง) และส่วนท้าย digit (เลขโดด)

Vitamin

คนที่คิดค้นคำนี้คือนักชีวเคมีชาวโปลิชชื่อ Casimir Funk แต่เดิมเรียกว่า vitamine เกิดจากการรวมคำละติน vita ที่แปลว่า ชีวิต กับคำว่า amine หรือสารเอมีน ซึ่งเป็นสารที่พบในกรดอะมิโน ที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะเข้าใจว่าวิตามินมีกรดอะมิโนอยู่ แต่ภายหลังพบว่าวิตามินส่วนใหญ่ไม่ได้มีสารเอมีน เลยตัดตัว e ท้ายคำเหลือแค่ vitamin แบบที่เห็นในปัจจุบัน

Endorphin

เอ็นดอร์ฟินที่หลายคนอาจจะคุ้นจากชื่อวงดนตรีนั้น ที่จริงแล้วเป็นสารที่สมองหลั่งออกมาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและให้ความรู้สึกฟิน ว่ากันว่าเป็นตัวการที่ทำให้นักวิ่งทั้งหลายรู้สึกฟินแม้ร่างกายจะเหนื่อยล้า

ย้อนกลับเมื่อในราว 50 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาว่าทำไมสารอนุพันธ์ฝิ่นทั้งหลาย เช่น มอร์ฟีน ถึงช่วยระงับปวดได้ดี และพบว่าเป็นเพราะในร่างกายมีตัวรับสารประเภทนี้ ชวนให้คิดว่าร่างกายอาจจะต้องผลิตสารลักษณะคล้ายกันได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่น่าต้องมีตัวรับแบบนี้ในร่างกายเลย

พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอกับโปรตีนตัวหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ช่วยระงับปวดและมีลักษณะคล้ายอนุพันธ์ฝิ่น จะเรียกว่าเป็นมอร์ฟีนที่ร่างกายผลิตขึ้นก็ไม่น่าจะผิดนัก พูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ endogenous morphine (มอร์ฟีนที่ผลิตขึ้นภายในร่างกาย) เลยเอาคำสองคำนี้ผสมกันเป็นคำว่า endorphin เพื่อใช้เรียกสารนี้เสียเลย

 

 

บรรณานุกรม

  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.
  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Denning, Keith, Brett Kessier, William R. Leben. English Vocabulary Elements. OUP: Oxford, 2007.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Merriam-Webster Dictionary
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , ,