แม้ดอกคูณจะมาไม่ตรงเวลาด้วยความผันผวนของสภาพอากาศที่ทำให้บานก่อนเทศกาลสงกรานต์นานเป็นเดือน แต่สิ่งที่มาตรงเวลาเสมอในเทศกาลสงกรานต์ก็คือเสื้อลายดอก และเสื้อฮาวาย

คนยุคหนึ่ง (ที่มีอายุมากแล้ว) จะมีไอดอลใส่เสื้อฮาวายเป็น เอลวิส เพรสลีย์ ต่อมาในอีกยุคเราก็มีลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ จากหนังเรื่อง Romeo and Juliet เวอร์ชั่นบาซ เลอห์มานน์ ในขณะที่เด็กยุคนี้คงต้องเป็น Alex Lawther จากซีรีส์เรื่อง The End of the F***ing World ถ้าเป็นของไทยก็หนีไม่พ้น The TOYS หรือเจ้าขุน (รูปที่ถ่ายกับนิตยสาร HAMBURGER) ซึ่งมักถูกนำไปอ้างอิงในการขายตามเพจหรือไอจีที่ขายเสื้อฮาวาย มีแม้กระทั่งรูปติดไม้หนีบเพื่อเป็น ‘เรฟเฟอเรนซ์’ ในร้านขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด

ว่าแต่นี่ก็ใกล้เทศกาลสงกรานต์แล้ว…คุณมีเสื้อฮาวายใส่กันหรือยัง

The Original

เรื่องเล่าจุดกำเนิดของเสื้อฮาวายมี 4 เรื่องและ 3 ตัวละครหลักๆ ที่อ้างอิงต่อๆ กันมา ดังนี้

1.ไม่แน่ชัดว่าใครเป็น ‘คนแรก’ ที่สร้างสรรค์เสื้อฮาวายขึ้นมา แต่คาดการณ์กันว่า เสื้อฮาวายหรือที่เรียกว่า Aloha Shirt มีขึ้นในช่วงยุค 1920s โดยมีรูปทรงเสื้อสไตล์ตะวันตก คล้ายกับเสื้อที่เรียกว่า Palaka (เสื้อเชิ้ตลายตาราง — เข้าใจหรือยังว่าทำไมเรามักล้อเพื่อนที่ใส่เสื้อลายตารางหรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าลายสก็อตว่าใส่ไปตัดอ้อยเหรอ ก็มันจริง!) ซึ่งเป็นเสื้อผ้าคอตตอนเนื้อหนาสวมใส่โดยคนงานทำสวนทำไร่

ในขณะที่เสื้อฮาวายแบบดั้งเดิมใช้ผ้าที่เหลือจากการทำชุดยูกาตะหรือชุดกิโมโนของญี่ปุ่น (kabe crepe) ซึ่งมีลวดลายสวยงามและน้ำหนักเบามาตัดเป็นเสื้อฮาวาย ซึ่งรูปแบบแรกของเสื้อฮาวายนั้นจะมีกระดุมหน้า 3 เม็ดจากช่วงคอคล้ายเสื้อโปโลในปัจจุบัน ไม่ได้มีกระดุมแถวยาวผ่าหน้าในแบบปัจจุบันนี้ ซึ่งมีการอ้างอิงกันว่าสวมใส่เหมือนกับเสื้อ barong tagalog ของฟิลิปปินส์อีกที

2. อีกหนึ่งเวอร์ชั่นที่มักใช้อ้างอิงเสมอเมื่อพูดถึงเรื่องเสื้อฮาวายก็คือตัวละครที่เป็นร้านตัดเสื้อที่ชื่อ Musashiya Shoten (ชื่อเดิมคือ Musashi-ya) เป็นร้านตัดเสื้อของ Chōtarō Miyamoto ชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอยู่ที่ฮอนโนลูลู ฮาวาย ในปี 1904 ก่อนจะตกทอดมาถึงรุ่นลูก Kōichirō Miyamoto ซึ่งเป็นผู้เคลมว่าเป็นคนแรกที่ทำเสื้อฮาวายออกขาย โดยมีหลักฐานเป็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น The Honolulu Advertiser ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1935

 3. อีกหนึ่งเวอร์ชั่นที่อ้างอิงกันอย่างมากก็คือเวอร์ชั่นของลูกชายเจ้าของร้านขายของแห้งชาวจีนตระกูล Chun นามว่า Ellery Chun ในเมืองฮอนโนลูลู หลังจากเรียนจบ (บ้างบอกว่าจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล บ้างบอกจบไฮสคูลจากคอนเน็คติกัต) เขามาทำงานกับพ่อ ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าบรรดาเด็กหนุ่มในเมืองสวมใส่เสื้อเชิ้ตสไตล์แคช่วลที่ทำจากผ้าแชลลีส์เนื้อบางลายดอก ลายเพรสลีย์สีสดของญี่ปุ่น ในขณะที่เด็กหนุ่มชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่บนเกาะก็สวมใส่เสื้อสีสดที่เรียกว่า bayau เช่นเดียวกัน เขาจึงได้ไอเดียว่าน่าจะทำเสื้อสไตล์ท้องถิ่นออกขายแก่นักท่องเที่ยว จากนั้นก็ร่วมมือกันกับพี่สาว Ethel Chun ทำเสื้อสไตล์ทรอปิคัล โดยใช้ผ้าจากชุดยูกาตะของญี่ปุ่น ก่อนจะติดป้ายหน้าร้านว่ามีเสื้อ ‘Hawaiian Shirts’ ขาย จนสามารถเปลี่ยนร้านขายของแห้งของพ่อให้กลายเป็นร้านตัดเสื้อชื่อ King-Smith Clothiers และขยายสาขาออกไปได้อีกมากมาย

ที่สำคัญ Ellery Chun คือเจ้าของลิขสิทธิ์คำว่า Aloha Shirt ให้กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อฮาวายเมื่อเขานำชื่อนี้ไปจดลิขสิทธิ์และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น The Honolulu Advertiser ในปี 1936

 4. และอีกหนึ่งสตอรี่ที่ดังไม่แพ้กัน เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มนามว่า Gordon Young แม่ของเขาซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อ ได้ตัดเสื้อที่กลายมาเป็นต้นแบบเสื้อฮาวายให้กับเขา โดยใช้ผ้าที่นำไปใช้ทำชุดยูกาตะของญี่ปุ่น ที่มักจะมีลวดลายอย่างต้นไผ่หรือลายกราฟิกอยู่มาตัด จากนั้น Gordon Young ก็สวมใส่เสื้อตัวนี้ไปที่มหาวิทยาลัยฮาวายที่เขาเรียนอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดความฮือฮาจากเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยจนมาสั่งตัดตามกันเป็นแถว และเมื่อ Gordon Young ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในช่วงปี 1926 เสื้อฮาวายของเขาก็ยังสร้างความฮือฮากลายเป็นแฟชั่นฮิตจนทำให้เกิดเสียงร่ำลือกันเลยทีเดียว

เรื่องราวของ Gordon Young และเสื้อฮาวายของเขานั้นได้รับการบันทึกไว้จากการที่แม่ของเขา Margaret Young เขียนถึงบรรณาธิการ Honolulu Star Bulletin บอกเล่าเรื่องราวนี้เพื่อบอกกล่าวว่า เธอคือผู้สร้างเสื้อฮาวายคนแรก และกอร์ดอนก็คือผู้ที่สวมใส่เสื้อฮาวายคนแรกเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง The Hawaiian Shirt โดย Tommy Steele ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1984

ไม่ว่าเรื่องราวใดจะเป็นจริง สิ่งที่น่าสนใจระหว่างบรรทัดของเรื่องเล่าในการเกิดขึ้นของเสื้อฮาวายก็คือ แม้จะมีชื่อเรียกว่าเสื้อฮาวาย แต่การเกิดขึ้นของเสื้อฮาวายนั้นมีความเกี่ยวกันกับ ‘ผู้อพยพ’ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น หรือฟิลิปปินส์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากในช่วงยุค 1880s ธุรกิจการเกษตรส่วนใหญ่ในฮาวายซึ่งถูกควบคุมโดยสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ต้องการหาแรงงานราคาถูกเพื่อมาทำการเกษตร จึงเกิดการอพยพจากผู้คนทั้งชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้อพยพจำนวนมากที่สุดในฮาวาย รวมไปถึงจีน เกาหลีใต้ และโปรตุเกส เข้ามาทำงาน ตั้งรกรากจนกลายเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของฮาวายในที่สุด

From Elvis To Balenciaga

จากจุดกำเนิดเสื้อฮาวาย ผู้เล่นหลักที่กลายมาเป็นผู้สร้างสรรค์และผู้ประกอบธุรกิจเสื้อฮาวายที่โดดเด่นที่สุดก็คือ Ellery Chun และ Musashiya Shoten โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของเสื้อฮาวาย เพราะเกาะฮาวายกลายเป็นจุดมุ่งหมายที่เรือสำราญขนคนจากทั่วโลกมาเที่ยวบนเกาะสวรรค์แห่งนี้

การกำเนิดขึ้นของการท่องเที่ยวแบบล่องเรือสำราญนี่เองกลายเป็นตัวแพร่กระจายเทรนด์เสื้อฮาวายไปยังส่วนต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีวงการฮอลลีวูดเป็นผู้บงการเทรนด์โลก ก่อนที่คำว่า ‘รันเวย์โชว์’ ตามเมืองมิลาน ปารีส ลอนดอน หรือนิวยอร์กจะเกิดขึ้นเสียอีก

ความฮอตของเสื้อฮาวายในวัฒนธรรมป๊อปเริ่มมาจากภาพยนตร์เรื่อง From Here To Eternity ในปี 1953 แน่นอนว่าเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ และเกาะฮาวาย ตามมาด้วยภาพของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้งสองคนทั้ง Richard Nixon และ Harry S. Truman ในเสื้อฮาวาย ก่อนที่จะมาถึงจุดพีกสุดๆ เมื่อ Elvis Presley ราชาเพลงร็อกแอนด์โรลล์สวมใส่เสื้อฮาวายสีแดงในภาพปกของซาวนด์แทร็กอัลบั้มจากหนังเรื่อง Blue Hawaii ในปี 1962 และแน่นอนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารสหรัฐอเมริกาและเกาะฮาวายเช่นเคย

ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่แค่เรื่องเรือสำราญ ไม่ใช่เพราะหนังฮอลลีวู้ด ไม่ได้เป็นเพราะเทรนด์แฟชั่น แต่เป็นเรื่องของการเมืองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาะฮาวายล้วนๆ เพราะในปี 1959 สหรัฐฯ ประกาศให้เกาะฮาวายเป็นมลรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา และหากย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า ฮาวายคือจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯ เรื่อยมาตั้งแต่สงครามสหรัฐฯ-สเปน หรือแม้แต่เหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์อันลือเลื่องจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

การสวมเสื้อฮาวายของทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดารา นักร้อง หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับทหารสหรัฐฯ และเกาะฮาวาย (ซึ่งส่วนมากในช่วงนั้นเป็นภาพยนตร์โรแมนซ์ทั้งสิ้น แน่นอนว่ามันหมายถึงความพยายามสร้างความโรแมนซ์ระหว่างสหรัฐฯ กับฮาวายด้วย) ก็เป็นไปด้วย ‘แทคติค’ ทางการเมืองทั้งสิ้น

เสื้อฮาวายเป็นดั่งเครื่องเชื่อมสัมพันธไมตรีของสหรัฐอเมริกาและฮาวายให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างแนบสนิทราวกับพี่น้อง ราวกับเนื้อหนังและผ้าเรยอนเบาบางที่แนบสนิทกันอยู่บนเนื้อตัวของคนดังฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดถูกเคลือบฉาบไว้อย่างสวยงามและเก๋ไก๋ภายใต้วัฒนธรรมป๊อป ทั้งเทรนด์แฟชั่น หนังและเพลง และด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผลกำไรจากยุทธศาสตร์ทางการเมืองนี้ก็สามารถทำให้เสื้อฮาวายกลายมาเป็น ‘วัฒนธรรมป๊อป’ ได้อย่างจริงจังในยุค 60s และที่สำคัญ กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าการค้าขายอย่างมหาศาลของเกาะฮาวายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เสื้อฮาวายที่ เอลวิส เพรสลีย์ สวมใส่จนกลายมาเป็นภาพโปสเตอร์และของที่ระลึกต่างๆ ในเวลาต่อมานั้นเป็นของแบรนด์ Alfred Shaheen ซึ่งก่อตั้งในปี 1948 โดยในปี 1959 นั้นเองที่ทำให้ Alfred Shaheen รวยไม่รู้เรื่องมีกำไรกว่า 4 ล้านเหรียญฯ และชื่อของแบรนด์ Alfred Shaheen กับเสื้อฮาวายก็กลายเป็นของคู่กัน อีกหนึ่งบริษัทที่ถือเป็นผู้ส่งออกเสื้อฮาวายยักษ์ใหญ่เช่นเดียวกันก็คือ Kamehameha โดยในช่วงเวลาที่เสื้อฮาวายได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ว่ากันว่า Kamehameha ส่งออกเสื้อฮาวายไปยังสหรัฐอเมริกาน้ำหนักรวมกันถึง 35 ตันเลยทีเดียว

เสื้อฮาวายเริ่มหมดความนิยมในช่วงยุค 80s และ 90s ด้วยการผลิตในแบบอุตสาหกรรมที่ทำให้คุณภาพตกต่ำ รวมไปถึงการใช้เนื้อผ้าอื่นมาทดแทนอย่างโพลีเอสเตอร์ ซึ่งทำให้เสื้อดู ‘ไม่แพง’ ที่จริงมันอาจไม่ใช่แค่นั้นหรอก เพราะอย่างที่รู้กันว่าเทรนด์แฟชั่นนั้นหมุนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในช่วงยุค 80s เทรนด์แฟชั่นเริ่มคลายจากสไตล์ดิสโก้มาสู่สไตล์ที่เรียกว่านิวโรแมนติก นอกจากนั้นยังมีกรันจ์อีกด้วย ส่วน 90s ก็เข้าสู่เทรนด์สปอร์ตแวร์ ไม่แปลกใจที่เสื้อฮาวายจะค่อยๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อยๆ

แล้วในปี 2016 เสื้อฮาวายก็กลับมาอีกครั้ง…

บนรันเวย์ของ Saint Laurent คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2016 เราได้เห็นลุคกรันจ์ในแบบเคิร์ท โคเบน สวมใส่เสื้อฮาวายสีฟ้าเลเยอร์กับทีเชิ้ตลายเสือก่อนจะทับด้วยแจ็คเก็ตหนังสไตล์ไบเกอร์อีกที จับคู่กับกางเกงยีนส์ขาด รองเท้าผ้าใบ และแว่นตากรอบขาวในสไตล์เคิร์ท โคเบน ตามมาด้วยคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2018 ของ Balenciaga โดย Demna Gvasalia ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำภาพของเสื้อฮาวายภายใต้สัญลักษณ์ของความเป็นตัวแทนแห่งความ ‘ไม่แพง’ ‘ขบถ’ ‘ดื้อรั้น’ และความเป็น ‘คนนอก’ มากยิ่งขึ้น

ภายใต้เทรนด์แฟชั่นในปัจจุบันที่สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มดีไซเนอร์ชาวโซเวียต หรือที่เรียกว่าเรียกว่า Post-Soviet Designers นั้น นำโดย Demna Gvasalia และพี่ชาย ซึ่งร่วมกันปลุกปั้นแบรนด์ Vetements ขึ้นมาด้วยกันก่อนที่ Demna จะมาทำงานที่ Balenciaga เป็นหลัก Lotta Volkova สไตลิสต์คู่ใจซึ่งก็ทำงานให้กับ Vetements และอีกหลายๆ แบรนด์ที่เกิดตามมาภายใต้ Post-Soviet Designers Movement และอีกหนึ่งแบรนด์ก็คือ Gosha Rubchinskiy ผู้ซึ่งปลุกผีสปอร์ตแวร์ยุค 90s ให้กลับมาเป็นเทรนด์หลักของโลกได้ พวกเขาเหล่านี้มีแนวคิดในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและผลักดันเทรนด์แฟชั่นร่วมกันในแบบที่เราเรียกว่า Anti-High Fashion คือการต่อต้านและปฏิเสธรูปแบบแห่งความหรูหราของแฟชั่นในแบบเก่า ความหรูหราไม่ใช่ชุดราตรีปักคริสตัล ไม่ใช่ผ้าไหมอิตาลี หรือลายพิมพ์บาโรก เราจึงได้เห็นเสื้อยืดสกรีนลาย DHL เสื้อผ้าที่ดูเหมือนมาจากตู้คุณพ่อหรือคุณปู่ สูทหรือแจ็กเก็ตกีฬาที่เหมือนขุดมาจากกระสอบเสื้อผ้ามือสอง ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนสัญลักษณ์ทางการเมืองเรื่องแฟชั่นที่ถูกนำเอาภาพลักษณ์ความ ‘ไม่แพง’ (จากยุค 80s 90s) กลับมาใช้เล่นงานโลกของแฟชั่นอีกครั้งอีกครั้งในปี 2018 ในราคา 750 เหรียญฯ หรือประมาณ 25,000 บาทบวกภาษี

เพราะแฟชั่นมันคือแอตติจูด!

เช่นเดียวกับความหมายของเสื้อฮาวายบนตัวนายแบบที่ดูเหมือนเคิร์ท โคเบน บนรันเวย์ของ Saint Laurent ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเคิร์ท โคเบน ไม่ได้สวมเสื้อฮาวายสักหน่อย (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ลุคเด่นของเขา) เขาเพียงแต่จัดงานแต่งงานที่ฮาวาย การนำเอาเสื้อฮาวายมาสวมใส่บนนายแบบที่ดูเป็นเคิร์ท โคเบนจึงเสมือนเป็นการส่งสารอะไรบางอย่างของ Hedi Slimane ดีไซเนอร์ของ Saint Laurent ในขณะนั้น ซึ่งคงไม่ต่างจากที่ Demna Gvasalia ทำ

แต่จะว่าไป ความหมายของเสื้อฮาวายก็เคยถูกประทับตราใหม่ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ขบถ’ ‘ดื้อรั้น’ และความเป็น ‘คนนอก’ มาแล้ว ในหนังเรื่อง Romeo and Juliet ในปี 1996 ในลุคของลีโอนาร์โด ดิคาปริโอและแก๊งของเขา และยิ่งตอกย้ำอย่างหนักในซีรีส์เรื่อง The End of the F***ing World ในปี 2017 ซึ่งนอกจากเสื้อฮาวายจะสามารถสื่อถึงคาแรกเตอร์ของ Alex Lawther ได้อย่างชัดเจนทั้งขบถ และเป็นคนนอก (กฎหมาย) ไม่ต่างจากลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ใน Romeo and Juliet มันยังส่งผลถึงการก้าวขึ้นมาเป็นเทรนด์แฟชั่นในระดับโลกได้อีกด้วย (จากนั้นเราก็ได้เห็นเสื้อฮาวายทั้งบนรันเวย์ของ Prada, Louis Vuitton, Dsquared, SSS World Corp, Paul Smith และ Balenciaga) และในปีนี้ที่เสื้อฮาวายยังคงปลิวว่อนรันเวย์อยู่โดยเฉพาะรันเวย์ของไทยทั้ง Issue, Iconic, Fri27Nov, Q Design and Play ในงานแฟชั่นวีคที่ผ่านมา

ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เหมือนกับหนังม้วนเดิมของเอลวิส เพรสลีย์ ในปี 1959 ที่เสื้อฮาวายถูกนำมารับใช้แนวคิดทางการเมืองและสังคมแบบหนึ่ง ก่อนที่มันจะกระจายไปเป็นเทรนด์ระดับโลกในอีกแง่มุมหนึ่งในนามแห่งแฟชั่น

Tags: , , , , , ,