When Philo met Sophia (02)

When we love, it is the heart that judges:

ยามที่เรารัก เราก็มักตัดสินด้วยหัวใจ

 

1.

“ยามที่เรารัก เราก็มักตัดสินด้วยหัวใจ” นี่เป็นคำกล่าวของชายคนหนึ่ง ซึ่งได้อำลาจากโลกนี้ไปด้วยวัย 70 ปี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1824 ณ กรุงปารีส เขาเป็นชายผู้ปราดเปรื่องเรื่องปรัชญาความคิด รุ่มรวยพรักพร้อมด้วยรสนิยมทางศิลปะและวรรณกรรม ทั้งยังเป็นมิตรรักของดาล็องแบรต์ (D’alambert) เดอนีส์ ดิดโรต์ (Denis Diderot) ปราชญ์คนสำคัญแห่งยุคภูมิธรรม (Enlightenment) และฟร็องซัวส์-เรอเน่ เดอ ชาโตบริอ็องด์ (François-René de Chateaubriand) นักเขียน-นักการทูตคนสำคัญในยุคนโปเลียนเรืองอำนาจ

ตลอดหลายสิบปีของชีวิต เขาไม่เคยตีพิมพ์หรือเขียนผลงานใดๆ ต่อเมื่อทิ้งร่างสิ้นลมหายใจไปแล้วจึงมีผู้นำเอาถ้อยคำความคิดต่างๆ ทั้งในสมุดบันทึกและจดหมายที่ส่งไปหามิตรสหาย มาตีพิมพ์เป็นผลงาน Recueil des pensées de M. Joubert (1832)

นี่เป็นผลงานหลังมรณกรรมเพียงหนึ่งเดียวของ โฌแซ็ฟ ฌูแบรต์ (Joseph Joubert) นักประพันธ์ไร้งานเขียน ซึ่งสร้างความฉงนฉงายให้โลกตัวอักษรว่า เหตุใดคนที่พรักพร้อมด้วยปัญญา ความสามารถ และแม้แต่ความเข้าใจวรรณกรรมเป็นอย่างดี ถึงทำได้แค่วางแผน ตระเตรียมที่จะเขียน และทำได้เพียงเท่านั้น

โมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) นักเขียน-นักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่ทุ่มเทอธิบายปรากฏการณ์นี้ บล็องโชต์เขียนบทความชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า Joubert and Space ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ The Book to Come หรือ Le Livre à venir (1959) เพื่ออธิบายหรือทำความเข้าใจ ‘การเป็นนักเขียนที่ไม่ตีพิมพ์หนังสือ’ หรือ ‘การเขียนโดยไม่เขียน’ ของฌูแบรต์เอาไว้ดังนี้ว่า

“เขาไม่เคยเขียนหนังสือ เขาเพียงแต่เตรียมพร้อมที่จะเขียนมัน เพียรค้นหาสภาวะที่เหมาะสมอย่างมุ่งมั่น เพื่อทำให้สามารถจะเขียนได้ จากนั้นเขาก็ลืมจุดมุ่งหมาย พูดให้ถูกต้องแล้วก็คือ เขาพยายามออกค้นหาต้นกำเนิดของการเขียน พื้นที่ที่จะเขียน การตระหนักที่กำหนดขอบเขตของพื้นที่ ที่เรียกร้อง และแสดงตัวผ่านบุคลิกลักษณะ ที่ทำให้เขาไม่เหมาะกับรูปแบบของวรรณกรรมที่มีอยู่ และทำให้เขาเบือนหนีจากมัน เขาจึงเป็นหนึ่งในนักเขียนสมัยใหม่คนแรกๆ ที่มุ่งสู่จุดศูนย์กลางของวงอิทธิพล สละตนเพื่อผลแห่งการค้นพบเงื่อนไข ไม่ใช่เขียนเพื่อจะเพิ่มเติมหนังสืออีกหนึ่งเล่มขึ้นมา แต่เป็นการทำให้เขาได้ยืนอยู่เหนือจุดที่เหมือนว่า หนังสือทั้งหลายได้ถือกำเนิดขึ้น และหากเขาได้ค้นพบจุดที่ว่านั้นแล้ว เขาก็จะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเขียน” [1]

โฌแซ็ฟ ฌูแบรต์ (Joseph Joubert) นักประพันธ์ไร้งานเขียน

พูดให้ง่ายก็คือว่า สำหรับบล็องโชต์แล้ว ฌูแบรต์ก็เปรียบเหมือนนักสำรวจผู้ห้าวหาญ เป็นเหมือนตัวแทนของนักเขียนสมัยใหม่ที่ออกเสาะหาต้นกำเนิดของการเขียน หรือรูปแบบการเขียนซึ่งยังไม่มีปรากฏ และการจัดเรียงความคิดของฌูแบรต์ภายใต้หัวข้อต่างๆ อาจทำให้เราส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปว่า ฌูแบรต์เป็นเพียงนักเขียนคติพจน์ (Aphorism) แบบเดียวกับ ลารอชฟูโกด์ (La Rochefoucauld) นักประพันธ์ฝรั่งเศสผู้เรืองนามจากศตวรรษที่ 17 ซึ่งเขียนถ้อยคำสั้นๆ เพื่อเตือนใจผู้อ่าน ด้วยเพราะถึงที่สุดแล้ว ข้อเขียนของฌูแบรต์คือ ‘บันทึกการเดินทาง’ ทางความคิด ความรู้สึกในแต่ละโมงยามของเขา ถ้อยคำเหล่านี้อาจดูเหมือนคติพจน์หรือสัจบท (Maxim) แต่มันก็ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อเตือนใจ หรือสอนแนวคิดทางปรัชญาใด ถึงแม้เราจะสามารถขบคิด และเรียนรู้ปรัชญาจากถ้อยคำเหล่านี้ ทว่าสุดท้าย บันทึกของฌูแบรต์ก็คือการสำรวจความเป็นไปได้ หรือรูปแบบการเขียนที่ยังไม่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้เองที่บล็องโชต์เห็นว่า ฌูแบรต์มีสปิริตและความใกล้ชิดผูกพันกับนักเขียนสมัยใหม่ในกาลต่อมา อย่าง สเตฟาน มัลลาร์เม่ (Stephane Mallarmé) มาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) รวมไปถึงนักเขียนและกวีอีกมากมายในศตวรรษที่ 20

2.

หลายคนอาจสงสัยว่า ผมพูดถึงนักเขียนฝรั่งเศสที่ตายไปชาติเศษทำไม มันไม่ไกลห่างจากความสนใจของเราในปัจจุบันหรอกหรือ ขอให้ผมได้อธิบายถึงเหตุผลอย่างกระชับในสองหรือสามย่อหน้าถัดจากนี้

ดังที่ผมได้เกริ่นไปก่อนแล้วว่า โฌแซ็ฟ ฌูแบรต์ เป็นผลิตผลของยุคภูมิธรรม (เขาเป็นมิตรเป็นเกลอกับดาล็องแบรต์และดิดโรต์) เขาศึกษาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และประกาศตนชัดเจนว่าเป็นอเทวนิยม (Atheism) ผ่านการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 รอดชีวิตจากยุคสมัยแห่งความทารุณ (Reign of Terror) จนมีส่วนร่วมในการก่อตั้งระบบมหาวิทยาลัยในยุคสมัยของนโปเลียน เขาเป็นหนึ่งในผู้ขัดเกลาและให้คำแนะนำแก่ชาโตบริอ็องด์ในเรื่องการเขียน แต่กลับกลายเป็นว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ 18 มาสู่ศตวรรษที่ 19 ฌูแบรต์เริ่มมองเห็น ‘แสงสว่าง’ (แห่งความรู้และความจริง) ที่เขารักและยกไว้เหนือทุกสิ่งด้วยดวงตาคู่ใหม่ และประกาศออกมาว่า “หากปราศจากโลกของจิตวิญญาณแล้ว โลกแห่งวัตถุก็คงจะมีความน่าฉงนใจที่ชวนให้หดหู่”[2] (อย่าลืมว่าฌูแบรต์เขียนบันทึกของเขาทุกวัน บันทึกที่มีเวลาระบุไว้บ่งบอกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ก่อเกิดขึ้นในตัวเขา)

ไม่ใช่ว่าฌูแบรต์แค่เปลี่ยนสภาพเป็นชายวัยกลางคนปลงตก ผันตัวไปเป็นฝ่ายปฏิกิริยา เหมือนเช่นกวีนักเขียนมากมายในศตวรรษที่ 19 (แน่นอนว่า นักเขียนชีวประวัติบางคนพร้อมจะสรุปเช่นนั้น เพราะในบั้นปลายชีวิตเขาแวดล้อมไปด้วยฝ่ายอนุรักษนิยม) แต่เพราะเขาเห็นแล้วว่า ลำพังแค่ ‘แสงสว่าง’ ของ ‘ความรู้’ และ ‘ความจริง’ อาจคงยังไม่พอ เพราะเรายังคงต้องการ ‘พื้นที่’ ใน ‘หัวใจ’ สำหรับการทำความเข้าใจและมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งสำหรับผมแล้ว จุดพลิกผลันเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความน่าสนใจ และมีประเด็นให้ชวนขบคิดใคร่ครวญ โดยเฉพาะเมื่อมันเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของฌูแบรต์ ที่เริ่มขึ้นในช่วงก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 18

3.

ในชีวประวัติที่ได้รับการบอกเล่ากันมา ฌูแบรต์สมรสกับมอโร เดอ บูซี (Moreau de Bussy) ในปี 1793 ใจกลางยุคแห่งความสยดสยอง แต่ชีวิตสมรสนั้นก็เรียบง่าย และเหมือนเป็นไปตามครรลองของชีวิตคู่ นั่นคือการอยู่ดูแลประคับประคองกันไป ในจดหมายที่ฌูแบรต์เขียนไปถึงว่าที่ภรรยา แม้จะอ่อนหวานเพียงใด แต่ก็สะท้อนความสัมพันธ์แบบโรแมนซ์ (Romance) คือเน้นไปที่การให้เหตุผลและความจำเป็นของการมีชีวิต

ในขณะที่ ‘ความหวามไหว’ อันไม่แน่นอน และอาจจบลงอย่างเจ็บปวดมากกว่าเป็นสุขกลับเกิดขึ้นในใจของฌูแบรต์ราวหนึ่งปีหลังชีวิตสมรส

ในฤดูร้อนของปี 1794 พลันที่ โรแบสปิแยร์ (Robespierre) ผู้นำปฏิวัติกลุ่มฌาโกแบ็ง (Jacobin) หมดสิ้นอำนาจลง ฌูแบรต์ทราบข่าวมาว่า บุตรีของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (ซึ่งเสียชีวิตจากการสังหารหมู่เดือนกันยายนปี 1792) ระหกระเหินหนีตายมาหลบซ่อนตัวอยู่ในกระท่อมชนบทที่ไม่ไกลห่างจากแหล่งพำนักของเขากับครอบครัว ฌูแบรต์จึงเดินทางไปพบ เพื่อดูว่าเขาจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง

สุภาพสตรีสูงศักดิ์ผู้นั้นมีนามว่า ปอลีน เดอ โบมงต์ (Pauline de Beaumont) ผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวและเกือบทุกสิ่งที่มี[3] ให้แก่การปฏิวัติในปี 1789 เธอเคยสมรสกับชายผู้มีฐานะต่ำต้อยกว่า แต่นั่นยังไม่แย่เท่ากับที่ว่าชายคนนั้นเข้าร่วมกับการปฏิวัติ และได้มีส่วนในการนำพาครอบครัวของเธอไปขึ้นตะแลงแกง

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ปอลีนคนนี้เป็นใครกัน (แล้วทำไมเราต้องมาฟังเรื่องราวของเธอ มันเกี่ยวข้องอะไรกับคอลัมน์ เมื่อ ‘ความรัก’ พบ ‘ความรู้’ ด้วยเล่า) ขอให้ผมได้ให้อรรถาธิบายสักเล็กน้อยว่า ปอลีน เดอ โบมงต์เป็นสตรีที่ไม่เพียงฉลาดรอบรู้ แต่ยังได้รับการศึกษาทางศิลปวิทยาการอย่างเดียวกับบรรดาปัญญาชนในศตวรรษที่ 18 ในตอนที่ยังเป็นเพียงเพียงเด็กสาว ในทุกปี พ่อของเธอจะซื้อหาตำราหรือนำหนังสือหนังหาเหล่านั้นไปเข้าเล่มปกแข็ง ในราคาที่ประเมินแล้วอาจแพงยิ่งกว่าบ้านหรือรถม้า ปอลีนคร่ำเคร่งศึกษาปรัชญาของ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) อย่างจริงจัง แต่ภายหลังการปฏิวัติพรากคนในครอบครัวไป เธอก็หมดสิ้นศรัทธาใน ‘พระเจ้า’ และกระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความยุติธรรม’

แม้อาการเจ็บป่วยรุมเร้าที่เปรียบดั่งเงื้อมเงาความตายเฝ้าติดตามปอลีนไปทุกแห่งหน ทว่าฌูแบรต์ยังคงมองเห็นความงาม และรู้สึกประทับใจในทุกสิ่งที่เธอแสดงออกมา นับจากแรกเห็น จากนั้นมา เขาก็คอยช่วยเหลือดูแลในฐานะ ‘เพื่อนสนิท’ ที่คอยแวะเวียนไปหา หรือซื้อหาของขวัญให้เธออยู่สม่ำเสมอ

จนเมื่อย่างเข้าสู่ปี 1800 ความเป็น ‘เพื่อนสนิท’ ของฌูแบรต์ก็ถูกทดสอบท้าทาย หรือทวีความซับซ้อนมากขึ้นภายหลังการปรากฏตัวของ ชาโตบริอ็องด์ อดีตนักการทูตฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เพิ่งเดินทางกลับมาฝรั่งเศส หลังจากต้องอพยพหนีตายไปอังกฤษนานนับสิบปี

ลุยส์-มาร์เซอแล็ง เดอ ฟงเตนส์ (Louis-Marcelin de Fontanes) กวีนักเขียนเปิดบ้านในปารีสให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันเรื่องศิลปวรรณกรรม หนึ่งในแขกรับเชิญที่ฟงเตนส์อย่างให้รู้จักกันก็คือ ‘นักวิจารณ์ฝีปากกล้า’ กับ ‘นักการทูตผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียน’ หรือก็คือ โฌแซฟ ฌูแบรต์ กับ ฟณ็องซัวส์-เรอเน่ เดอ ชาโตบริอ็องด์

เพียงแต่ในวันนั้น ผู้ที่ไปบ้านของฟงเตนส์ไม่ได้มีเพียงแค่ฌูแบรต์ ทว่ายังมีปอลีนที่ฌูแบรต์คะยั้นคะยอให้ไปร่วมงานอีกคนหนึ่ง

ดังที่ฌูแบรต์ประทับใจปอลีนเมื่อแรกเห็น ปอลีนเองก็ประทับใจในตัวของชาโตบริอ็องด์เมื่อแรกเห็นเช่นกัน หรือถ้าหากรัศมีปกคลุมปอลีนคือเงื้อมเงาของความป่วยไข้ รัศมีของชาโตบริอ็องด์ก็คืออัตตาและความหลงตนของเขานั่นเอง คงไม่เกินเลยไปจากความจริงเลย ถ้าจะพูดว่า ปอลีนมอบหัวใจทั้งหมดที่มีให้กับชาโตบริอ็องด์ ผู้เย่อหยิ่งจองหอง และคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง

คำกล่าวของฌูแบรต์ที่ว่า “ยามที่เรารัก เราก็มักตัดสินด้วยหัวใจ” น่าจะใช้อธิบาย ‘ปรากฏการณ์’ ที่เกิดขึ้นถัดจากนี้ได้ เมื่อกลายเป็นว่า ปอลีนกลับมาสดใสและมีเรี่ยวแรงกำลังเพียงเพื่อช่วยเหลือ หรือเป็นแรงงานให้ชาโตบริอ็องด์สามารถเป็นนักเขียนได้อย่างที่เขาใฝ่ฝัน

สำหรับปอลีนแล้วนี่คือเหตุผลทางหัวใจ (ซึ่งไม่ค่อยจะมีเหตุผลสักเท่าไร) แต่สำหรับชาโตบริอ็องด์แล้วนี่คือเหตุผลทางการงานและวิชาชีพที่ทำให้เขาเดินทางไปหาปอลีนที่กระท่อมในชนบท เพื่อตระเตรียมข้อมูลและเนื้อหาในหนังสือ The Genius of Christianity หรือ Génie du Christianisme ซึ่งกินเวลาร่วม 7 เดือน

แล้วฌูแบรต์หายไปไหน เขาไม่ได้หายไปไหน เขายังคงอยู่และคงเป็น ‘เพื่อนที่ดี’ ของปอลีนและชาโตบริอ็องด์ ที่เคารพยำเกรงในความคิดความเห็นทางวรรณกรรมของเขา ตลอดระยะเวลานั้น ปอลีน (ผู้เป็นอเทวนิยมและไม่เชื่อในพระเจ้า) เป็นคนจดหมายขอยืมตำรับตำราจากบรรดามิตรสหาย เพื่อให้ชาโตบริอ็องด์นำมาเขียนหรืออ้างอิง โดยหนึ่งในนั้นก็คือฌูแบรต์นั่นเอง

ความรักของปอลีนที่มีต่อชาโตบริอ็องด์คือรักที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าชาโตบริอ็องด์แต่งงานแล้ว (ด้วยเพราะเขากับภรรยาแยกกันอยู่นับตั้งแต่ตอนที่เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ) แต่เพราะตัวของชาโตบริอ็องด์นั้นไม่เคยคิดถึงสิ่งใดอื่นนอกจากงานและความสำเร็จของเขา

ภายหลังจาก The Genius of Christianity ได้รับการตีพิมพ์ เขาก็ไม่ได้กลับไปหาปอลีนอีกเลย หลังจากประสบความสำเร็จในฐานะของนักประพันธ์ผู้มีชื่อ เขาก็ได้รับการเสนอตำแหน่งทางการเมืองที่อิตาลี

ปอลีนกลับไปจมจ่อมอยู่กับกองหนังสือเก่าๆ ในกระท่อมชนบท เฝ้ารอก็แต่เพียงจดหมายจากแดนไกล แต่ก็แทบไม่มีข่าวคราวหรือถ้อยคำใดส่งมาถึงเธอเลย ฌูแบรต์ยังคงแวะเวียนมาพูดคุยกับเธอเหมือนเช่นเคย หากเธอจะยิ้มหรือหัวเราะได้ ความสุขนั้นก็คงอยู่เพียงชั่วคราว รัศมีจากความป่วยไข้บ่งบอกว่า สุขภาพร่างกายเธอทุดโทรมเสื่อมถอยลงจากเดิมมาก เธอเริ่มเปรยๆ กับฌูแบรต์ว่า อยากเดินทางไปพักผ่อนแถบทางใต้ ซึ่งฌูแบรต์ก็จัดการเป็นธุระให้ ด้วยหวังว่า การไปท่องเที่ยวนี้น่าจะช่วยให้เธอดีขึ้น โดยที่ก็ไม่รู้เลยว่า ‘ทางใต้’ ที่เธอหมายถึง คืออิตาลีที่จิตใจเธอเรียกร้องจะเดินทางไป แม้ต้องแลกด้วยชีวิตที่หดสั้นลงก็ตาม

4.

ถึงตรงนี้ ผมคิดว่าผู้อ่านทุกท่านน่าจะพอคาดเดาได้ว่า นี่น่าจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในชีวิตของปอลีน เธอตรากตรำไปจนพบกับชาโตบริอ็องด์จนได้ แม้จะเป็นห้วงเวลาสั้นๆ แต่ก็นับเป็นความสุขสูงสุดในชีวิตของเธอ (ที่แน่นอนว่าเต็มไปด้วยเรื่องน่าเศร้ามากมาย) และแล้วอาการป่วยของเธอก็ทรุดหนัก จนเกือบจะต้องตายจากไปในอ้อมกอดของชาโตบริอ็องด์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะดีสำหรับเธอ เพียงแต่มันไม่ง่ายแบบนั้น หากต้องแลกมาด้วยการทำในสิ่งที่เธอไม่เชื่อ ด้วยเพราะชาโตบริอ็องด์เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา เขาขอให้เธอ (ผู้เป็นอเทวนิยม) ไปสารภาพกับบาทหลวง เพื่อดวงวิญญาณของเธอจะได้ทำการชำระล้างและไม่ถูกเผาผลาญด้วยไฟนรก ตามความเชื่อของชาวคริสต์

แน่นอนว่าปอลีนยินยอมจะไปเพื่อเอาใจชาโตบริอ็องด์ ในสภาพปางตายเช่นนั้น เธอหันไปถามเขาว่า “ฉันทำให้คุณมีความสุขใช่ไหม”[4] แล้วเธอก็ตายไปในอ้อมกอดชายที่เธอรักหมดหัวใจในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1803

ฌูแบรต์ที่เพิ่งได้ทราบข่าวว่า การล่องใต้ของเธอนั้นไปไกลถึงอิตาลี และเขาได้รีบเขียนจดหมายไปหาเธอโดยไม่รีรอหลังจากนั้น หากก็ไม่มีจดหมายใดๆ ส่งกลับมาอีกเลย

ในจดหมายฉบับท้ายๆ ที่ฌูแบรต์พยายามเขียนไปถึงปอลีนบ่งบอกชัดถึง ‘ความรู้สึก’ ที่เขามีต่อเธอ “เธอขอให้ฉันรักเธอตลอดไป ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรหรือปรารถนาอะไร อนิจจา แล้วฉันจะทำอย่างไรได้เล่า” ไม่มีจริตลีลา สำนวนโวหาร หรืออุปมาอุปไมยใดๆ นอกจากการบอก ‘ความรู้สึก’ ข้างในผ่านถ้อยคำในจดหมาย    

ภายหลังจากปอลีนเสียชีวิตลง ฌูแบรต์เขียนจดหมายไปถึงมิตรสหายคนหนึ่งไว้ว่า “ฉันคงจะไม่บรรยายถึงถึงความเศร้าเสียใจใดๆ เพราะมันจะอยู่กับฉันไปชั่วกัลปาวสาน ฉันเชื่อว่าชาโตบริอ็องด์เองก็ไม่ได้เศร้าเสียใจไปน้อยกว่าฉัน แต่เขาจะเลิกคิดถึงเธอในเวลาไม่นานนักหรอก”

ภาพหลุมศพของปอลีน เดอ โบมงต์ หรือปอลีน เดอ มงมอแร็ง (Pauline de Monmerin) ที่ชาโตบริอ็องด์สร้างขึ้นภายหลังเธอเสียชีวิต 

5.

ความรักที่ไม่สมหวังและเป็นจริงไม่ได้ของปอลีนจบลงด้วยการกลายเป็นฉากตอนอันน่าประทับใจในผลงานหลังมรณกรรม Mémoires d’Outre-Tombe หรือ Memoirs from Beyond the Grave หรือ Mémoires d’Outre-Tombe ของชาโตบริอ็องด์ ทว่าความรักที่ฌูแบรต์มีต่อปอลีน (ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดในโลกของวรรณกรรม เพราะเขาไม่ตีพิมพ์ผลงานใดๆ) ถือว่าส่งผลกระทบต่อพิกัดและวงโคจรชีวิตของฌูแบรต์นับจากวันแรก

ดังที่บล็องโชต์กล่าวไว้ในบทความ Joubert and Space ว่า ตั้งแต่ที่ฌูแบรต์ได้พบกับเธอ คำว่า ‘แสงสว่าง’ ก็พลันปรากฏในสมุดบันทึกของเขาถี่ขึ้นเรื่อยๆ

แสงสว่างนี้แตกต่างจากแสงสว่างของ ‘ความรู้’ หรือ ‘ความจริง’ ซึ่งเป็นอุปลักษณ์ที่นักปรัชญาในศตวรรษที่ 18 มักนำมาใช้เทียบเคียงกับ ‘ความมืด’ หรือ ‘ความไม่รู้’

เพราะ ‘แสง’ ของฌูแบรต์สัมพันธ์กับ ‘พื้นที่’ ซึ่งเขาเห็นว่า แสงดังกล่าวต้องการพื้นที่เพื่อการรับรู้ จริงที่ว่า ‘ความรู้’ อยู่ในแสงสว่าง แต่แสงสว่างก็มีทั้งให้ความกระจ่างแจ้งและสร้างความงุนงงพร่ามัวได้ด้วยเช่นกัน

แสงที่ฌูแบรต์ค้นพบหลังจากได้รู้จักกับเธอ คือแสงที่ไม่พล่าผลาญชีวิต เป็นความสว่างที่อยู่กึ่งกลาง (Medium Light) ระหว่าง ‘ความจัดจ้า’ กับ ‘ความมืดมัว’

ส่วนพื้นที่ที่ฌูแบรต์เห็นว่าจำเป็นต้องมี เกี่ยวโยงกับสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘หัวใจ’ หรือหาก ‘แสงสว่างสถิตใน ‘ปัญญา’ เราก็ต้องการหัวใจเพื่อความรู้สึก ซึ่งในฐานะของผู้ที่เป็นผลิตผลของยุคภูมิธรรม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ยุคแสงสว่างทางปัญญา’ ฌูแบรต์เห็นว่า เราต้องการพื้นที่ในหัวใจให้มากขึ้น

ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ยามที่เรารัก เราก็มักตัดสินด้วยหัวใจ” ถ้าเราไม่มองเพียงว่า หัวใจคือสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขว ตัดสินทุกอย่างตามอคติ หัวใจในที่นี้ก็คือเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นความจริงในอีกด้านที่ ‘สมอง’ หรือ ‘ปัญญา’ ของเราแลเห็นเป็นเพียง ‘สิ่งนามธรรม’

ภาพประกอบในฉากวาระสุดท้ายชีวิตของปอลีนที่ปรากฏใน Mémoires d’Outre-Tombe หรือ Memoirs from Beyond the Grave หรือ Mémoires d’Outre-Tombe ของชาโตบริอ็องด์

[1] “…He never wrote a book. He only prepared himself to write one, resolutely seeking the right conditions that would allow him to write. Then he forgot even this aim. More precisely, what he sought, this source of writing, this space in which to write, this light to define in space, demanded of him and asserted in him characteristics that made him unfit for any ordinary literary work, or made him turn away from it. He was thus one of the first entirely modern writers, preferring the center over the sphere, sacrificing results for the discovery of their conditions, not writing in order to add one book to another, but to make himself master of the point whence all books seemed to come, which, once found, would exempt him from writing them.”

[2] “Without the spiritual world the material world is a disheartening enigma.”

[3] ขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวถูกนำตัวไปประหารชีวิต  เธอรอดมาได้เพราะร่างกายที่อ่อนแอผ่ายผอมเสียจนถูกทิ้งไว้ให้นอนตายข้างทางที่หิมะปกคลุม แต่เธอก็ดิ้นรนหาทางไปจนพบคนที่ช่วยเหลือเธอได้

[4] “Etes-vous content de moi?”

Tags: , , , , , , , , ,