When Philo Met Sophia (15)

Learning to Die, Finally

อ่าน ‘ความตาย’

“ความตาย และมีเพียงแต่ความตายเท่านั้น ที่เราควรจะปรึกษาพูดคุยในเรื่องชีวิต ไม่ใช่ในเรื่องของอนาคตอันเคลือบคลุม หรือหนทางในการรอดชีวิต แต่เป็นเรื่องที่เราจะไม่ได้อยู่อีกต่อไป มันคือจุดจบของตัวเราเอง และทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาระหว่างความตายกับ ณ ตอนนี้”[1]

มารี เรเนรู (Marie Lenéru)

1

ในบทสัมภาษณ์สุดท้ายของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ Le Monde ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2004 หรือก่อนหน้าที่เขาเสียชีวิตไม่นาน (ซึ่งต่อมาแปลและพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ Learning to Live Finally: An Interview with Jean Birnbaum) เน้นย้ำถึงความคิดหนึ่งที่แดร์ริดายึดถืออย่างหนักแน่นเรื่อยมาว่า ‘การเรียนรู้ที่จะมีชีวิต’ ที่แท้แล้วคือ ‘การเรียนรู้ที่จะตาย’ ดังที่เขาอธิบายไว้ว่า “การเรียนรู้ที่จะมีชีวิตควรจะเป็นการเรียนรู้ที่จะตาย เรียนรู้ที่จะระลึกได้ เช่นเดียวกับยอมรับมรณกรรมสัมบูรณ์ (ที่ไม่มีทางรอด การฟื้นคืนกลับมาใหม่ หรือการไถ่ถอนใดๆ ไม่ว่าสำหรับตัวเราเองหรือคนอื่นๆ) นี่เป็นคำประกาศทางปรัชญาเก่าแก่นับจากยุคของเพลโตเป็นต้นมาว่า การทำปรัชญาคือการเรียนรู้ที่จะตาย”[2]

‘ความตาย’ ที่กล่าวข้างต้นเรียกว่า เป็นมากกว่า ‘มรณกรรมธรรมดา’ เพราะมันคือการตระหนักรับรู้ถึง ‘ความตาย’ ที่เรารับมอบมาตั้งแต่เริ่มมีชีวิต และมีแต่เราเท่านั้นที่จะรับมันไว้ เมื่อเวลาสุดท้ายมาถึง เหมือนดังเช่นที่เขากล่าวไว้ใน The Gift of Death[3] ว่า “ความตายเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครอื่นใดจะประสบ หรือเผชิญหน้าแทนที่ตัวฉัน”[4] หรือ ฉันสามารถให้ทุกสิ่งอย่างให้คนอื่นได้ ยกเว้นเพียงแค่ความตาย ไม่สามารถตายแทนเธอ ในความหมายของการเข้าไปตายแทนที่เธอ ฉันสามารถตายเพื่อคนอื่นได้ ในความหมายที่ความตายของฉันอาจช่วยให้เขามีชีวิตยืนยาวขึ้น ฉันสามารถช่วยเหลือใครสักคน โดยการกระโจนลงน้ำหรือเปลวเพลิง เพื่อดึงเขาออกมาจากเงื้อมเงาของความตายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ฉันสามารถมอบหัวใจให้กับเธอ ทั้งในความหมายตรงๆ หรือความเปรียบเปรย เพื่อให้เธอมีชีวิตต่อไป แต่ฉันไม่สามารถตายแทนที่เธอ ฉันไม่สามารถสละชีวิตของฉันเพื่อแลกเปลี่ยนกับความตายของเธอ”[5]

 

 

 

ภาพข่าวมรณกรรมของฌาคส์ แดร์ริดา ในหนังสือพิมพ์ Le Monde ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2004

 

ความตายสำหรับแดร์ริดาจึงไม่เพียงทำให้สิ่งต่างๆ ทั้งหลายมีชีวิต แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้แต่ละชีวิตแตกต่างและมีความตายเป็นของตนเอง จากบทสัมภาษณ์สุดท้ายดังกล่าว แดร์ริดายอมรับว่า ต่อให้เขาเข้าใจ (โดยเราต้องไม่ลืมว่าแดร์ริดาเคยบรรยายวิชาในประเด็นชีวิต-ความตายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970)[6] หากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับการอ้าแขนรับความตายของตนเองเข้ามา เพราะตัวเขายังคงรักษาสถานะ ‘ผู้รอดตาย’ เอาไว้ และสถานะดังกล่าวยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อมิตรสหายและคนในรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขาไม่ว่าจะเป็น ฌียส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze), หลุยส์ มาแร็ง (Louis Marin) หรือปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ค่อยๆ อำลาจากโลกนี้ไปเกือบหมดสิ้น

2

ความตายแยกมัตยะ (Mortal) ออกจากอมัตยะ (Immortal) หรือทวยเทพทั้งหลาย ความตายจึงเป็น ‘เครื่องหมาย’ ของการมีชีวิตอยู่ การครุ่นคิด หรือปรึกษาหารือกับความตาย เพื่อเข้าใจชีวิตเป็นเส้นทางทางความคิดจากอารยธรรมโบราณดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับเฮเกล (G.W.F. Hegel) มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ไม่ใช่แค่มนุษย์มีจิตสำนึก แต่มนุษย์มีจิตสำนึกที่จะรู้จักตัวเอง และความตายคือเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงจิตสำนึกนี้ ดังวาทะที่เฮเกลกล่าวไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายตาย แต่ความตายของสัตว์นั้นกลายเป็นจิตสำนึกของมนุษย์”

การรับรู้ตนเอง (Self-Consciousness) สำหรับเฮเกลแล้วมีหลายขั้นตอน การอุปมาเรื่องนายกับทาสคือขั้นตอนหนึ่งที่เขายกมาเพื่ออธิบาย ด้วยเพราะมนุษย์แต่ละคนจำเป็นต้องแสวงหาการรับรู้ตนเอง หากการรับรู้นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการปฏิเสธสิ่งซึ่งไม่ใช่ตัวเราเอง มนุษย์แต่ละคนต่างต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อบรรลุถึงการมีอยู่ของตน การเอาชนะไม่ใช่การฆ่าหรือทำลายอีกฝ่าย แต่ในหลายกรณีคือกำราบให้อีกฝ่ายสยบยอม และตระหนักถึงความเหนือกว่าของผู้ชนะ

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาสจึงเป็นอุปมานิทัศน์ที่มีความสำคัญ และเป็นต้นธารของวิภาษวิธี (Dialectic) ของเฮเกลในเวลาต่อมา การเป็นทาสหมายความถึงการทำงานเพื่อรับใช้นาย คือการใช้แรงงานผลิตปัจจัยต่างๆ ที่นายต้องการ ซึ่งนายก็มักจะปฏิบัติกับทาสเหมือนเช่นวัตถุ หรือมองเห็นทาสเป็นเครื่องมือ การเป็นนายจึงเป็นการตระหนักถึงตัวตนท่ามกลางวัตถุทั้งหลาย

แน่นอนว่าสำหรับเฮเกลยังคงไม่ถือว่าเป็นการตระหนักถึงตัวตนที่สมบูรณ์ ส่วนผู้เป็นทาสที่จำเป็นต้องปฏิเสธความเป็นคนของตนเอง ในอีกแง่เขากลับถ่ายทอดความเป็นตัวเขาลงไปบนวัตถุต่างๆ ที่สร้างหรือทำขึ้น ทาสสามารถตระหนักถึงตัวเองได้จากสิ่งที่ตนผลิต ทว่าสิ่งที่ตนผลิตก็เป็นสมบัติของนาย หรือเป็นอิสระต่อทาส การตระหนักรู้ของทาสจึงไม่สมบูรณ์เช่นกัน ในมุมมองของเฮเกล ทาสดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่มีโอกาสในพัฒนาการรับรู้ของตนในระดับที่สูงขึ้น ทาสสามารถตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดที่กำหนดปัจจัยการผลิตอีกชั้น

เช่นเดียวกัน การเสี่ยงชีวิตหรือการดิ้นรนต่อสู้เพื่อรอดพ้นความตายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้ตนเอง แต่สำหรับเฮเกลแล้ว การมีเพียงรับรู้ตนเองก็เป็นเพียงความรู้เพียงด้านเดียว หรือเท่ากับการพูดว่า ฉันเท่ากับตัวฉัน และไม่อาจช่วยให้ฉันสามารถเข้าใจโลกได้อย่างครบถ้วน การรับรู้ตนเองจึงต้องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ภายนอก

สิ่งที่เรียกว่าความปรารถนาในสิ่งอื่น แต่ในโลกที่เราอยู่นั้น ความปรารถนานี้จะไม่มีวันได้รับการเติมเต็ม เราจะยังคงต้องการหรือปรารถนาในสิ่งอื่นเรื่อยไป

3

“เรามีข้อเท็จจริงสองอย่างบนโลกใบนี้ที่เที่ยงแท้แน่นอน หนึ่ง เราไม่อาจเป็นทุกสิ่งอย่าง และสอง เราต้องตาย”[7]

ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille)

ความตายคือธุระของคนเป็น หรือคนที่มีชีวิตอยู่แลดูคนตายจากไป สิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกล้วนต้องตาย แต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่มองเห็นความตายเป็นปัญหา สิ่งมีชีวิตอาจมีวัฏจักรคล้ายหรือเหมือนกัน แต่มีแค่เราที่ตระหนักได้ว่า ตัวเองจะต้องตาย[8] ความตายของคนจึงมีนัยแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในกรอบอธิบายทางด้านสังคมวิทยา มุมมองต่อความตายนี้แปรผันไปตามพื้นที่ กาลเวลา หรือสภาพสังคมที่เราดำรงอยู่ เราจะเข้าใจทัศนคติและความคิดเรื่องความตายได้ก็จำเป็นต้องอ้างอิงเชื่อมโยงกับสวัสดิภาพและช่วงชีวิตของปัจเจกทั้งหลาย ด้วยเพราะในสังคมที่อายุขัยคนเรายืนยาว ความตายก็เหมือนถูกรั้งชะลอไว้ จนภาพของคนตาย หรือความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อย ก็ย่อมเป็นไปได้ที่เราจะลืม หรือเก็บกดความคิดเกี่ยวกับความตายเอาไว้[9]

แต่ในบางห้วงเวลาที่ความตายคือสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป (เช่นระหว่างเกิดสงครามและโรคระบาด) การเตรียมพร้อมหรือตระหนักถึงความตายก่อนจะตาย จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการดิ้นรนมีชีวิตรอด[10]

ในนิยายอัศวินจากช่วงปลายยุคกลาง หรือวรรณกรรมเก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่าง La Chanson de Roland ก็บรรยายถึงการรอคอยความตายของตัวเอกไว้ แม้แต่นวนิยายจากศตวรรษที่ 17 อย่าง Don Quixote ในฉากตอนที่ตัวเอกกำลังจะสิ้นลมหายใจ เขาก็เลือกเผชิญหน้ากับความตายแทนการหลีกเร้นหลบไปในโลกของนวนิยายที่เขาหลงใหลคลั่งไคล้ 

ในหลายสังคมการเปิดบ้านให้สาธารณชนเข้าไปเยี่ยม หรือดูใจคนที่กำลังจะตายเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด (และเรียกว่าเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจวบจนกระทั่งย่างเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่เราเกิดและตายในโรงพยาบาล) ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสำคัญในการตระหนักถึงความตาย หรือการพยายามทำความรู้จักกับความตาย ก็อยู่ในอุปมานิทัศน์ ‘ระบำมรณะ’ (Danse Macabre) ภาพโครงกระดูกเต้นระบำที่แพร่หลายในงานจิตรกรรมช่วงปลายของยุคกลาง หรือหากเป็นละครก็คือฉากตอนหนึ่งใน Hamlet ของเชกสเปียร์ ที่ตัวเอกของเรื่องหยิบกะโหลกบนหลุมศพมาพูดคุย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า การคิดถึงความตายกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มนุษย์เคยคุ้น และมันเริ่มมีเค้าลางของความเปลี่ยนแปลงให้เห็นนับจากศตวรรษที่ 16 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อภาพระบำมรณะแบบดั้งเดิมที่โครงกระดูกหรือความตายแทบจะไม่เคยสัมผัสต้องตัวบุคคลในภาพ เริ่มมีห้วงการกระทำที่ดูรุนแรงมากขึ้นพร้อมๆ กับมีนัยทางเพศ จนดูราวกับความตายกำลังขืนใจชีวิต[11]

ด้วยเหตุนี้เองนักประวัติศาสตร์สังคมบางคนจึงลงความเห็นว่า ความคิดในเรื่องความตายมีวิวัฒนาการสวนทางกับอารยธรรมของมนุษย์ คือเริ่มต้นจากความตายที่เชื่องก่อนจะพัฒนาไปสู่ความตายที่ป่าเถื่อน[12]

แต่ถ้าพิจารณาในกรอบคิดทางปรัชญา ความตายของมนุษย์ถูกฝังไว้ภายในจิตสำนึก ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์และสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ที่ความตายคือสิ่งที่อยู่ภายนอก สัตว์อาจหยิบยื่นความตายให้แก่กัน เพื่อความอยู่รอด แต่มันจะไม่สร้างหรือสถาปนาความตายไว้ภายในจิตสำนึกของมัน[13]

ในผลงาน Phenomenology of Spirit เฮเกลชี้ให้เห็นว่า การรู้จักและเผชิญกับความตายโดยมุ่งมั่น หรือการต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นจากความตาย คือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์ หรือใน System of Ethical Life ที่เขากล่าวอย่างชัดเจนว่า “ในความตายเขาสามารถตระหนักถึงความมีอิสรภาพสมบูรณ์และความมีเสรี (เพื่อ) ตัวเขาที่เป็นเหมือนดังจิตสำนึกเชิงนิเสธ”[14] ความตายในแง่มุมทางปรัชญาทำให้เกิดความรู้สึกสองด้านควบคู่กันไป คือการตระหนักถึงความตาย ทั้งในแง่ของ ‘มิตรแท้’ และ ‘ศัตรูถาวร’ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรูปแบบความคิดและคงเป็นที่ถกเถียงกันสืบเนื่องเรื่อยมาในโลกวิชาการด้านปรัชญาจนถึงทุกวันนี้

4

แน่นอนว่าคงจะไม่มีนักปรัชญาคนใดบนโลกหล้าที่ ‘มรณกรรม’ ของเขาจะสร้างความน่าฉงนฉงายใจให้กับผู้คนทั้งหลายได้มากเท่ากับ เอมพิโดคลิส (Empedocles) เมธีกรีกโบราณที่ ‘ความตาย’ ของเขาถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ตำนานความตาย’ ที่มีมากมายหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่กระโจนลงปล่องภูเขาไฟ ผูกคอตาย กระโดดน้ำ และกระทั่งหายลับไป[15] การที่เอมพิโดคลิสสามารถตายได้มากกว่า 1 ครั้ง เพราะความตายของเขาถูกเชื่อว่า เป็นพิธีเปลี่ยนผ่านให้เขาเป็นอมตะ ซึ่งสอดคล้องกับหลักความปรัชญาของเขาที่ว่า แท้จริงแล้วไม่มีการเกิดหรือการตายอย่างแท้จริง มีแต่การสืบทอดเกี่ยวเกาะกันระหว่างชีวิตทั้งหลาย[16]

ความตายในมุมมองทางปรัชญาถูกขบคิดพิจารณามาก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับชีวิต ชีวิตคือสิ่งที่ส่งมอบต่อกันไป ชีวิตหนึ่งดับสิ้นลงเพื่อให้ชีวิตอื่นดำเนินต่อไป เหมือนดังถ้อยความของ ลูเครทิอัส (Lucretius) กวีและปราชญ์ชาวโรมันที่ว่า “สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีชีวิตอยู่โดยพึ่งพาชีวิตอื่นๆ เหมือนกลุ่มของนักวิ่งที่ส่งมอบคบเพลิงต่อกันไป”

ฉะนั้น ปราศจากความตายแล้ว ชีวิตก็ย่อมจะไม่ใช่ชีวิต การเป็นอมตะ หรือการมีชีวิตอยู่ยืนยาวไม่สิ้นสุดแบบแวมไพร์ไม่อาจเรียกว่าชีวิตได้ ความตายจึงเปรียบดังของขวัญ หรือเป็นปลายทางที่ชีวิตทั้งหลายมุ่งไป และในอีกทางก็เป็นสิ่งที่กำหนดความหมายของชีวิต

 

เอมพิโดคลิส (Empedocles) เมธีกรีกโบราณที่ ‘ความตาย’ ของเขาถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ตำนานความตาย’ ที่มีมากมายหลากหลายรูปแบบ

ซิเซโร (Cicero) ปราชญ์ชาวโรมันจึงกล่าวว่า การทำปรัชญาไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเตรียมพร้อมที่จะตาย ด้วยเพราะการขบคิดทางปรัชญา คือการชักพาวิญญาณเราออกไปนอกร่างกาย เป็นภาวะที่คล้ายคลึงกับการตาย และเมื่อฝึกฝนที่จะขบคิดเช่นนี้เรื่อยไป เราก็จะเคยชินและเข้าใจเองว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่าพรั่นพรึงแต่อย่างใด

แต่ มงแตญ (Montaigne) นักเขียนชาวฝรั่งเศสก็ชี้เตือนผู้หมกมุ่นกับความตายว่า นั่นอาจไม่ใช่หนทางแห่งการใช้ชีวิต หรืออย่างน้อยก็เขาคนหนึ่งก็ไม่ยอมที่จะครุ่นคิดถึงความตายจนสิ้นไร้ความสุข 

สิ่งที่มงแตญคิดถูกอธิบายขยายความไว้อย่างน่ารับฟังโดย บารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักปรัชญาดัตช์เชื้อสายยิว ผู้ที่มองว่า การจดจ่ออยู่กับความตายหรือไม่เข้าใจความตายอาจนำไปสู่ความชั่วร้ายได้

สปิโนซาแบ่งแยกคนออกเป็น 2 จำพวก พวกแรกคือ Homines Carnales ความตายมีบทบาทหรือส่งผลกระทบในทางที่เลวร้ายต่อคนจำพวกนี้ ขณะที่พวกหลังคือ Homines Sapientes ความตายไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นสำหรับสปิโนซาแล้ว “ไม่มีอะไรที่เสรีชนควรจะคิดถึงน้อยยิ่งกว่าความตาย และปัญญาของเขาไม่ได้มีไว้เพื่อขบคิดเรื่องความตาย ทว่ามีไว้เพื่อขบคิดถึงชีวิต”[17] สำหรับสปิโนซา เราสามารถอธิบายถึงความตายง่ายๆ ว่า “ถ้าเราอยู่ตรงนี้ ความตายก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ และในทางกลับกัน เมื่อความตายอยู่ที่นี่ เราก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้”[18]

5

แต่กระนั้นในโลกสมัยใหม่ การรู้จักและเข้าใจความตายของตัวเรา กลับถูกอธิบายโดยนักปรัชญาบางคนว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความตายของเราเกิดก็เมื่อเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น หรือไม่ได้มีลมหายใจหรือการรับรู้ใดๆ อีกต่อไป คนที่รับรู้และเฝ้าดูความตายของเราจึงไม่ใช่ตัวเรา

ใน Division 2 ของหนังสือ Being and Time มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) กล่าวถึงการเผชิญหน้าระหว่างความตายกับหมวดหมู่แห่งการดำรงอยู่ที่เขาเรียกว่า Dasein พร้อมทั้งอธิบายให้เห็นว่า ความตายของบรรดา Das Man (The Them) หรือรูปแบบการดำรงอยู่อันไม่เที่ยงแท้ที่อยู่ในโลกประจำวัน (Everydayness) ผู้พูดคุยด้วยภาษาอันหาสาระไม่ได้ (Idle Talk) จะเป็นความตายที่เป็นเพียงข้อมูลชนิดหนึ่ง เช่น ผู้ตายรู้จักกับพวกเขาหรือไม่ ผู้ตายตายเพราะเหตุใด หรือเป็นความตายที่พวกเขารู้เพียงว่า มีเกิดขึ้นทุกนาทีทุกชั่วโมง แต่ไม่สามารถเข้าใจหรือตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงของมันได้ ความตายและการตายเชิงกายภายจึงมีนัยแตกต่างกัน เพราะสำหรับไฮเดกเกอร์แล้ว ความตายคือความเป็นไปได้ของความเป็นไปไม่ได้ที่สมบูรณ์แบบของ Dasein เหตุนี้จึงไม่อาจเปรียบเทียบได้กับการหมดสิ้นลงของบางสิ่ง ความตายของคนคนหนึ่งไม่ใช่เหตุการณ์เชิงประจักษ์ ไม่มีใครตายแทนใครได้ ไม่มีใครจะเข้าใจความตายแทนคนตายได้ ความตายจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ Dasein เป็นปัจเจก เราอาจสรุปด้วยคำกล่าวที่ว่า ยิ่งเราเริ่มมีชีวิตมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งมีอายุมากพอที่จะตาย

ด้วยกรอบอธิบายของไฮเดกเกอร์นี้เอง นักคิดในยุคต่อๆ มาจึงอธิบายความตายในฐานะของ ‘ความเป็นไปไม่ได้’ ไม่ใช่เพราะความตายคือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ทว่ามันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะก้าวไปถึงเพื่อเข้าใจหรือรับรู้ 

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมนักเขียนชาวฝรั่งเศส โมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) จึงเปรียบโยงการเขียนหรือวรรณกรรมเข้ากับความตาย[19] เพราะเขาคิดหรือเชื่อว่า การเขียนคือการขีดฆ่าหรือทำลายความหมายของสิ่งที่มันกล่าวถึง เมื่อเราเขียนถึงสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนถึง เช่นเดียวกับวรรณกรรมที่บล็องโชต์เห็นว่า เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่า อะไรคือวรรณกรรม? เพราะคำตอบที่อธิบายความเป็นหรือสิ่งที่นิยามวรรณกรรมจะไม่เป็นคำตอบ เพราะวรรณกรรมจะไม่อยู่ตรงนั้น มันจะไม่รอเราอยู่ เมื่อเราพยายามจะให้ความหมาย มันก็เคลื่อนหายไปทุกครั้ง

ฉะนั้นการทำความเข้าใจ ‘การเขียน’ หรือ ‘วรรณกรรม’ บนฐานคตินี้จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่เราจะสามารถเข้าใจความตาย

ความตายจึงเป็นกล่องปริศนาที่ผู้เปิดไม่สามารถบอกใครได้ว่ามีอะไรอยู่ภายใน เพราะเมื่อเปิดแล้วผู้เปิดก็สิ้นลมหายใจ สิ่งที่เราสามารถกระทำได้คือการสืบย้อนจากศพ แต่ไม่ใช่จากการประสบพบเจอกับความตายตรงๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ความตายจะเป็นตัวละครหรือสถานการณ์ ที่เปี่ยมด้วยไปด้วยปริศนาที่ชวนให้เราสนใจใคร่รู้เสมอมาและอาจเสมอไป

 

โมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) นักเขียนชาวฝรั่งเศส

 

เชิงอรรถ

[1] “Death and death alone is what we must consult about life; and not some vague future or survival, in which we shall not be present. It is our own end; and everything happens in the interval between death and now.”

[2] Learning to Live Finally: An Interview with Jean Birnbaum. Edited by Jean Birnbaum. (New Jersey: Melville House, 2007) 24.

[3] ผลงานชิ้นนี้กล่าวถึงกำเนิดแนวคิดทางศาสนา โดยแดรร์ริดาเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ข้อเขียนชิ้นสำคัญของยาน พาทอชกา (Jan Patočka) นักปรัชญาชาวเชคที่พยายามอธิบายว่า ศาสนาถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดชอบ (Responsibility) ซึ่งแดร์ริดาชี้ให้เห็นว่า ความรับผิดชอบแรกสุดของมนุษย์เรา ทั้งหลายคือการเผชิญหน้ากับความตายของตนเอง

[4] Jacques Derrida, The Gift of Death, translated by David Wills, (Chicago: University of Chicago Press, 1996) 41.

[5] Ibid., 43.

[6] โปรดดู Jacques Derrida, Life Death, translated by Pascale-Anne Brault and Michael Naas (Chicago: University of Chicago Press, 2020).

[7] “We have in fact only two certainties in this world – that we are not everything and that we will die.”

[8] Norbert Elias, Loneliness of the Dying, translated by Edmund Jephcott, (New York: Continuum, 2001) 3.

[9] Ibid., 8.

[10] Philippe Ariès, Western Attitude Toward Death, translated by Patricia M. Ranum, (London: Marion Boyars, 1976), pp. 2-3

[1] Ibid., 56.

[12] Ibid., 13-14.

[13] Gilles Deleuze, Spinoza: Practical Philosophy, translated by Robert Hurley, (San Francisco: City Lights Books, 1988) 12-13.

[14] “…in death he can realize his absolute independence and freedom [for] himself as absolutely negative consciousness.”

[15] Ava Chitwood, Death by Philosophy, (Michigan: The University of Michigan Press, 2006), 1.

[16] Empidocles, The Fragments of Empidocles, translated by William Ellery Leonard, (Chicago: Open Court Publishing Company, 1908), 18.

[17] “A free man thinks of nothing less than of death, and his wisdom is not a meditation upon death but upon life.”

[18] “If we are here, death is not here and, on the contrary, when death is here, so we are not here.”

[19] Maurice Blanchot, Work of Fire, (California: Stanford University Press, 1994), 300.

Tags: , , ,