When Philo Met Sophia (16)
Anti-philosophy
จาก ‘นักปรัชญา’ ใน ‘ตลาดความรู้’ สู่ ‘ความจริง’ ในฐานะ ‘สินค้า’
1
ในช่วงทศวรรษ 1990 ที่สถาบันเลกอล นอร์มาล ซูเปริเยอ (L’école normale supérieure) ในกรุงปารีส อแล็ง บาดิยู (Alain Badiou) บรรยายเกี่ยวกับนักคิดคนสำคัญต่างๆ ที่เขาจัดให้เป็นนักปฏิปรัชญา (Anti-philosopher) ได้แก่ นิทเช่ (Nietzsche) ในช่วงปี 1992-1993, วิทท์เกินชไตน์ (Wittgenstein) ในช่วงปี 1992-1993, ลาก็อง (Lacan) ในช่วงปี 1994-1995 และแซ็งต์ ปอล (Saint Paul) ในช่วงปี 1995-1996
คำถามที่อาจติดอยู่ในใจเราก็คือ แล้วปฏิปรัชญา (Anti-philosophy) คืออะไร? หรือเหตุใดบุคคลเหล่านี้ถึงได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิปรัชญา
‘ปฏิปรัชญา’ เป็นคำที่เคยใช้ในความหมายของฝ่ายปฏิกิริยา (Reactionary) หรือผู้ต่อต้านการเผยแพร่ความรู้ในยุคภูมิธรรม (Enlightenment) นักปฏิปรัชญาจึงหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านนักเขียนปัญญาชน ที่ชาวฝรั่งเศสในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เรียกรวมกันว่า Le Philosophe โดยผู้ที่นำคำว่าปฏิปรัชญากลับมาใช้ในโลกร่วมสมัยเป็นคนแรกๆ ก็คือฌาคส์ ลาก็อง นักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสที่บาดิยูมองว่า เขาเป็นนักปฏิปรัชญานั่นเอง
สำหรับบาดิยู ปฏิปรัชญาหมายความถึงรูปแบบความคิดหรือกระบวนการคิด ที่ทำให้ปรัชญาไปสู่ข้อปัญหา ขีดจำกัด หรือเป็นบททดสอบ นักปฏิปรัชญาถือเป็นแนวร่วมเดียวกับพวกโซฟิสต์ (Sophist) ที่มีมาแต่ยุคยุคกรีกโบราณ
โซฟิสต์ถูกจัดวางไว้ให้อยู่ตรงกันข้ามกับ ‘ผู้รักในความรู้’ (Philosophos) ที่เผยแพร่ความรู้ไม่ใช่เพื่อเงิน ความมีอำนาจ หรือชื่อเสียง นักปรัชญาจึงต่างจากโซฟิสต์ที่มักทำตัวเป็น ‘นายขายความรู้’ ทว่าความรู้ดังกล่าวกลับเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ หรือ ‘อาวุธ’ ที่ใช้ในการถกเถียงเพื่อเอาชนะคะคานคู่สนทนา
ฉะนั้นสำหรับเพลโต (Plato) โซฟิสต์ทั้งหลายจึงกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา ทำให้เขาผลิตสร้างบทสนทนาจำนวนหนึ่งขึ้นมา เพื่อวิพากษ์ความรู้ของโซฟิสต์ผู้โด่งดังอย่าง โปรตากอรัส (Protagoras) หรือกอร์เกียส (Gorgias) แน่นอนว่าผ่านปากคำของโสเครติส (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเพลโต ซึ่งในชีวิตจริงๆ โสเครติสอาจไม่เคยพบเจอ หรือทันได้โต้แย้งถกเถียงกับโซฟิสต์ระดับตำนานเหล่านั้น หรือพูดอีกทาง การโต้แย้งกับบรรดานายหน้าผู้ขายความรู้ (เทียม) เกือบทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นผ่าน ‘จินตนากรรม’ ของเพลโต
ในความคิดของบาดิยู ปฏิปรัชญาถือว่ามีบทบาทคล้ายคลึงกับ 2 ปฏิปักษ์สำคัญของปรัชญา ได้แก่โซฟิสต์ผู้เร่ขายความรู้เทียม และบรรดาประกาศกทางศาสนา นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบาดิยูจึงจัดนักคิดคนสำคัญหรือแม้แต่นักบุญให้เป็นนักปฏิปรัชญา
แม้ส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า บาดิยูสมาทานความคิดทางการเมืองแบบคอมมิวนิสม์ (Communism) เหมือนดังวาทะโด่งดังในคำโปรยปกหลังหนังสือ The Communist Hypothesis ที่ว่า “เราต่างรู้ดีว่าคอมมิวนิสม์เป็นข้อสมมติฐานที่ถูกต้อง ผู้ที่ละทิ้งสมมติฐานนี้ได้บ่ายหน้าไปหาเศรษฐกิจแบบตลาด ระบอบประชาธิปไตยผ่านรัฐสภา รูปแบบรัฐที่เหมาะกับระบบทุนนิยม และคุณลักษณะอันเลี่ยงไม่ได้ และเป็น ‘ธรรมชาติพื้นฐาน’ ของความไม่เท่าเทียมชนิดที่โหดเหี้ยมที่สุด”[1]
เพียงแต่ในทางภววิทยา (Ontology) บาดิยูยังคงยึดมั่นในขนบและอุดมคติความคิดตามแนวทางของเพลโต และเรอเน เดอการ์ตส์ (René Descartes) ดังนั้นแล้วปรัชญาจึงไม่เพียงแต่มีหน้าที่ในการเผยให้เราเห็น ‘สัจจะ’ แยก ‘ความจริง’ ออกจาก ‘สิ่งลวงตา’ แต่ยังต้องสร้างหนทางไปสู่ความจริงด้วย
ในแง่นี้ ‘เหตุผล’ หรือ ‘ตรรกะ’ จึงมีความจำต้องดำรงอยู่ และเป็นสิ่งที่บาดิยู (ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญา) จะต้องพิทักษ์รักษาเอาไว้จากศัตรูทั้งหลาย โดยเฉพาะโซฟิสต์สมัยใหม่ (Modern Sophist) ที่ออกมาเผยแพร่คำสอนที่เหมือนจะเป็นปรัชญา แต่แท้จริงกลับต่อต้านหรือทำลายความเป็นปรัชญา
โซฟิสต์สมัยใหม่ในคำอธิบายของบาดิยู คือผู้เปลี่ยนปรัชญาให้กลายเป็นเพียงแค่ ‘โวหาร’ หรือการละเล่นทางภาษา ที่มองว่ามนุษย์เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ (ไม่ว่าจะผ่านความรู้และเหตุผล) โซฟิสต์สมัยใหม่จึงหมายรวมตั้งแต่ แบลส ปัสกาล (Blaise Pascal), ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau), ลุดวิก วิทท์เกินชไตน์ จนถึงนักปรัชญาร่วมสมัยอย่าง ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida), เจียนนี วัตติโม (Gianni Vattimo) และฌ็อง-ฟร็องซัวส์ ลีโอตารด์ (Jean-Françios Lyotard)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernist) ทั้งหลายที่เผยแพร่แนวคิดเรื่องเกมภาษา ความแตกต่าง-ความเลื่อนไหล ความเป็นเสี้ยวส่วนกระจัดกระจาย และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถึงกระนั้นแล้ว ปฏิปรัชญาในมุมมองของบาดิยูก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น ในแง่ที่เป็นบททดสอบของความจริง หรือ ‘ขีดจำกัด’ ที่นักปรัชญาจะต้องข้ามผ่านไปให้ได้
ล่วงเลยมาสู่ทศวรรษ 2010 บอริส กรอยซ์ (Boris Groys) นักปรัชญาศิลปะชาวรัสเซีย-เยอรมัน นำแนวคิดเรื่องปฏิปรัชญา (หรือที่เขาเรียกว่า Antiphilosophy แบบไม่มีเครื่องหมายยติภังค์) กลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้กรอยซ์ไม่ได้มองนักปฏิปรัชญาในฐานะแนวร่วมของโซฟิสต์ แต่เป็นในฐานะของศิลปินที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง และทลายความเป็นสถาบันหรือตลาดศิลปะแบบดั้งเดิมลงอย่างสิ้นเชิง
ปฏิปรัชญาของกรอยซ์พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดเรื่อง ‘ปฏิศิลป์’ หรือ Anti-art ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อศิลปินอย่าง มาร์แซ็ล ดูช็องป์ (Marcel Duchamp) นำวัสดุเก็บตก (Found Object) เช่น ข้าวของเครื่องใช้ทั่วไปที่ไม่มีคุณค่าทางสุนทรียะ มาจัดแสดงในฐานะของผลงานศิลปะ หรือที่เรียกกันต่อมาว่า งานสำเร็จศิลป์ (Readymades)
ปฏิศิลป์ถือเป็นจุดพลิกผันและความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกศิลปะ อย่างน้อยก็ในข้อสมมติฐานของ ฮันส์ ริชเทอร์ (Hans Richter) ผู้เขียน Dada: Art and Anti-Art (1964) ที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปะของกลุ่มดาดา (Dada) ที่มีดูช็องป์เป็นหนึ่งในผู้ก่อการนั้นไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อ ‘สถาบันศิลปะ’ ที่ดำรงมาก่อนหน้า แต่อาจหยิบยื่น ‘จุดจบ’ หรือ ‘ทำลาย’ โลกของศิลปะที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า[2]
ด้วยเหตุผลนี้ กรอยซ์จึงเรียกปฏิปรัชญาว่า Philosophical Readymades หรืองานสำเร็จศิลป์ทางปรัชญา โดยพยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่า นักปรัชญาจำนวนหนึ่งในมุมมองของเขาทำหน้าที่แบบเดียวกับศิลปินกลุ่มดาดา คือเข้าไปหยิบยื่นจุดจบให้กับปรัชญา
เราจะวกกลับมาพูดถึงข้อเสนอของกรอยซ์ในเรื่องของปฏิปรัชญา หรือบรรดานักปฏิปรัชญาของเขาอีกครั้ง
ผลงาน Bicycle Wheel, 1963 มาร์แซ็ล ดูช็องป์ (Marcel Duchamp)
2
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ‘การทำปรัชญาในฐานะของศิลปะ’ หรือเป็นการสร้างสรรค์ผ่านแนวคิด ได้รับการเสนออย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกๆ ผ่านผลงาน Qu’est-ce que la philosophie? (1991) หรือ What Is Philosophy? ของฌิลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) กับเฟลีซ์ กวัตตารี (Félix Gauttari) ซึ่งอธิบายไว้ว่า ปรัชญาคือศิลปะของการก่อตัว การประดิษฐ์คิดค้น และการประกอบรวมแนวคิด (Concept) ขึ้นมา[3] นักปรัชญาจึงเปรียบได้ดังกับศิลปินที่สร้างสรรค์ผ่านแนวคิดต่างๆ
ข้อเสนอของเดอเลิซกับกวัตตารีอาจกินความหมายกว้างถึงการสร้างระบบคิด และแนวคิดต่างๆ แต่เพื่อให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้เขียนอยากขอยกตัวอย่างสักกรณีหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่า มีความใกล้เคียงกับคำว่า ‘การทำปรัชญาในฐานะของศิลปะ’
ย้อนกลับไปเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองถือว่าพัฒนารุดหน้าไปไกลมาก จนเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทองของประสาทวิทยา’ คำอธิบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความนึกคิดและจิตใจ เริ่มถูกมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ในสมอง ด้วยเหตุนี้ อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส (ที่ให้อิทธิพลความคิดต่อเดอเลิซอย่างมาก) จึงลุกขึ้นมาโต้แย้งข้อเสนอที่ว่า สมองของมนุษย์เราเป็นที่ตั้งเพียงหนึ่งเดียวของจิตสำนึก (Consciousness)
‘เสื้อโค้ตบนตะขอเกี่ยว’ สิ่งที่แบร์กซงใช้อธิบายว่า จิตสำนึกไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ในสมอง ทว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปรากฏการณ์ทางกายภาพและในทางจิต
แน่นอนว่า ถ้าเรามองกันแบบผิวเผิน จิตสำนึกกับสมองถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์นี้แบร์กซงกลับเห็นมันเป็นเหมือน ‘เสื้อโค้ตบนตะขอเกี่ยว’ หากว่าตะขอถูกถอนออกไป เสื้อโค้ตก็จะร่วงหล่นกับพื้น ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้นด้วยรูปทรงของตะขอทำให้เสื้อโค้ตสามารถคงรูปในแบบที่ถูกแขวนอยู่ได้[4] แต่หากปราศจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็จะไม่เป็นรูปร่างเช่นที่เราเห็น
เสื้อโค้ตบนตะขอเกี่ยวเป็นสิ่งที่แบร์กซงใช้อธิบายว่า จิตสำนึกไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ในสมอง ทว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปรากฏการณ์ทางกายภาพ (Physiological) และในทางจิต (Psychical) โดยเขาพยายามพิสูจน์ข้อเสนอดังกล่าวผ่านการศึกษาเรื่องความทรงจำที่เชื่อว่าเป็นจุดตัดสำคัญระหว่างจิต (Mind) และสสาร (Matter)
เสื้อโค้ตบนตะขอเกี่ยวจึงเป็นมากกว่าอุปลักษณ์โดยทั่วไป และอาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายความเป็น Found Object หรือ Objet Trouvé ที่นำเสนอแนวคิดสำคัญที่ว่า ชีวิตของเรานั้นคือท่วงทำนองที่ดำเนินไประหว่างโลกของจิตกับสสาร ดังนั้นจิตวิทยาและสรีรศาสตร์จึงไม่เพียงแต่ต้องอาศัยกันและกัน ทว่ายังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของปรัชญา ในการทำความเข้าใจชีวิตที่มีความเปราะบางและสลับซับซ้อนนี้
3
แน่นอนว่า Philosophical Readymades หรืองานสำเร็จศิลป์ทางปรัชญาของบอริส กรอยซ์ ถือว่าเป็นการผลักดันข้อเสนอของเดอเลิซกับกวัตตารีให้ไปไกลกว่าการสร้างสรรค์ แต่เป็นการพูดถึงจุดแตกหักหรือความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดในโลกของปรัชญา ซึ่งกรอยซ์เห็นว่าผูกโยงสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ตลาดของความจริง’
สำหรับกรอยซ์ ปรัชญา (Philosophia) ถือกำเนิดขึ้นในตลาด (Agora) อันเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวกรีกโบราณ ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในสำนัก (Academia)
นักปรัชญาคือผู้เดินอยู่ในตลาด นับตั้งแต่โสเครติส, เพลโต จนไปถึงไดโอจิเนส (Diogenes) ซึ่งประวัติศาสตร์ปรัชญาชี้ให้เห็นว่า ผู้นำความจริงออกมาจำหน่ายในตลาดกลุ่มแรกไม่ใช่นักปรัชญา แต่กลับเป็นบรรดาโซฟิสต์ที่ถูกมองเป็นศัตรูของผู้รักในความรู้
โสเครติสถือเป็นบุคคลที่โด่งดังในเรื่องที่เขา ‘ไม่’ ขายความรู้ โสเครติสเป็นตัวแบบให้แก่นักปรัชญาในฐานะของผู้รัก แต่ไม่เคยครอบครองความรู้ เป็นคนที่ย้ำเน้นเสมอว่า ‘สิ่งเดียวที่เขารู้คือไม่รู้อะไรเลย’
แต่ถึงกระนั้น โสเครติสเองก็เป็นผู้ริเริ่มในการวิจารณ์ความจริงที่จำหน่ายในตลาดของเอเธนส์ ณ เวลานั้น เขาเป็นบุคคลแรกๆ ที่ติติง หรือชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดในสินค้าที่โซฟิสต์วางจำหน่าย แต่กระนั้นสิ่งที่โสเครติสอาจไม่ได้นึกคิดหรือจินตนาการถึงก็คือ ข้อวิจารณ์ต่อสินค้าที่ชื่อว่าความจริงของเขา สร้างตลาดใหม่ที่เรียกว่า ‘ตลาดแห่งการวิจารณ์’ ขึ้นมา
เส้นของปรัชญาในโลกตะวันตกดำเนินไปพร้อมกับการเติบโตขึ้นของตลาดของความจริง และตลาดแห่งการวิจารณ์ ผ่านข้อเขียนและตำราความรู้ต่างๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งกรอยซ์เห็นว่า เกิดจุดพลิกผันที่ทำให้ตลาดหรือความเป็นสถาบันของปรัชญาต้องสั่นคลอนลงไป
เมื่อ โซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) และคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาผลิตเพียง ‘ข้อวิจารณ์’ เหมือนเช่นนักปรัชญาในยุคก่อนหน้าอีกต่อไป แต่ทั้งคู่เริ่มใช้การออกคำสั่ง (Command) ในข้อเขียนและผลงานของตน ให้ผู้อ่านกระโจนเข้าไปในความเชื่อ เปลี่ยนแปลงโลกแทนการตั้งหน้าตั้งตาอธิบายแต่เพียงอย่างเดียว
‘คำสั่ง’ เหล่านี้เองส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรง และทำให้ปรัชญาไม่ใช่แค่สินค้าในตลาดของความจริงหรือตลาดแห่งการวิจารณ์ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเสนอขายเราอีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า เป็นข้อเสนอที่บาดิยูฟังแล้วอาจไม่ถูกใจ และไม่เห็นด้วยกับกรอยซ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
[1] “We know that communism is the right hypothesis. All those who abandon this hypothesis immediately resign themselves to the market economy, to parliamentary democracy – the form of state suited to capitalism – and to the inevitable and ‘natural’ character of the most monstrous inequalities.” Alain Badiou, The Communist Hypothesis, (London: Verso, 2010)
[2] Boris Groys, Introduction to Antiphilosophy, translated by David Fernbach, (London: Verso, 2012) vii.
[3] Gilles Deleuze and Felix Guattari, What Is Philosophy?, Translated by Hugh Tomlinson and Graham Burchell (London: Verso 1994)
[4] Henri Bergson, Matter and Memory, translated by Nancy Margaret Paul and W. Scott Palmer (New York: Zone books, 1990) 12.
Tags: ปฏิปรัชญา, Anti-philosophy, philosophy, ปรัชญา, When Philo met Sophia