หลังพอเห็นเค้าลาง ว่าพรรคใดกุมคะแนนเอาไว้ที่เท่าไร ตอนนี้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ ต่างก็ชิงแถลงชัยชนะ ว่าพรรคตัวเองคือพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด
พรรคพลังประชารัฐบอกว่า ได้คะแนนสูงสุด เพราะมีป็อบปูล่าโหวต หรือคะแนนรวมทั้งประเทศมากที่สุด
พรรคเพื่อไทยบอกว่า ได้คะแนนสูงสุด เพราะคำนวนแล้วคาดว่าได้สัดส่วนที่นั่งในสภามากที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะถือว่าใครได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่า? มาค่อยๆ คิดไปด้วยกัน
ระบบบัตรใบเดียว มีแค่ 1 คะแนนต้องแบ่งให้ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้งปี 2562 เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งมาเป็นแบบใหม่ ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อคำนวณออกมาเป็น ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อในคราวเดียว ต่างจากปี 2554 ที่ใช้ระบบบัตรสองใบ ที่แต่ละคนจะได้เลือกทั้ง ‘คน’ และ ‘พรรค’ แยกกัน ผลของการคำนวณก็เป็นไปตามที่หลายๆ คนคาด
นั่นคือ พรรคที่เคยกวาด ส.ส. ในระบบเขตมามากมายในระบบเก่า อย่างพรรคเพื่อไทย จะเสียเปรียบในระบบใหม่นี้ เพราะจำนวน ‘ส.ส. พึงมี’ ที่นำคะแนนรวมทั้งประเทศมาคำนวณ เมื่อมาหักลบกับจำนวน ส.ส. ที่ได้มาจากระบบเขตแล้ว จะทำให้มีสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยลง
กล่าวคือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ = จำนวน ส.ส. พึงมี (คิดจากคะแนนทั้งประเทศ) – ส.ส. เขต (ถ้ายังงง แวะไปทำความเข้าใจการคำนวณได้ที่นี่ https://themomentum.co/party-list-seats-in-the-house-of-representatives/)
หมายความว่า ถึงจะได้คะแนนเยอะแค่ไหน แต่ถ้าได้ที่นั่ง ส.ส. เขต ไปเยอะแล้ว ก็มีโอกาสน้อยลงที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมาเพิ่มเติม
ข้อสังเกตจากผลเลือกตั้งปี 54 เปรียบเทียบกับผลเลือกตั้งปี 62
ข้อแตกต่างนี้ จะเห็นได้จาก ผลการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้สัดส่วนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48.8% จาก ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมด สอดคล้องกับสัดส่วน ส.ส.เขต 54.4% จาก ส.ส. เขต ทั้งหมด กล่าวคือสำหรับพรรคใหญ่ๆ คะแนนมักจะไปในทางเดียวกัน เมื่อได้ ส.ส. เขตมาก ก็มีแนวโน้มจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมาก เช่นเดียวกับประชาธิปัตย์ (35.2% และ 30.7%) แม้คะแนนจะไม่ได้ใกล้เคียงกันเสมอ เพราะหลายๆ คนอาจเลือกบัตรแต่ละใบต่างพรรคกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่ยอดรวมจะไม่พลิกผันไปจากกันนัก
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งปี 2562 การคำนวณในระบบใหม่ทำให้พรรคเพื่อไทย จากที่ได้ ส.ส. เขตมาแล้ว 38.6% ถูกสกัดดาวรุ่งด้วยการไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย (0%) ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่แม้จะได้ ส.ส. เขตน้อยกว่าเพื่อไทย (28%) กลับได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากถึง 14%
แต่ที่อาจผิดคาดสำหรับผู้วางกติกาใหม่นี้ก็คือ ระบบนี้ทำให้พรรคหน้าใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ส้มหล่น ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ เพราะแม้จะได้ ส.ส. เขตไปเพียง 8.3% แต่คะแนนของพรรคที่รวมพลังกันมาจากทั้งประเทศ ก็ส่งให้พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อไปถึง 39.3%
**หมายเหตุ : เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์เพราะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ ส.ส. เขต ในปี 2554 และ 2562 ไม่เท่ากัน (ปี 2554 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ส.ส.เขต 375 คน / ปี 2562 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ส.ส.เขต 350 คน)
นี่อาจจะเป็นคำอธิบายได้ว่า เพราะอะไร จำนวนที่นั่งของส.ส.ระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ถึงกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้
แต่หากจะหาคำตอบของคำถามที่ว่า แล้วที่จริง ด้วยระบบนี้จะวัดอย่างไรว่าใครได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่า คำถามนี้ตอบยากมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ผู้ใช้สิทธิต้องกลายเป็น Strategic voters คือ ไปใช้สิทธิอย่างมียุทธศาสตร์ เสียงของอุดมการณ์แบบหนึ่งอาจกระจายไปอยู่ตามพรรคที่ตัวเองเชื่อมั่น และยังไม่นับว่า ด้านพรรคการเมืองที่รู้ตัวดีว่าจะเสียเปรียบในระบบนี้ต่างก็พยายามหาทางออกด้วยการกระจายคะแนนไปยังพรรคการเมืองใหม่ เช่น พรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ถูกอุบัติเหตุทางการเมืองโดนยุบพรรคไปเสียก่อน
Tags: ส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ, เพื่อไทย, ปาร์ตี้ลิสต์, พลังประชารัฐ, บัตรใบเดียว