“ผมรู้สึกว่าที่ผมสนุกกับการทำหนังประวัติศาสตร์ หรือหนังที่ว่าด้วยการสำรวจประวัติศาสตร์ใหม่อีกหน หรือหนังย้อนอดีต เพราะผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ทำได้ดีที่สุดผ่านพื้นที่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ในหนังและฉายมันผ่านการเป็นหนังเล่าเรื่อง เพราะเราต่างรู้ว่าอดีตที่ว่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร กับรูปแบบที่ 2 คือ ปล่อยให้เวลาล่วงผ่านไป เราพินิจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตได้ผ่านปริซึมแห่งกาลเวลาน่ะ”
สิ่งหนึ่งที่อาจเรียกว่ามเป็นลายเซ็นในการทำหนังของ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) คือการที่เขามักทำหนังที่ว่าด้วยอดีตหรือการหวนกลับไปสำรวจเรื่องราวบางที่ส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านชีวิตอันแสนสามัญของตัวละคร ตัวเขาเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่เขาเล่าว่า ห่างไกลจากงานศิลปะเกือบทุกแขนง ถ้าจะมีสักอย่างที่ดึงดูดให้เขาเข้าสู่โลกภาพยนตร์คือกล้อง 8 มม. ของพ่อแม่ที่ซุกอยู่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน และอาจจะกล่าวได้ว่าผลงานแรกๆ ของเขาคือ ใช้เจ้ากล้องจิ๋วบันทึกกิจกรรมตามเทศกาลพิเศษต่างๆ ของครอบครัว
“ผมโตที่ทางใต้ของชิคาโก้ในครอบครัวจนๆ ดังนั้นผมจึงดูทุกอย่างจากโทรทัศน์ มันเหมือนหน้าต่างพาผมไปสู่โลกเลย แต่ขณะเดียวกันเราก็ไปดูหนังกันเป็นประจำทีเดียว ส่วนใหญ่ก็ไปกันวันอังคาร” เซเม็กคิสบอก “เพราะมันมีโปรโมชัน Ladies Night แม่เลยเข้าไปดูได้ฟรี หรือบางทีก็ไปวันเสาร์ ผมจะไปดูหนัง 3 เรื่องติดเลย”
จุดเปลี่ยนของเซเม็กคิสคือ ตอนที่เขาอายุได้ 15 ปี ทุกคนที่โรงเรียนเอาแต่พูดเรื่องฉากเลือดสาดในช่วงท้ายของหนัง Bonnie and Clyde (1967) ผมเลยขอให้พ่อพาผมไปดูหนังเรื่องนี้หน่อย ผมมีอารมณ์ร่วมเอามากๆ ตอนดูตัวละครของ จีน แฮ็คแมน (Gene Hackman) กำลังตาย และก็เป็นตอนนั้นแหละที่ผมตระหนักได้ว่ามันมีมวลพลังมหาศาลอยู่ในหนังแต่ละเรื่อง และเวลาเดียวกันนั้น ผมก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการเรียนวิชาวรรณกรรมอังกฤษที่โรงเรียนด้วย ผมเลยเข้าใจเรื่องดรามา, เรื่องการแบ่งเรื่องเป็น 3 องก์, เรื่องการสร้างตัวละคร และอะไรต่ออะไรพอสมควร
“และผมก็รู้มาด้วยว่า พวกคนเขียนบทกับผู้กำกับเริ่มงานของตัวเองด้วยการเขียนเสมอ ผมเลยเริ่มหมกมุ่นและอยากเข้าใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เลยอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า จำได้ว่าซื้อนิตยสาร Film Comment ฉบับปก Bonnie and Clyde ด้วยครับ แต่ก็อ่านอะไรไม่เข้าใจสักอย่างเลย แต่ก็นั่นล่ะ จุดที่ทำให้ผมเริ่มทำหนังของตัวเอง”
เช่นเดียวกับคนทำหนังอีกหลายๆ คน เซเม็กคิสเริ่มต้นด้วยการตัดต่องานโฆษณาออกฉายทางโทรทัศน์ และค่อยๆ ขยับมาทำหนังสั้นของตัวเอง ก่อนจะเริ่มทำหนังยาวเรื่องแรกคือ I Wanna Hold Your Hand (1978) ที่ถือว่าวาดลายเซ็นตัวเองไว้ชัดเจนตั้งแต่จุดออกตัว เพราะมันเป็นหนังคอเมดีที่ ‘เล่าย้อน’ กลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นาน เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในปี 1964 ช่วงที่วง The Beatles เดินทางมาแสดงโชว์ในรายการ The Ed Sullivan Show กลุ่มสี่สาววัยรุ่นจึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังนิวยอร์ก เพื่อดูโชว์ของวงจากเกาะอังกฤษ
แพม (แสดงโดย แนนซี อัลเลน) เพิ่งหมั้นกับแฟนหนุ่มและหวังอยากใช้ชีวิตสุดขีดอีกครั้งก่อนแต่งงาน, เกรซ (แสดงโดย เธเรซา ซัลดานา) หวังอยากเป็นช่างภาพ และคิดว่าหากเธอได้ถ่ายรูปวง The Beatles ขณะแสดงดนตรีสด น่าจะช่วย ‘แจ้งเกิด’ เธอในงานสายนี้ได้ และเจนิส (แสดงโดย ซูซาน เคนดัลล์ นิวแมน) แค่อยากไปแสดงความเห็นต่อหน้า The Beatles ว่า วงกำลังทำให้วงการดนตรีตกต่ำขนาดไหน
จะว่าไป I Wanna Hold Your Hand (ที่ก็เป็นชื่อเพลงของวง The Beatles ด้วย) ก็มีลูกเล่นแบบที่ต่อมาปรากฏในหนังของเซเม็กคิสอีกหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การที่หนังเล่าเรื่องแนบชิดไปกับเหตุการณ์จริง รวมทั้งการอ้างอิงถึง Beatlemania หรือคือกลุ่มคนที่คลั่งไคล้วงแบบสุดพลัง “ยุคนั้นคนชอบทำอะไรบ้าๆ อย่างการพยายามพังโรงแรมพลาซ่าที่ The Beatles อาศัย หรือซื้อเศษผ้าปูเตียงที่พวกเขานอน” เซเม็กคิสบอก (นอกจากนี้ I Wanna Hold Your Hand ยังเป็นหนังเรื่องแรกที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นโปรดิวเซอร์ด้วย)
อย่างไรก็ดี หนังทำเงินไปได้เพียง 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็อาจจะชวนผิดหวังอยู่ไม่น้อย มิหนำซ้ำ Used Cars (1980) หนังเรื่องต่อมาของเขาก็ทำเงินได้ไม่ดีนัก หากแต่ความผิดหวังอยู่กับเซเม็กคิสในวัยหนุ่มไม่นานนัก เมื่อ Romancing the Stone (1984) หนังยาวเรื่องที่ 3 ของเขาที่ว่าด้วย โจแอน (แสดงโดย แคธลีน เทอร์เนอร์) สาวนักเขียนโรแมนซ์ได้ไปลายแทงขุมทรัพย์ในป่าแห่งหนึ่งมา เรื่องเริ่มชุลมุนเมื่อลายแทงดังกล่าวเป็นที่ล่อตาล่อใจ จนพี่สาวเธอถูกคนร้ายจับเป็นตัวประกัน เงื่อนไขคือเธอต้องออกเดินทางไปยังป่าในโคลอมเบียและเอาลายแทงเจ้ากรรมไปไถ่ชีวิตพี่สาว โดยระหว่างทางนั้น เธอได้เจอกับ แจ็ก (แสดงโดย ไมเคิล ดักลาส) หนุ่มลึกลับที่มาช่วยเธอจากอันตรายต่างๆ
มองจากภาพใหญ่ Romancing the Stone ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของเซเม็กคิสในฐานะคนทำหนัง ข้อแรก มันเป็นหนังที่มี ‘ดารา’ ของยุคอย่างเทอร์เนอร์และดักลาสนำแสดง ข้อสอง มันทำเงินไปได้ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อสาม มันยังคว้ารางวัลใหญ่อย่างนำหญิงและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาคอเมดีหรือมิวสิคัลจากเวทีลูกโลกทองคำมาครอง และชิงออสการ์สาขาตัดต่อยอดเยี่ยมด้วย
หากแต่ความสำเร็จนั้นก็อาจเรียกได้ว่า เป็นแค่โหมโรงของคลื่นแห่งความสำเร็จลูกที่ใหญ่กว่าอย่าง Back to the Future (1985) ที่ถือสถิติเป็นหนังที่ทำรายได้มากที่สุดของปี 1985 ด้วยตัวเลข 381.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เข้าชิงรางวัลหลากหลายเวที รวมทั้งเพลง The Power of Love ยังติดชาร์ตเพลงหลายแห่งถล่มทลายด้วย หนังเล่าถึงชีวิตสุดวายป่วงของ มาร์ตี (แสดงโดย ไมเคิล เจ ฟ็อกซ์) เด็กหนุ่มมัธยมธรรมดาที่สนิทชิดเชื้อกับ ‘ด็อก’ (แสดงโดย คริสโตเฟอร์ ลอยด์) นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่สรรหาการทดลองแปลกๆ มาคุยกับเขาเสมอ ชีวิตแต่ละวันของมาร์ตีจึงวนเวียนอยู่แค่การอยู่กับด็อก, เจนนิเฟอร์ (แสดงโดย คลอเดีย เวลส์) แฟนสาวของเขา, จอร์จ (แสดงโดย คริสปิน โกลเวอร์) พ่อผู้อ่อนแอและขี้ขลาดกับลอร์เรน (แสดงโดย ลีอา ทอมป์สัน) แม่ขี้หงุดหงิดและติดเหล้าเท่านั้น
เดือนตุลาคม 1985 ระหว่างที่ด็อกกำลังดูด็อกสาธิตรถยนต์ที่ดัดแปลงให้กระชากความเร็วจนเดินทางข้ามเวลาได้นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ชวนหัวที่ทำให้เขาได้เป็นฝ่ายบังคับพวงมาลัยและขับรถทะลุกลับไปยังปี 1955 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ของเขายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ความวายป่วงคือ เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในเส้นเวลาการพบเจอกับของพ่อกับแม่ หรือคือจอร์จกับลอร์เรนในวัยเยาว์ เขาดันทำให้เส้นเวลาปั่นป่วน เพราะแทนที่ลอร์เรนจะไปตกหลุมรักจอร์จ กลับดันมาตกหลุมรักเขาที่เป็นลูกชายในอนาคตของเธอแทน มาร์ตีจึงต้องรับมือกับเรื่องที่ว่า หากลอร์เรนเข้ามาตกหลุมรักเขา ตัวตนเขารวมทั้งพี่ชายจะเลือนหายไปด้วย และเส้นเวลาในอนาคตทั้งหมดจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาเลยหาวิธีทำทุกอย่าง เพื่อให้ลอร์เรนตกหลุมรักจอร์จ พร้อมกันกับที่ก็ต้องหาทางกลับไปยังช่วงเวลาของตัวเองด้วย
Back to the Future ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เป็นหมุดหมายของการเล่าเรื่องแบบย้อนเส้นเวลา ปี 2007 ตัวหนังได้รับคัดเลือกจากหอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐฯ ให้ได้รับการจัดเก็บในทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมด้วย ทั้งมันยังช่วยกอบกู้ฟ็อกซ์ให้หลุดพ้นจากวิกฤตด้านการเงินที่เป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับเขามาพักใหญ่ หรือถ้าใครเป็นแฟนแอนิเมชันจอมป่วน Rick and Morty ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะการ์ตูนสั้นล้อหนังของเซเม็กคิส ก่อนจะได้รับความนิยมถล่มทลายจนกลายเป็นซีรีส์ที่ออกฉายจนทุกวันนี้
กล่าวสำหรับ Back to the Future หลังจากนั้นตัวหนังยังมีภาคต่อตามมาอีก 2 ภาคในปี 1989 และ 1990 ตามลำดับ ล้วนแล้วแต่ทำเงินถล่มทลาย อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เซเม็กคิสยืนยันชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีภาคที่ 4 แน่นอน “เราก็คุยๆ กันอยู่แหละว่า ‘มีหนังน่าทำอยู่เหมือนกันนะ’ อะไรทำนองนั้น แต่การเอาหนังมารีเมกหรือไอเดียเรื่อง Back to the Future ภาค 4 นี่ไม่อยู่ในหัวพวกเราเลย” เขาบอก “เป็นไปได้คงอยากทำ Back to the Future เป็นละครเพลงมากกว่า น่าสนุกออกนะ เคยเปรยๆ เรื่องนี้กับสตูดิโอยูนิเวอร์แซลไว้เหมือนกัน แต่พวกเขาดูไม่สนใจเท่าไร ก็นะ ผมก็ทำได้เท่านี้แหละ”
และขณะที่ Forrest Gump (1994) กลายเป็นหนังในตำนานอีกเรื่องของเซเม็กคิสด้วยการชนะรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนำชายยอดเยี่ยมคือ ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) โดยถือเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้แฮงก์สกลายเป็นนักแสดงคู่บุญของเซเม็กคิส โดยเรื่องต่อมา เขารับบทนำใน Cast Away (2000) และเข้าชิงนำชายอีกหน ตัวหนังว่าด้วยชีวิตวิปโยคของ ชัก (แสดงโดย แฮงก์ส) พนักงานเงินเดือน FedEx บริษัทขนส่งที่ต้องออกเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ และมันกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เขาระหองระแหงกับแฟนสาวอยู่เนืองๆ วันหนึ่ง เขาได้รับคำสั่งให้ต้องออกเดินทางไปประเทศมาเลเซียกะทันหัน และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเมื่อเครื่องบินที่เขาเดินทางเผชิญพายุหนักระหว่างบินผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก เขากลายเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวที่ลอยมาติดเกาะลึกลับแห่งหนึ่ง และต้องขุดทักษะที่มีทุกทางเพื่อเอาชีวิตรอดต่อไปได้
สิ่งที่ ‘แจ้งเกิด’ ในหนังเรื่องนี้คือ เจ้าลูกวอลเลย์บอล ‘วิลสัน’ เพื่อนคู่ใจของชักบนเกาะ เมื่อชักพยายามหาทางใช้ชีวิตด้วยการออกหากินและก่อไฟเอง เขาพลั้งทำมีดบาดมือตัวเองจนได้เลือด เขาจึงเอามือไปวางแปะบนลูกวอลเลย์บอลที่ติดมากับพัสดุขนส่งของเครื่องบินและลอยมาติดเกาะเช่นเดียวกันกับเขา (ส่วนชื่อวิลสันก็เป็นชื่อของ Wilson Sporting Goods บริษัทผลิตอุปกรณ์วอลเลย์บอล) และยังผลให้ลูกวอลเลย์บอลมียอดขายถล่มทลายแทบจะในทันทีหลังจากหนังออกฉาย ส่วนบริษัท FedEx รายงานว่า ยอดผู้เข้าสมัครงานเพิ่มขึ้นอีก 30%
อย่างไรก็ดีหนังได้รับคำชมแง่บวกว่า ฉายภาพแก่นความโดดเดี่ยวและเปราะบางของมนุษย์ในยามที่ต้องอยู่เพียงลำพังได้อย่างน่าจับตา เพราะแม้ตัวละครจะประสบปัญหาการดิ้นรนเอาชีวิตรอดในธรรมชาติตามประสาคนที่เกิดและโตในเมือง แต่อีกด้านหนึ่งนั้น เขาก็พยายามรับมือกับความผุพังด้านจิตใจ ทั้งการต่อสู้กับความสิ้นหวังและการต้องสนทนากับตัวเองเพียงคนเดียวนานหลายปี ในแง่การแสดงแฮงก์สเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการไม่ออกกำลังกายอยู่นานหลายเดือน เพื่อทำให้รูปร่างใกล้เคียงกับพนักงานเงินเดือนที่กินนอนไม่เป็นเวลา ก่อนจะค่อยๆ ลดน้ำหนักพร้อมปลูกหนวดเคราตลอดระยะเวลาการถ่ายทำ เพื่อให้ตัวละครดูซูบผอมสมกับที่ติดเกาะ (เขาลดน้ำหนักไปราว 20 กิโลกรัมหลังถ่ายหนังจบ)
“ผมแสดงเรื่อง Cast Away เพราะอยากสำรวจแง่มุมของความสิ้นหวังของมนุษย์คนหนึ่งตลอด 4 ปี โดยไม่มีอุปกรณ์ยังชีพอะไร อาหาร น้ำ ที่พัก ไฟ หรือแม้แต่เพื่อน” แฮงก์สบอก “อีกอย่างคือผมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับ FedEx และตระหนักได้ว่าเครื่องบินโบอิ้ง 747 เต็มไปด้วยพวกพัสดุขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกวันละ 3 รอบ ก็เลยคิดขึ้นมาว่า ‘มันจะเป็นยังไงนะ ถ้าพัสดุพวกนั้นหล่นลงทะเล’ น่ะ”
และล่าสุดแฮงก์สกลับมาร่วมงานกับเซเม็กคิสอีกครั้งใน Here (2024) โดยเป็นการรียูเนียนกับโรบิน ไรต์ ที่เคยแสดงนำด้วยกันจาก Forrest Gump ด้วยฟอร์มหนังที่เดือดสุดๆ เพราะเล่าด้วยมุมกล้องเดียวทั้งเรื่อง และจะว่าไปมันก็อาจเป็นเรื่องของบ้านหนึ่งหลัง ที่เป็นประจักษ์พยานการถือกำเนิดของประวัติศาสตร์อเมริกา ผ่านช่วงเวลาการตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ, การระบาดของไข้หวัดสเปน, สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เรื่อยจนมาการเมืองร่วมสมัยและโรคโควิด-19 ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเล่าเรื่องอย่างที่เซเม็กคิสใช้ในหนังของเขาอยู่เสมอ
กล่าวสำหรับบ้านที่เป็นใจกลางสำคัญของเรื่อง หลังจากมันตกเป็นของนักบินหนุ่มที่ตื่นตาตื่นใจออกบินในยุคที่เครื่องบินยังเป็นเรื่องใหม่และไกลตัว มันก็ตกเป็นของนักประดิษฐ์หนุ่มสาวที่คิดค้นเก้าอี้ที่ทำให้ทุกคนนั่งดูโทรทัศน์ อันเป็นสิ่งประดิษฐ์พลิกโลกในยุคนั้น ได้ยาวนานและสะดวกสบาย ภายหลังเก้าอี้นอนประสบความสำเร็จ ทั้งคู่ย้ายออกไปอยู่แคลิฟอร์เนีย บ้านจึงตกเป็นของ อัล (แสดงโดย พอล เบตตานี) นายทหารผ่านศึกกับ โรส (แสดงโดย เคลลี ไรลีย์) คนรักสาวที่กำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ เขาและเธอตัดสินใจซื้อบ้านในราคา 3,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเริ่มสร้างครอบครัวด้วยกัน อัลกลายเป็นเซลส์แมนขมขื่นชีวิตขณะที่โรสเป็นแม่บ้านเต็มตัว ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันคือ ริชาร์ด (แสดงโดย แฮงค์ส) ที่เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มที่หมกมุ่นกับการวาดภาพ เขาตกหลุมรัก มาร์กาเร็ต (แสดงโดย ไรต์) เด็กสาวที่เรียนกฎหมายและวาดฝันจะเป็นทนายสักวันหนึ่ง
อาจจะพูดว่า หนังเล่าเรื่องสามัญของชีวิตคนอเมริกันก็ย่อมได้ เพราะมันก็ไม่มีอะไรอื่นมากไปกว่าการเฝ้าดูชีวิตคนสามัญเดินไปสู่จุดรุ่งโรจน์และโรยรา อัลติดเหล้า ต้องเปลี่ยนงานและไม่ได้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จนัก, โรสเป็นแม่บ้านที่แม้จะพอใจในภาพรวม แต่เธอก็หวังจะพาตัวเองไปเจอโลกที่กว้างกว่าแค่บ้านหลังเดียว ขณะที่ริชาร์ดที่ทำมาร์กาเร็ตท้องในวัย 18 ปี ต้องละทิ้งความฝันจะเป็นจิตรกรไว้กลางทางและสมัครเป็นพนักงานเงินเดือนเพื่อหาเลี้ยงชีพ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโหดร้ายของสหรัฐฯ หลังวิกฤติสินเชื่อซัพไพร์มที่ทำให้พวกเขาออกไปซื้อบ้านอยู่เองไม่ได้
หลายคนลงความเห็นว่า Here ไม่น่าสนใจและเล่าเรื่องเนิบนาบ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการเล่าเรื่องด้วยมุมกล้องเดียวยิ่งทำให้หนัง ‘ดูยาก’ ขึ้นไปอีกขั้น หากแต่หลายคนก็มองว่าเป็นวิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจ การวางตำแหน่งกล้องที่ไม่ทำให้คนดูอยู่ไกลหรือใกล้ตัวละครจนเกินไป หันหน้าออกไปสู่หน้าต่างบานใหญ่ของบ้านที่ ‘เล่าเรื่อง’ อีกขั้นผ่านรถม้า ผู้คน หรือฤดูกาลที่วนเวียนเปลี่ยนผ่านบอกยุคสมัยไปเรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือ มันฉายภาพความล่มสลายของ American’s dream เมื่อไม่มีตัวละครใดได้เป็นอย่างที่ตัวเองฝันแม้แต่คนเดียว อัลไม่ได้ภาคภูมิใจกับการเป็นทหารผ่านศึก ทั้งยังต้องเป็นเซลส์แมนที่ไม่ประสบความสำเร็จ, ริชาร์ดต้องทำงานในบริษัทประกันแม้ไม่ได้มีใจรัก ขณะที่มาร์กาเร็ตที่นอกจากจะทุ่มเวลาเลี้ยงลูก เธอก็พยายามหาเงินเข้าบ้านด้วยการเป็นเสมียนเล็กๆ และกระเสือกกระสนอยากออกไปหา ‘บ้าน’ สำหรับครอบครัวตัวเองเสมอ แต่สินเชื่อบ้านที่พุ่งขึ้นสูงหลังปี 2008 ทำให้เธอมีได้มากที่สุดคือ เช่าอะพาร์ตเมนต์ห้องเล็กๆ เท่านั้น
ตัวหนังดัดแปลงมาจากกราฟิกโนเวลชื่อเดียวกันของ ริชาร์ด แม็กไกวร์ (Richard McGuire) ตีพิมพ์เมื่อปี 2004 เล่าเรื่องราวของช่วงเวลานับพันปีผ่านพื้นที่เดียว “ผมประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้อ่านกราฟิกโนเวลของแม็กไกวร์แล้ว และคิดว่ามันใกล้เคียงกับหนังที่ผมเคยทำมาตลอด ทั้งยังเห็นว่า มันน่าจะแปลงเป็นงานภาพยนตร์ได้ด้วย” เซเม็กคิสว่า “แต่ก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะได้เรื่องไหมจนกว่าจะได้ทำนี่แหละ และตระหนักดีว่า นี่เป็นการทำหนังที่เล่นท่ายากมากๆ ด้วย ก็เลยระวังตัวแจตลอดการถ่ายทำ กระนั้นก็เป็นตอนนั้นแหละที่ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้มันน่าสนใจไม่เบาทีเดียว
“หนังของเราไม่ได้มีการเปลี่ยนฉากอะไร แต่โลกข้างนอกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลาไหลผ่านเคลื่อนไปเช่นเดียวกับชีวิต และสิ่งที่คุณจะไม่ได้เห็นในละครเวทีเรื่องไหนๆ นั่นคือการที่ตัวละครเดินเข้ามาใกล้กล้องมากๆ ผมว่าสิ่งนี้แหละที่มีขึ้นได้ก็แค่ในโลกภาพยนตร์”
Tags: Romancing the Stoner, Back to the Future, Cast Away, Here, People Also Watch, โรเบิร์ต เซเม็กคิส, Robert Zemeckis, I Wanna Hold Your Hand