สถาบันวิจัยอันมีชื่อเสียง ‘โรเบิร์ต ค็อค’ กลับมาเป็นที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงเวลานี้ ที่วิกฤตโควิด-19 กำลังรุกรานโลก รัฐบาลของประเทศเยอรมนีเองก็เชื่อใจ ยอมรับในคำปรึกษาของทีมงานจากสถาบันแห่งนี้ เพื่อกู้วิกฤตการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 เคยมีโรคลึกลับเข้ามาคุกคามชีวิตผู้คน และหลายคนพากันเชื่อว่ามันคือปีศาจ ที่นำความตายมาให้ กระทั่งโรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) หมอชนบท เข้ามาเปลี่ยนความเชื่อ และพิสูจน์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมันคือแบคทีเรียที่เป็นตัวการของความป่วยไข้

วัณโรค อหิวาตกโรค คอตีบ แผลติดเชื้อ…โรคที่แพทย์ยุคปัจจุบันสามารถเยียวยารักษาได้นั้น ในยุคศตวรรษที่ 19 ยังเป็นโรคที่ใครป่วยแล้วมักลงเอยด้วยความตาย โรคติดเชื้อเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเยอรมนี มีผู้คนนับแสนคนเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวทุกปี อีกทั้งการแพร่กระจายของโรคก็ยังเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เช่นเดียวกับผลกระทบของมัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การแพร่เชื้อเกิดจากไอระเหยในอากาศ ผืนดินที่ปนเปื้อน หรือภูตผีปีศาจ ปัญหาใหญ่ในครั้งนั้นก็คือ ไม่มีใครสามารถสู้รบตบมือกับปีศาจได้

แต่งานวิจัยทางการแพทย์ก็ทำให้เข้าใจได้ว่า มันเป็นเรื่องของโรคติดเชื้อ นับตั้งแต่ปี 1674 แล้วที่มีนักวิจัยชาวดัตช์ชื่อ อันโตนี ฟาน ลูเวนเฮิก (Antoni van Leeuwenhoek) เคยเฝ้าสังเกตแบคทีเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่เขาพัฒนาขึ้นเอง และค้นพบว่าเชื้อเหล่านั้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค แต่บรรดานักวิจัยต่างเก็บงำเรื่องนี้อยู่นาน

กระทั่งกว่า 200 ปีต่อมา ในปี 1876 หมอชนบทวัยหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกคนที่สามของครอบครัวชาวเหมืองในเคลาสทาล ได้นำเสนอผลการศึกษาที่ก้าวล้ำ เขาพิสูจน์ให้เห็นว่า โรคแอนแทร็กซ์นั้นมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคตัวเดียว

หมอชนบทคนนั้นคือ โรเบิร์ต ค็อค เขาลงมือทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์เพียงน้อยชิ้นในบ้านของเขาที่วอลล์ชไตน์ บริเวณรอบๆ เมืองซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์ มีโรคระบาดเกิดขึ้นและคร่าชีวิตทั้งผู้คนและสัตว์ ทุกครั้งที่ตรวจตัวอย่างจากสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทร็กซ์ ค็อคมักพบแบคทีเรียรูปแท่งจากกล้องจุลทรรศน์ เขาแยกแบคทีเรียเหล่านั้น และนำไปทดลองกับสัตว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง จนทำให้เขาสามารถระบุสาเหตุของโรคร้ายแรงได้

โรเบิร์ต ค็อค เกิดเมื่อปี 1843 เป็นลูกคนที่สามในครอบครัวพี่สอง 13 คนของแฮร์มันน์ ค็อค (Hermann Koch) คนงานเหมือง ซึ่งต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าคนงาน และมาทิลเด ค็อค (Mathilde Koch) โรเบิร์ตเป็นเด็กเรียนเก่ง เมื่อเข้าเรียนแพทย์ที่เมืองเกิตทิงเงนได้เพียงหกเทอม เขาได้รับรางวัลจากงานวิจัยทางชีววิทยาของมหาวิทยาลัย และนั่นก็คล้ายเป็นใบเบิกทางให้เขาทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จ ตามด้วยการเป็นแพทย์ฝึกหัดอีกหลายปี ทั้งในฮัมบวร์ก พ็อตสดัม (เบอร์ลิน) และในวอลล์ชไตน์ (อดีตเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของแคว้นปรัสเซีย) อีกทั้งยังอาสาไปเป็นหมอภาคสนามในสงครามระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสเมื่อปี 1870 ด้วย

ปี 1880 โรเบิร์ต ค็อคถูกเรียกตัวไปรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กรุงเบอร์ลิน จากนั้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็มาพร้อมกับเขา ที่สถาบัน เขาศึกษาวิจัยเรื่องแบคทีเรียอย่างเป็นระบบเพื่อต้องการที่จะเข้าใจธรรมชาติของโรคติดเชื้อได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และพัฒนามาตรการตอบโต้ให้ตรงเป้าหมาย

ค็อคเริ่มมีชื่อเสียงระดับโลกในปี 1882 จากการค้นพบเชื้อก่อวัณโรค โดยเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของศตวรรษที่ 19 นั่นก็คือวัณโรคซึ่งเป็นโรคที่แพร่หลายในเยอรมนี และประชากรหนึ่งในเจ็ดต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ ทว่าถึงตอนนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าวัณโรค หรือ ‘ภัยพิบัติสีขาว’ มาจากไหน และแพร่กระจายได้อย่างไร

โรเบิร์ต ค็อคสามารถแสดงให้เห็นว่า เชื้อโรคก่อให้เกิดวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) และได้พัฒนาการสกัดสาร ‘ทูเบอร์คูลิน’ (Tuberculin) สำหรับการค้นพบครั้งนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1905 ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยทูเบอร์คูลินของเขาได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าไร้ประโยชน์แล้วก็ตาม อีกทั้งบางครั้งยังเป็นอันตรายก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้น ยังมีการใช้ทูเบอร์คูลินเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรคอยู่จนถึงทุกวันนี้

งานวิจัยสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ค็อคมีส่วนร่วมด้วย นั่นคือ การวิจัยอหิวาตกโรค ปลายปี 1883 เขาเดินทางพร้อมกับทีมนักวิจัยไปยังเมืองกัลกัตตา เพื่อตรวจสอบโรคร้ายที่กำลังระบาดอยู่ที่นั่น กระทั่งต้นปี 1884 เขาก็ค้นพบแบคทีเรีย Vibrio cholera ที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งนับเป็นก้าวแรกของการคิดค้นวิธีรักษา รวมทั้งยังเป็นรากฐานของความรู้ทางโรคติดเชื้อในปัจจุบันอีกด้วย

ปี 1910 โรเบิร์ต ค็อคถึงแก่ความตายจากอาการหัวใจวายรุนแรง ในช่วงปีสุดท้ายเขาใช้เวลาเดินทางเพื่องานวิจัยบ่อยครั้ง เช่น วิจัยโรคสัตว์ในแอฟริกาตอนใต้ หรือตรวจหามาลาเรียและโรคนอนหลับในมนุษย์  

ชายผู้ขับวิญญาณของความป่วยไข้ และผู้แสดงให้โลกเห็นว่าการแพร่ระบาดของมันเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นจดหมายราว 1,100 ฉบับ ใบประกาศนียบัตร ต้นฉบับ ภาพถ่าย ตัวอย่างจากกล้องจุลทรรศน์ และหนังสือที่ส่วนใหญ่มีอักษร ‘K’ สีน้ำเงินประทับอยู่ ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งตกทอดทางวิชาการของค็อค ซึ่งได้รับการจัดเก็บไว้ในสถาบันโรเบิร์ต ค็อคที่กรุงเบอร์ลิน

สถาบันดังกล่าวน่าจะเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลของเขา ทุกวันนี้เยอรมนีต้องจดจ่อรอฟังเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐแถลงเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการแพร่ระบาด นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันโรเบิร์ต ค็อคจะคอยให้คำแนะนำแก่นักการเมืองเมื่อไข้หวัดหมู โรคซาร์ส หัด หรือการระบาดของโนโรไวรัส (ที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร) รวมถึงโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้

ผลงานและการวิจัยของนักศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายคนของสถาบันแห่งนี้คือ การค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนั่นเอง

และคำขอครั้งสุดท้ายของโรเบิร์ต ค็อค คือการวางโกศพร้อมอัฐิของเขาไว้ที่สุสานภายในสถาบันของเขา

อ้างอิง: 

https://www.geo.de/wissen/gesundheit/22765-rtkl-geschichte-robert-koch-der-mann-der-krankheiten-die-geister-austrieb

https://www.welt.de/geschichte/article206728073/Robert-Koch-Er-entschluesselte-die-gefaehrlichsten-Zivilisationsseuchen.html

https://www.aerzteblatt.de/archiv/186988/Medizingeschichte-Robert-Koch-und-die-Geschichte-der-Tuberkulose

Tags: , , ,