มีคำกล่าวขำๆ ในหมู่คนดูหนังว่า ‘คุณอาจไม่รู้จักชื่อ เจนนิเฟอร์ เลม (Jennifer Lame) แต่คุณต้องรู้จักหนังที่เธอเป็นคนตัดต่อ’

Oppenheimer (2023) คือหนังลำดับล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ที่เลมเป็นมือตัดต่อ ร้อยเรียงและประสานเรื่องราวของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี) นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณู อันเป็นบทสรุปอันอำมหิตของสงครามโลกครั้งที่สอง นำไปสู่ฉากใหม่ของโลกที่ชื่อสงครามเย็น ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเส้นเรื่องที่สำรวจสภาวะทางจิตใจอันเครียดเขม็งของชายที่ต้องแบกรับความรู้สึกผิดบาปไปทั้งชีวิต

สิ่งที่เป็นหนึ่งในลายเซ็นของโนแลนเสมอมาคือ เส้นเรื่องเวลาที่เล่าตัดสลับกันหลายเส้น อันจะเห็นได้จากแต่ละช่วงชีวิตของออพเพนไฮเมอร์ตั้งแต่เป็นนักศึกษา ไล่สลับไปกับการที่เขาถูกไต่สวนในห้องปิดกับ แคเธอรีน (แสดงโดย เอมิลี บลันต์) ผู้เป็นภรรยา กับอีกเส้นเวลาหนึ่งที่หนังเล่าด้วยภาพขาวดำ จับจ้องไปยังการขึ้นเป็นพยานของ สตรอส์ (แสดงโดยโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) เจ้าหน้าที่กระทรวงการพลังงานปรมาณูสหรัฐฯ ที่ต้องให้การว่าสำหรับเขานั้น ออปเพนไฮเมอร์เป็นอันตรายของประเทศในนามของคอมมิวนิสต์หรือไม่

และคนที่รวบรวมเส้นเรื่องนี้ให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันได้คือ เจนนิเฟอร์ เลม ผู้ร่วมงานกับโนแลนมาตั้งแต่ Tenet (2020) หนังที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการตัดต่ออันบ้าพลัง เมื่อทั้งเรื่องเล่าสลับระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง จะต้องวกกลับมาบรรจบกันเป็นหนึ่งเส้นเรื่องในท้ายที่สุด 

“ปกติแล้วเวลาผมเขียนบท ไม่ว่าจะเขียนคนเดียวหรือเขียนร่วมกับใครก็ตาม ในร่างสุดท้ายของบทนั้น ผมมักจะคิดไปถึงตอนตัดต่อไว้แล้ว” โนแลนอธิบายกระบวนการตัดต่อในหนังของเขา รวมถึง Oppenheimer

 “ดังนั้นหนังจึงค่อนข้างมีโครงสร้างที่แข็งแรงทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณพบอีกทีในห้องตัดต่อมันก็อาจจะซับซ้อนและหลากหลายสักหน่อย มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่คิดไว้ ผมกับเจน เลมซึ่งเป็นคนตัดต่อจะดูหนังทั้งเรื่อง เรานั่งดูกันทุกสัปดาห์แหละ ชวนคนที่ไม่รู้เรื่องสคริปต์เลยเข้ามาดูด้วยสักคนหรือสองคนมานั่งดูกับเรา ให้เขาดูหนังในมุมของเขา

“ผมว่าหนังทุกเรื่องมันก็มีความท้าทายในแบบของมันนะ กับเรื่อง Oppenheimer ผมว่ามันค่อนข้างนำด้วยซีเควนซ์ที่เล่าเป็นภาพสี ซึ่งเราได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของออพเพนไฮเมอร์ เห็นว่าเขาคิดอะไร เขาเห็นอะไร ส่วนซีเควนซ์ขาวดำนั้นส่วนใหญ่แล้วเล่าผ่านมุมมองของ เลวิส สเตราส์ส ตัวละครที่โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์แสดง” 

สำหรับเจนนิเฟอร์ เลม เธอแจ้งเกิดจาก Frances Ha (2012) หนังที่ทำให้เธอกลายเป็นมือตัดต่อคู่บุญของ โนอาห์ บอมบาช (Noah Baumbach) อีกหลายเรื่องนับจากนั้น ตัวหนังว่าด้วย ฟรานเซส (แสดงโดย เกรตา เกอร์วิก ที่ตอนนี้เป็นผู้กำกับที่ฮอลลีวูดรักสุดๆ อีกคนไปแล้ว โดยเรื่องนี้ เธอยังเขียนบทร่วมกับบอมบาชด้วย) หญิงสาวชาวนิวยอร์กที่จับพลัดจับผลูได้ไปฝึกงานในบริษัทเต้น ทั้งที่ก็ดูเหมือนจะไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบเต้นจริงๆ หรือไม่ พ้นไปจากนี้ เธอมักต้องระเห็ดไปนอนห้องคนอื่นอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีอพาร์ตเมนต์อยู่ ชีวิตที่พาเธอกระโจนโลดโผนไปยังแห่งหนต่างๆ ทำให้ฟรานเซสสงสัยว่าแท้จริงแล้วเธอต้องการอะไร เธอมี ‘ความฝัน’ เหมือนอย่างคนอื่นเขาไหม และหากยังหามันไม่เจอ ที่ทางชีวิตของเธอควรเป็นอย่างไรต่อ

ซีเควนซ์ที่หมดจดสำหรับหลายๆ คนคือเมื่อฟรานเซส ‘ร่ายรำ’ ไปตามถนนหนทางในนิวยอร์ก เลมเชื่อมร้อยจังหวะการเต้นที่ทั้งเป็นและไม่เป็นจังหวะของตัวละครเข้ากับบทเพลง Modern Love ของ เดวิด โบวี (David Bowie) สะท้อนภาพความพลุกพล่านของเมืองใหญ่กับตัวตนเล็กจิ๋วของฟรานเซส ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หนังอยากบอกเล่าคือ ภาวะคนรุ่นใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่และความรู้สึกเคว้งคว้าง หาที่ยึดเหนี่ยวใดไม่ได้

Manchester by the Sea (2016) หนังชิงออสการ์หกสาขาของ เคนเนธ โลเนอร์แกน (Kenneth Lonergan) และคว้ากลับมาได้หนึ่งสาขาคือนำชายยอดเยี่ยมโดย เคซีย์ แอฟเฟล็ค (Casey Affleck) ผู้มอบการแสดงระดับพระกาฬในฐานะ ลี แลนด์เลอร์ ชายที่จำใจต้องกลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้งหลังพี่ชายจากไป ทำให้เขาต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลของ แพทริค (แสดงโดย ลูคัส เฮดเจส) หลานชายวัย 16 ปี ทั้งการเดินทางกลับมาครั้งนี้ยังทำให้เขาได้เจอกับ แรนดี (แสดงโดย มิเชลล์ วิลเลียมส์) อดีตคนรักที่แยกทางกันเดินหลังเผชิญโศกนาฏกรรมรุนแรง ซึ่งบีบให้ลีต้องออกเดินทางหายจากไปนานแสนนานอีกครั้ง

ก่อนหน้ารับโปรเจกต์นี้ โลเนอร์แกนส่งสคริปต์หนังคร่าวๆ สองสามฉบับให้เธออ่านและสัมภาษณ์เธอทางโทรศัพท์ ก่อนที่จะวางสายนั้น เลมตัดสินใจแสดงความเห็นว่าเธอไม่เห็นด้วยที่โลเนอร์แกนตัดบางส่วนออกจากสคริปต์หนังชุดหลังๆ ซึ่งทำให้โลเนอร์แกนตะลึงคาสาย ก่อนจะยอมรับว่าเขาเห็นด้วยกับเธอ และเลมมาตระหนักทีหลังว่า เป็นไปได้ที่โลเนอร์แกนจะประทับใจที่เธออ่านสคริปต์หนังที่ยาวเหยียดทั้งเรื่องเพื่อมาคุยกับเขา แม้จะยังไม่มีสัญญาณว่าเขาจะรับเธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้ก็ตาม 

และแม้ว่าหนังจะเล่าเรียงตามไทม์ไลน์เกือบทั้งหมด แต่เลมก็ยอมรับว่ามันยากเหลือเกินที่จะตัดต่อหนังอันเปี่ยมไปด้วยห้วงอารมณ์ถล่มทลายของตัวละครเช่นนี้ “สคริปต์มันบาดใจมาก และเราก็อยากเคารพความอ่อนไหว เปราะบางของตัวละครมากๆ ด้วย เราเลยต้องคุยกันบ่อยๆ ว่าจะให้น้ำเสียงของเรื่องออกมาเป็นแบบไหน เพื่อจะเคารพลีและสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเขา”

“อย่างฉากแรกๆ ที่คนดูได้เห็นแพทริค จะรู้เลยว่ามีความอึดอัดใจบางอย่างระหว่างเขากับลี และการปล่อยให้ซีนเหล่านี้มันไหลอยู่ในหนังไปเรื่อยๆ ให้ยาวกว่าที่คุณคาดการณ์ไว้มันดีนะ เพราะมันทำให้คนดูค่อยๆ รู้สึกถึงความกระอักกระอ่วนระหว่างลีกับแพทริคเมื่อทั้งคู่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน แล้วถึงช่วงท้ายๆ ของหนังที่ตัวละครค่อยๆ สนิทใจกันขึ้นแล้ว เราก็ตัดจบแต่ละซีนเอาดื้อๆ หรือไม่ก็กลางสถานการณ์อะไรสักอย่าง” 

หลังจากแจ้งเกิดจากหนังดราม่ามาแล้วหลายเรื่อง เลมก็เบนสายไปสู่หนังเฮอร์เรอร์อย่าง Hereditary (2018) ที่ส่งให้ อาริ แอสเตอร์ (Ari Aster) กลายเป็นคนทำหนังน่าจับตาทันที ตัวหนังเล่าถึง แอนนี (โทนี คอลแล็ตต์ กับการแสดงอันชวนขนลุกขนชันที่สุดเรื่องหนึ่ง) ศิลปินหญิงที่ชีวิตของเธอเริ่มสั่นคลอนเมื่อแม่ผู้ชราภาพตายจากไป สมาชิกในครอบครัวต่างพากันไว้อาลัย และระหว่างนั้น พวกเขาก็สัมผัสได้กับเรื่องราวแปลกประหลาดในไหลเวียนอยู่ในตระกูลที่นำพาความพินาศย่อยยับที่ยากเกินจะอธิบาย

สำหรับหนังเรื่องนี้ นับเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ท้าทายเลมมากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อหลายครั้งที่หนังเล่นกับบ้านจำลองอันเป็นงานศิลปะของแอนนีและฉากที่ปรากฏขึ้นจริง ที่สร้างความขนหัวลุกให้คนดูอยู่เนืองๆ และการที่หนังเล่นกับคนดูด้วยการมุ่งจับจ้องไปยังตัวละครหนึ่งในเรื่อง ก่อนจะสังหารทิ้งด้วยฉากชวนช็อคตั้งแต่กลางเรื่อง แล้วจึงหันกลับไปจับจ้องอีกตัวละครหนึ่งซึ่งเป็นเสมือนกุญแจไขความลับที่แท้จริงของบ้าน 

อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในการตัดต่อของเลมนั้น นอกจากฉากระเบิดอารมณ์กลางมื้ออาหารอันแสนเดือดดาลระหว่างแม่กับลูกชายแล้วที่เธอทำได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือการที่หนังมันแทบไม่ได้ใช้ฉากจัมป์สแกร์ (jump scare) เพื่อสร้างความตกใจให้คนดู แต่อยู่ที่จังหวะการปรากฏตัวของผู้คน (และที่ไม่ใช่คน) อันเงียบงันหลังเลี้ยงคนดูไว้กับความรู้สึกระแวดระวังอยู่หลายนาที หนึ่งในฉากสะเทือนขวัญที่เลมไม่ได้ใช้จัมป์สแกร์แต่สร้างแรงสะเทือนในใจคนดูมหาศาล คือฉากที่ตัวละครหนึ่งไต่ขึ้นไปเอาหัวโขกเพดานบ้านอย่างบ้าคลั่ง และน่าจะเป็นหนึ่งในฉากจำของหลายๆ คนด้วย

และนั่นเองจึงมาถึงการร่วมงานกับโนแลนเรื่องแรกใน Tenet (2020) กับเรื่องราวที่ตัวละครของ จอห์น เดวิด วอชิงตัน (John David Washington) ต้องปฏิบัติภารกิจบางอย่างซึ่งทำให้เขาได้เจอกับ นีล (แสดงโดย โรเบิร์ต แพตตินสัน) และ แคต (แสดงโดย อลิซาเบธ เดบิกกี) พร้อมเส้นเวลาอันชวนสับสน

อย่างไรก็ดี ด้วยทุนสร้าง 205 ล้านเหรียญฯ กล่าวได้ว่า Tenet เป็นหนังฟอร์มยักษ์เรื่องแรกของเลมไปโดยปริยาย “ตอนแรกที่ได้คุยกับเขา (โนแลน) ฉันถามเขาไปว่าฟอร์มหนังนี่มันประมาณไหนนะ และเข้าใจไปว่ามันน่าจะฟอร์มเล็กสักหน่อย” เลมเล่า “แต่เขาบอกว่า ‘อ๋อ มันหนังฟอร์มใหญ่เลยล่ะ มีฉากแอ็กชันเยอะแยะ ถ่ายทำในสถานที่หลายแห่งด้วย’ แล้วฉันเลยถามเขาเพิ่มว่ามีอะไรอยากบอกฉันอีกไหม เขาก็ตอบมา อาจจะขำๆ นะ ไม่ก็อาจจะจริงจังว่า ‘นี่อาจเป็นหนังที่ตัดต่อได้ยากที่สุดก็เป็นได้’ (ภายหลัง โนแลนให้สัมภาษณ์ว่าเขาแค่เย้าเธอเล่น) ฉันเลยหัวเราะกลับไปแบบเก้อๆ ซึ่งเขายิ้มตอบ ยื่นมือมาจับและบอกว่า ‘ยินดีที่ได้รู้จัก การสัมภาษณ์สิ้นสุดแล้ว’ จากนั้นฉันก็ขับรถตรงไปยังสนามบิน ดิ่งกลับมาที่นิวยอร์ก”

และก็เป็นเช่นนั้น Tenet กลายเป็นหนังเรื่องแรกที่เต็มไปด้วยฉากแอ็กชันดังที่โนแลนประกาศไว้กับเธอ “ทุกซีนที่ฉันตัดต่อ ฉันเลยต้องทำให้มั่นใจให้ได้ว่าทุกฉากแอ็กชันมันขับเคลื่อนเรื่องไปข้างหน้าและสมเหตุสมผล ไม่ใช่มีขึ้นเพื่อความตื่นเต้นอย่างเดียว ทั้งยังต้องเป็นฉากที่อธิบายตัวหนัง อธิบายตัวละครไปในคราวเดียวด้วย ฉันเลยเริ่มมองซีเควนซ์แอ็กชันเป็นเหมือนฉากสนทนา รถก็เหมือนคน ซึ่งอาจจะได้ผลด้วยนะเพราะมันทำให้ฉันสบายใจมากขึ้นด้วย ฉันจึงเริ่มผ่อนคลายและตัดแต่ละฉากให้เข้ากับจังหวะของหนังได้น่ะ”

และดังที่เล่าไปแล้วว่า Oppenheimer คือภาพยนตร์ลำดับล่าสุดที่เลมตัดต่อ แม้จะหวนกลับไปยังรากของความเป็นเรื่องดราม่าว่าด้วยความรู้สึกและสภาพจิตใจของมนุษย์เป็นสำคัญ แต่มันก็ยังท้าทาย ทะเยอทะยานในการจะเล่าเรื่องอันสลับซ้อนซ้อน ทั้งในแง่ตัวบทไปจนถึงการตัดต่ออยู่ดีนั่นเอง

Tags: , , , , , ,