ที่รัก

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ รู้สึกอิ่มใจจนต้องรีบเขียนมาถึงคุณ ผมขอเริ่มยั่วคุณด้วยประโยคแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดหลังอ่านจบก็แล้วกัน “ถ้าท่าทีของข้อเขียนแบบนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารไทย ผู้เขียนจะโดนเชิญไปจิบกาแฟรสทัศนคติอันควรเดือนละกี่ครั้ง?”

อย่า อย่าเพิ่งขมวดคิ้ว มันไม่ได้การเมืองจ๋าขนาดนั้น เดี๋ยวผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง

หนังสือเล่มที่ว่าชื่อ บันทึกในกลักไม้ขีด (Pape Satàn Aleppe) ของอุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco)    เนื้อหาในเล่มเป็นการรวบรวมบทความของเขาที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารก่อนเสียชีวิต ผมอยากเรียกการรวมเล่มพวกนี้ว่า “หนังสือหลังมรณกรรม” ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะวางแผงหลังเขาเสียชีวิตไม่กี่วันก็ตาม (นั่นหมายถึงเขาน่าจะมีส่วนร่วมในการวางแผนตีพิมพ์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย) ผมก็ยังอยากตั้งข้อสังเกตเผื่อไปว่า การรวมอะไรแบบนี้เนี่ย ถ้านักเขียนไม่ดังจริง รับรองว่าไม่มีใครไปรวบรวมงานเขียนมาตีพิมพ์แน่ๆ ยิ่งในช่วงที่ตลาดหนังสือหดตัวแบบนี้ แต่ เอ… ที่ต่างประเทศจะลดตัวแบบเห็นได้ชัดแบบของไทยมั้ยนะ อันนี้ถ้าคุณรู้บ้างก็บอกผมละกัน

กลับมาที่หนังสือดีกว่า ในคำนำ เอโคเกริ่นกับเรา (ผู้อ่าน) ไว้ก่อนเลยว่าข้อเขียนทั้งหมดเป็นเรื่องของการพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า “สังคมไหล” (The Liquid Society) โดยเขาได้ให้นิยามไว้ในบทแรกเลยว่าสังคมไหลเริ่มเกิดขึ้นจากการพัดพาเข้ามาของกระแสที่เรียกว่าโพสต์โมเดิร์น (คำนี้คุณคงได้ยินมาแล้วจนเบื่อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ที่ทำให้ “เรื่องเล่าหลัก” ที่เป็นโครงสร้างค้ำยันระเบียบแบบแผนของสังคมและโลกสั่นคลอน เพราะมันปะทะกับความแข็งแรงของโครงสร้างด้วยการทดสอบจากพลังของความไม่สยบเคารพและการเย้ยหยัน ซึ่งการทำแบบนี้จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่เคยเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหา มันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัจเจกนิยมแบบไร้ขอบเขต หรือที่ผมเรียกมันว่า “ตัวใครตัวมัน” และท้ายที่สุดเมื่อไร้จุดยึดเหนี่ยว สิ่งที่ตามมาก็คือการพยายามแสดงตัวตนของแต่ละคนออกมาสู่สายตาคนอื่นจนกลายเป็นค่านิยมใหม่ สิ่งตามมาอีกอย่างที่เขาเสนอคือบริโภคนิยม แต่เป็นบริโภคนิยมแบบที่มุ่งให้สิ่งต่างๆ ล้าสมัย มากกว่าจะชื่นชมหรือเชิดชูสิ่งใดนานๆ

ท้ายที่สุดเมื่อไร้จุดยึดเหนี่ยว สิ่งที่ตามมาก็คือการพยายามแสดงตัวตนของแต่ละคนออกมาสู่สายตาคนอื่นจนกลายเป็นค่านิยมใหม่

จากความหมายของการไหลและผลกระทบนี้เองที่เป็นเหมือนแกนกลางของเรื่อง หนังสือดึงเอาการกระจายสายตาของเขาไปยังเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นทั้งภายในสังคมอิตาลีเองและสังคมโลกมาร้อยรัดเข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นพลศาสตร์ของการไหล

ประเด็นที่เอโคเคยพิจารณาและตั้งข้อสังเกตไว้มีหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานการณ์ต่างๆ (ประเด็นนี้ผมคิดว่าใครหลายคนคงชอบ เพราะมือถือถูกนำมาวิเคราะห์ผู้คนได้อย่างถึงอกถึงใจ) ไปจนถึงปรากฏการณ์ระดับชาติที่แฝงไว้ในข้อความของเอกสารคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

ผมเขียนเล่ามาแบบนี้ คิดว่าคุณคงอยากรู้ว่าเอโคให้ความเห็นอะไรไว้บ้างในแต่ละเรื่อง หรือไม่ก็คงกำลังเลิกคิ้ว “ขนาดนั้นเชียว?” อยู่แน่ๆ งั้น เอางี้ ผมจะลองยกตัวอย่างให้ดูสักเรื่องก็แล้วกัน

ในเรื่อง ‘การสูญเสียความเป็นส่วนตัว’ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2014 เอโคเขียนถึงปัญหาแห่งยุคสมัยที่ชื่อความเป็นส่วนตัว (privacy) เขาเริ่มต้นด้วยการให้นิยามคำแบบกระชับเหน็บแนมว่า มันคือการที่ทุกคนมีสิทธิ์ทำเรื่องส่วนตัวได้โดยที่คนอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอำนาจไม่จำเป็นต้องรู้เห็น และมีวิธีรับประกันความเป็นส่วนตัวให้ทุกคน แต่เวลาพูดถึงเรื่องพวกนี้เนี่ย เราต้องไม่ลืมประกอบคำว่า privacy ลงไปในประโยค ไม่งั้นจะไม่มีใครให้ความสนใจ

การตื่นตัวต่อปัญหานี้ทำให้ทุกคนหันมาหวงแหนความเป็นส่วนตัวกันมากกก เพื่อให้อยู่นอกสายตาของ Big Brother แต่ปัญหาก็คือ เราหวงแหนความเป็นส่วนตัวกันจริงหรือ เพราะเราอยู่ในสังคมไหลที่การแสดงตัวตนเป็นผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ เขายกตัวอย่างถึงเรื่องของคนคุยโทรศัพท์มือถือเสียงดังในที่สาธารณะว่าคิดอย่างไรกับน้องสะใภ้ สามีภรรยาที่เล่าเรื่องรักเร้นเล่นชู้ให้ผู้คนปรบมือในรายการทีวี  และเมื่อพูดถึงเรื่องการหวงแหนแบบแอ่นอกนี้ ตัวอย่างสำคัญอีกอย่างคือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เอโคยกตัวอย่างนี้จากความเห็นของนักคิดอีกคนมาเสนอว่านี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผู้ถูกสอดแนมให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้กับคนสอดแนม โดยผลที่พวกเขาได้รับคือความพึงพอใจ เพราะมีคนเห็นว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาปิดท้ายบทความอย่างเจ็บแสบว่า

“นอกจากนั้นยังเป็นความจริงอีกด้วยว่า หากคนหนึ่งรู้เรื่องของทุกคนได้ (เมื่อ ทุกคน หมายถึงจำนวนประชากรโลก) ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปเช่นนี้ก็มีแต่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย แต่ฝ่ายที่หนักใจคงเป็นผู้สอดแนม ส่วนผู้ถูกสอดแนมนั้นยินดีมากที่อย่างน้อยก็มีมิตรสหายเพื่อนบ้าน และถ้าเป็นไปได้ก็ศัตรูด้วย รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขา รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวที่เป็นความลับ เพราะนี่เป็นหนทางเดียวในการได้รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผู้ถูกสอดแนมให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้กับคนสอดแนม โดยผลที่พวกเขาได้รับคือความพึงพอใจ เพราะมีคนเห็นว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร

จริงๆ แล้ว (ไหนๆ ก็เพิ่งพูดถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก) ความคิดหรือท่าทีจิกกัดของเอโคเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในทุกวัน ทั้งในรูปแบบของมีม (meme) ยั่วล้อจากข่าวที่เป็นกระแส หรือจากความคิดเห็นที่ผู้คนสาดลงไปในเฟซบุ๊กเมื่อมีเรื่องเร้าอารมณ์ความรู้สึก แต่ถึงอย่างไร ผมรู้สึกว่าในข้อเขียนของเอโค ภายใต้การไหลไปในกระแสของสังคม มันยังมีบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปกว่าแค่ความเห็นคล้ายโต้กลับเย้ยหยัน ซึ่งเราจะเห็นมันชัดขึ้นเมื่ออ่านหลายๆ บทความจนเห็นร่องรอยของความคิด

อาจเป็นเพราะเอโคเป็นนักปรัชญาที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษาศาสตร์และสัญศาสตร์ สิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นจนเป็นวัฒนธรรมและอารยธรรมจึงเป็นของเล่นอันโปรดปรานของเขา ดังนั้นเมื่อเขาอธิบายถึงเรื่องราวหลากหลายที่ไหลวนอยู่ในสังคม มันจึงมีท่าทีของการอ่านขาด และท่าทีนี้เองที่ทำให้ผมอิ่มใจ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าเมื่อผมลองย้อนคิดถึงความรู้สึกหรือความคิดของตัวเองที่มีต่อสิ่งต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ของสังคม หลายต่อหลายครั้งผมเองก็รู้สึกว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลในสิ่งที่เห็น แต่ขอบเขตความคิดและการตระหนักรู้ยังไม่แหลมคมพอที่จะทำความเข้าใจกับมันอย่างถ่องแท้ หรือแม้แต่คิดว่าเข้าใจแล้ว บางทีก็ยังเหมือนมีเสียงกระซิบค่อยๆ ขาดห้วงผ่านเข้ามาว่าความคิดที่ว่าเข้าใจนั้นอาจยังคงเดินหลงเข้าไปในความลวง ความรู้สึกเหล่านี้มันทำให้ค้างคา แต่ความค้างคานี้ก็หายไปเมื่อได้อ่านและลองคิดตามความเห็นของเอโค รู้สึกเหมือนกับว่าเขาค่อยๆ ชี้ให้เราดูว่าชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ของสังคมทำงานอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราค้างคา

และจากการชี้ให้เห็นของเขานี้เองที่ทำให้ผมคิดถึงกาแฟรสทัศนคติอันควร เพราะสิ่งที่แฝงอยู่ในการจิกกัดเสียดสีที่เขาทำนั้น ในแง่หนึ่งมันคือการเปิดโปงให้เห็นว่าความคิดความเชื่อบางอย่างนั้น ((บางที) หวังว่าคุณคงเข้าใจว่าทำไมผมต้องใส่วงเล็บ) มันอาจถูกออกแบบมาให้เราคิดเราเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เราไม่สงสัยในสิ่งที่รับรู้จากทุกผัสสะ จนกระทั่งไม่รู้ตัวว่าบางทีเราอาจมึนชากับสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความสุขของเรา ทั้งที่แท้จริงแล้วมันเป็นความสุขของคนอื่น หรืออุดมการณ์อื่นที่เราไม่เคยเฉลียวใจนึกถึง

บางทีเราอาจมึนชากับสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความสุขของเรา ทั้งที่แท้จริงแล้วมันเป็นความสุขของคนอื่น หรืออุดมการณ์อื่นที่เราไม่เคยเฉลียวใจนึกถึง

ผมไม่อยากให้คุณคิดว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นแค่เรื่องการเมือง ผมหมายถึงทุกอย่างที่ควบคุมเราอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การค้า โฆษณาชวนเชื่อ หรือการอำนวยความสะดวกของสิ่งต่างๆ หรือแม้กระทั่งจิตใจที่ด้านชาของเราเอง

คุณรู้มั้ยว่าอะไรคือความสำเร็จสุดยอดของสิ่งเหล่านี้ มันคือการทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองเมื่อเริ่มจะให้ความสงสัยว่า “แล้วทำไมต้องคิดมากด้วย?”

นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างที่ผมติดใจในข้อเขียนของเอโค ผมรู้สึกจากการอ่านว่าถึงแม้ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่เป็นการชี้ให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่เขาคิดว่าคนในสังคมไม่เห็น แต่มันกลับปราศจากท่าทีของการสั่งสอน ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักปรัชญา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เมื่อเขามาอยู่ในบทบาทของคอลัมนิสต์ เขาสามารถสลัดทิ้งภาพเหล่านั้นออกจากตัวเขาให้เหลือเพียงภาพของตาลุงวายร้ายนักอ่านทันโลก แตกต่างจากความรู้สึกที่ผมได้จากการอ่านงานเขียนของคอลัมนิสต์ส่วนหนึ่งในไทยที่เต็มไปด้วยท่าทีสั่งสอนชี้ถูกชี้ผิดได้เกือบทุกเรื่องจากประสบการณ์อันเปี่ยมล้น ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าพวกเขาไปเอาความมั่นใจขนาดนั้นมาจากไหน

                                                                                                                      ผมเอง

                                                                                                                  14/10/2018

Fact Box

  • บันทึกในกลักไม้ขีด แปลโดยนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
  • อุมแบร์โต เอโค เป็นนักสะสมหนังสือหายากตัวยง ก่อนเสียชีวิต เขามีหนังสือในครอบครองกว่า 50,000 เล่ม
  • ประเด็นส่วนใหญ่ที่แฝงอยู่ในงานเขียนของเอโค ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย หรือบทความ จะว่าด้วยเรื่องของการสมคบคิด การโกหก และความจริงครึ่งเดียว
  • เอโคทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับนักบุญโทมัส อไควนัส แต่ท้ายที่สุดเขาเลือกหันหลังให้โบสถ์คาทอลิกและพระเจ้า
  • ย่อหน้าจบของจดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นจากการลองพิจารณาสังคมลื่นไหลแบบเอโค

 

Tags: , , , ,