‘ความสำเร็จอยู่ที่ความขยัน’

‘ไม่มีงานทำเพราะขี้เกียจ’

หลายคนคงเคยได้ยินวาทกรรมเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง จนอาจเห็นพ้องต้องกันว่ามันจริง ทว่าเมื่อมาสัมผัสนิทรรศการแห่งนี้ วาทกรรมที่เคยได้ยินอาจเป็นเพียงแค่ ‘มายาคติ’ เพราะมีคนที่ขยันแต่ยังอยู่อย่าง ‘อัตคัด’ จวบจนบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต

ท่ามกลางเมืองใหญ่ รถราแล่นไปบนท้องถนน ตึกรามบ้านช่องตั้งซับซ้อนบนผังเมือง เป็นแหล่งรวมความเจริญที่สร้างมูลค่าสูงให้กับเศรษฐกิจ แต่กลับมีมุมแคบๆ ของคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนมักหลงลืมหรือ ‘เลือก’ ที่จะมองไม่เห็น 

‘เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง’ นิทรรศการที่จัดแสดง ณ ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 15-27 กรกฎาคม 2568 เป็นนิทรรศการว่าด้วยบทสรุปที่ค้นพบจากคนจนเมือง สารคดีที่แสดงวิถีชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ถูกมองว่า ‘ศิวิไลซ์’ แต่ชีวิตกลับเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ 

นิทรรศการเล่าผ่านจุดประสงค์หลักสำคัญ ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้ชม เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ปรับมุมมองที่มีต่อคนรายได้น้อยในเมืองใหญ่ว่า ความจนไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

01

Exhibition ‘เส้นทางความเหลื่อมล้ำ’

เกิด-เรียน-งาน-เจ็บ-แก่-ตาย

เมื่อเดินไปยังห้องนิทรรศการ บนพื้นปูนฝั่งซ้ายกลับมีทางเดินแคบๆ ชวนให้สะดุดตาก่อนก้าวเท้าเหยียบ มันเป็นเพียงเส้นทางจำลองเล็กๆ ของทางเดินริมคลองระบายน้ำ ขนาด 30 เซนติเมตร เป็นเส้นทางลับที่เด็กหญิงคนหนึ่งในสลัมต้องเดินกลับบ้านทุกวัน เพื่อปกป้องความปลอดภัยของตนเองจากการเกิดเป็น ‘หญิง’

เส้นทางนั้นพาเราไปสู่พื้นที่จำลองเล็กๆ ในห้องแคบที่มีแค่เปลพับ เสื่อผืนหมอนใบ ราวตากผ้า ตู้กับข้าว หน้ากระจกที่มีเพียงลิปสติกแท่งเดียว และเหนือหัวเป็นที่วางของหิ้งพระ นี่คือห้องที่หลายคนอาจมองว่า ‘ก็อยู่ได้’ แต่ถ้าบอกว่า ที่นี่ต้องอยู่กันทั้งหมด 8 คน จะยังคิดเช่นนั้นอยู่หรือไม่

ภายในห้องที่มีเปลพับและเสื่อบางเฉียบที่เวียนนอนกันไป หลายชีวิตอยู่ได้เพราะการร้อยพวงมาลัยขาย ขณะที่ทางแคบเพียงไม้บรรทัดฟุตเหล็ก ขนาบด้วยน้ำครำทั้ง 2 ฝั่ง กลับเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กหญิง 

สิ่งนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ความจนไม่ได้น่ากลัวเพราะแค่อยู่ในพื้นที่บ้านแคบๆ แต่จะน่ากลัวกว่าเมื่อ ‘พื้นที่ปลอดภัยที่สุด’ ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง และพวกเขาจำต้องจำนนต่อมันเท่านั้น

ถัดออกไปคือห้องเรียนขนาดย่อม มีโต๊ะวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกับข้อความสั้นๆ จากคนในสารคดี เรียงร้อยและพูดถึงการหวังพึ่งการศึกษาที่จะนำพาพวกเขาให้หลุดพ้นจากความลำบาก

“จะเรียนให้จบ เพื่อพาทุกคนออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ไปเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่านี้”

ข้อความที่ฟังแล้วตรึงใจเราไว้ กลับกลายเป็นคำถามใหญ่ในหัว เพราะข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระบุว่า ความยากจนเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบถึง 46.7% 

นั่นจึงน่าฉุกคิด แล้วการศึกษาจะพาทุกคนออกจากความจนได้จริงหรือ

ต่อมาคือโซนที่สื่อถึง ‘งาน’ ผู้ชมจะได้พบเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของคนจนเมือง อย่างกระบุง กระเป๋าส่งอาหาร กระดิ่ง แผงขายลอตเตอรี่ หรือสิ่งที่นำสายตาที่สุดก็คือ ‘รถขายส้มตำ’ ที่แปะป้ายราคาอาหารเพียง 10-30 บาท

บอกตามตรงว่า ราคาเท่านี้ไม่น่าหาได้จากเมืองหลวงแล้ว แต่กลับเกิดขึ้นในร้านรถเข็นเล็กๆ หน้าไซต์งานก่อสร้างห้างยักษ์ใหญ่อย่าง One Bangkok รถเข็นนี้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญให้กับคนงานในราคาย่อมเยา โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะได้กำไรบ้างหรือเปล่า จึงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า คนขายกับข้าวเป็นฟันเฟืองที่นำไปสู่สิ่งใหญ่ๆ ไม่แพ้อาชีพใด

ใกล้กันยังมีเรื่องราวของครอบครัวคนจนเมืองจากรุ่นสู่รุ่น ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ตายไปแล้วความจนก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ยังส่งต่อไป 2-3 รุ่นราวกับเป็นมรดกที่ไม่มีผู้ใดอยากรับ

ในโซน ‘ป่วย’ ผู้ชมจะได้เล่นเกมพินบอลสุ่มโรค เพื่อสื่อถึงความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่มีอยู่ทุกที่ แต่สำหรับคนจน ความเสี่ยงนั้นไม่ใช่แค่โรค แต่ยังรวมถึงการเข้าถึงการรักษา 

ลองจินตนาการถึงผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องใช้เข็มฉีดอินซูลินแท่งเดิมซ้ำๆ เพราะไม่มีเงินซื้อใหม่ นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่คือความจริงของคนหาเช้ากินค่ำจำนวนไม่น้อยที่กำลังทำแบบนั้น

และห้องที่เรียกน้ำตาสำหรับผู้เขียนได้อย่างอยู่หมัดคือ ห้อง ‘แก่ก่อนรวย’ ห้องเป็นสีดำ ผนังขรุขระราวพื้นผิวของถ่านไม้ ไล่สายตาลงมาจะพบโต๊ะพร้อมหุ่นสีทองเรียงเป็นลำดับน้อยใหญ่ ท่ามกลางกองฟืนไหม้ด้านล่าง

เสียงโทรทัศน์ข้างๆ ดังเป็นเรื่องราวชีวิตของ ‘ตาไหม’ เพียงนิ่งฟังเสียงและคำบอกเล่าของผู้จัดงาน น้ำตากลับคลอออกมาอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งหากใครที่อ่อนไหวกับเรื่อง ‘ผู้สูงอายุ’ อยู่แล้ว เราอาจเป็นคนจำพวกเดียวกัน

กองถ่านตรงนั้นเปรียบดั่งทั้งชีวิตของตาไหม แรงงานรับจ้างขนถ่านไม้ที่ใช้เผาทองคำในย่านเยาวราช ผู้ที่ถูกความยากจนหล่อหลอม เพราะตาไหมทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่ความจนไม่เคยหนีไปจากเขา

ตาไหมแบกถ่านขึ้นไปบนชั้น 5 เพื่อใช้เผาทองคำ หล่อเลี้ยงธุรกิจสำคัญของเยาวราชทุกวัน ปัจจุบันราคาทองคำพุ่งสูงไปถึงบาทละ 5.2 หมื่นบาท แต่ค่าแรงของชายชราผู้นี้ยังตกวันละ 150 บาท เขาทำงานทุกอย่างแม้แต่อาชีพเก็บขยะ แต่ทุกวันนี้แทบไม่มีบ้านอยู่ เพราะโดนไล่ที่แถวตลาดน้อย เหตุเพราะ ‘ร้านกาแฟ’ มีมูลค่ามากกว่าที่อยู่อาศัยของคนจนตัวเล็กๆ

และหุ่นทองบนโต๊ะเปรียบเหมือนร่างของตาไหมที่ทุ่มแรงงานทั้งชีวิตให้กับระบบ แต่ไม่เคยได้สัมผัสความมั่งคั่งเลยแม้สักวันเดียว วาทกรรม ‘จนเพราะไม่ขยัน’ จึงฟังดูเป็นเรื่องตลกร้าย

เมื่อเดินชมรอบงานจะพบกับข้อความตามผนังอื่นๆ อีก ทั้งข้อมูลสถิติเกี่ยวกับความจนที่ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่าย ประโยคกินใจ หรือมุมถ่ายรูปเล็กๆ หน้ากระจกพร้อมกับประโยคที่เขียนว่า ‘คนจนหน้าตาแบบนี้’ มันช่างดูตลกร้าย แต่ก็เป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจ พอจะหยิบมือถือและกดถ่ายไปลงโซเชียลฯ เช่นกัน

02

Photo Gallery ‘หน้าตาความจน’

บุคคลที่เป็นดั่งลมใต้ปีกของเมืองศิวิไลซ์

นอกจากภายในห้องจัดแสดง ด้านนอกยังจัด Photo Gallery ภาพถ่ายบุคคลต้นเรื่องและบริบทที่สะท้อนความจนและความไม่เท่าเทียม จากสารคดีซีรีส์คนจนเมือง ของ The Active Thai PBS ที่เผยแพร่มากว่าครึ่งทศวรรษ ผ่านคนหลายเรื่องราวหลากอาชีพ 

อันได้แก่ ‘ป้าเข็ม’ หญิงวัย 63 ปีกับชีวิตที่ยังขายบริการในพัทยา, ‘อาชุม’ ชนชาวอาข่าที่ถูกผลักจากป่าสู่ชายขอบเมืองเชียงใหม่, ‘มะลิ’ ไรเดอร์แม่เลี้ยงเดี่ยวที่พาลูกสาวไปทุกแห่งหน, ‘พี่เชาว์’ ผู้นำชุมชนที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิของชาวบ้าน, ‘น้องเอมี่’ ผู้หยุดมรดกความจนและความยากลำบาก, ‘ปูแป้น’ เด็กที่ฝันอยากเป็นเชฟขนมหวาน แต่ต้นทุนชีวิตติดลบ และ ‘ตาไหม’ คนแบกถ่านเผาทองคำในย่านเยาวราช ชายชราที่ไม่เคยหยุดทำงานจวบจนบั้นปลายชีวิต

สำหรับภาพที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือ ป้าเข็ม เป็นภาพที่เธอสวมเดรสสีแดงสดยืนอยู่ท่ามกลางผู้คน กับภาพที่เธอยืนโดดเดี่ยวอยู่บนชายหาด สวมเสื้อคอกระเช้า

ภาพแรกบ่งบอกบทบาทในเมืองใหญ่ที่ใช้ผลักตัวเองออกจากหนี้สิน ภาพหลังบอกว่าท้ายที่สุดเธอเป็นเพียงหญิงสูงวัยที่ยืนมองเส้นขอบฟ้า เป็นความต่างที่สะท้อนชัดว่า เมื่อถอดหัวโขนออกแล้ว เธอไม่ต่างอะไรจากญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพรัก 

แต่แล้วในวัยที่ควรได้พัก ป้าเข็มยังต้องขูดรีดร่างกายช่วงบั้นปลายเพื่อปลดหนี้ให้บ้าน และหวังเพียงกลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายที่ชนบท นี่จึงไม่ใช่แค่บันทึกภาพ แต่เป็นบันทึกเสียงสะอื้นของสาวบาร์เบียร์ ผู้ที่ไม่เคยอยากใส่หัวโขน แต่ความลำบากกลับสวมให้เธอเอง

นอกจากนี้เมื่อเดินไปจนสุด ก็จะมีกิจกรรมเล็กๆ ที่ผู้ชมสามารถเขียนข้อความ แสดงความเห็น หรือส่งกำลังใจให้กับคนจนเมืองหรือนิทรรศการได้อีกด้วย

Photo Gallery ‘หน้าตาความจน’ จึงไม่ใช่แค่ภาพถ่าย แต่คือ ‘ละครชีวิต’ ในเฟรมที่หยุดนิ่ง เป็นภาพเงียบที่เล่าถึงความจนและเหลื่อมล้ำของใครบางคนได้อย่างเสียงดัง และต้องการให้คนได้ยิน

03

Data Wall ‘นโยบายแก้จน’

แก้จนมา 20 ปี หรือนี่ต้องแก้เก้อ

หากอีกฝั่งเป็นภาพความจนที่พูดด้วยศาสตร์แห่งศิลป์ Data Wall ‘นโยบายแก้จน’ ก็คงเป็นศาสตร์แห่งข้อมูลและสถิติอย่างเข้าใจง่าย ว่าด้วยเส้นทางนโยบายตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีอย่าง ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร เพื่อเผยให้เห็นว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แท้จริงแล้วนโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจเป็นเพียงภาพเลื่อนลอย แต่ถอนรากไม่ได้จริง

แล้วจนแค่ไหนถึงเรียกว่าจน

Data Wall แสดงให้เห็นว่า ‘เส้นความจน’ คือรายได้ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน หรือตกวันละ 100 บาท โดยเงินจำนวนนี้ยังไม่หักค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบ้าน ที่อาจเหลือใช้จริงแค่วันละ 40 บาท ซึ่งมีคนไทยอยู่ในเส้นความจนกว่า 7 ล้านคน และเสี่ยงเข้าใกล้เส้นความจนกว่าอีก 24 ล้านคน เป็นกลุ่มคนงานไม่มั่นคง เปราะบาง หรือไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ

ฝั่งนโยบายแก้จนนี้จึงไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือสถิติ แต่คือชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลที่ยังต้องเดินอยู่บนเส้นทางอดอยากแร้นแค้น กับนโยบายที่เข้าสู่วังวน แก้ปัญหาต้นเหตุไม่ได้

ในสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความศิวิไลซ์ เราไม่อยากให้ใครหลงลืมว่า ยังมี ‘คนจนเมือง’ อีกจำนวนมาก ที่ถูกกลืนอยู่ในเงาแห่งความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่อยู่ในชุมชนแออัด ตรอกแคบๆ ริมแม่น้ำ ใต้สะพาน หรือริมทางรถไฟ พื้นที่ที่ความฝันแทบไม่มีที่ยืน และต้นทุนชีวิตก็ต่ำยิ่งกว่าพื้นที่อยู่อาศัย

แม้ต้องเผชิญกับความเปราะบาง ทว่าพวกเขาไม่เคยหยุดขยัน หยุดหวัง หรือหายไปจากภาพรวมของเมืองใหญ่ เพียงแต่ถูกทำให้กลายเป็นเงา ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมของโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำหนักอึ้ง จนวันหนึ่งอาจแตกและแหลกเละ

ในเวลานี้สิ่งที่พวกเขาต้องการอาจไม่ใช่ชื่อเสียงหรือภาพฝันอันสวยหรู แต่ต้องการพื้นที่เล็กๆ ที่ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง มีสวัสดิการจากภาครัฐอย่างเพียงพอที่ทำให้ลืมตาอ้าปาก และนำไปต่อยอดสมกับความบากบั่นดั่งที่ทำมาทั้งชีวิตได้

นิทรรศการ ‘เท่าหรือเทียม: เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง’ จึงไม่ใช่นิทรรศการศิลปะที่จรรโลงใจผ่านสุนทรียะให้แก่กลุ่มชนชั้นกลาง แต่เป็นกระจกที่สะท้อนชีวิตของกลุ่มคนที่ถูกมองข้าม

เราหวังว่านิทรรศการนี้จะทำให้ผู้ชมหันกลับไปตั้งคำถามต่อนโยบายของภาครัฐ ฉุกคิดถึงแรงงานไร้ชื่อที่ทำให้สรวงสวรรค์ในเมืองดำเนินต่อไป และตระหนักได้ว่า ความศิวิไลซ์ของเมืองใหญ่มีราคาที่คนอีกกลุ่มต้องจ่ายอยู่เสมอ

เพราะเมืองแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง ไม่ควรต้องแลกกับการทำให้ใครบางคนหายไปจากภาพรวม

Tags: , , , , ,