***คำเตือน: บทความนี้เต็มไปด้วยศัพท์จากโลกเวทมนตร์ที่มักเกิ้ลอาจจะเข้าใจยากสักนิด***
เด็กน้อยผมบลอนด์ หน้าตาขึงขังจ้องหน้าจอไม่กระพริบ มือค่อยๆ แตะบรรดาปุ่ม ‘ส่วนผสม’ ตามขั้นตอนบนจออย่างตั้งใจ ส่วนผสมแต่ละชนิดเลื่อนไหลลงหม้อที่กำลังเดือดปุดๆ ตามคำสั่งจนหมดทุกจาน
เด็กน้อยรอคอย…ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เด็กโข่ง (ผู้เขียนเอง) เกือบหยุดมือตัวเองไม่ทัน ก่อนที่แม่มดฝึกหัดจะนึกขึ้นได้ว่า เธอยังเหลืออีกสิ่งที่ต้องทำ
‘คน’ ทุกอย่างด้วยปุ่มช้อนนี่เอง
ทันใดนั้น น้ำสีช้ำเลือดช้ำหนองในหม้อหมุนเป็นวง หน้าจอปรากฏขวดแก้วอุดด้วยจุกไม้คอร์ก ข้างในมีของเหลวข้น “ยินดีด้วย! เธอปรุงยาต้านก็อบลินราตรีสำเร็จ”
หันไปที่อีกมุม คุณตาคนหนึ่งกำลังยืนเพ่งตู้กระจกด้วยความตั้งใจประมาณเดียวกัน ในนั้นไม่ได้มีขวดยาหรืออุปกรณ์ปรุงยาใดๆ แต่มี Hortus Sanitatis สารานุกรมโบราณสมัยปลายศตวรรษที่ 15 จากเยอรมนี ที่เปิดหน้า ‘ห้องเรียนปรุงยา’ เอาไว้
นึกไม่ออกว่า จะมีที่ไหนที่รวมเรื่องราวแฟนตาซีเข้ากับความคงแก่เรียนได้เท่านี้อีก
ยินดีต้อนรับสู่โลกเวทย์มนตร์ของ Harry Potter (และอื่นๆ อีกมากมาย) ณ British Library หอสมุดแห่งชาติใจกลางกรุงลอนดอนจ้าาา
เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ที่ Harry Potter เล่มแรก (Harry Potter and the Philosopher’s Stone) ถูกตีพิมพ์ออกสู่สายตามักเกิ้ลเป็นครั้งแรก British Library ขนเอาสารพัดหนังสือและสิ่งของเกี่ยวกับอาณาจักรแม่มดพ่อมดที่มี มาแปลงร่างห้องนิทรรศการของตัวเองให้เป็นโรงเรียนฮอกวอตส์ (Hogwarts School of Witchcraft and Wizardry) แบ่งห้องย่อยตามรายวิชา ประกอบด้วย วิชาปรุงยา (Potions) วิชาเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) วิชาสมุนไพรศาสตร์ (Herbology) วิชาเวทมนตร์คาถา (Charms) วิชาดาราศาสตร์ (Astronomy) วิชาพยากรณ์ศาสตร์ (Divination) วิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืด (Defense Against the Dark Arts) และวิชาดูแลสัตว์วิเศษ (Care of Magical Creatures)
บริเวณโถงทางเดินก่อนถึงห้องเรียน บรรดาแฟนทั้งพันธุ์แท้และไม่แท้ของ Harry Potter จะได้พบกับ ‘ชีวประวัติ’ อย่างย่อของนวนิยายชุดนี้ พร้อมด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่าง ภาพสเก็ตช์ตัวละครที่วาดโดย เจ. เค. โรว์ลิง (J. K. Rowling) ร่างแบบปกหนังสือเล่มแรกโดย จิม เคย์ (Jim Kay) (ผลงานของทั้งสองคนจะโผล่มาอีกเรื่อยๆ ตามเนื้อหาในแต่ละห้องเรียน)
แต่ที่น่าประทับใจที่สุด น่าจะเป็น ‘รีวิว’ ชิ้นแรกของต้นฉบับ Harry Potter เขียนโดยเด็กหญิงอลิส (Alice) ลูกสาวของไนเจล นิวตัน (Nigel Newton) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ บลูมสเบอรี (Bloomsbury) ซึ่งในที่สุดก็รวยไม่รู้เรื่องจากการตีพิมพ์หนังสือเด็กเล่มนี้ ที่ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์หลายต่อหลายแห่งโยนทิ้ง
ลายมือโย้เย้เขียนด้วยดินสอบนเศษกระดาษแกะออกมาได้ความว่า: “ความตื่นเต้นในหนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันรู้สึกอุ่นอยู่ข้างใน ฉันคิดว่ามันน่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่เด็ก 8-9 ขวบคนหนึ่งจะอ่านได้” (‘The excitement in this book made me feel warm inside. I think it is possibly one of the best books an 8/9 year old could read.’)
สิ่งที่อลิสและพ่อของเธออาจไม่รู้ก็คือ นวนิยายชุด Harry Potter ไม่เพียงโดนใจเด็ก 9 ขวบอย่างเธอ แต่ยังกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ที่ครองใจนักอ่านผู้มีจินตนาการและ ‘ความเป็นเด็ก’ อยู่ในตัว อย่างไม่เกี่ยงเพศ วัย และชาติพันธุ์มาได้ถึง 20 ปีเข้าไปแล้ว
ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เสน่ห์ของ Harry Potter ซึ่งทำให้คนจำนวนมากรู้สึกผูกพันอย่างเหนียวแน่น อยู่ตรงที่มันว่าด้วยเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นทุกปี
เมื่อหันซ้ายหันขวาสำรวจกลุ่มประชากรที่มาเที่ยวชมนิทรรศการ พบว่าแม้จะมีเด็กๆ วัยไม่เกิน 10 ปีและผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ไม่น้อย แต่ที่เยอะที่สุดดูจะเป็นกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงาน (น่าจะอายุพอๆ กับอลิสในปัจจุบัน) คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า เสน่ห์ของ Harry Potter ซึ่งทำให้คนจำนวนมากรู้สึกผูกพันอย่างเหนียวแน่น อยู่ตรงที่มันว่าด้วยเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นทุกปี ผู้อ่านที่มีอายุไล่เลี่ยกับตัวละครนั้นแทบจะเรียกได้ว่าโตมาพร้อมกันกับแฮร์รี่และผองเพื่อน มาจนถึงตอนนี้ พวกเขาก็กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เป็นพ่อคนแม่คนที่พาลูกมาเที่ยวโลกเวทมนตร์รำลึกความหลังกันหมดแล้ว
สำหรับเนื้อหาในแต่ละห้องย่อย นอกเหนือจากการแนะนำรายวิชา อาจารย์ประจำวิชา พร้อมด้วยโควตสั้นๆ จากหนังสือ เด็กๆ (หรือผู้ใหญ่ใจเด็กก็แล้วแต่) จะได้สนุกสนานกับกิจกรรม interactive ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้เข้ากับรายวิชา เช่นการหัดปรุงยาและการส่องหาดาวซีเรียส (Sirius) ในวิชาดาราศาสตร์ ได้ตื่นตาตื่นใจกับกิมมิคลูกสนิชที่บินไปบินมาทั่วห้องวิชาเวทมนตร์และสัตว์วิเศษที่โผล่มาให้เราเห็นแค่แว้บๆ ผ่านกล้องส่องสัตว์ขนาดยักษ์ ขณะเดียวกัน ก็ได้เก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์ จากเอกสารและวัตถุทางประวัติศาสตร์จากทุกมุมโลกไปด้วย
ของจัดแสดงชิ้นหนึ่งที่ผู้เขียนตื่นเต้นเป็นพิเศษ อยู่ในห้องวิชาพยากรณ์ศาสตร์ ไม่ใช่เพราะมันแปลกพิสดารอะไร แต่เพราะมันเป็นตำราดูดวงจากไทยแลนด์เรานี่เอง คำอธิบายบอกว่า คนไทยสมัยศตวรรษที่ 19 มักปรึกษา ‘ผู้เชี่ยวชาญการทำนาย’ ที่เรียกว่า “mor doo” เกี่ยวกับเรื่องความรักและความสัมพันธ์ (ปัจจุบันก็ยังทำอยู่จ้า) ตำราที่นำมาโชว์นี้ อ้างอิงปีนักษัตรของจีน (แต่ใช้สัญลักษณ์ภาพเขียนของไทย) เพื่อใช้ดูว่าคู่รักคู่ไหนมีดวงสมพงศ์กันบ้าง
นอกจากนั้นก็มี สิ่ง(เคย)มีชีวิตหน้าตาเหมือนเงือกเพศผู้ตัวเล็กๆ ขนาดเท่าแขน (ซึ่งปรากฏว่าเป็นของปลอมที่ชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 ทำขึ้นมา) หม้อปรุงยาอายุร่วม 2,000 ปี ตำราทำศิลาอาถรรพ์ หรือ philosopher’s stone สมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งยาวถึง 6 เมตร ไม้กวาดแม่มดของจริง ภาพร่างที่ละเอียดมากๆ ของต้นแมนเดรก (mandrake) บัคบีค (Buckbeak) ตรอกไดแอกอน (Diagon alley) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่บรรดาติ่งแฮร์รี่และผู้คลั่งไคล้โลกเวทมนตร์จะต้องร้องว่า “ขนลุกแล้ววว”
สร้างสรรค์ (แน่นอนว่าเบื้องหลังคือวัตถุดิบเหลือเฟือและงบประมาณก้อนใหญ่) ของเจ้าหน้าที่ประจำ British Library มักจะทำให้ผู้เขียนทึ่งอยู่เสมอ พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงแค่เชี่ยวชาญเรื่องหมวดหมู่และสาขาขององค์ความรู้ที่ตัวรับผิดชอบอยู่อย่างลึกซึ้ง แต่ยังกระตือรือร้นที่จะนำเสนอมันต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องด้วย
ขณะกำลังตกใจกับดวงตาอิลลูมินาติที่จ้องมองมาจากฉากกั้นห้อง ผู้เขียนได้ยินภรรยาวัยกลางคนบอกกับสามีว่า “คิดดูสิว่าภัณฑารักษ์ที่จัดงานนี้จะสนุกขนาดไหน”
ถ้าสิ่งมหัศจรรย์ในโลกมักเกิ้ลมีอยู่จริง ก็คงเป็นพลังงานของความสุขในการได้ทำงานที่ตัวเองรัก ซึ่งผู้ชมนิทรรศการจะได้รับไปอย่างเต็มที่ ไม่แพ้ความสนุกสนานและความรู้เลยทีเดียว
FACT BOX:
- Harry Potter: A History of Magic เปิดให้เข้าชมที่ British Library ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018
- สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปอ่านบทความและดูภาพตัวอย่างของวัตถุจัดแสดงได้ที่ https://www.bl.uk/harry-potter