พูดถึงคำว่า ‘ฮิสทีเรีย’ (Hysteria) ภาพของหญิงที่ขาดผู้ชายไม่ได้คงปรากฏในหัวใครหลายคน หลายครั้งมันกลายเป็นคำด่า ทั้งที่ก็มีการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องมานานแล้วว่า ฮิสทีเรีย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. เกี่ยวกับระบบประสาท เช่นภาวะชาตามลำตัว หรือสูญเสียประสาทสัมผัสกระทันหัน และ 2. เกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Histrionic Personality Disorder) ที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์อ่อนไหวสูง แปรปรวนบ่อย มักแสดงออกเกินจริง หรือต้องการดึงดูดความสนใจอย่างหนัก

ข้อหลังนี้เองที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของผู้ป่วยฮิสทีเรีย เหล่าศิลปินหญิงในลอนดอนจึงอยากลองตั้งคำถาม และปลดปล่อยผู้หญิงออกจากภาพจำที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมชายเป็นใหญ่ ด้วยนิทรรศการ Hysteria ในงานประกอบด้วยงานดิจิทัลอาร์ต วาดภาพสด งานปั้น ศิลปะจัดวาง ศิลปะแสดงสดว่าด้วยโรควิตกกังวล (anxiety) อันเป็นอาการร่วมของฮิสทีเรีย หรือฉายหนังเฟมินิสต์อีโรติก ฯลฯ

งานนี้มีหัวหอกคือนิตยสาร Ladybeard ที่สนใจว่า Hysteria มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก Uterus (มดลูก) และหมายความว่า ‘ผู้ซึ่งเจ็บปวดจากมดลูก’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุใดฮิสทีเรียจึงกลายเป็นตราบาปของผู้หญิงไปได้ ยิ่งกว่านั้น นิทรรศการนี้ยังต้องการพูดถึงสภาวะอารมณ์ และ ปัญหาสุขภาพจิตของผู้หญิง ที่เป็นอีกหนึ่ง ‘จุดด้อย’ ซึ่งถูกตราขึ้นในสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยเช่นกัน

“ผู้หญิงมักถูกมองว่าอารมณ์อ่อนไหว ไร้เหตุผล วี้ดว้าย และร่านรัก เราจึงถูกสอนให้รู้จักกดข่มอารมณ์เหล่านั้นและฝืนเป็นอะไรที่จะไม่น่ารำคาญจนเกินควร ขณะที่ผู้ชายคือเพศของความเคร่งขรึม และมีเหตุผล ทั้งสองขั้วตรงข้ามนี้กลายเป็นภาพชัดเจนของสองเพศ ไม่มีพื้นที่สำหรับสิ่งที่อยู่ระหว่างกลาง ดังนั้นพวกเราทั้งหมดจึงล้มเหลว ผู้ชายที่ไม่เป็นไปตามภาพนั้นก็ด้วย เราจึงต้องการพื้นที่ใหม่ๆ ที่พูดถึงประสบการณ์และสภาวะสุดโต่งทางอารมณ์ ซึ่งบางครั้งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงแต่กลับปล่อยมันออกมาไม่ได้” แอนนาเบลล์ ฟิลลิปส์ จากนิตยสาร Ladybeard กล่าว

นอกจากจัดแสดงงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ตลอด 6 วันในปลายเดือนมีนาคมนี้แล้ว นิทรรศการ Hysteria ยังมีงานเสวนาที่อยากให้ผู้หญิงมาร่วมพูดคุยกันว่าจะยอมรับภาพจำที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่โบราณกาลหรือไม่ ทั้งในความเป็นหญิง หรือกระทั่งการเป็นฮิสทีเรีย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร มันอาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนใดก็ได้ และมาพร้อมกับภัยร้ายอย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลด้วย ซึ่งคำถามเหล่านี้เอง แม้ลอนดอนจะไกลเกินว่าจะไปร่วมงาน แต่เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนก็น่าจะได้ครุ่นคิดบางอย่างไปกับ Ladybeard และนิทรรศการของพวกเธอ

 

ที่มา:

Tags: , ,