ห้องสีขาวสะอาดตา พร้อมพรั่งไปด้วยอุปกรณ์ศิลปะนานาชนิด ทั้งขาตั้งวาดรูป สีน้ำหลากเฉด พู่กันที่เปรอะเปื้อน หรือแม้แต่ร่องรอยเก่าๆ จากการรังสรรค์ของผู้มาเยือนคนก่อนหน้า ขณะที่ภายนอกโอบล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้า และบรรยากาศเป็นมิตรแฝงไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวตามแบบฉบับกรุงธนบุรี

สถานที่ข้างต้นคือ T.REST ART THERAPY STUDIO สตูดิโอศิลปะบำบัด (Art Therapy) ไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่แฝงตัวในรูปแบบบ้าน 1 หลัง แถวเจริญนคร ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างคริสตจักรสำเหร่และริเวอร์ไซด์พลาซ่า (Riverside Plaza)

 มากกว่าการเป็นศิลปะเพื่อผ่อนคลาย สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะ ‘ที่พักใจ’ ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเครียดและแรงกดดันสารพัด พร้อมทั้งการเป็นพื้นที่ทำให้ใครหลายรู้จักความต้องการเบื้องลึกข้างใน ผ่านการสร้างงาน ‘ศิลปะ’ และ ‘รับคำปรึกษา’ จากนักศิลปะบำบัด โดยไร้ขีดจำกัดในเรื่องอายุ เพศ รวมถึงปัญหาด้านความรู้สึกแบบใดก็ตาม

“ศิลปะบำบัดคือศาสตร์การบำบัดอีกรูปแบบหนึ่ง เราเน้นการพูดคุยผสมผสานกับการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ทุกคนสามารถเข้ารับการบำบัดได้หมด ไม่มีเงื่อนไขอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งนี้คือความต่างจากการบำบัดทั่วไป”

เมย์-ฐิตารีย์ อรุณเวช นักศิลปะบำบัดวิชาชีพวัย 28 ปี และผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้ อธิบายถึงความหมายของศิลปะบำบัด ก่อนจะเน้นย้ำต่อว่า ความพิเศษของศาสตร์นี้ คือการทำให้ ‘ความรู้สึกซับซ้อน’ ที่อยู่ในใจของแต่ละคนเด่นชัดขึ้น เพราะศิลปะในฐานะเครื่องมือ สามารถขยายความอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเปรียบดัง ‘สิ่งที่จับต้องไม่ได้’

คอลัมน์ Out and About สัปดาห์นี้ ขอพาทุกคนทำความรู้จักกับศาสตร์ศิลปะบำบัดผ่านสตูดิโอย่านฝั่งธนฯ ที่เปรียบเสมือน ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ สำหรับผู้ที่หลงทางในชีวิตและอยากรู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น

1

กว่าจะเป็น T.REST ART THERAPY STUDIO ในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปสู่เรื่องราววัยเด็กของนักบำบัดสาว ฐิตารีย์เริ่มเล่าว่า ตนมีความสนใจศิลปะเป็นทุนเดิม ทว่าไม่อยากเรียนด้านนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งยังฝันใฝ่ถึงการเรียนคณะนิเทศศาสตร์มากกว่า จนกระทั่งถึง ‘ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ’ เมื่อเธอต้องเผชิญกับความผิดหวังในการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

“ตอนนั้นมีสอบตรงที่คณะนิเทศศาสตร์แห่งหนึ่ง เราเป็นเหมือนกับทุกคน คืออยากสอบตรงผ่านเพื่อที่จะไม่ต้องไปแอดมิชชัน เราก็ตั้งใจมาก ตอนนั้นเขารับสิบคน แต่ปรากฏว่าไปสอบ แล้วเราดันติดลำดับที่ 11

“เราก็รอจนกว่าจะมีคนสละสิทธิ แต่ปรากฏว่าสุดท้ายไม่มี ซึ่งจะเรียกว่า เหตุการณ์นี้คือเรื่องตลกร้ายก็ได้ แต่หลังจากนี้คือจุดพลิกผันของชีวิต วันนั้นเราไปร้านหนังสือแถวรถไฟวงเวียนใหญ่ ก็เข้าไปดูหนังสือตามปกติ แต่เจอหนังสือ 1 เล่ม หน้าปกเป็นการ์ตูนที่ชื่อว่า ‘อยากรู้จักจิตวิทยา’ ซึ่งเราไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนในช่วงเวลานั้น

“พอยืนอ่านสักพักหนึ่ง เราขอซื้อกลับบ้านจนอ่านจบ แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรมาก จึงตัดสินใจไปเสิร์ชในกูเกิลต่อว่า คณะที่เกี่ยวกับด้านนี้มีไหม และวันนั้นตัดสินใจบอกพ่อเลยว่า อยากเรียนจิตวิทยาแล้ว (หัวเราะ)”

ทว่าสำหรับฐิตารีย์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความสนใจเพียงชั่ววูบ เพราะนอกเหนือจากความชอบศิลปะในวัยเด็ก เธอยังสนใจเรื่อง ‘มนุษย์’ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะพฤติกรรมทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มจากการให้ความสนใจกับตัวตนของเธอเป็นอันดับแรก จนนำไปสู่การสังเกตถึงปัญหาอื่นๆ อย่าง ‘การอยู่ร่วมกับคนอื่น’

“ต้องบอกก่อนว่า เมย์เป็นคนที่อยู่กับตัวเองเยอะมาก ด้วยความที่เราเป็นลูกคนเดียว กิจกรรมส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่คนเดียว หรือเล่นคนเดียว ซึ่งก็เป็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมเราชอบศิลปะ เพราะมันทำงานคนเดียวได้

“เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณอนุบาล 3 ถึงจะเป็นความจำเลือนราง แต่เราจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือมีเพื่อนมาเล่นที่บ้าน แล้วเรื่องเกิดขึ้นเพราะไม่มีใครช่วยเราเก็บของเล่น หลังจากพ่อแม่เรียกพวกเขากลับบ้าน 

“นั่นคือครั้งแรกที่เรามีคำถามว่า ทำไมเขาทำตัวแบบนี้กัน? แล้วหลังจากนั้น เราไม่ชวนเพื่อนกลุ่มนั้นมาเล่นกับเราอีกเลย ทั้งที่เรามานั่งคิดตอนโตว่า เด็กคนอื่นก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรแบบนี้ แต่สำหรับเราตอนนั้น คือรู้สึกว่ามันไม่ได้ มาเล่นด้วยกัน ต้องเก็บด้วยกันสิ ทำไมเขาถึงไม่มีความรับผิดชอบ นั่นคือสิ่งที่เราคิด แต่ไม่รู้จักคำนี้ในเวลานั้น”

จากความคิดในวันนั้นกลับกลายเป็นว่า คำถามต่อพฤติกรรมของมนุษย์ในหัวของเธอเริ่มเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะช่วงใกล้วัยเปลี่ยนผ่านในชีวิต ฐิตารีย์ค้นพบว่า ตนเองมีปัญหาในเรื่องการคบเพื่อน สะท้อนจากการเข้ากันกับผู้ใหญ่ได้ดีกว่าคนรุ่นเดียวกัน ไปจนถึงการมีเรื่องระหองระแหงระหว่างคนรัก

ท้ายที่สุด แม้การเรียนในมหาวิทยาลัยจะทำให้ฐิตารีย์รู้จักตัวตนมากขึ้น ผ่านการเรียนทฤษฎีและการย้อนกลับไปมองปัญหาในวัยเด็ก แต่นั่นก็เป็นเพียง ‘ภาพรวม’ เสียมากกว่า ซ้ำเธอยังอยากจะรู้จักตนเองให้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะประสบการณ์การเคยเป็น ‘ฟา’ (ผู้ให้คำปรึกษา หรือ Facilitor) ระหว่างทำกิจกรรมตอนเรียน ทำให้เธอเห็นว่า อาชีพนักจิตวิทยามีมุมมองมากกว่าการทำหน้าที่ ‘นั่งให้คำปรึกษา’ เพียงอย่างเดียว

ฐิตารีย์จึงตัดสินใจเรียนต่อที่ IPATT (International Program of Art Therapy Thailand) โดยที่ไม่เคยวาดฝันมาก่อนว่า จะเปิดสตูดิโอบำบัดเป็นของตนเอง กระทั่งมาถึงจุดหนึ่งในชีวิตที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา เมื่ออาจารย์ให้วาดภาพที่สะท้อนว่า ตนเองอยู่ในจุดไหนของการเรียนศิลปะบำบัด

ในเวลานั้น หญิงสาววาดภาพ ‘ตอไม้’ และ ‘ป่า’ ซึ่งเธอให้คำนิยามว่า นี่คือ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ โดยโยงตนเองเข้ากับรูปตอไม้ ทำหน้าที่เป็น ‘ที่พัก’ ให้กับคนหลงทาง เปรียบเสมือนงานของเธอที่ให้คำปรึกษากับผู้เข้ารับการบำบัดในยามที่หลงทางจากชีวิต

“เราให้คำนิยามของภาพนี้ว่า มันคือที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง เราอยู่ในตรงตอไม้ ที่ที่ไม่ใช่บ้าน แต่เป็นที่พักชั่วคราว ซึ่งใครจะเข้ามาก็ได้ แต่ทุกคนต้องออกไป จะมีแค่เราที่อยู่ตรงนี้ 

“ส่วนป่าคือภาพแทนการหลงทาง ก็อาจเปรียบได้กับว่า เราคือคนช่วยเหลือคนหลงทาง เพราะคนที่มาหานักบำบัดคือคนที่หลงทางในชีวิต ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง ป่าก็ยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในตัวของมันเอง ซึ่งเราก็มองว่าศิลปะบำบัดหรือจุดที่เราอยู่ มีความอุดมสมบูรณ์มากพอที่จะให้อะไรบางอย่างกับคนอื่น”

ด้วยความมุ่งมั่นแรงกล้าที่อยากทำงานบำบัดเหมือนเคย ผสมผสานกับงานประจำในขณะนั้นที่ไม่ได้เป็นไปตามดังใจหวัง ท้ายที่สุด ฐิตารีย์จึงตัดสินใจเปิดสตูดิโอศิลปะบำบัดเป็นของตนเอง โดยดัดแปลงจาก ‘ห้องเก็บหนังสือเก่า’ ในบ้านของย่า ที่ซึ่งเธอผูกพันและรู้สึกปลอดภัยตั้งแต่เด็ก

“ชื่อ T.REST หมายถึง ‘ที่พัก’ เป็นการเล่นเสียง ซึ่งมาจากภาพวาดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าไปข้างต้น, Titaree (ชื่อจริง) และ Tree (ต้นไม้) ทั้งมีความหมายจากภาพวาด และรอบสตูดิโอเต็มไปด้วยต้นไม้ ทำให้บรรยากาศมีความสบาย ไม่อึดอัด 

“ส่วนสีฟ้าในโลโก้เปรียบได้เหมือนกับความเศร้าและความสบาย ขณะที่จุดสีเหลืองคือตอไม้และเก้าอี้ในสตูดิโอ” ฐิตารีย์อธิบายถึงชื่อและโลโก้ของสตูดิโอของเธอ

2

“ศิลปะบำบัดคือการบำบัดอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากวิธีการอื่นๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ”

นักศิลปะบำบัดสาวแห่ง T.REST ART THERAPY STUDIO เริ่มตอบคำถามอย่างง่ายดาย เมื่อเราถามถึงนิยามของศิลปะบำบัดในมุมมองของเธอ โดยขยายความว่า ปกติแล้ว การให้คำปรึกษาทั่วไปจะเน้นการพูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่ศิลปะบำบัดคือการใช้ศิลปะในฐานะเครื่องมือ เพื่อทำให้การพูดคุยที่นำไปสู่คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า จิตวิทยาคือความนามธรรม หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักพูดถึงทฤษฎีที่ไม่มีภาพ หรือการนั่งสังเกตพฤติกรรมบางอย่าง 

“สมมติลำพังถามว่า คุณรู้สึกอย่างไร การมีคำตอบว่ารู้สึกดีเฉยๆ อาจไม่เพียงพอ เพราะนั่นไม่ได้ขยายความว่าความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร กลับกัน ถ้าเราให้คุณลองระบาย หรือถ่ายทอดด้วยภาพวาด ก็อาจจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น หรือเห็นว่ามันมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า

“หรืออาจจะในกรณีโกรธ หากใครสักคนหนึ่งบอกว่ารู้สึกโกรธ ซึ่งบางครั้ง ความโกรธของเขาอาจจะมีความเศร้าปะปนอยู่ แต่เขาคงไม่มาพูดว่า ฉันเศร้าและโกรธ เพราะคนเราไม่ได้ไวหรือเท่าทันต่อความรู้สึกตัวเองขนาดที่จะรู้ว่า เรารู้สึกอะไรบ้าง หรือบ่อเกิดมาจากไหน

ความพิเศษของศิลปะบำบัดอีกอย่างในมุมมองของฐิตารีย์ คือการ ‘เปิดเผย’ ในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่อยากพูดถึง โดยเฉพาะผู้เข้ารับการบำบัดที่มีอาการร้ายแรง เช่น ผู้ป่วยจากอาการเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) มักไม่อยากพูดถึงอดีตที่เต็มไปด้วยบาดแผลหรือความเจ็บปวดบางอย่าง ท้ายที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะให้รูปภาพทำหน้าที่เล่าเรื่องทั้งหมดแทน

“เพราะรูปปิดบังอะไรไม่ได้ สมมติผู้เข้ารับการบำบัดบอกว่าไม่ แต่บางครั้งรูปกับคำพูดของคุณไม่สอดคล้องกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยจังหวะหรือเวลาให้เขาเห็นด้วยตนเอง สุดท้ายความจริงจะปรากฏออกมาเองว่า ความรู้สึกหรือตัวตนเหล่านี้อยู่กับคุณมาตั้งแต่วันแรก แค่รอคอยการปลดปล่อยออกมา

“ภาพหรือศิลปะจึงเป็นตัวที่บอกว่า เบื้องหลังของความรู้สึกหนึ่งมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งมันแสดงออกมาไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ศิลปะ การใช้สี และเส้น สามารถทำให้เห็นอย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม ฐิตารีย์บอกกับเราว่า เธอไม่สามารถตีความรูปภาพโดยปราศจากการพูดคุยได้ แม้จะทำได้มากที่สุดคือการประเมินเบื้องต้นว่า ภาพวาดหมายถึงอะไร แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับผู้เข้าบำบัด ขณะที่รูปภาพเป็นเพียงสื่อกลางในการพูดคุยเพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“การพูดคุยมีความสำคัญมาก เราจะไม่ตีความหรือคิดไปเอง เรายังจะคอยสอบถามกับผู้เข้ารับการบำบัดเองว่า ภาพนี้กำลังจะสื่อถึงอะไร คุณรู้สึกอย่างไร แม้อาจจะคิดไว้เป็นกรอบบ้างว่า ภาพนี้หมายถึงอะไร แต่ให้ดีที่สุดคือ เขาต้องยืนยันสิ่งที่วาดออกมาด้วยตนเองมากกว่า

  “ในอีกแง่หนึ่ง ความรู้ของนักบำบัดเป็นตัวอำนวยความสะดวก ทำให้อีกฝ่ายตอบคำถามได้ง่ายขึ้น สมมติบางคนไม่อยากตอบตรงไปตรงมา เขาก็เลี่ยงเป็นปกติ แต่สำหรับเรา ภาพจะทำให้เราสงสัยบางอย่าง ซึ่งเราก็จะทดไว้ในใจ จนในช่วงท้ายของการทำบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัดก็จะทำงานที่แสดงความคิดของเขาออกมาเอง 

นอกจากความพิเศษและเงื่อนไขของการทำศิลปะบำบัด ฐิตารีย์ยังเน้นว่า ตัวตนของนักบำบัดยังทำหน้าที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเธอนิยามว่า นักบำบัดก็ไม่ต่างจาก ‘เครื่องมือ’ อย่างศิลปะ นั่นจึงจำเป็นมากที่เธอต้องไม่ยึดกับแนวคิดอะไรก็ตาม และพัฒนาตนเองเสมอ เพื่อไล่ตามความคิดของผู้เข้ารับการบำบัดให้เท่าทัน

และที่สำคัญ เธอใช้ข้อเสียในอดีตหรือความเป็นตัวของตัวเองสูง แปรเปลี่ยนเป็นการพัฒนาทักษะทางอาชีพด้วยการ ‘ทำความเข้าใจกับตนเอง’ อย่างมาก เพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกของผู้เข้าบำบัด และพาเขากลับในโลกปกติได้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงของนักจิตบำบัด

“เอาเข้าจริง เราเรียนมาเยอะ แต่ไม่ได้ยึดทฤษฎีหรือแนวทางในการรักษาอะไรเป็นหลัก เรารู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับคน เวลา เรื่องที่เขากำลังจะทำ หรือจังหวะใดจังหวะหนึ่ง เพราะคนที่มาหาเราเขาไม่เหมือนเดิม เขาเปลี่ยนไปโดยไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน หรือแม้แต่ภายในวันเดียวกันก็ไม่ใช่คนเดิมที่เราเจอแล้ว คือถ้าเรายึดเอาตรงนี้ว่า มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เป๊ะ กลายเป็นเราก็จะกรอบตัวเราเอง บางครั้งก็ส่งผลกระทบด้วยการกรอบคนอื่นไปอัตโนมัติ 

“จริงๆ แล้วขอนิยามว่า นักบำบัดใช้สิ่งที่เรียกว่า Authentic หรือปัญญาญาณ มันคือการผสมระหว่างสัญชาตญาณกับความรู้ ซึ่งสำหรับเราก็รู้สึกว่า ตนเองอาจจะมาสายนี้แทบจะค่อนไปทางการใช้สัญชาตญาณด้วยซ้ำ

“จุดเด่นของเราคือการเป็นตัวของตัวเอง แม้ปัจจัยตรงนี้ทำให้เรามีปัญหาในการใช้ชีวิตกับคนอื่น ครอบครัว หรือตนเอง แต่มันก็ส่งผลต่อการเป็นนักบำบัดที่ดีในมุมมองเมย์ เพราะเราทำงานกับตัวเองอยู่ตลอด

“การทำงานกับตัวเอง คือคุณต้องกล้าทำความเข้าใจกับตัวตน ลงไปให้ลึกยิ่งขึ้น ซึ่งเราทำสิ่งนี้มาตลอด และไม่คิดที่จะหยุดทำ เพราะเรามองว่า ยิ่งคุณทำงานกับตัวเองมากแค่ไหน คุณก็สามารถพาคนไข้ของคุณไปได้มากแค่นั้น 

“ทุกวันนี้ ทุกคนอาจจะรู้สึกว่าการพาคนไข้ไปสู่เป้าหมายง่ายมาก มีเรื่องให้ต้องดึงไม่กี่เรื่องหรอก เช่น ครอบครัว ความต้องการ เป้าหมาย การสูญเสีย การเป็นตนเอง หรือการพูดอะไรที่ทำให้คนรู้สึกอินไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้มันง่ายเสมอ แต่มันน่าหงุดหงิด ขอใช้คำนี้เลย เพราะมันมีคำถามตามมาว่า แล้วอย่างไรต่อ คุณไม่รับผิดชอบกับอะไรกับผลที่ตามมาเลยเหรอ คุณต้องพาเขากลับมาด้วยสิ 

“คือคำว่า ‘พากลับ’ มันดูละเอียดอ่อนมาก ไม่ใช่แค่การจบเซสชันแล้วเดินออก แต่เราต้องเคลียร์กันให้หมด แน่นอนมันไม่ได้ทำได้ในคลาสเดียว เราต้องรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องมาร์กไว้ว่า ทำไมต้องทำงานหนัก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า คนไข้บางคนจะสามารถไปได้มากกว่านั้น แล้วถ้าตัวเราไม่พัฒนาเลยล่ะ

“เราเป็นนักบำบัดที่กล้าพูดได้ว่า สิ่งที่คุณเจอ เราผ่านมาหมดแล้ว ถ้าเราไม่ผ่าน เราไม่พาคุณไปถึงตรงนั้นแน่นอน เพราะหากเมย์ไม่มั่นใจมากพอที่จะพาคุณไปขนาดนั้น แล้วเราจะพาคุณกลับมาได้ยังไง 

“แต่ขอหมายเหตุไว้ว่า นี่คือการเรียนรู้ 28 ปีของเมย์ บางเรื่องก็อาจจะไม่สามารถครอบคลุมไปมากกว่านี้ ต้องอาศัยประสบการณ์ การเรียนรู้ และการเติบโตขึ้น อาจบอกได้ว่า สิ่งนี้คือดีที่สุดในวัย 28 ปีแล้วกัน และเราก็รู้ว่า การเดินทางครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด”

 

3

หลังมาถึงสตูดิโอแห่งนี้ และพูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ ผู้เขียนตัดสินใจเริ่มกิจกรรม Private Paint Bar ซึ่งเป็นเซสชันเบื้องต้นสำหรับศิลปะบำบัด ที่เน้นความเป็นส่วนตัวสูง ด้วยการสำรวจตนเองเบื้องต้นผ่านการวาดภาพสีน้ำ 

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยเริ่มจากการวาดรูป 1 ชั่วโมง โดยสามารถวาดอะไรก็ตามที่อยากวาด ก่อนจะเข้าสู่การพูดคุยให้คำปรึกษาอีก 30 นาที และปิดท้ายสรุปภาพรวมทั้งหมดในเซสชัน

สำหรับใครบางคนที่ไม่คุ้นชินกับศิลปะแบบผู้เขียน ในห้วงเวลาที่หยิบสีน้ำและอุปกรณ์เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน จึงเต็มไปด้วยความประหม่าอยู่ไม่น้อย ทั้งกลัวว่าภาพจะไม่สวย และไม่รู้จะวาดอะไร แต่แล้วช่วงเวลาเหล่านั้นก็ผ่านพ้นไป รู้ตัวอีกที เราก็นั่งอยู่หน้ากระดานวาดรูปขนาดใหญ่ และสวมผ้ากันเปื้อนเป็นที่เรียบร้อย โดยมีนักศิลปะบำบัดสาวนั่งคอยสังเกตการณ์อยู่ด้านหลัง

ผู้เขียนเริ่มลงสีพื้นหลัง โดยใช้สีชมพูพาสเทลนุ่มนวลสลับกับสีบานเย็นสะดุดตา พลางครุ่นคิดว่า จะขอวาดตามอารมณ์และความคิดหน้างานเสียแล้วกัน แต่แล้วไม่นานนัก เสียงในใจก็ตะโกนว่า อยากวาดทะเลกับท้องฟ้ายามเย็น จึงสลับมาใช้สีน้ำเย็นและสีฟ้า และวาดดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่โต ก่อนจะรู้สึกหงุดหงิดไม่น้อยที่นึกไม่ออกมาเสียทีว่า ตนเองกำลังจะทำอะไรกันแน่ จนถอนหายใจเบาๆ อย่างไม่รู้ตัว ทำให้ฐิตารีย์ทักขึ้นมาเล็กน้อย

ด้วยสัญชาตญาณบางอย่าง ผู้เขียนจึงลุกขึ้นมาหยิบสีเขียวเพิ่ม และปาดละเลงบนแผ่นกระดานสีขาว สลับกับสีส้มที่เปรียบดังสีของท้องฟ้าช่วงผีตากผ้าอ้อม ทว่าสมองก็อื้ออึ้งไปชั่วขณะว่า ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะไม่มีทะเลที่ไหนจะมีพื้นสีเขียวแทรกขึ้นมา 

โชคดีที่นักบำบัดสาวเรียกผู้เขียน และยื่นกล่องอุปกรณ์น่ารัก เพื่อเป็นทางเลือกในการตกแต่ง เราจ้องมองชั่วขณะ จึงตัดสินใจหยิบเจ้าก้อนกลมสีชมพู ส้ม และแดงขึ้นมาติดบนท้องฟ้าอย่างไม่มีสาเหตุ 

แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่า นี่คือผลและใบไม้ของต้นไม้แห่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดไว้ตั้งแต่แรกว่า อยากวาดก่อนมาเยือนที่แห่งนี้ เราค่อยๆ ตัดสินใจวาดลำต้นในช่วงสุดท้าย และแปรเปลี่ยนให้สีเขียวเป็นพื้นดินอุดมสมบูรณ์ด้วยใบหญ้า ก่อนจะค่อยๆ เติมแต่งรายละเอียดจากอุปกรณ์เสริมในกล่องที่ประกอบด้วยลูกปัด กากเพชร รวมถึงไหมพรมก้อนเล็ก คือ เฉดสีของพระอาทิตย์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสีแดงตามอุดมคติ พร้อมทั้งดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นบนหญ้าเพื่อรอการเติบโตใหม่

แม้ว่าการวาดภาพครั้งนี้เสร็จก่อนกำหนด แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้เขียนมีเวลาในการพูดคุยมากขึ้นเพื่อสำรวจตนเอง โดยนักศิลปะบำบัดสาวเริ่มจากถามไถ่ภาพวาดและให้เปรียบเทียบกับบางอย่างในชีวิต ก่อนลงรายละเอียดไปถึงเบื้องลึกของจิตใจ ซึ่งก็ค้นพบว่า คนธรรมดาอย่างผู้เขียนที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ก็มีความเครียดจากการทำงานและสภาพแวดล้อมรอบข้างอยู่ไม่น้อยทีเดียว

“คิดว่า ตนเองเป็น Perfectionist ไหม”

นี่คือหนึ่งในคำถามจากนักบำบัดสาว ที่ทำให้รู้สึกตกใจไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้เราเชื่อว่า คนที่รักความสมบูรณ์แบบคือคนละเอียดลออ และแม่นยำในทุกรายละเอียด ซึ่งห่างไกลกับตัวผู้เขียนมากโข แต่นักบำบัดสาวก็อธิบายแบบสั้นว่า กลุ่ม Perfectionist คือคนที่มีมาตรฐานสูง หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็มักจะไม่พอใจและผิดหวังในตนเอง ซึ่งนั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นปัญหาที่ผู้เขียนกำลังเผชิญอยู่ในการทำงานหลายครั้ง

“จริงๆ แล้วการใช้สัญชาตญาณผิดไหม” 

เมื่อพูดคุยกันไปเรื่อยๆ จนถึงวินาทีสุดท้าย เราตัดสินใจคำถามนี้ทิ้งท้ายกับนักบำบัดที่อยู่เบื้องหน้า ทั้งเพราะฐิตารีย์กล่าวถึงเรื่องนี้ในชีวิตการทำงานของเธอ ประกอบกับความอยากรู้ส่วนตัวของผู้เขียนเอง

“ไม่ผิด มันผิดด้วยเหรอ (หัวเราะ) คือเราคิดว่า ต้องใช้มันอย่างเหมาะสม ต้องใช้สัญชาตญาณกับความรู้ที่สนับสนุนข้างหลัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราใช้มันอย่างถูกที่ถูกเวลาไหม เพราะบางอย่างใช้ความคิดก็ดีแล้ว อย่าไปใช้อย่างอื่นเลย (หัวเราะ) 

“คำถามสำคัญคือคุณเลือกแล้วรู้สึกพอใจไหม สุดท้ายเราชอบถามคำถามนี้ทิ้งท้าย ซึ่งถ้าคุณพอใจก็จบสิ จะไปคิดอะไรเยอะ แม้บางทีความคิดอาจจะเป็นตัวฉุดรั้งความพอใจของคุณ แต่ถ้าพอใจก็คือพอใจสิ แล้วคอยไปรับผลความพอใจของคุณ คือคิดง่ายๆ ว่า สิ่งที่ต้องแก้คือเรื่องความพอใจเท่านั้น เพราะเรามักจะโทษตัวเองว่า ฉันไม่น่าทำแบบนี้เลย แม้สุดท้ายฉันเลือกไปแล้ว ผลลัพธ์ไม่โอเค แต่สุดท้ายอย่างน้อยเราก็ได้ความพอใจ

“บางเรื่องเราต้องใช้ความคิดสลับกับจิตใจบ้าง หรือบางครั้งใช้อารมณ์ได้เลย ไม่ต้องกั๊กมันไว้ ปลดปล่อยมันออกมา มันไม่มีอะไรต้องสำคัญทุกเวลา มันจะสำคัญต่อเมื่อคุณเลือกจะใช้มันอย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนมาก” นักบำบัดสาวทิ้งท้ายคำตอบ ที่ทำให้ผู้เขียนไม่รู้สึก ‘เสียดาย’ ในการเลือกตัดสินใจบางอย่างอีกต่อไป

แน่นอนว่า ผู้เขียนไม่สามารถเขียนรายละเอียดของการพูดคุยในเซสชันนี้ทั้งหมดได้ แต่ศิลปะบำบัดครั้งนี้ทำให้รู้ซึ้งถึงอะไรมากมาย ทั้งความเครียดหรือแรงกดดันของตนเองที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน ตามมาด้วยวิธีการแก้ไขปัญหา หรือการปรับมุมมองเพื่อมองโลกในอีกด้านหนึ่ง ไปจนถึง ‘รากเหง้าของตัวตน’ ตั้งแต่วัยเด็ก ที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นคนคนหนึ่งในแบบทุกวันนี้

ในอีกแง่หนึ่ง ศิลปะบำบัดจึงเปรียบเสมือนการย้อนหวนกลับมาฟัง ‘เสียงในใจ’ ของตนเอง เพราะหลายครั้ง หน้าที่การงาน สังคม และวุฒิภาวะที่เติบโตตามวัย ทำให้เราแสดงออกเบื้องลึกทางจิตใจไม่ได้มากนัก จนเมื่อถึงเวลาจวนตัวกลับกลายเป็นว่า หลายครั้งปัญหาเล็กน้อยลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่หลวง ก่อนจะรอในวันระเบิดปะทุครั้งใหญ่ จนกระทบกับคนรอบตัวหรือแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ตาม

Fact Box

  • ฐิตารีย์จบการศึกษาจาก สาขาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกียรตินิยมอันดับ 1 และ Certificate in Clinical Art Therapy, International Program of Art Therapy Thailand (IPATT) Canadian International Institute of Art Therapy
  • T.REST ART THERAPY STUDIO มีกิจกรรมศิลปะบำบัด 2 รูปแบบ ได้แก่ Private Workshop (Paint Bar, Self-Gifting, Re•tie) และ Individual Art Therapy Session 
  • Private Workshop เน้นการสำรวจและทำความเข้าใจตนเองในประเด็นต่างๆ เหมาะสำหรับผู้มาทดลอง หรืออยากเปิดประสบการณ์ทำศิลปะบำบัด โดยเน้นการทำแบบ 1:1 หรือ 2:1 ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ซึ่งฐิตารีย์เชื่อว่า การได้อยู่และให้เวลากับตัวเองโดยปราศจากคนอื่น จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • Individual Art Therapy Session เน้นการทำงานกับปัญหา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความคิด อารมณ์ความรู้สึกและตัวตนในเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยเป็นการทำกิจกรรมแบบ 1:1 อย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาไม่จำกัดขึ้นอยู่กับปัญหา หรือความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้เข้าร่วม
  • T.REST ART THERAPY STUDIO ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญนคร แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 https://maps.app.goo.gl/Co3G7p6ux6y4gqNCA

Tags: , , , , , , , , , ,