เศรษฐศาสตร์คือหนึ่งในศาสตร์ที่ศึกษาการตัดสินใจของมนุษย์

ภายใต้สภาวะการณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคจะตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์ปุถุชนทุกคนเป็นเศรษฐมนุษย์ (Homo Economicus) ที่จะพิจารณาทุกตัวเลือกอย่างถี่ถ้วน และตัดสินใจเลือกทางที่สร้างความพึงพอใจสูงที่สุดให้กับตนเอง ดังนั้น ยิ่งตัวเลือกมาก ก็ยิ่งดีต่อเหล่าเศรษฐมนุษย์

ในความเป็นจริง เราคงไม่มีเวลาหาข้อมูลมาพิจารณาทุกทางเลือกอย่างถี่ถ้วน เช่นการซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เศรษฐมนุษย์อาจใช้เวลาค่อนวันกับการเลือกซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่ม เพราะต้องพิจารณากลิ่น องค์ประกอบทางเคมี และราคา ส่วนเราๆ ท่านๆ คงหยิบกลิ่นที่ใช้ประจำ หรือแบรนด์ที่กำลังลดราคาและเดินผ่านไปมองหาสินค้าอื่นอย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจยากๆ เช่น การวางแผนการเงิน หรือสัดส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน ที่การตัดสินใจในวันนี้อาจทำให้ชีวิตหลังเกษียณเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มนุษย์ปุถุชนจะตัดสินใจอย่างไร?

คำตอบที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมค้นพบก็คือ การตัดสินใจดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการเลือกซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มสักเท่าไร เพราะผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นอยู่ไกลแสนไกลจนเราไม่ค่อยใส่ใจมากเท่าที่ควร

ข้อค้นพบที่สั่นสะเทือนวงการเศรษฐศาสตร์และเป็นที่ยอมรับเมื่อไม่นานมานี้คือ “มนุษย์ทั่วๆ ไปมีขอบเขตการใช้เหตุผลที่จำกัด (bounded rationality)” ประมาณว่าก็คิดนะไม่ใช่เลือกมั่วๆ แต่ถ้ามันยากมากก็ยอมแพ้ดีกว่า จึงเป็นที่มาของการศึกษาเรื่องทางเลือกตั้งต้น (Default Option) พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านใหม่ที่เรียกชื่อสุดเท่ว่าสถาปนิกทางเลือก (Choice Architect) ฮีโร่ที่จะมาช่วยให้เหล่ามนุษย์ขี้เกียจไม่ต้องทนทุกข์จากการเลือก (อย่างมักง่าย) ของตัวเอง

พลังของทางเลือกตั้งต้น

หากใครนึกภาพไม่ออกว่าทางเลือกตั้งต้นคืออะไร ลองจินตนาการถึงวันแรกที่ซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่นะครับ

ทางเลือกตั้งต้นคือการตั้งค่าระบบจากโรงงาน เหมือนเป็นการตั้งค่าแนะนำสำหรับผู้ใช้กลางๆ โดยมีแอปพลิเคชันพื้นฐาน อย่างบราวเซอร์ อีเมล ปฏิทิน และระบบข้อความ เพื่อให้ประสบการณ์การใช้งานไม่ลำบากยากเย็นเกินไปนักสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ค่าตั้งต้นทำให้เราสามารถเปิดโทรศัพท์มือถือ ใส่ซิมการ์ด แล้วใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานได้เลย ส่วนใครอยากได้ฟังก์ชันอะไรเพิ่ม ก็ไปสรรหามาใส่ตามสะดวก

อีกตัวอย่างของค่าตั้งต้นที่น่าจะทำให้เห็นภาพชัด คือการดาวน์โหลดโปรแกรมใหม่มาลงในเครื่อง ที่ขณะลงจะมีตัวเลือกว่าตั้งค่าตามคำแนะนำ หรือปรับแต่งตามความต้องการ ซึ่งสำหรับผู้บริโภคทั่วๆ ไปอย่างเราๆ ท่านๆ คงไม่อยากไปยุ่มย่ามกับการตั้งค่าเหล่านี้สักเท่าไร และมักเลือกลงโปรแกรมโดยเลือกแบบตามคำแนะนำ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการตั้งค่าดังกล่าวจริงๆ แล้วมีหน้าตาเป็นอย่างไร

หากสรุปง่ายๆ ทางเลือกตั้งต้นก็คือทางเลือกที่ระบบออกแบบไว้ให้เราโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมนั่นเอง

ทางเลือกตั้งต้น คือทางเลือกยอดนิยมของมนุษย์ปุถุชน อาจด้วยเหตุผลเพราะขี้เกียจเลือก กลัวไปปรับแต่งยุ่มย่ามมากแล้วจะพัง และอาจไม่ได้สนใจใส่ใจที่จะเข้าไปศึกษาแก้ไข แต่ทางเลือกตั้งต้นดีกับผู้เลือกและสังคมจริงๆ หรือ?

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่น่าตื่นตะลึง ว่าด้วยการปรินท์เอกสารของหน่วยกระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐอเมริกา ที่สามารถประหยัดงบประมาณ 573,000 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยการเปลี่ยนค่าตั้งต้นของการสั่งปรินท์ให้เป็นการพิมพ์แบบหน้า-หลัง การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ส่งผลอย่างมหาศาลซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ปุถุชนนั้นขี้เกียจขนาดไหน!

กระทั่งการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุ 401(k) ของสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอัตราการเข้าร่วมแบบต่ำเตี้ยเรี่ยดิน กระทั่งมีการแก้กฎหมายให้บริษัทสามารถมีนโยบายให้ลูกจ้างทุกคนเข้าร่วมการเก็บออมเพื่อเกษียณอายุ 401(k) แบบอัตโนมัติที่อัตราร้อยละ 3 จากเงินเดือน โดยที่ลูกจ้างสามารถมาแจ้งความต้องการออกจากแผนดังกล่าว หรือปรับสัดส่วนการออมได้ในภายหลัง ตัวอย่างบริษัทหนึ่งซึ่งใช้การเข้าร่วมเก็บออมแบบอัตโนมัติพบว่ามีอัตราการเข้าร่วมของพนักงานเพิ่มจากราวร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 90 ในชั่วพริบตา

ระบบการเข้าร่วมกองทุนเกษียณอายุ 401(k) แบบอัตโนมัติทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กราฟข้างต้นเปรียบเทียบจำนวนผู้เข้าร่วมระหว่างกลุ่มพนักงานเก่าที่ต้องสมัครเข้าร่วมด้วยตนเอง กับกลุ่มพนักงานใหม่ที่บริษัทจะให้เข้าร่วมโดยอัตโนมัติ จะเห็นว่า 4 ปีต่อมา อัตราการเข้าร่วมก็ไม่มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด ภาพจาก propublica.org

 

แต่สถาปนิกทางเลือกไม่ได้หยุดแค่นี้นะครับ เพราะจะเห็นว่าค่าตั้งต้นของเงินสมทบที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือนอาจจะต่ำไปสักหน่อย จึงเกิดเป็นโครงการออมเพิ่มในวันพรุ่งนี้ (Save More Tomorrow) ที่สัดส่วนของเงินสมทบจะค่อยๆ เพิ่มปีละ 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์จนไปชนเพดานที่ร้อยละ 15 ของเงินเดือน นอกจากนี้ อีกหนึ่งค่าตั้งต้นที่คนมักหลงลืมคือทางเลือกในการลงทุน ซึ่งกองทุนฯ มักจะเลือกการจัดพอร์ตฟอร์ลิโอที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดหากพนักงานไม่สามารถตัดสินใจได้ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ไม่เหมาะนักหากพนักงานยังอายุน้อย ต้องการผลตอบแทนสูง และรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก สถาปนิกทางเลือกจึงจัดพอร์ตฟอร์ลิโอเฉพาะกิจ (ซึ่งคิดว่าดีที่สุด) เป็นทางเลือกตั้งต้น ซึ่งพนักงานสามารถปรับเปลี่ยนทีหลังได้

เป้าหมายสูงสุดของสถาปนิกทางเลือกคือต้องการให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะเฉื่อยเนือยที่จะจัดการชีวิตของตัวเอง หากเรามองไปในชีวิตประจำวัน จะเห็น ‘ค่าตั้งต้น’ จำนวนมากที่หากขยับนิดหน่อยก็อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง ตั้งแต่การตั้งค่าปรินท์เตอร์ การรับถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ การเลือกรับประทานอาหาร ไปจนถึงการตั้งค่าการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ

อย่างไรก็ดี การจัดการค่าตั้งต้นที่เปลี่ยนจากสมัครใจเข้า (Opt-in) เป็นสมัครใจออก (Opt-out) หรือการปรับแต่งตัวเลือกตั้งต้นตามที่ผู้ออกแบบคิดว่า ‘ดีที่สุด’ อาจจะดูเผด็จการหน่อยๆ ซึ่งหนึ่งในเจ้าสำนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) เองก็ยังตั้งชื่อการปรับแต่งทางเลือกเป็นหนึ่งในแนวคิดเสรีนิยมแบบคุณพ่อรู้ดี (Libertarian Paternalism) ซึ่งก็เหมือนกับทุกแนวคิดคือมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน

ปรับแต่งทางเลือก = เสรีนิยมแบบพ่อรู้ดี แล้วมันดีจริงๆ หรือ?

เสรีนิยมแบบคุณพ่อรู้ดี อาจจะเป็นคำที่ดูย้อนแย้งสิ้นดี เพราะครึ่งหนึ่งดูจะเปิดโอกาสให้เลือกอย่างเสรี แต่ในอีกครึ่งหนึ่งกลับถูกกำกับดูแลโดย ‘คุณพ่อรู้ดี’ แต่หากเข้าใจกระบวนการคิดของสถาปนิกทางเลือก คำดังกล่าวดูจะอธิบายการปรับแต่งทางเลือกได้อย่างดียิ่ง กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก แต่ถ้าหากไม่ยอมเลือก คุณพ่อรู้ดีจะเป็นผู้คอยกำกับดูแลทางเลือกเหล่านั้นให้

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการเปลี่ยนคำขอบริจาคอวัยวะจากสมัครใจเข้า (Opt-in) เป็นสมัครใจออก (Opt-out) ของหลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น เบลเยียม และออสเตรีย รวมถึงอาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาถกเถียงในประเทศไทยหลังจากที่ข่าวเรื่องอังกฤษเตรียมใช้กฎหมายใหม่ ทุกคนเป็นผู้บริจาคอวัยวะโดยอัตโนมัติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

แรกเริ่มเดิมที ประเทศส่วนใหญ่จะใช้ระบบสมัครใจเข้า (Opt-in) เช่น การเดินทางไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะ หรือโรงพยาบาลเพื่อเซ็นยินยอมที่จะบริจาคอวัยวะหากเสียชีวิต ในกรณีนี้ ทางเลือกตั้งต้นของพวกเขาคือ “ไม่บริจาค” ก่อนที่บางประเทศจะการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสมัครใจออก (Opt-out) โดยกฎหมายจะตั้งสมมติฐานว่าทุกคนยินดีที่จะบริจาคอวัยวะ เว้นแต่ว่าจะส่งจดหมาย หรือกรอกแบบฟอร์มแจ้งว่าไม่ต้องการบริจาค

ในโลกของเศรษฐมนุษย์ การใช้ระบบไหนก็ควรมีจำนวนผู้เข้าร่วมใกล้เคียงกัน แต่ในโลกมนุษย์ปุถุชนนั้น ประเทศซึ่งใช้ระบบสมัครใจออกมีจำนวนผู้บริจาคและจำนวนการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่สำเร็จ สูงกว่าประเทศที่ใช้ระบบสมัครใจเข้าราว 2 เท่า โดยประเทศออสเตรียมีผู้สมัครใจบริจาคอวัยวะสูงถึงร้อยละ 99.8

ประเด็นข้างต้นไม่ได้ร้อนแรงแค่ในประเทศไทย แต่ในหลายๆ ประเทศ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่างก็ตั้งคำถามว่ารัฐมีสิทธิอะไรในการตั้งสมมติฐานว่าเราอยากจัดการกับอวัยวะของตัวเองอย่างไรหลังจากเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้คำตอบกลับไปว่า ทุกคนมีช่องทางและสิทธิที่จะปฏิเสธการบริจาคอยู่แล้ว และการตั้งสมมติฐานในลักษณะนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

การปรับแต่งค่าตั้งต้นหากมีจุดประสงค์ดีก็ดีไป แต่หลายครั้งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดโดยที่เราอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เช่น ค่าตั้งต้นในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราเมื่อสมัครผลิตภัณฑ์กับธนาคารเพื่อหวังจะขายสินค้าอื่นๆ ซึ่งเราอาจเซ็นยินยอมไปโดยไม่รู้ตัว การต่ออายุสมาชิกอัตโนมัติของข้อความขยะในโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน หรือนิตยสารที่หักเงินเราไปโดยที่เราอาจไม่ได้ใช้บริการ เรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับจริยธรรมของนักออกแบบทางเลือกล้วนๆ

รู้แบบนี้แล้ว ลองสำรวจในชีวิตประจำวันของเรากันดูนะครับ ว่ากิจกรรมหรือพฤติกรรมไหนที่ควรปรับเปลี่ยน และจะมีระบบอัตโนมัติอะไรบ้างที่สามารถอำนวยความสะดวกให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างอัตโนมัติ แล้วอย่าลืมไปค้นๆ ดูนะครับว่าการตัดสินใจในระยะยาวของเรา เช่น การวางแผนเกษียณในอดีตกาล ยังคงเมคเซนส์อยู่หรือเปล่า

รู้ครับว่าขี้เกียจ เพราะผมเองก็ขี้เกียจเหมือนกัน แต่บางเรื่องก็ต้องกัดฟันเพื่อความสบายในอนาคตนะครับ!

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Don’t Underrate the Power of the Default Option

Opting in vs. Opting Out

Set It and Forget It: How Default Settings Rule the World

Choice Architecture

Nudge: Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness

 

Fact Box

ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงใช้ระบบสมัครใจเข้า (Opt-in) สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคอวัยวะ แต่ในรัฐอิลลินอยส์ มีกลไกที่น่าสนใจคือ ‘การบังคับให้เลือก (Mandatory Choices)’ โดยทุกคนที่ไปต่ออายุใบขับขี่จะต้องตอบคำถามภาคบังคับว่า “คุณต้องการเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่” แนวทางดังกล่าวก็ยังสอดคล้องกับระบบสมัครใจเข้า เพียงแต่มีช่องทางบังคับให้ตัดสินใจ นโยบายดังกล่าวทำให้อัตราผู้บริจาคอวัยวะของรัฐอิลลินอยส์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศราวร้อยละ 55

Tags: , , , , , ,