ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่มีการพูดถึงกันมากในสหรัฐอเมริกาก็คือกรณีที่นักเรียนชายคนหนึ่งยืนจ้องหน้าชายชราอเมริกันพื้นเมือง ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดตามมาสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมอเมริกัน ทั้งพื้นเมืองอเมริกัน คนผิวขาว และแอฟริกันอเมริกัน คนแก่ คนหนุ่ม และผู้ใหญ่วัยกลางคน รวมทั้งความคิดทางการเมืองระหว่างฝ่ายเดโมแครตกับรีพับลิกัน

เริ่มจากเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม มีคลิปวิดีโอสั้นๆบรรยายว่า กลุ่มนักเรียนมัธยมชายเกรด 11 กำลังคุกคามผู้สูงวัยซึ่งเป็นคนอเมริกันพื้นเมือง คลิปนี้แพร่กระจายไปทั้วโลกออนไลน์

เด็กหนุ่มที่ยืนยิ้มประจันหน้าใส่คนตีกลอง คือ นิค แซนด์แมนน์ (Nick Sandmann) นักเรียนมัธยมจากโรงเรียนโควิงตัน คาทอลิก (Covington Catholic) ซึ่งสวมหมวกที่เขียนว่า “Make America Great Again” (MAGA) เขายืนประจันหน้ากับ นาธาน ฟิลลิปส์ (Nathan Phillips) ชาวอเมริกันพื้นเมืองวัย 64 ปีซึ่งกำลังตีกลองอยู่ที่อนุสาวรีย์ลินคอล์น กรุงวอชิงตัน ดีซี รอบๆ เป็นเด็กผู้ชายคนอื่นที่สวมหมวกแบบเดียวกันยืนหัวเราะ จ้องมอง และดูเหมือนจะทำให้ฟิลลิปส์กลายเป็นตัวตลก ข้อมูลที่มากับคลิปบรรยายว่า ฟิลลิปส์และเพื่อนๆ มาเดินขบวน Indigenous Peoples March และได้เสียงคนตะโกนมาจากกลุ่มวัยรุ่นว่า “Build the wall” ซึ่งหมายถึงการสร้างกำแพงปิดกั้นคนต่างถิ่น

คลิปที่ฉายให้เห็นท่าทีของนักเรียนกลุ่มนี้ ทำให้แซนด์แมนน์ถูกประณามอย่างรุนแรงว่าเหยียดเชื้อชาติและไม่เคารพผู้อาวุโส โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต ทั้งจากสื่อต่างๆ สมาชิกวุฒิสภา ประชาชนทั่วไป

ช่วงสุดสัปดาห์ พ่อแม่ของนิค แซนด์แมนน์ในเคนตั๊กกี้จึงรีบว่าจ้างบริษัทพีอาร์ชื่อ RunSwitch PR ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการในภาวะวิกฤตเพื่อมากอบกู้สถานการณ์ให้กับลูกชาย บริษัทนี้เชี่ยวชาญด้านการจัดการปัญหาในภาวะวิกฤต จนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม ก็มีแถลงการณ์ยาว 3 หน้าเผยแพร่ออกมา แม้จะลงชื่อแซนด์แมนน์ แต่จากเนื้อหา ก็เชื่อได้ว่าเป็นผลงานของบริษัทพีอาร์

เนื้อหาของแถลงการณ์บรรยายว่า นาธาน ฟิลลิปส์ ชาวอเมริกันพื้นเมือง เป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาเขาเอง และแซนด์แมนน์ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นแต่อย่างใด

แถลงการณ์นี้ออกมาพร้อมคลิปที่ 2 ซึ่งพลิกเรื่องมาอีกมุมทันที เป็นคลิปที่ถ่ายจากอีกมุมหนึ่งและมีความยาวถึง 1 ชั่วโมง  45 นาที และกลายเป็นว่ามีคนสามกลุ่มอยู่ที่นั่น

ในคลิปนี้จะเห็นว่าแซนด์แมนน์และเพื่อนจากโควิงตันที่ยืนอยู่ตรงนั้น เพื่อรอรถบัสมารับหลังเสร็จจากการเดินขบวนต่อต้านการทำแท้ง ก็กำลังถูกคุกคามจากกลุ่มวัยรุ่นอีกกลุ่มหนี่งคือกลุ่ม Black Hebrew Israelites ที่ยืนอยู่บริเวณนั้น

กลุ่ม Black Hebrew Israelites เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากชาวอิสราเอล และเชื่อว่าคนแอฟริกันอเมริกันเป็นสิ่งที่พระเจ้าเลือกแล้ว พวกเขามองว่าคนขาว ยิว เอเชีย กลุ่ม LGBT ผู้สนับสนุนการทำแท้งเป็นศัตรู ถ้าดูในคลิปวิดีโอที่สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มโพสต์ก็จะเห็นว่า ระหว่างรวมตัวกันที่นั่นพวกเขาพูดจาดูถูกคนอื่นๆ ตลอด

ส่วนฟิลลิปส์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักว่า พยายามเข้าไปสลายความตึงเครียดระหว่างเด็กวัยรุ่นและกลุ่ม Black Hebrew Israelites และเขาก็ยังคงยืนยันว่า ตัวเองและเพื่อนๆ ถูกคุกคามจากการเผชิญหน้ากับนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนขาว และได้ยินข้อความพูดจาดูถูกพวกเขา

ถึงตอนนี้ดูเหมือนเรื่องราวจะเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ผ่านปากคำและมุมกล้องของแต่ละฝ่าย ซึ่งชวนให้สับสน จนมีเสียงทักท้วงให้ระวังการเผยแพร่คลิปไวรัล ที่อาจทำให้เราไม่ทันระวังว่าอาจจะเสนอเหตุการณ์ได้ไม่ครบถ้วน และมาจากมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น

โดยวันจันทร์ที่ 21 มกราคม ก็มีข่าวออกมาว่า ทวิตเตอร์ได้ปิดแอคเคานท์ที่แพร่กระจายคลิปวิดีโอที่มีความยาว 1 นาทีออกไป ด้วยเหตุผลว่าผิดกฎของทวิตเตอร์เรื่องที่เป็นบัญชีปลอมและทำให้เข้าใจผิด

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นพบว่า ผู้ใช้ชื่อ @2020fight เป็นบัญชีของครูคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2016 มีผู้ติดตามมากกว่า 40,000 คน โดยเย็นวันศุกร์ที่เกิดเรื่อง แอคเคาท์นี้โพสต์วิดีโอยาว 1 นาทีที่เป็นภาพการเผชิญหน้ากันระหว่างคนอเมริกันพื้นเมืองกับนักเรียนมัธยมปลาย และเขียนข้อความประกอบว่า ไอ้ขี้แพ้ที่ใส่หมวก MAGA กวนผู้ประท้วงอเมริกันพื้นเมือง วิดีโอนี้มีผู้ชม 2.5 ล้านครั้ง มีผู้รีทวีต 14,400 ครั้ง ก่อนหน้านี้ คลิปนี้ถูกโพสต์ทางอินสตาแกรมจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่คำบรรยายของ @2020fight เป็นตัวจุดประเด็นข่าว

ทรัมป์เองก็กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยและมาพร้อมกับวาทกรรมข่าวปลอม เขายืนข้างแซนด์แมนน์เต็มที่ และทวีตข้อความเมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคมว่าเรื่องราวนี้เป็นสัญลักษณ์ของข่าวปลอม และทำให้เห็นว่าปีศาจทำอะไรได้บ้าง

 

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายวัน แม้จะออกแถลงการณ์ที่จัดทำโดยบริษัทพีอาร์ออกมาแล้ว แต่แซนด์แมนน์เพิ่งออกมาพูดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม ในรายการทูเดย์โชว์ เขาบอกว่า ตัวเองและเพื่อนๆ ไม่ได้เหยียดเชื้อชาติ และถูกเข้าใจผิดจากคลิปวิดีโอ นอกจากนี้ เขายังไม่คิดว่าต้องขอโทษใคร และมีสิทธิที่จะทำแบบนี้ เขาเคารพฟิลลิปส์และอยากจะคุยด้วย

วันรุ่งขึ้นฟิลลิปส์ก็ออกรายการเดียวกัน โดยบอกว่า เขารู้สึกว่าแซนด์แมนน์ออกมาพูดอย่างไม่จริงใจ เขารู้ว่าการแสดงออกของแซนด์แมนน์มาจากการกำกับและถูกเขียนขึ้นโดยบริษัทพีอาร์  เขาบอกว่า “ไม่จริงใจ และขาดความรับผิดชอบ” อย่างไรก็ตาม หลังจากสวดภาวนา เขาก็ให้อภัยแซนด์แมนน์และนักเรียนคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดบทสนทนาหลากหลายตามมา โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ว่า ทั้งคลิปและปฏิกิริยาทั้งหมด ทั้งผู้อยู่ในเหตุการณ์และผู้ชม สะท้อนสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี โดยชี้ให้เห็นว่า คลิปเล็กๆ นี้เป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งระดับชาติ ที่การเหยียดเชื้อชาติหยั่งลึกมานาน เรื่องเล่าจากหลายมุม การรีบด่วนตัดสิน และพร้อมส่งต่อคลิปทันทีจากอคติทางการเมืองของตัวเองโดยไม่ทันตรวจสอบ

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , , ,