ในวาระที่เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับเดือนเมษายนนี้ ทำประเด็นเรื่อง ‘การเหยียดเชื้อชาติ’  ซูซาน โกลด์เบิร์ก บรรณาธิการเนชั่นแนลจีโอกราฟิก นิตยสารชื่อดังที่ตอนนี้แปลเป็น 43 ภาษาและขายใน 172 ประเทศทั่วโลก พาดหัวบทบรรณาธิการของเธอว่า “กว่าทศวรรษ รายงานของเราเหยียดเชื้อชาติ จะก้าวผ่านอดีตนี้ไปได้ เราต้องยอมรับมันเสียก่อน”

โกลด์เบิร์กเป็นบรรณาธิการคนที่ 10 ของนิตยสารซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1888 นี้ เธอเป็นบรรณาธิการหญิงคนแรกและเป็นบรรณาธิการที่มีเชื้อสายยิวคนแรกด้วย เธอเล่าว่ากองบรรณาธิการตัดสินใจสำรวจประวัติศาสตร์ของตัวนิตยสารเอง ก่อนจะไปไกลถึงการสำรวจในที่อื่นๆ โดยได้ขอให้ จอห์น เอ็ดวิน เมสัน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แอฟริกาและประวัติศาสตร์การถ่ายภาพจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย มาศึกษาเนื้อหานิตยสารที่ตีพิมพ์มาร่วม 130 ปีนี้ ก่อนจะได้ข้อค้นพบว่า ที่ผ่านมา นิตยสารนั้นเหยียดเชื้อชาติอย่างไรผ่านเนื้อหาตัวหนังสือหรือภาพถ่ายอันเลื่องชื่อ

เมสันพบว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา เนชั่นแนลจีโอกราฟิกละเลยการนำเสนอเรื่องคนผิวสีที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ถ้าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นกรรมการหรือคนทำงานบ้าน ขณะที่ภาพ ‘คนพื้นเมือง’ ในที่ต่างๆ จะเป็นพวกเอ็กโซติกส์ หรือไม่ก็คนดัง พวกที่ไม่ค่อยใส่เสื้อผ้า นักล่าที่มีความสุข คนป่าผู้สูงส่ง ประเภทที่เห็นกันจนเฝือแล้ว

เมสันชี้ว่า คนอเมริกันมีมุมมองเกี่ยวกับโลกผ่านหนังอย่างทาร์ซานและภาพล้อเลียนเหยียดเชื้อชาติที่หยาบๆ คายๆ ส่วนเนชั่นแนลจีโอกราฟิกไม่ได้กำลังสอนอะไรมากไปกว่าการตอกย้ำสารที่ว่านั้นผ่านอำนาจล้นเหลือของนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟิกอยู่ในจุดสูงสุดของลัทธิล่าอาณานิคม ที่โลกแบ่งออกเป็นเจ้าอาณานิคมและผู้อยู่ใต้อาณานิคม และเนชั่นแนลจีโอกราฟิกก็กำลังสะท้อนมุมมองนั้น

นอกจากดูสิ่งที่ถูกรายงานแล้ว เมสันยังดูถึงสิ่งที่ไม่ถูกรายงานด้วย เช่น ในรายงานปี 1962 เกี่ยวกับแอฟริกาใต้ ไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์ช็อกโลกอย่างการสังหารหมู่คนดำชาวแอฟริกาใต้ 69 รายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่นิตยสารฉบับนั้นตีพิมพ์หลังเหตุการณ์จบไปสองปีกว่า เขาชี้ว่าเรื่องของคนดำมักมีแต่เรื่องของคนที่เต้นแบบเอ็กซอติกส์ ทาส หรือกรรมกร

แพทเทิร์นที่เมสันเห็นอีกอย่างก็คือ ภาพสาวผิวสีเปลือยอก กับคนพื้นเมืองที่ตื่นตาตื่นใจไปกับเทคโนโลยีของชาวตะวันตก

เมสันบอกว่า ถ้าเขากำลังสอนเกี่ยวกับช่วงเวลาหลังทศวรรษ 1960s ก็คงจะเตือนให้เหล่านักศึกษาคิดให้รอบคอบขึ้นถึงสิ่งที่กำลังศึกษา เพราะแม้เนชั่นแนลจีโอกราฟิกจะช่วยให้เราได้เห็นโลกที่ไม่เคยเห็น แต่ก็เป็นไปได้ที่มันจะเปิดตาคนอ่านพร้อมกับปิดตาไปด้วย

กระแสการสำรวจตัวเองไม่ได้มีแค่เนชั่นแนลจีโอกราฟิกเท่านั้น ไม่กี่วันก่อน เดอะนิวยอร์กไทมส์ หนังสือพิมพ์สัญชาติอเมริกัน เพิ่งเปิดเซกชั่นใหม่ที่ชื่อว่า ‘Overlooked’ (คนที่ถูกมองข้าม) ในส่วนของข่าวมรณกรรม (obituary) เพื่อเขียนถึงผู้หญิงและคนอื่นๆ ที่ที่ผ่านมาถูกละเลยไป

วิลเลียม แมคโดนัลด์ บ.ก.โต๊ะข่าวมรณกรรม อธิบายสาเหตุที่ทำให้ที่ผ่านมาข่าวมรณกรรมมีแต่เรื่องของผู้ชายคนขาวว่า นอกจากอคติโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หรือเพราะไม่ทราบข่าวการเสียชีวิตแล้ว บ.ก. เองก็ไม่ได้ให้ความสนใจพอ หรือสนแล้วแต่ไม่มีนักข่าวไปทำ ทั้งยังเป็นไปได้ว่าความสำคัญของผู้ตายไม่ถูกจดจำจนกระทั่งคนคนนั้นตายมาหลายสิบปี รวมถึงบรรทัดฐานในการคัดสรรของ นสพ.ในแต่ละยุคว่าจะเขียนถึงใคร ก็อาจให้ความสำคัญไม่เท่ากันแล้ว ยังมีเรื่องที่ในอดีตคนที่มีบทบาทหรือได้กุมอำนาจในสังคมก็คือ ผู้ชายและคนขาว ขณะที่ผู้หญิง หรือคนผิวสี อาจไม่ได้โอกาสในการทำให้ตัวเองเป็นที่จดจำในช่วงเวลาที่พวกเขามีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะจากแวดวงวิชาการ ธุรกิจ หรือการเมือง

“โต๊ะข่าวมรณกรรมทำข่าวของอดีต ไม่ใช่ปัจจุบัน” แมคโดนัลด์อธิบายและว่า มันเป็นการพูดถึงสิ่งที่เกิดในช่วง 1975 หรือเก่ากว่านั้น “สะท้อนสิ่งที่โลกเคยเป็น ไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นอยู่ และไม่ใช่อย่างที่เราอยากจะให้มันเป็น”

หมายเหตุ: แปลความคำว่า คนผิวสี-คนดำ ตามต้นฉบับ

 

 

เรียบเรียงจาก:

Tags: , , , , , ,