“อนาคตได้มาถึงแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เห็นมัน”
คำกล่าวนี้ของนักเขียนแนว sci-fi ชาวแคนาเดียนอเมริกัน William Gibson ผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ไซเบอร์สเปซ’ และนวนิยายแนวไซเบอร์พังก์ สะท้อนถึงความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างยิ่ง
เทคโนโลยีที่ล้วนเป็น hype หรือกระแสทั้งหลาย ตั้งแต่ AI, machine learning, blockchain หรือ Augmented/Virtual Reality ไม่ว่าเราจะรับรู้เรื่องราวมากผ่านสื่อและฟีดต่างๆ มากแค่ไหน ก็ยังมีแค่บางกลุ่มคนบนโลกใบนี้เท่านั้น ที่ได้รับผลประโยชน์จากมัน
เราอาจไม่ต้องคิดไปไกลถึงเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเหล่านั้น หากย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอบริษัทแอปเปิ้ลได้เปิดตัว ‘ไอโฟน’ ซึ่งถือว่าเป็นสมาร์ตโฟนที่ล้ำหน้าที่สุดในยุคนั้น จนถึงปัจจุบัน สิบปีผ่านไป มีแอปพลิเคชันและบริษัทมากมายที่เติบโตขึ้น มีบริการใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก บริการด้านการเงิน จนถึงบริการ on-demand สมาร์ตโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนตั้งแต่ตื่นนอน ออกไปทำงาน เป็นเพื่อนเราตอนกลับบ้าน จนกระทั่งส่งเราเข้านอนในช่วงค่ำ
ความสะดวกสบายเหล่านี้ที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานอย่างเครือข่ายโทรศัพท์ 3G/4G หรืออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เหล่านี้ แทบจะกลายเป็นสิ่งพื้นฐานเหมือนน้ำประปาและไฟฟ้าสำหรับคนจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือคนที่ใช้ชีวิตแบบนี้และเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วได้ มีเพียง 2 ใน 3 ของโลกใบนี้เท่านั้น ขณะที่คนอีกประมาณ 2.5 พันล้าน ไม่ได้มีโอกาสที่ว่า ประชากรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองในทวีปเอเชียและแอฟริกา
แล้วคนเหล่านี้เขาอยู่กันอย่างไร มีวิธีการอื่นใดเป็นตัวช่วยให้พวกเขาเข้าถึงบริการ ข้อมูลข่าวสาร หรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่เทคโนโลยีส่งถึงคนบางกลุ่มแค่ปลายนิ้วสัมผัสสบ้างหรือไม่
คำตอบสั้นๆ คือ “มี” และบางบริการอาจเป็นไปได้ง่ายเกินกว่าที่เราคาดคิด อย่างเช่นที่ประเทศเคนยา ประชากรส่วนใหญ่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์มีโทรศัพท์มือถือ (แต่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีสมาร์ตโฟน) และพวกเขาก็สามารถเข้าถึงบริการการเงินผ่านโทรศัพท์ได้ เช่น การโอนเงินผ่านมือถือได้ด้วยบริการจาก M-Pesa ซึ่งเริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปี 2007 M-Pesa มีบริการคล้ายๆ กับธนาคาร โดยที่ประชาชนสามารถเอาเงินไป ‘ฝาก’ หรือ ‘ถอน’ ที่เอเจนต์ของ M-Pesa ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศ ปกติเอเจนต์เหล่านี้จะเป็นที่เติมเงินโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว หากต้องการโอนเงินหรือซื้อของก็สามารถใช้โทรศัพท์ธรรมดาของตนเองทำธุรกรรมนั้นได้ โดยพิมพ์หมายเลขโทรศัพท์ปลายทางพร้อมกับจำนวนเงิน ระบบจะให้กรอกรหัสลับที่เจ้าของโทรศัพท์มือถือตั้งไว้เพื่อเป็นการยืนยันการทำธุรกรรม หากกรอกข้อมูลเรียบร้อย ทั้งผู้ส่งและผู้รับจะได้รับข้อความทางโทรศัพท์ที่ยืนยันจำนวนเงิน และข้อมูลคนส่งและคนรับเงินนั้น ถือว่าเป็นบริการที่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องล้ำหน้ามากนัก
นอกจากบริการด้านการเงินแล้ว บริการเกี่ยวกับการเกษตรผ่านมือถือธรรมดามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าประชากรที่ยากไร้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำสวน องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ หรือ USAID (United States Agency for International Development) ที่ทำหน้าที่ช่วยพัฒนาชุมชนห่างไกลในประเทศต่างๆ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศปากีสถานและเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง Telenor ทำโครงการนำร่องบริการข้อความสั้นและระบบตอบกลับโทรศัพท์อัตโนมัติ (Interactive Voice Response) ที่สื่อสารในภาษาท้องถิ่นแก่กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ข้อความต่างๆ ประกอบไปด้วยเกร็ดความรู้และคำแนะนำที่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ในการปลูกพืชผักให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับทราบเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ราคาของพืชผักในท้องตลาด แนวโน้มการบริโภคพืชผักของลูกค้า และการบริการด้านการเงินผ่านบริการข้อความนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ชาวบ้านได้มีข้อมูลรอบด้าน สามารถวางแผนตัดสินใจการใช้จ่ายเงินลงทุนทำการเกษตรได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
หลังจากดูแลการเงินและเสริมอาวุธทางอาชีพแล้ว เครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาลของชาวบ้านที่ห่างไกลจากตัวเมือง ในประเทศโมซัมบิกก็ไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีสถานพยาบาล แพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย แต่ที่โชคร้ายไปกว่านั้นคือ โมซัมบิกมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ HIV มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มีจำนวนคร่าวๆ ประมาณ 1.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 30 ล้านคน องค์กรระหว่างประเทศอย่าง Absolute Return for Kids (ARK) ได้เข้ามาทดลองการให้บริการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ทั้งพ่อแม่ คนที่ดูแลรักษา และลูกของผู้ป่วย ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่สามารถแจ้งเตือนให้ผู้ป่วยกลับมารับการรักษาที่ศูนย์ในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จากสถิติพบว่าหลังจาก ARK ริเริ่มโครงการนี้ คนไข้ 96 เปอร์เซ็นต์กลับมารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอในช่วงหกเดือนแรกของกระบวนการรักษาพยาบาล ซึ่งถือว่าสูงกว่าสถิติเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 72 เปอร์เซ็นต์อย่างมีนัยเลยทีเดียว
ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและด้านไอที เพราะว่าต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง หรือหากมีเงินลงทุนแล้วก็ไม่แน่ว่าเมื่อไรถึงจะคืนทุน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลเล็งเห็นปัญหา (และโอกาส) นี้ เพราะโมเดลธุรกิจของทั้งสองบริษัทขึ้นอยู่กับ ‘เครือข่าย’ ของคนที่อยู่บนแพลตฟอร์มและจำนวนข้อมูลที่ได้มาจากผู้ใช้ ถ้าเครือข่ายและข้อมูลยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไร โอกาสเติบโตด้านธุรกิจก็ยิ่งมีมากขึ้น
โครงการทดลองของเฟซบุ๊กชื่อ Aquila เป็นโดรนหรือเครื่องบินที่ไม่มีคนขับ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำให้เครื่องบินยังทรงตัวอยู่ได้ ซึ่งโดรนเหล่านี้สามารถบินอยู่บนท้องฟ้าได้นานเป็นเดือนๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังมีแผนจะปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านโดรนมาสู่พื้นผิวโลกในอนาคต
ทางด้านกูเกิลก็ไม่แพ้กัน มีโครงการชื่อ Loon ซึ่งเป็นบอลลูนที่สามารถรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากภาคพื้นผ่านเครือข่ายของบอลลูนข้างเคียง แล้วส่งสัญญาณมาที่ผู้ใช้ที่อยู่บนพื้นโลก โครงการนี้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2013 ที่เกาะใต้ของนิวซีแลนด์ โดยแผนต่อไปของกูเกิลคือ จะลองสร้าง ‘วง’ ของบอลลูนรอบซีกโลกใต้เพื่อให้คนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ลองใช้บริการจากบอลลูนนี้
แม้ภาพคนยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือซื้อของออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนจะเป็นสิ่งชินตา แต่บนโลกใบนี้ยังมีประชากรอีกมากมายที่ไม่ได้มีโอกาสแบบนี้ ทว่า ปัญหาหรือข้อจำกัดดังกล่าวกลับเป็นแรงกระตุ้นให้คนที่เห็นโอกาส เกิดการคิดค้น สร้างนวัตกรรมใหม่ ที่สอดคล้องกับบริบทในประเทศเหล่านั้นได้
นี่เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของคำกล่าวที่ว่า “Necessity is the mother of invention” นั่นเอง
Tags: internet, www, M-Pesa, Absolute Return for Kids, Interactive Voice Response, ARK, Aquila, Loon, Innovation, facebook, Google