เมื่อพูดถึงเมืองเนเปิลส์ ในความคิดของนักท่องเที่ยวคงเป็นทัศนียภาพตระการตาของอ่าวเนเปิลส์ที่มีภูเขาไฟวิซูเวียสเป็นฉากหลัง สำหรับนักชิมก็คงเป็นอะไรอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากพิซซ่า ที่ว่ากันว่าเมืองเนเปิลส์นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของพิซซ่าสมัยใหม่ เหล่านักประวัติศาสตร์อาจคิดไปถึงเมืองปอมเปอีหรือเหตุการณ์สี่วันแห่งเมืองเนเปิลส์ (Four Days of Naples) ที่ชาวเมืองลุกขึ้นต่อสู้กับการเข้ายึดครองของกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนบรรดานักอ่านสายวรรณกรรมอาจมีประโยค “See Naples and Die” จากงานเขียน Italian Journey ของเกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe) ดังก้องอยู่ในใจ
ภาพจำของสถานที่ ข้อเขียนอันท้าทาย และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เหล่านี้คือสิ่งคุ้นเคยที่ได้ชักชวนผู้คนมากหน้าหลายตาให้ไปเยือนเมืองเนเปิลส์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2012 L’amica geniale ของเอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ My Brilliant Friend ตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ความโด่งดังจากเรื่องเล่าของแฟร์รานเตก็กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ชักนำให้ผู้คนคิดถึงและอยากไปเยือนเมืองเนเปิลส์เพื่อตามรอยเด็กสาวสองคน
เพื่อนคนเก่ง : เรื่องราว เลนู และ ลิลา
L’amica geniale หรือ เพื่อนคนเก่ง เป็นหนังสือเล่มแรกในชุดนวนิยายของชาวเนเปิลส์ (Neapolitan Novels) อันประกอบไปด้วย L’amica geniale (My Brilliant Friend), Storia del nuovo cognome (The Story of a New Name), Storia di chi fugge e di chi resta (Those Who Leave and Those Who Stay) และ Storia della bambina perduta (The Story of the Lost Child) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเด็กสาวและเรื่องต่างๆ รอบตัวมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950s ของเมืองเนเปิลส์
เรื่องเล่าของเด็กสาวเริ่มขึ้นเมื่อรัฟฟาแอลลา เชรุลโล หรือลิลา ได้หายตัวออกไปจากบ้าน รีโน ลูกชายของเธอจึงโทรศัพท์ไปหาเอเลนา เกรโค หรือเลนู เพื่อนสนิทของแม่ ว่าเธอรู้ข่าวคราวของแม่ของเขาบ้างหรือไม่ ตัวเลนูเองเมื่อทราบเรื่องก็รอการติดต่อมาของลิลา แต่ไม่มีข่าวคราวมาถึงเธอเช่นกันไม่ว่าจะจากหนทางใด เธอรู้สึกโกรธมากกับเรื่องราวที่เลยเถิด จึงเขียนเล่าเรื่องราวในอดีตระหว่างเธอกับเพื่อนรักเพื่อนแค้นออกมาเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของลิลา
เลนูรู้จักลิลาตั้งแต่ชั้นประถม ทั้งสองอาศัยอยู่ในชุมชนคนยากไร้ในเมืองเนเปิลส์ สำหรับเธอแล้ว ลิลาเป็นคนพิเศษจากทั้งท่าทีและสติปัญญา ไม่กลัวคน เป็นผู้ใหญ่เกินอายุ ช่างวางแผน เรียนหนังสือเก่งอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ความยอดเยี่ยมนี้เองที่ทำให้เลนูต้องไล่ตามเพื่อนสนิทของเธอเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายทิ้งห่างไปไกล
ทั้งสองคนมีประสบการณ์โลดโผนร่วมกันมากมายในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบตบมือกับเหล่าเด็กชายทะโมนจนเลือดตกยางออก การทดลองเข้าไปเรียนรู้อำนาจที่มาจากความดุร้ายของมาเฟียท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการทดสอบความสนใจของเพศตรงข้ามจากเด็กผู้ชายคนเดียวกัน เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเปี่ยมไปด้วยความรักและความชังคละเคล้ากันไปตั้งแต่ยังเยาว์
เมื่อทั้งสองจบชั้นประถม เลนูได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยม แต่ลิลาไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเนื่องจากปัญหาทางการเงินของครอบครัว ทั้งสองจึงต้องแยกจากกัน เลนูรู้สึกว่าโลกของเธอขาดอะไรไป เธอคิดถึงลิลาที่ต้องออกไปช่วยงานครอบครัว ระหว่างนั้นเอง เมื่อการเรียนภาษาละตินของเลนูมีปัญหา เป็นลิลาเองที่เข้ามาช่วยให้เลนูผ่านพ้นปัญหาไปได้อีกครั้ง เพราะถึงแม้เธอจะไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน แต่เธอก็หาความรู้ด้วยตัวเองจากการยืมหนังสือจากห้องสมุดมาศึกษา
การที่ต้องแยกจากการด้วยโลกภายนอกและโรงเรียนทำให้ทั้งสองมีประสบการณ์ต่างไปคนละอย่าง ลิลาที่ช่วยงานครอบครัวในร้านรองเท้าของพ่อ ปรารถนาจะประสบความสำเร็จจากการออกแบบรองเท้าของตัวเอง ส่วนเลนูก็พยายามพาตัวเองให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้จากการศึกษา เด็กสาวสองคนต่างเริ่มรู้จักรับมือกับโลกของผู้ใหญ่ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้าในชีวิต
ภายใต้บรรยากาศและนิสัยใจคอของผู้คนในเมืองเนเปิลส์ในช่วงทศวรรษ 1950s เอเลนา แฟร์รานเต ใช้รูปแบบนวนิยาย bildungsroman หรือ coming of age ในการเล่าเรื่องได้อย่างแยบคาย เหตุการณ์ขัดแย้งต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านการเมืองและด้านศาสนา ถูกนำมาร้อยเรียงผ่านเหล่าตัวละครที่รายรอบตัวเด็กสาว ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนหรือในสถานศึกษา
ความรุนแรงในความสัมพันธ์ฉันมิตร
เพื่อนคนเก่ง ฉายภาพการเติบโตและการหล่อหลอมตัวตนของหญิงสาว ในขณะเดียวกันก็ให้ภาพของการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยใจคอของเด็กชายที่อยู่รอบกายของเธอทั้งสอง ระหว่างการดำเนินเรื่อง เราจะได้เห็นความซับซ้อนของจิตใจในเหตุการณ์ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากความคิดของเด็กสาววัยประถม ภาพปกหนังสือฉบับแปลภาษาไทยเองก็เลือกเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในเรื่องมาใช้ได้อย่างแยบยล (ตรงนี้ต้องขอปรบมือดังๆ ให้ทางสำนักพิมพ์และผู้ออกแบบ)
เหตุการณ์สำคัญที่กล่าวถึงคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนต้นเรื่อง เมื่อลิลาและเลนูใกล้จบชั้นประถมฯ ห้า ทั้งคู่มีผลการเรียนดีจนครูแนะนำว่าควรจะเรียนต่อ โดยครูจะสอนพิเศษให้เพื่อเด็กทั้งสองจะได้มีโอกาสเรียนภาษาละติน แต่ครอบครัวของทั้งสองคนเป็นครอบครัวที่ยากจน จึงทำให้เกิดปัญหาในการหาเงินเพิ่มให้เด็กทั้งสองไปเรียนหนังสือ
ท้ายที่สุด มีแต่ครอบครัวของเลนูที่กัดฟันส่งเธอไปเรียนพิเศษ แต่ต่อมา ก่อนการสอบไล่ชั้นประถม ลิลาได้ชวนเลนูโดดเรียนเพื่อออกไปเที่ยวนอกเขตชุมชนที่ทั้งสองพักอาศัย โดยบอกเธอว่ามีทะเลอยู่ที่ภูเขาวิซูเวียส และทั้งสองจะเดินไปที่นั่น ไปด้วยกัน ไปดูทะเล
เมื่อเลนูตกลงใจไปกับลิลา เธอได้หลอกที่บ้านว่าจะไปโรงเรียนและไปงานเลี้ยงต่อที่บ้านครู หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เตรียมมาหนีโรงเรียนไปด้วยกัน ทั้งสองเดินไปตามทาง จูงมือกัน บอกเล่าเรื่องราวหยอกล้อไปด้วยกันจนกระทั่งเริ่มเหนื่อยและหมดแรง ระหว่างนั้นเองก็เกิดฝนตกหนักและฟ้าคะนอง ลิลาจึงตัดสินใจย้อนกลับไปที่โรงเรียน เลนูแปลกใจมากเพราะการตัดสินใจแบบนี้ขัดกับนิสัยมุ่งมั่นของลิลา ทั้งสองฝ่าสายฝนกลับไปที่โรงเรียนเพื่อพบว่าแม่ของเลนูรู้แล้วว่าไม่มีงานเลี้ยงอะไรทั้งนั้น
เลนูถูกแม่ของเธอตบและใช้ร่มฟาด พร้อมทั้งด่าทอ วันต่อมาเมื่อลิลาเจอเลนูและเห็นร่องรอยฟกช้ำ ก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น และถามต่อว่านอกจากโดนตีแล้วเลนูจะยังได้ไปเรียนภาษาละตินอยู่หรือไม่ ซึ่งทำให้เลนูงุนงงกับคำถาม เธอสงสัยว่าที่ลิลาชวนเธอหนีโรงเรียนไปทะเลนั้นแท้จริงแล้วเพื่อต้องการให้พ่อแม่ของเธอโกรธจนไม่ส่งเธอเรียนมัธยม หรือว่าที่ลิลาตัดสินใจย้อนกลับก็เพื่อต้องการให้เลนูไม่ถูกลงโทษกันแน่ (ผู้เขียนยอมรับว่าตอนอ่านถึงตรงนี้รู้สึกมือเย็นไปกับคำถามของลิลา “เธอยังจะได้ไปเรียนภาษาละตินอยู่มั้ย”)
ตรงนี้ผู้เขียนขอให้ทุกท่านเหลือบมองไปที่ปกหนังสืออีกครั้งเพื่อเพิ่มอรรถรสของเหตุการณ์
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการชิงไหวชิงพริบและความรุนแรงของการเมืองระหว่างความสัมพันธ์ฉันมิตร หลังจากนี้ยังมีเรื่องราวความรุนแรงอีกมากมายเกิดขึ้นตามวัยที่เติบโตขึ้นของทั้งสองคน
มโนทัศน์เฟมินิสต์ในน้ำเสียงเรียบเรื่อย
นอกจากเรื่องเล่าถึงเล่ห์กลระหว่างกันของเด็กสาวเพื่อนรักเพื่อนแค้นแล้ว เพื่อนคนเก่ง ยังให้ภาพความเป็นหญิงในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านมโนทัศน์ของกระบวนการเฟมินิสม์ในยุโรป ที่จากเดิมอยู่บนพื้นฐานการของแสวงหาความเท่าเทียมในสังคมที่ผู้ชายเป็นเจ้าของกฎเกณฑ์ ไปสู่การให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะของความเป็นผู้หญิง
เรื่องเล่าของแม่ที่ถูกทำร้ายจากความรุนแรงในครอบครัว ทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเพศหญิงและเพศชายผ่านมุมมองของลิลาและเลนูที่ได้ประสบความรุนแรงจากความเป็นชายในแบบต่างๆ ทั้งที่มาในรูปแบบของความอ่อนโยนและรูปแบบของความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เสียงเหล่านี้ได้เปล่งออกมาจากการดำเนินเรื่อง แม้จะไม่ได้เป็นเสียงที่ตะโกนใส่หน้าเพื่อทวงถามอย่างแค้นเคือง แต่น้ำเสียงที่เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้ความรุนแรงที่แหลมคมของข้อสงสัยและมุมมองของความเป็นหญิงลดลงไปได้เลย
อาจจะยิ่งบาดลึกไปด้วยซ้ำสำหรับคนที่ตั้งใจฟังเสียงที่เปล่งออกมา
Fact Box
- เอเลนา แฟร์รานเต เป็นนามปากกาของนักเขียนหญิงชาวอิตาเลียนวัย 75 ปี ตัวตนของเธอไม่ได้รับการเปิดเผยตั้งแต่งานเขียนชิ้นแรก ตามความตั้งใจของเธอเอง อย่างไรก็ตาม ในงานเขียนชื่อ La Frantumaglia (The Act of Falling Apart) ซึ่งเป็นการรวมจดหมายตอบโต้ของเธอกับบรรณาธิการได้ให้ร่องรอยไว้ว่าเธอเติบโตที่เมืองเนเปิลส์ เคยมีครอบครัว มีลูก ทำงานแปลและสอนหนังสือ
- ในปี ค.ศ. 2016 นักหนังสือพิมพ์ชื่อเคลาดิโอ กัตติ (Claudio Gatti) ได้ตีพิมพ์บทความการสืบค้นตัวตนของเอเลนา แฟร์รานเต ผ่านหลักฐานทางการเงินว่าเอเลนา แฟร์รานเตคือนามปากกาของอานิต้า ราจา (Anita Raja) นักแปลที่อาศัยอยู่ในกรุงโรม บทความนี้ได้รับการโจมตีอย่างมากในโลกวรรณกรรมว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หลังจากนั้นก็มีการใช้ทฤษฎีอีกมากมายในการสืบค้นตัวตนของเธอ ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นต่อได้จากลิงก์เหล่านี้
- เอเลนา แฟร์รานเตได้รับการคัดเลือกจากนิตยสาร Time ให้เป็นหนึ่งในร้อยผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของปี ค.ศ. 2016
- ความโด่งดังของ Neapolitan Novels นำไปสู่การตามรอยสองเด็กสาวในเมืองเนเปิ้ลส์โดยหนังสือพิมพ์ The Guardian ผู้ที่สนใจบรรยากาศและร่องรอยของเรื่องเล่าสามารถติดตามได้จากลิ้งค์เหล่านี้
- นอกจากนี้ยังมีการบริการพิเศษในการนำเที่ยวตามรอยนวนิยายในเมืองเนเปิ้ลส์ด้วยเช่นกัน (สำหรับคนที่สงสัยว่าอำนาจวรรณกรรมมีจริงไหม เรื่องนี้คงช่วยคลายสงสัยไปได้พอควร)
- ปัจจุบันเอเลนา แฟร์แรนเต เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ รอบตัวเธอให้กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ผู้ที่สนใจสามารถพบกับเรื่องเล่าของเธอได้ทุกวันเสาร์
- เพื่อนคนเก่ง โดยเอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) แปลจากต้นฉบับภาษาอิตาเลียน L’amica geniale โดยนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี, 309 หน้า ราคา 300 บาท พิมพ์ครั้งแรก 2561 ISBN 987-616-92759-6-1