Photo: Mount Vernon

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร

เกิดขึ้นในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน สำหรับชาวอเมริกาส่วนใหญ่ ที่ใช้คำว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้เปิดให้ประชาชนในประเทศร่วมโหวตกันล่วงหน้าแล้ว และจำนวนโหวตล่วงหน้าก็มีมากกว่า 40% ของยอดโหวตทั้งหมดในปีนี้แล้วด้วยซ้ำ ที่สำคัญในบางรัฐคุณสามารถเปลี่ยนใจโหวตใหม่ได้ แม้ว่าจะทำการโหวตไปแล้วก็ตาม เช่นรัฐวิสคอนซินที่อนุญาตให้คนโหวตได้ถึง 3 ครั้ง โดยจะนับผลจากการลงคะแนนเสียงครั้งสุดท้ายเท่านั้น

ทำไมถึงมีการเลือกตั้งในวันอังคารที่เป็นวันทำงาน

ครั้งหนึ่งอเมริกาเคยเป็นประเทศการเกษตร พวกเขามักจะเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ และวางขายของที่ตลาดทุกวันพุธ การจัดวันเลือกตั้งในวันอังคารก็เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีเวลาเพียงพอในการออกไปโหวต และกลับบ้านมาพร้อมเตรียมของไปขายที่ตลาด

ทำไมต้องโหวตในเดือนพฤศจิกายน

เพราะผู้คนจะโหวตหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากสมัยก่อนในฤดูหนาวการเดินทางจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก

ตัดภาพมาในปี 2016 อเมริกาก็ยังทำเช่นนั้นอยู่! แม้จะมีการเสนอให้เลื่อนวันเลือกตั้งไปสุดสัปดาห์ หรือประกาศให้เป็นวันหยุดจากรัฐบาลไปเลย แต่ที่สุดแล้วก็ยังไม่มีการเลื่อนวันออกไปอยู่ดี

ทำไมฤดูกาลแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนยาวนาน

สหราชอาณาจักรใช้ระยะเวลาในการเลือกตั้ง 4 เดือน แคนาดา 2 เดือนครึ่ง ส่วนญี่ปุ่นใช้ระยะเวลาแค่ 12 วัน! ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากพรรคใหญ่ในสหรัฐฯ อย่างเดโมแครตและรีพับลิกันจะต้องทำการเลือกผู้ท้าชิงตำแหน่งผ่านกระบวนการประชุมในพรรคมากกว่า 50 รัฐ และในบางเขตของประเทศ

กระบวนการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกินระยะเวลานานกว่า 5 เดือน โดยก่อนหน้านี้ตามปกติแล้วผู้สมัครจะใช้ระยะเวลาเป็นปีในการวางรากฐานการลงสมัคร เพื่อที่พวกเขาจะได้เริ่มต้นหาเสียงได้รวดเร็ว เนื่องจากไม่มีกฎหมายบังคับระยะเวลาในการรณรงค์หาเสียง เพราะอย่างที่เรารู้กันไง อิสระเสรี!

Photo: flickr

ใครๆ ก็สามารถลงสมัครประธานาธิบดีได้จริงหรือ

ถูกต้อง แม้แต่ คานเย เวสต์ ก็ลงสมัครได้ หากเขาผ่านคุณสมบัติ ซึ่งคุณสมบัติของผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อแม้มากมายยาวเหยียดอย่างที่หลายคนเข้าใจ มีการระบุว่า ผู้ลงสมัครจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่า 14 ปี และเป็น ‘พลเมืองของประเทศโดยกำเนิด’ (ศึกษาข้อมูลเรื่องพลเมืองสหรัฐอเมริกาโดยกำเนิดได้ที่ http://www.fas.org/sgp/crs/misc/R42097.pdf)

นับคะแนนกันอย่างไร

เมื่อเปิดหีบแล้ว ประชาชนชาวอเมริกันจะออกไปเลือกผู้แทนจากพรรคที่ตัวเองชื่นชอบ โดยผู้แทน (Electors) เหล่านี้จะมาจากการเสนอบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

จากนั้นผู้แทนเหล่านี้จะกลายเป็นคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เพื่อไปเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง

คณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดจะมีผู้แทน 538 คน จาก 50 รัฐ โดยในแต่ละรัฐจะมีจำนวนผู้แทนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐ ที่คิดตามสัดส่วนประชากร และไปรวมกับจำนวนสมาชิกของวุฒิสภา ที่แต่ละรัฐจะมีจำนวนวุฒิสภาเท่ากันคือ 2 คน

ดังนั้นยิ่งรัฐใดมีประชากรมาก รัฐนั้นจะมีจำนวนผู้แทนมากนั่นเอง

นั่นหมายความว่า หากพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถได้คะแนนเท่ากับ หรือมากกว่า 270 ก็เท่ากับว่าพรรคนั้นมีจำนวนผู้แทนเกินครึ่งหนึ่งเพื่อไปเลือกประธานาธิบดี

ผู้ชนะที่ได้เป็นประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชน (ชนะคะแนน Popular Vote) เสมอไปจริงหรือไม่

จริง ต้องเข้าใจก่อนว่าการนับคะแนนการเลือกคณะผู้เลือกตั้งเกือบทุกรัฐ ยกเว้นรัฐเมนและรัฐเนแบรสกา จะใช้ระบบผู้ชนะกินเรียบ หรือ Winner-take-all ซึ่งหมายถึงว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งในรัฐนั้นๆ หรือได้ Popular Vote จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมด

สมมติว่ารัฐฟลอริดามีจำนวนผู้แทน (Electoral Vote) เท่ากับ 29 แล้วผลคะแนนออกมาว่าพรรคเดโมแครตชนะ Popular Vote ในรัฐนั้นไป เท่ากับว่าผู้แทนจากพรรคเดโมแครตทั้ง 29 คน จะมีสิทธิเข้าไปเลือกประธานาธิบดีทันที

ในแง่นี้ ผู้ชนะที่ได้เป็นประธานาธิบดีจึงอาจไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชน (ชนะคะแนน Popular Vote) แต่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากคณะผู้เลือกตั้ง

ที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกว่า 17 ครั้ง ที่ผู้ชนะไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชน

ครั้งแรกคือการเลือกตั้งปี 1824 ที่ จอห์น ควินซี แอดัมส์ ชนะได้เป็นประธานาธิบดี และครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งปี 2000 ที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะ อัล กอร์ ได้เป็นประธานาธิบดี

และนี่คือสาเหตุที่แต่ละพรรคอยากชนะในรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเยอะ อย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีจำนวนคณะผู้แทน 55 คน หรือเทกซัสมีจำนวนคณะผู้แทน 38 คน

Photo: Wikimedia Commons

ทำไมประเทศที่ยิ่งใหญ่อันดับต้นๆ ในโลกอย่างอเมริกาถึงมีพรรคการเมืองแข่งกันแค่ 2 พรรค

ความจริงแล้วพวกเขามีพรรคการเมืองเยอะมาก มีทั้งพรรคการเมืองสีเขียว,  พรรคการเมืองเสรีนิยม, พรรคลูกจ้างเสรีนิยม แม้แต่บางพรรคแปลกๆ อย่าง พรรคกัญชาถูกกฎหมายเดี๋ยวนี้! (Legal Marijuana Now) ก็มี แต่ตามประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐฯ จะมีเพียงแค่ 2 พรรคการเมืองที่ช่วงชิงตำแหน่งที่นั่งในทำเนียบขาวอย่างดุเดือดมาโดยตลอด

อย่างปัจจุบันก็จะเป็นพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก็จะเป็นเดโมแครต และ The Whigs ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะทำการเหมารวมที่นั่งแบบผูกขาดทุกที่ แตกต่างจากบางประเทศที่ยังมีที่เหลือให้พรรคคู่ท้าชิงในสภา

Swing State, Battleground State, Solid State, Leans State คืออะไร

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นั้นจะมีคำศัพท์เฉพาะที่ไว้จัดหมวดหมู่แต่ละรัฐ เพื่อคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง โดยวัดจากการสำรวจของโพลแต่ละสำนัก ดังนั้นแต่ละสำนักจะพิจารณาว่ารัฐใดจัดอยู่ในหมวดหมู่ไหนไม่เหมือนกัน

Swing State หรือ Battleground State คือรัฐที่มีคะแนนเสียงแกว่งไปแกว่งมา ไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าเดโมแครตหรือรีพับลิกันจะคว้าชัยชนะไป หรือที่เรียกกันว่า ‘รัฐสนามรบ’

Solid State คือรัฐที่เป็นฐานเสียงมั่นของแต่ละพรรค โดยจะพิจารณาจากโพลว่าผู้ชิงตำแหน่งจะต้องมีคะแนนมากกว่าอีกคนเกิน 10%

Leans State คือรัฐที่ผู้ชิงตำแหน่งมีคะแนนมากกว่าอีกคนระหว่าง 5-10%

มีการสอดแทรกหัวข้อประชามติเรื่องการใช้กัญชาลงไปด้วยจริงหรือ

จริง บัตรเลือกตั้งของบางรัฐจะมีการสอดแทรกหัวข้อลงประชามติควบคู่ไปกับการเลือกตั้งด้วย

โดยปีนี้จะมีมลรัฐ 35 แห่งของอเมริกาที่สอดแทรกหัวข้อการลงประชามติในประเด็นที่หลากหลายถึง 154 มาตรการ เช่น 9 มลรัฐมีการลงประชามติเรื่องการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย 4 มลรัฐโหวตเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนแคลิฟอร์เนียมีการลงประชามติในญัตติที่ 60 ว่าด้วยการบังคับให้นักแสดงหนังโป๊ต้องสวมถุงยาง และใช้วิธีป้องกันอื่นๆ ขณะที่กำลังถ่ายทำ

โกงเลือกตั้ง… เป็นได้ไหม

เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มาลงคะแนนในปีที่แล้วที่มีมากกว่า 129 ล้านเสียงทั่วประเทศ ถือว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะมีทางอยู่บ้าง เช่น

– โหวตมากกว่า 1 ครั้ง หรือโหวตแทนคนอื่น

วิธีนี้มีความเสี่ยงอยู่ตรงที่กองทัพนักทำโพลอาจคอยจับจ้องอยู่ ยังไม่รวมถึงนักกฎหมาย และประจักษ์พยานอีกมากมายที่จะหยุดการกระทำนั้นอย่างง่ายได้

– พังเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง

จะทำก็ได้ แต่ต้องรู้วิธีพังล็อกที่แสนจะแน่นหนาของเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งเสียก่อน ไม่นับว่าเครื่องลงคะแนนที่ว่านั้นตั้งเด่นตระหง่านที่จุดเลือกตั้งตลอดทั้งวันอีกต่างหาก

– แฮ็กเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง

คงยากหน่อย เพราะเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งแต่ละเครื่องล้วนผ่านการออกแบบให้มีความแตกต่างกันตามรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐ และถึงแม้จะใช้เครื่องเหมือนๆ กันในบางเขตการเลือกตั้ง แต่ทุกเครื่องก็ไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และไม่ได้เชื่อมต่อซึ่งกันและกันอีกต่างหาก

คัดค้านผลการเลือกตั้งได้ไหม

แน่นอนว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสามารถคัดค้านผลที่ออกมาได้ แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะถ้าจะคัดค้านจริงๆ ต้องทำการยื่นเรื่องทีละรัฐ ในขณะที่แต่ละรัฐก็จะมีกฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากมากหากจะคัดค้าน

Photo: Wikimedia Commons

ทำไมรัฐที่เดโมแครตชนะต้องเป็นสีน้ำเงิน และรัฐที่รีพับลิกันชนะถึงเป็นสีแดง

ทั้งสีแดงและสีน้ำเงินล้วนเป็นตัวแทนของธงชาติสหรัฐฯ แต่ที่สื่อส่วนใหญ่ใช้สีน้ำเงินเพื่อแทนชัยชนะของเดโมแครต และสีแดงแทนชัยชนะของรีพับลิกัน เหตุผลหลักเป็นเพราะเป็นขั้วสีตรงกันข้าม สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อทำเป็นอินโฟกราฟิก

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการเลือกตั้งบางสมัยที่สลับสีกัน อย่างเช่นในการเลือกตั้งปี 1980 ระหว่าง โรนัลด์ เรแกน และจิมมี คาร์เตอร์ ที่ฝั่งรีพับลิกันใช้สีน้ำเงิน และเดโมแครตใช้สีแดง ซึ่งตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา สื่อหลักต่างๆ ก็มีแนวทางการใช้สีระหว่างทั้งสองพรรคชัดเจนยิ่งขึ้น

Photo: flickr

ทำไมฮิลลารีสวมชุด ‘สีแดง’ ซึ่งเป็นสีประจำพรรคคู่แข่งในการดีเบตครั้งแรก และหาเสียงครั้งสุดท้าย

ผู้ชมการปะทะคารมครั้งแรกระหว่างฮิลลารีและทรัมป์ต่างประหลาดใจ เมื่อฮิลลารีเลือกใส่ชุดแพนต์สูทเป็นสีแดงทั้งชุด ซึ่งเป็นสีของพรรคคู่แข่งอย่างรีพับลิกัน (ในขณะที่ทรัมป์ใส่เนกไทสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของพรรคเดโมแครต แต่ดูเหมือนสีเนกไทของทรัมป์จะไม่เป็นที่พูดถึงเท่าฮิลลารี) ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายต่อประเด็นนี้ มีการหยิบยกงานวิจัยบางชิ้นขึ้นมาอ้างถึงที่มาที่ไปของสีชุดฮิลลารี เช่น ผลการศึกษาของนักจิตวิทยาชื่อ Russell Hill และ Robert Barton ที่ทำขึ้นช่วงโอลิมปิกเกมส์ 2004 พบว่านักมวยที่สวมกางเกงสีแดงจะมีโอกาสชนะสูงกว่าคู่แข่ง 5%

ขณะที่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ในปี 2008 พบว่า สีแดงทำให้ผู้หญิงดูดึงดูดและน่าสนใจ บนสมมติฐานที่ว่าเป็นสีที่ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์

แต่ทั้งหมดข้างต้นล้วนเป็นการคาดเดา เพราะเมื่อดูสีชุดที่ฮิลลารีสวมในการดีเบตทั้ง 3 ครั้งคือ แดง น้ำเงิน ขาว ตามลำดับ (และสีแดงในการหาเสียงวันสุดท้าย) บางสื่อก็ให้ความเห็นว่า ฮิลลารีก็แค่สวมเสื้อตามสีธงชาติอเมริกาก็เท่านั้น

Photo: Wikimedia Commons

เมื่อไรผู้ชนะจะได้รับตำแหน่ง

สมัยก่อนวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการคือ วันที่ 20 มีนาคม แต่เมื่อการเดินทางข้ามประเทศเป็นเรื่องสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันจึงมีการกำหนดวันใหม่เป็น 20 มกราคม

เมื่อไรจะรู้ผลการเลือกตั้ง

โดยส่วนใหญ่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนคนไทยน่าจะรู้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ในช่วงเช้าของวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้

คุณสามารถติดตามผลและการวิเคราะห์หลังการเลือกตั้งได้ใน The Momentum

อ้างอิง:
– http://edition.cnn.com/2016/11/06/politics/non-americans-guide-us-elections-trnd/index.html