Photo: Benoit Tessier, Reuters/Profile

เหตุวินาศกรรมกลางกรุงลอนดอนในช่วงบ่ายของวันที่ 22 มีนาคม 2017 ที่เบื้องต้นทางการยืนยันว่ามี 4 คนเสียชีวิต และ 40 คนได้รับบาดเจ็บ และล่าสุดนายกรัฐมนตรียืนยันว่าผู้ก่อเหตุมีสัญชาติอังกฤษ เกิดขึ้นตรงกับวันครบรอบ 1 ปี เหตุก่อการร้ายกลางกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ที่ทำให้ 32 คนเสียชีวิต

จนถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 1 ปี เบลเยียมยังอยู่ในการเตือนภัยระดับสูง ผู้คนยังสามารถพบเห็นทหารยืนประจำการตามสถานีรถไฟ มากไปกว่านั้นคือ จนถึงตอนนี้ทางการเบลเยียมยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้คนก่อเหตุจะเสียชีวิต และมีถึง 59 คนอยู่ระหว่างการควบคุมตัว รวมถึงกลุ่มไอเอสที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบด้วยแล้วก็ตาม

หากไล่เรียงเหตุการณ์มาจนถึงวันนี้ บรัสเซลส์ ปารีส เบอร์ลิน จนถึงลอนดอน เมืองหลวงของมหาอำนาจยุโรปล้วนเจอกับเหตุก่อการร้ายใจกลางเมือง  ตอกย้ำความท้าทายของรัฐบาลประเทศยุโรปในการรักษาความปลอดภัยของประชาชนThe Momentum ได้พูดคุยกับ ศ. ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษา ถึงเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้นในลอนดอน และอันตรายที่อาจรอเราอยู่หลังจากนี้

Photo: Toby Melville, Reuters/Profile

Photo: Toby Melville, Reuters/Profile

ความคืบหน้าและเบาะแสเหตุวินาศกรรมบนสะพานเวสต์มินสเตอร์กลางกรุงลอนดอน

เวลาประมาณ 14.40 น. (ตามเวลาประเทศอังกฤษ) ของวันที่ 22 มีนาคม 2017 เกิดเหตุคนขับรถขับพุ่งชนรั้วเหล็กบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ฝั่งหอนาฬิกาบิ๊กเบน จากนั้นผู้ก่อเหตุถือมีดวิ่งออกมาจากรถยนต์และบุกเข้าไปยังรัฐสภาที่อยู่ใกล้เคียงกับสะพานเวสต์มินสเตอร์ และเข้าแทงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่เขาจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต

เบื้องต้นทางการยืนยันว่า 5 คนเสียชีวิต 1 คนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ PC Keith Palmer อายุ 48 ปี 1 คนคือผู้ก่อเหตุ ขณะที่ 40 คนได้รับบาดเจ็บ 12 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในกลุ่มคนบาดเจ็บเป็นคนหลากหลายสัญชาติ 3 คนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจของอังกฤษ โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยเหลือผู้หญิงอีก 1 คนขึ้นมาจากแม่น้ำเทมส์ได้ หลังจากเธอตกลงไปแม่น้ำหลังผู้ก่อเหตุขับรถพุ่งชนรั้วเหล็กบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ ล่าสุดตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 8 คน ใน 6 สถานที่ ทั้งกรุงลอนดอน เบอร์มิงแฮม และเมืองอื่นๆ

เจ้าหน้าที่เชื่อว่าพวกเขารู้ตัวคนร้ายและคิดว่าผู้ก่อเหตุลงมือคนเดียว แต่กำลังสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สมรู้ร่วมคิด เพราะเชื่อว่าผู้ก่อเหตุได้รับแรงจูงใจจากการก่อการร้ายข้ามชาติ

Photo: POOL New, Reuters/Profile

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยืนยันว่า ผู้ก่อเหตุนั้นมีสัญชาติอังกฤษ และเคยถูกสอบสวนโดย MI5 เกี่ยวกับความคิดหัวรุนแรงก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ยอมระบุชื่อคนร้าย ขณะที่ตำรวจอังกฤษเชื่อว่าไม่น่าเกิดเหตุรุนแรงอีก ตอนนี้สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการทราบที่สุดคือ ‘แรงจูงใจในการก่อเหตุ’ ‘การเตรียมตัวก่อนการลงมือ’ และ ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’ นอกจากนี้ ล่าสุดกลุ่มไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบอีกครั้ง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในเบอร์ลินและบรัสเซลส์

หลังจากเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ถูกนำตัวขึ้นรถจากัวร์สีเงินเพื่อออกจากบริเวณรัฐสภา ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีปลอดภัยอยู่ที่ที่พำนัก ณ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง

โดยเธอออกแถลงการณ์หน้าที่พำนักว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ชั่วช้า และได้กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ผู้ก่อเหตุจงใจก่อเหตุใจกลางกรุงลอนดอน สถานที่ที่ผู้คนหลากหลายสัญชาติและศาสนาต่างมาท่องเที่ยว และมาชื่นชมสถานที่แห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ผู้ก่อเหตุตั้งใจต่อต้านคุณค่าเหล่านี้”

โดยการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษนั้นถือว่ารับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย เมื่อเทียบกับการทำงานของตำรวจประเทศอื่น นอกจากนี้การกำชับสื่อไม่ให้เปิดเผยชื่อคนร้ายนั้นยังถือว่าเข้มงวดมาก และไม่มีข้อมูลรั่วไหลออกมาระหว่างการทำงานของเจ้าหน้าที่

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์แล้ว และระบุว่าเธอเข้มแข็งและปลอดภัย

Photo: POOL New, Reuters/Profile

ผู้นำโลกต่างออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์วินาศกรรมกลางลอนดอน

ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ ของฝรั่งเศสกล่าวว่า “การก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสทั้งหมดรู้สึกกังวล และฝรั่งเศสรู้ดีว่าชาวอังกฤษรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้”

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เจอกับเหตุก่อการร้ายรุนแรงอย่างต่อเนื่องและบ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปด้วยกัน ทำให้กระแสต่อต้านกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง และกระแสสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวานั้นเห็นได้ชัดกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งความหวาดกลัวจากเหตุก่อการร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปของฝรั่งเศสที่จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้

ด้านนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กล่าวว่า “ฉันรู้สึกเสียใจไปพร้อมๆ กับเพื่อนชาวอังกฤษและประชาชนในกรุงลอนดอน ฉันต้องการบอกว่าเยอรมนีและประชาชนของเรายืนอยู่เคียงข้างกับอังกฤษในการต่อสู้กับการก่อการร้ายทุกรูปแบบ”

เยอรมนีเป็นประเทศที่เจอกับเหตุก่อการร้ายไม่บ่อยเท่าฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ยังถือว่าได้รับความนิยมจากชาวเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ แม้ว่าประชาชนจะเริ่มต่อต้านนโยบายเปิดรับผู้อพยพของเธออย่างชัดเจน และมีประชาชนบางส่วนหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวา แต่ยังถือว่ากระแสขวาจัดยังไม่มาแรงเท่าฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามเหตุการก่อร้ายที่เกิดขึ้นในยุโรปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเหตุก่อการร้ายล่าสุดที่คนขับรถพุ่งชนตลาดในกรุงเบอร์ลินเมื่อปลายปีที่แล้ว จะท้าทายการลงสมัครสมัยที่ 4 ของเธออย่างมาก และผลแพ้ชนะของเธอจะชี้ชะตาอนาคตสหภาพยุโรปในปีนี้

นายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตต์ ของเนเธอร์แลนด์ ที่เพิ่งกวาดคะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป เอาชนะพรรคขวาจัดที่มีแนวคิดต่อต้านศาสนาอิสลามไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออกมาแสดงความเห็นว่า “เป็นภาพที่โหดร้ายในกรุงลอนดอนที่เกิดขึ้นใจกลางเมือง ชาวดัตช์ต่างรู้สึกเศร้าสลดไปพร้อมกับชาวอังกฤษ”

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ต่อโทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีเทเรซาเมย์ เพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวยกย่องเจ้าหน้าที่ของอังกฤษในการตอบโต้กับเหตุโจมตีได้ทันท่วงที เขายังประกาศว่าสหรัฐฯ ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ในการนำคนร้ายมาลงโทษ

ประธานาธิบดีจัสติน ทรูโด ของแคนาดามองว่า เหตุการณ์นี้เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย “เหตุการณ์นี้ทำลายคุณค่าประชาธิปไตยของทั้งโลก แต่มันจะทำให้ชาวอังกฤษหันมาสามัคคีกันในการต่อต้านการก่อการร้าย”

ฟาก มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียประณามเหตุการณ์นี้ว่า “เราจะไม่แบ่งเหตุการณ์ก่อการร้ายออกเป็นประเภทไหน เพราะเรามองว่าทุกเหตุการณ์นั้นล้วนชั่วร้ายเหมือนกันหมด”

Photo: Yves Herman, Reuters/Profile

เหตุการณ์วินาศกรรมกลางลอนดอนที่เกิดขึ้นในวันครบรอบ 1 ปีเหตุก่อการร้ายในบรัสเซลส์

ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแถลงว่า “วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่ประชาชนในบรัสเซลส์ของเบลเยียมเผชิญกับความเจ็บปวดเหมือนกับชาวลอนดอน ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเช่นนี้ สิ่งที่ชาวสหภาพยุโรปทำได้คือส่งความรู้สึกเห็นใจไปยังประชาชนอังกฤษเป็นสองเท่า”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2016 ปีที่แล้ว กรุงบรัสเซลส์เจอกับเหตุการณ์ช็อกโลกที่กลุ่มไอเอสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายทำให้มี 32 คนเสียชีวิต และจนถึงวันนี้ทางการเบลเยียมก็ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือบงการเหตุการณ์นี้ แม้ตอนนี้จะมีถึง 59 คนอยู่ระหว่างการสอบสวนก็ตาม ล่าสุดนายกรัฐมนตรีชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ของเบลเยียมเปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้การสืบสวนยังไม่เสร็จสิ้น และยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแรงจูงใจในการสังหารคนหมู่มากครั้งนี้

Photo: POOL New, Reuters/Profile

จนถึงวันนี้เบลเยียมยังตั้งระดับการเตือนภัยระดับสูงอยู่เพื่อพยายามป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากชาวเบลเยียมหรือนักรบที่เพิ่งกลับมาจากตะวันออกกลาง เรายังสามารถพบเห็นทหารยืนประจำการรักษาความปลอดภัยตามสถานีรถไฟ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ยังมีพื้นที่เสี่ยงในกรุงบรัสเซลส์ที่มีนักรบติดอาวุธจำนวนมาก ด้านสถาบันการต่อต้านการก่อการร้ายในกรุงเฮกระบุว่า สงครามในซีเรียและอิรักได้ดึงดูดชาวเบลเยียมถึงกว่า 400 คน ให้เข้าร่วมเป็นนักรบมุสลิม และตอนนี้มีชาวเบลเยียมจำนวน 160 คนที่ยังอยู่ในซีเรีย นอกจากนี้ยังชาวเบลเยียมยังให้กำเนิดเด็กถึง 80 คนในสงครามซีเรีย ทำให้เบลเยียมเป็นประเทศที่มีนักรบกลุ่มญิฮาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรของเบลเยียม และเป็นประเทศที่เผชิญกับความเสี่ยงจากการก่อเหตุโดยนักรบที่กลับมาจากสงครามซีเรียมากที่สุด

หลังจากเหตุก่อการร้ายกลางกรุงบรัสเซลส์เพียง 4 เดือน กรุงปารีสเจอกับเหตุก่อการร้ายรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุก่อการร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส

นั่นคือเหตุกราดยิงในย่านร้านอาหารและโรงละคร ทำให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 130 คน ทั้งสองเหตุการณ์ก่อเหตุโดยชาวมุสลิมที่เพิ่งกลับมาจากการสู้รบในซีเรีย

แม้ว่าเหตุวินาศกรรมในกรุงลอนดอนจะเกิดขึ้นตรงกับวันครบรอบ 1 ปี เหตุก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์ แต่ยังไม่มีรายงานว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความเชื่อมโยงกัน

Photo: Yves Herman, Reuters/Profile

สิ่งที่เกิดขึ้นและอนาคตด้านความปลอดภัยของยุโรปต่อจากนี้

เหตุกราดยิงกลางกรุงปารีสที่คนเสียชีวิตนับร้อยในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 ไล่เรียงมาตั้งแต่เหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายจุดในกรุงบรัสเซลส์ อีก 4 เดือนให้หลังเหตุขับรถพุ่งชนในกรุงเบอร์ลินเมื่อสิ้นปีที่แล้ว จนถึงเหตุอุกอาจใกล้กับหอบิ๊กเบนในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ มาถึงวันนี้เมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจในยุโรปล้วนเผชิญกับเหตุก่อการร้ายหมดแล้ว แม้ว่าจะมีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ท้าทายวิสัยทัศน์ของรัฐบาลของประเทศยุโรปต่อนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่จะต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนีที่กำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลในปีนี้

ศ. ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษา กล่าวกับ The Momentum ว่า ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่นั้นไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการทหารอย่างเดียว และการก่อการร้ายที่กระทำโดยคนเดียวที่เราเห็นทั่วยุโรปตั้งแต่ในเมืองนีซ ปารีส เบอร์ลิน จนถึงออสเตรเลียนั้นเริ่มเป็น ‘ลัทธิเอาอย่าง’

“การก่อการร้ายรูปแบบใหม่มันซับซ้อน เพราะการก่อการร้ายลักษณะ lone wolf หรือการก่อการร้ายที่กระทำคนเดียวนั้นยากที่เราจะตามได้ เพราะผู้ก่อเหตุสามารถเป็นพลเมืองประเทศไหนก็ได้ที่เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มไอเอส แล้วไม่ชอบประเทศตะวันตกที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในตะวันออกกลาง หรือประเทศในตะวันออกกลางขึ้นมา ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงควรทำคือ ไม่ควรติดตามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงแค่กลุ่มเดียวหรือสถานการณ์เดียวไม่ได้”

นอกจากนี้ ศ. ดร.จรัญ ยังบอกว่า แม้ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกาคือเป้าหมายหลักของกลุ่มก่อการร้าย เพราะเป็นมหาอำนาจที่เข้าไปพัวพันตั้งแต่สงครามอิรักเป็นต้นมาจนถึงสงครามซีเรีย แต่ภัยก่อการร้ายนั้นเริ่มรุกคืบเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคงของประเทศแถบนี้ต้องเตรียบรับมือเช่นกัน “แต่ละประเทศต้องพัฒนาการศึกษาวิธีการก่อการร้ายในแถบบ้านเรา เราควรดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เพราะหน่วยงานความมั่นคงเขาเข้มงวดมาก”

ซึ่งถ้าเราตามข่าวเราจะเห็นว่าสิงคโปร์นั้นมีการเฝ้าระวังและสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงไปร่วมรบในสงครามในซีเรียอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจับกุมกลุ่มหัวรุนแรงจะพบบ่อยในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

Photo: Yves Herman, Reuters/Profile

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียนั้นสร้างความรู้สึกสะเทือนใจและหวาดกลัวให้กับคนทั้งโลก เพราะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้โดยไม่เลือกสถานที่และเวลา ซึ่ง ศ. ดร.จรัญ แสดงทัศนะว่า อย่างไรก็ตามเราก็ควรมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่เป็นกลาง

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนว่าคนกลุ่มนี้มองว่ายุโรปตะวันตกไปก่อสงครามในประเทศอื่น เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือเข้าไปควบคุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะตอบโต้ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็อาจจะมองคนละสายตากับเขา เพราะเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เราอาจจะไม่รู้สึกตกใจเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในชาติตะวันตก สุดแท้แต่ว่าใครจะมองอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่แย่ที่สุดคือ ไม่ว่าความรุนแรงจะกระทำโดยฝั่งใดก็ล้วนนำไปสู่ความตายของประชาชนทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้ชาติตะวันตกต้องหันมาทบทวนนโยบายต่างประเทศของตนเอง”

เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนอาการตอบโต้ต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามในตะวันออกกลางของชาติตะวันตก The Momentum ได้ถามถึงการคาดการณ์ของ ศ. ดร.จรัญ ว่า อาการตอบโต้ในลักษณะก่อการร้ายแบบนี้จะทำให้ชาติตะวันตกเริ่มถอยห่างจากสงครามในตะวันออกกลางหรือไม่

“คิดว่าตะวันตกไม่ถอยอยู่ดี และอาจจะยิ่งเพิ่มกำลังเข้าปราบปรามด้วยซ้ำ อย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตอนแรกเหมือนจะถอยห่าง แต่ก็เพิ่งเพิ่มกำลังทหารในตะวันออกกลาง”

มาวันนี้ชาติตะวันตกอย่างยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกานั้นต่างเผชิญกับเหตุก่อการร้ายทั้งสิ้น ซึ่งรัสเซียคือประเทศล่าสุดที่เข้าไปปราบกลุ่มไอเอสในซีเรียเมื่อปี 2015 The Momentum จึงถาม ศ. ดร.จรัญว่า รัสเซียนั้นจะเป็นเป้าหมายต่อไปของกลุ่มก่อการร้ายด้วยหรือไม่

“รัสเซียเป็นหนึ่งในเป้าหมายแน่นอน แต่โอกาสที่กลุ่มก่อการร้ายจะเข้าไปก่อเหตุในรัสเซียนั้นยากกว่ายุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เพราะยุโรปเป็นดินแดนของผู้อพยพ รัสเซียน่าจะเจอในลักษณะการโจมตีคนรัสเซียที่อยู่นอกประเทศมากกว่า”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางกรุงลอนดอนล่าสุดนั้นจึงเป็นอีกเหตุการณ์ที่ย้ำกับเราว่า โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ความรุนแรงและสงครามรูปแบบใหม่ ที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนและเฝ้าระวังยากมากขึ้นในอนาคต

อ้างอิง:

Tags: ,