Photo: Antara Foto Agency, Reuter/Profile

 

ในช่วงปี 2016 ได้เกิดเหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย 6 ครั้ง ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมกราคม 2016 และกลุ่มไอเอสได้ประกาศว่าเป็นการกระทำโดย ‘พันธมิตร’ ของกลุ่มไอเอส โดยทางการอินโดนีเซียระบุว่า พวกเขา ‘ลอกเลียน’ เหตุโจมตีในกรุงปารีส

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ยกระดับการเฝ้าระวังกลุ่มหัวรุนแรงในประเทศเป็นพิเศษ หลังจากพบว่ามีความเป็นไปได้ที่กลุ่มหัวรุนแรงในประเทศจะก่อเหตุตามอุดมการณ์ของกลุ่มไอเอส ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มไอเอสนั้นเสียฐานที่มั่นในอิรัก และซีเรีย

ในขณะที่ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสมักเกาะติดที่พื้นที่ในตะวันออกกลาง แต่พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออีกภูมิภาคที่มีข่าวความเคลื่อนไหวจับกุมกลุ่มหัวรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2017 ทางการมาเลเซียจับกุมชายอีก 3 คน ที่ถูกสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย และจับกุมทั้ง 3 คนในข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หลังจากพบว่าหนึ่งในผู้ต้องสงสัยอายุ 38 ปี ได้โพสต์แผนการเกี่ยวกับการวางระเบิดในกรุงกัวลาลัมเปอร์บนเฟซบุ๊ก  ขณะที่ผู้ต้องสงสัยอีกคนเป็นชาวอินโดนีเซียแต่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย มีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส นอกจากนี้ตำรวจเชื่อว่า 2 ใน 3 ของผู้ต้องสงสัยมีแผนการจะเข้าร่วมกลุ่มไอเอสในซีเรีย

Photo: Darren Whiteside, Reuter/Profile

 

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออีกพื้นที่เฝ้าระวังกลุ่มไอเอส

ออง เวย ชอง (Ong Wei Chong) อาจารย์ด้านความมั่นคงประจำมหาวิทยาลัยนันยาง ของสิงคโปร์ อธิบายผ่านเว็บไซต์ The Diplomat ไว้ว่า การขยายตัวของกลุ่มไอเอสนั้นต่างจากกลุ่มอัลกออิดะห์ จากการต่อสู้ของกลุ่มไอเอสในพัลไมราและรามาดีในปี 2016 สะท้อนว่า กลุ่มไอเอสไม่ได้มีกลยุทธ์เพียงต่อสู้เพื่อป้องกันฐานที่มั่นของตน แต่ยังต้องการขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คืออีกพื้นที่ที่เห็นชัดที่สุด ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มไอเอสนั้นเสียฐานที่มั่นในตะวันออกกลาง

ในช่วงที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียถึง 700 คน เดินทางไปยังซีเรียและอิรักเพื่อไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอส ซึ่ง ออง เวย ชอง อธิบายไว้ว่า เมื่อพวกเขากลับมา ไม่เพียงมาพร้อมกับกลยุทธ์การรบใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังกลับมาสร้างเครือข่ายกับกลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย และทำให้เครือข่ายผู้ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว้างขวางมากขึ้น โดยมีทั้งนักรบจากต่างชาติ และกลุ่มญิฮาดในพื้นที่

และต่อเมื่อพวกเขาสูญเสียพื้นที่อาณาเขตหรือฐานที่มั่นไป เครือข่ายตามพื้นที่ต่างๆ จะยังสามารถก่อเหตุใส่กลุ่มเป้าหมายได้ และกลุ่มคนพวกนี้จะได้รับอิทธิพลให้ก่อเหตุโจมตีในบ้านของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ออง เวย ชอง เห็นว่า กลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ได้พัฒนาเป็นลักษณะกลุ่มรัฐอิสลามแบบในตะวันออกกลาง เพราะส่วนใหญ่กลุ่มที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส จะยังจำกัดพื้นที่อยู่แค่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และบริเวณชายฝั่งของฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

Photo: Garry Lotulung, Reuter/Profile

 

ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

อินโดนีเซียคือประเทศแรกที่เจอกับเหตุโจมตีกลางเมืองที่กลุ่มไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบเมื่อเดือนมกราคม 2016 และล่าสุด The Jakarta Post รายงานว่า ไตรโยโน ยูโตโม (Triyono Utomo) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียถูกทางการตุรกีจับกุมตัว หลังจากพบว่าพยายามจะเดินทางไปร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก

ริดวัน ฮาบิบ (Ridwan Habib) ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย ประจำมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซียระบุว่า การต่อสู้กับอุดมการณ์รุนแรงในอินโดนีเซียนั้นยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากกรณีนี้สะท้อนว่า กลุ่มไอเอสสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคนที่มีการศึกษาในอินโดนีเซียผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่า ปัจจัยหลักที่คนอินโดนีเซียเดินทางไปร่วมกับกลุ่มไอเอสคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ด้านมาเลเซียยังอยู่ในระดับการเตือนภัยก่อการร้าย ตั้งแต่มาเลเซียเจอกับเหตุโจมตีเมื่อเดือนมกราคม 2016 และพบว่าผู้ก่อเหตุคือเครือข่ายไอเอสในกรุงจาการ์ตา ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย

มาเลเซียคืออีกประเทศที่จับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากการจับกุมตัวชายผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 คนล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการมาเลเซียยังจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 4 คน ที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายไอเอสในทางใต้ของฟิลิปปินส์ โดยระหว่างปี 2013-2016 มาเลเซียจับกุมคนไปมากกว่า 250 คน แม้มาเลเซียจะยังไม่เจอกับเหตุโจมตีรุนแรง แต่ก็เจอกับเหตุโจมตีอยู่เรื่อยๆ อย่างเช่น 7 คนบาดเจ็บจากเหตุโจมตีระเบิดมือในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 และกลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีครั้งนี้

สิงคโปร์คืออีกหนึ่งประเทศที่รัฐบาลเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 เค. ชานมูกาม (K.Shanmugam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) ของสิงคโปร์ ประกาศว่า ขณะที่กลุ่มไอเอสเริ่มเสียดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอิรักและซีเรีย อาจส่งผลให้เกิดการโจมตีแก้แค้นมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะรับอุดมการณ์รุนแรงจากกลุ่มไอเอส “ภัยคุกคามมีให้เห็นมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือเมื่อต้นปี 2016”

ขณะที่พื้นที่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่เป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุความไม่สงบมาเป็นเวลานาน พบว่ากลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มได้สาบานตนสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มไอเอส

Photo: Beawiharta Beawiharta, Reuter/Profile

ออง เวย ชอง มองว่า แม้กลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มรัฐอิสลามแบบในตะวันออกกลาง และยังจำกัดอยู่แค่ในบางพื้นที่ แต่สถานการณ์ที่กลุ่มไอเอสเสียพื้นที่ในตะวันออกกลางก็อาจเปลี่ยนสถานการณ์ของกลุ่มหัวรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ประเทศไทยกับการเฝ้าระวังกลุ่มไอเอส

 

แม้ว่ากลุ่มไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังไม่พบเห็นในประเทศไทย แต่ ศ. ดร.จรัล มะลูลีม ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางศึกษา ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Mometum ว่า ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสมาโดยตลอด รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการสกัดกั้นคนไม่ให้เข้าไปร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย ยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์มีอิทธิพลกับคนอย่างมาก

“ฝ่ายข่าวกรองของไทยติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอสโดยตลอด  แม้ว่าในปัจจุบันกลุ่มไอเอสจะยังไม่เกิดในประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับบรูไนที่ยังไม่พบกลุ่มไอเอสเหมือนกันแล้ว ประเทศไทยพบข่าวคราวน่าสงสัยมากกว่า และเมื่อทางการพบใครต้องสงสัยจะเข้าไปคุยทันที”

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.จรัล อธิบายว่า อุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่ตรงกัน “วิธีการต่อสู้คนละแบบ ทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่การต่อสู้รุนแรงอย่างการสังหารหมู่แบบกลุ่มไอเอส”

นอกจากนี้ รศ. ดร.จรัล มองว่า ช่วงนี้เป็นช่วงขาลงของกลุ่มไอเอส ทำให้กลุ่มไอเอสที่พ่ายแพ้ในตะวันออกกลางตอนนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ถอนตัวจากกลุ่มไอเอสไปตลอด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มาจากชาติตะวันตก 2. บางคนย้ายไปอยู่กับกลุ่มซุนนีในอิรักหรือซีเรีย 3. บางส่วนถอยกลับมาสู้ที่บ้าน อย่างที่เราเห็นในบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามหลายเหตุการณ์ที่กลุ่มไอเอสออกมาอ้างนั้น รศ. ดร.จรัล ระบุว่า อาจเป็นการอ้างมากกว่าการลงมือทำเอง

ล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ซึ่ง รศ. ดร.จรัล เห็นว่า “อย่างอิหร่านเองเขามองว่านโยบายลักษณะนี้ของทรัมป์เป็นของขวัญสำหรับผู้ก่อการร้าย เพราะยิ่งเป็นการปลุกเร้าให้กลุ่มหัวรุนแรงออกมาตอบโต้”

สถานการณ์ที่กลุ่มไอเอสเสียดินแดนในตะวันออกกลางมากขึ้น และความแบ่งแยกที่แตกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงอาจเป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อ้างอิง:

http://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysian-police-arrest-three-suspected-isis-sympathisers

http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/indonesian-arrest-shifts-discourse-on-isis

http://www.ndtv.com/world-news/singapore-minister-warns-isis-will-target-southeast-asia-1633298

http://thediplomat.com/2016/12/islamic-state-in-southeast-asias-grey-zones

https://www.theguardian.com/world/live/2016/jan/14/multiple-explosions-gunshots-reported-in-jakarta-rolling-report

Tags: ,