เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ชาวฝรั่งเศสออกมาร่วมจุดเทียนและวางดอกไม้บริเวณที่เคยเกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีส รวมถึงลอยตะเกียงกว่า 3,500 ตะเกียงบนแม่น้ำแซน เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงปารีส

เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ผู้ก่อการร้ายได้ก่อเหตุกราดยิงหลายจุดในกรุงปารีส ทั้งร้านอาหารบนท้องถนน และหอประชุมคอนเสิร์ต จนทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 130 คน โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ เพราะไม่พอใจที่ฝรั่งเศสส่งกองกำลังไปโจมตีนักรบไอเอสในอิรักและซีเรีย

ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ แอนน์ อีดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีสเป็นผู้นำพิธีรำลึกที่จัดขึ้นหลายแห่งในกรุงปารีส

สถานที่แรกที่จัดพิธีรำลึกคือ สนามกีฬา Stade de France หรือสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึง มานูเอล ดิแอส (Manuel Dias) วัย 63 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดฆ่าตัวตายภายนอกสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมเยอรมันและฝรั่งเศสภายในสนามกีฬา

สถานที่สองคือย่านร้านอาหารและบาร์ที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายก่อเหตุกราดยิงในคืนวันศุกร์

และสถานที่สุดท้าย โรงละครบาตาคล็อง (Bataclan) ที่ผู้ก่อเหตุเข้าไปกราดยิงประชาชนขณะกำลังดูคอนเสิร์ตของ Eagles of Death Metal วงร็อกอเมริกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 90 คน

โดยในพิธี ผู้ร่วมพิธีได้ร่วมอ่านออกเสียงรายชื่อผู้เสียชีวิตเพื่อเป็นการรำลึกถึงพวกเขาทั้งหมด

Photo: Benoit Tessier, Reuters/profile

ลมแห่งเสรีภาพ-ความเท่าเทียมที่กำลังเปลี่ยนทิศ?

ประเทศฝรั่งเศสมีสโลแกนว่า Liberty, Equality, Fraternity ซึ่งหมายความว่าฝรั่งเศสเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเท่าเทียม และภราดรภาพ สโลแกนนี้เริ่มใช้ตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 จนทำให้ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนามาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะกรุงปารีส นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังเป็นประเทศที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่เยอะที่สุดในยุโรปตะวันตก

แต่หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ Le Parisien ชี้ว่า เหตุการณ์วินาศกรรมครั้งนี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสมีมุมมองต่อความเป็นเสรีภาพของประเทศเปลี่ยนไป โดยประชาชน 59% หรือเกินครึ่งยังรู้สึก ‘โกรธ’ ต่อการกระทำที่โหดเหี้ยมครั้งนี้

ความรู้สึกของชาวฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เศร้าสลด ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยก และความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาภายในประเทศ

แต่ท่ามกลางความรู้สึกโกรธแค้นที่ยากจะจางหายไปจากใจของคนฝรั่งเศส หลายคนก็ยังเชื่อว่าบรรยากาศการแบ่งแยกไม่ควรเกิดขึ้นภายในประเทศนี้

ลูกชายของ มานูเอล ดิแอส ผู้เสียชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตายได้บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “เราต้องต่อสู้กับความแบ่งแยกที่เกิดขึ้น ซึ่งความสามัคคีจะทำให้เราก้าวผ่านไปได้”

ขณะที่ Bruno เจ้าของบาร์ Carillon Bar ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเล่าให้สำนักข่าวเอเอฟพีฟังเช่นกันว่า “ในบาร์ของผม ผมไม่เคยได้ยินใครเชื่อมโยงชาวมุสลิมกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีฟร็องซัวประกาศขยายภาวะฉุกเฉินไปอีก 2-3  เดือนข้างหน้า เพราะมองว่ามาตรการดังกล่าวยังจำเป็นต่อความมั่นคงและประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งภาวะฉุกเฉินจะให้อำนาจพิเศษแก่ตำรวจในการค้นหาและจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายก่อเหตุการณ์ก่อการร้าย

Photo: Christian Hartmann, Reuters/profile

เหตุการณ์เศร้าสลด รอยร้าว และนโยบายขวาจัด

ฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมปี 2560 ซึ่งนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคสะท้อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นครั้งที่ชาวฝรั่งเศสมีความแบ่งแยกที่ชัดเจนที่สุด

อย่างนโยบายของพรรคฝ่ายขวาจัด หรือพรรค National Front ที่ออกมาประกาศต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพ รวมถึงการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป ที่สามารถกวาดเสียงไปมากกว่า 27% ในการเลือกตั้งระดับภูมิภาค

ขณะที่ผลสำรวจออกมาชี้ว่า ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ ที่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยม เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

มารีน เลอ แปน (Marie Le Pen) ผู้นำพรรค National Front ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า “ขณะนี้กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงกำลังเติบโตในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเราในฐานะเจ้าของประเทศ เรามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตประเทศของตัวเอง และปกป้องอนาคตของประเทศเช่นกัน ซึ่งเราไม่ได้ตัดสินคนอื่นจากศาสนา แต่รัฐควรจัดการกับประชาชนที่ปฏิเสธที่จะทำตามคุณค่าของฝรั่งเศส”

นอกจากนี้เธอยังมีแนวโน้มจะต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป เนื่องจากมองว่าเป็นการ ‘กดขี่’ ประเทศสมาชิก ที่ทำให้ประเทศสมาชิกมีอำนาจลดลงที่จะจัดการเรื่องภายในประเทศตัวเอง ซึ่งในที่นี้รวมถึงนโยบายรับผู้อพยพด้วย

และล่าสุดนั้นเธอได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีถึงชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ทรัมป์ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอมีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ “ทรัมป์ทำให้ความเป็นไปไม่ได้เป็นความเป็นไปได้”

ขณะที่ เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) หัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) บอกว่าถ้อยคำที่ทรัมป์และมารีน เลอ แปน พูดถึงชาวมุสลิมนั้น ‘เลวร้ายและไร้สาระ’

“เธอฉวยโอกาสใช้กระแสนี้ออกมาต่อต้านคนกลุ่มน้อยเพื่อทำให้เธอชนะการเลือกตั้ง”

สงครามในโลกปัจจุบันที่ไม่ได้ต่อสู้กันเพื่อเพียงแย่งดินแดนหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์ก่อการร้ายหลายครั้งที่ไม่เลือกสถานที่และเวลา ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวตะวันตกมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง จนอาจนำไปสู่การสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ที่อาจขัดกับแนวคิดเสรีนิยม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากกว่า

และความโหดร้ายของเหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อแนวโน้มของโลกต่อนโยบายเสรีนิยมหลังจากนี้
ความคิดเหล่านี้เริ่มมีให้เห็นแล้ว แม้กระทั่งในประเทศที่มีแนวคิดก้าวหน้าอย่างฝรั่งเศส…