เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2016 (เวลาประเทศไทย) เกิดเหตุรถบรรทุกขับพุ่งชนตลาดคริสต์มาสในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ที่คนจำนวนมากกำลังเดินเล่นภายในตลาด ส่งผลให้มี 12 คนเสียชีวิต และ 48 คนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมีบางคนได้รับบาดเจ็บสาหัส พยานในเหตุการณ์เล่าว่า รถบรรทุกขับด้วยความเร็วพุ่งชนผู้คนที่กำลังเดินในตลาดคริสต์มาสเข้าไปประมาณ 50-80 เมตร
ผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมได้ในระยะ 2 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ และกำลังถูกสอบสวน ล่าสุดทางการเยอรมนียังไม่เปิดเผยรูปพรรณสัณฐานของผู้ต้องสงสัยรายนี้ แต่รายงานว่า เขาคือ Naved B ชาวปากีสถาน อายุ 23 ปี เขามีความเชื่อมโยงกับเหตุอาชญากรรม แต่ไม่พบประวัติที่เชื่อมโยงกับการก่อการร้าย
ด้านหนังสือพิมพ์ Die Welt รายงานว่า เขามาจากประเทศปากีสถาน แต่ทางการยังไม่ยืนยันฐานะผู้ลี้ภัยของเขา
เอเรียล ซูรอว์สกี (Ariel Zurawski) เจ้าของบริษัทรถบรรทุกในโปแลนด์ให้สัมภาษณ์กับ TVN 24 ว่า คนขับรถบรรทุกตอนแรกนั้นคือลูกพี่ลูกน้องของเขา ที่ต่อมาพบว่าเสียชีวิตแล้ว ซึ่งคาดว่ารถบรรทุกนั้นโดนปล้นระหว่างทาง
ล่าสุดกลุ่มไอเอสได้ออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้านกองกำลัง Iraqi Popular Mobilization ทวิตข้อความว่า กลุ่มนักรบญิฮัดที่ก่อเหตุครั้งนี้ต้องได้รับความดีความชอบ
แต่เบื้องต้น Naved B ผู้ต้องสงสัยปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้
การกระทำที่อาจไตร่ตรองไว้แล้วว่าให้เกิดในช่วงคริสต์มาส
แม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า เหตุการณ์นี้เป็นการก่อการร้ายหรือเปล่า แต่ตำรวจเยอรมนีระบุว่า เป็นการกระทำที่ ‘ไตร่ตรองไว้ก่อน’ และมีความเป็นได้ว่าเป็นการก่อการร้าย
เอ็มมา รัชตัน (Emma Rushton) นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “มันไม่ใช่อุบัติเหตุ รถบรรทุกขับมาด้วยความเร็ว 40 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นตรงกลางของจัตุรัส และไม่ได้มีทีท่าว่าจะชะลอความเร็วลง เราได้ยินเสียงดังมาก รถพุ่งเข้าชนตลาดในระยะ 8-10 ฟุต จากจุดที่ฉันยืนอยู่ รถบรรทุกกวาดร้านค้าในตลาดไปหมด”
ด้าน โทมัส เดอ ไมซิเออร์ (Thomas de Maizière) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ระบุว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีหลักฐานที่สามารถระบุได้ชัด แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นการกระทำที่จงใจ “เรายังไม่มีหลักฐานที่จะสรุปถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ได้ เราจึงไม่อยากใช้คำว่า ‘โจมตี’ แม้สถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้น”
แม้ทางการเยอรมนีจะยังเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘การก่อการร้าย’ ก่อนหน้าที่จะเจอหลักฐาน แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คือการก่อการร้าย และได้กล่าวหากลุ่มไอเอส “กลุ่มไอเอสและกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมดำเนินการสังหารชาวคริสต์อย่างต่อเนื่อง เครือข่ายก่อการร้ายทั่วโลกต้องถูกกำจัดจนหมดสิ้น”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีออกมาแถลงว่า “เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้คือ การก่อการร้าย”
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ออกมาเตือนให้ระวังเหตุโจมตี ที่อาจเกิดขึ้นตามสถานที่สาธารณะและตลาดต่างๆ โดยระบุว่า กลุ่มหัวรุนแรงอย่างกลุ่มไอเอส และกลุ่มอัลกออิดะห์มุ่งเป้าที่จะก่อเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุด และสถานที่ที่มีคนรวมกันเยอะๆ
ขณะที่ตำรวจเยอรมันยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ตลาดคริสต์มาสถูกจัดเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะถูกโจมตีสักครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์ฝรั่งเศสจนถึงเยอรมนีคือโจทย์ใหม่ของทุกประเทศ
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึง เหตุการณ์ที่ โมฮัมเหม็ด ลาฮูไอเยจ์-บูห์แลล (Mohammed Lahouaiej-Bouhlel) ชาวฝรั่งเศส-ตูนิเซีย ขับรถบรรทุก 19 ตัน พุ่งเข้าใส่ฝูงชนที่กำลังรอดูพลุไฟในเมืองนีซ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2016 ส่งผลให้ประชาชน 86 คนเสียชีวิต และหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ
ทางการฝรั่งเศสระบุว่า คนร้ายได้แรงจูงใจมาจากโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) มาจากกลุ่มไอเอส แต่ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่า กลุ่มไอเอสนั้นเป็นผู้บงการเหตุการณ์ครั้งนี้หรือไม่
แม้กลุ่มไอเอสจะออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเครือข่ายของกลุ่มไอเอสจริง หรือแค่ได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ หรือโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มไอเอส เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ถ้าเป็นกรณีเดียวกันกับเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศส ที่ผู้ก่อเหตุได้รับอิทธิพลมาจากโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มไอเอสนั้น ก็จะเป็นการก่อการร้ายอีกรูปแบบที่ท้าทายความมั่นคงของทุกประเทศ
“การก่อการร้ายลักษณะนี้คือ ลักษณะแบบหมาป่าตัวเดียว หรือ Lone Wolf คือไม่ใช่โครงสร้างของกลุ่มไอเอส ในบริบทแบบนี้เป็นความยากลำบากต่อหน่วยงานความมั่นคง เพราะคนพวกนี้จะไม่มีประวัติมาก่อน”
ในขณะที่สมัยก่อนนั้น สงครามคือการต่อสู้ระหว่างรัฐกับรัฐ แต่ปัจจุบันคือรัฐเผชิญกับสงครามที่ไม่เป็นรัฐ ศ. ดร. สุรชาติ ชี้ว่า “การลงทุนด้านความมั่นคงต้องไม่ใช่แค่การซื้ออาวุธแบบเก่าอีกต่อไป เพราะสงครามเก่าหมดบทบาทไป การซื้ออาวุธไม่ตอบโจทย์การก่อการร้ายทั้งหมด จึงเป็นโจทย์ที่แต่ละรัฐต้องตระหนักมากขึ้น”
เหตุการณ์ครั้งนี้ในกรุงเบอร์ลินจะทำให้ความหวาดกลัวต่อกลุ่มก่อการร้ายในยุโรปทวีมากขึ้น และจะส่งผลให้คนยุโรปยิ่งต่อต้านนโยบายการรับผู้อพยพ
“เหตุการณ์นี้ตอกย้ำว่าโจทย์ก่อการร้ายจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในปี 2017 และมันจะโยงเข้ามากับเรื่องการกลัวผู้อพยพ ที่ถึงแม้สองเรื่องนี้จะเป็นคนละเรื่อง แต่ในมุมมองของหลายคนเป็นเรื่องเดียวกัน”
ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในปีหน้าด้วย ถ้าหาก อังเกลา แมร์เคิล แสดงท่าทีที่ไม่เด็ดขาดต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็อาจทำให้คนเยอรมันหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวามากขึ้น ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
อ้างอิง:
– https://www.theguardian.com/world/2016/dec/20/berlin-terrorist-attack-what-we-know-so-far
– https://www.theguardian.com/world/live/2016/dec/19/berlin-truck-crash-christmas-market-live?page=with:block-5858bbe9e4b0e4889e0f866e#block-5858bbe9e4b0e4889e0f866e
– http://www.bbc.com/news/world-europe-38375555
– http://www.bbc.com/news/world-europe-36800730