แม้เทรนด์รักษ์โลกจะมาแรง แต่การจะทำตัวไม่สร้างภาระให้โลกก็ใช่ว่าจะง่าย แม้มีสิ่งของจำนวนมากที่เราอาจเลือกใช้วิธี ‘หยุด’ หรือลดละการใช้งานได้ เช่น เทรนด์ลดการใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แป๊บเดียวทิ้ง แต่ยังมีวัสดุสิ่งของอีกจำนวนมาก ที่การหยุดบริโภคหรือใช้งานแทบเป็นไปไม่ได้เลย
แต่นั่นไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้เราละเลยและดำเนินไลฟ์สไตล์แบบเปลืองทรัพยากรโลกต่อไปได้ เพราะถึงอย่างไร ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นโจทย์ของศตวรรษที่ 21 ที่มนุษยชาติต้องรับผิดชอบร่วมกันและช่วยกันทบทวนให้การใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเทรนด์ที่ทั้งบุคคลและภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาใส่ใจในแนวคิดของ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ให้ตั้งหลักคิดเอาไว้ตั้งแต่ต้นก่อนจะเริ่มกระบวนการผลิตสิ่งของสักชิ้นว่า เมื่อเรานำทรัพยากรมาผลิตสิ่งของหนึ่งๆ แล้ว ในวันที่ของนั้นๆ เสื่อมสภาพ จะทำอย่างไรให้สามารถนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาสู่ระบบการผลิตอีกครั้ง โดยเหลือขยะตกค้างให้น้อยที่สุด
สำหรับ ‘มิชลิน’ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ เมื่อต้องคิดโจทย์ที่จะพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม ก็พบว่า คงไม่อาจใช้วิธีรณรงค์ให้ ลด ละ เลิก ให้หยุดใช้ เพราะนอกจากจะไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจแล้ว ยางยังเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตประจำวัน สามารถนำมาเป็นวัสดุสำหรับการคิดสร้างวรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้ หรือหากจะประหยัดการใช้งานยางรถยนต์ ก็อาจต้อง ปรับที่โครงสร้างใหญ่ เช่น มีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพให้รองรับได้ทั้งการสัญจรของบุคคล และการสัญจรของภาคอุตสาหกรรม แต่สำหรับหน่วยย่อยๆ เราต่างก็มักใช้บริการรถยนต์ส่วนตัวและแท็กซี่ ก็ทำให้ต้องเพิ่มการบริโภคใช้จ่ายยางไปโดยยากที่จะหลีกเลี่ยง
ขณะที่เรายุติการใช้งานที่รบกวนโลกได้ไม่มากนัก สิ่งที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มคำนึงถึงคือ การพยายามใส่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปในระบบการผลิต
เมื่อหยุดใช้ไม่ได้ จะใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าได้อย่างไร
สำหรับยางรถยนต์ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยแล้ว สามารถนำมารีไซเคิลได้สองรอบ แต่ก็จะเหลือยางที่ใช้งานสัญจรไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก นี่จึงเป็นอีกโจทย์ ว่าจะจัดการใช้ประโยชน์จากยางเก่าเหล่านี้โดยวิธีใด
ที่ผ่านมา มิชลินมีกิจกรรมชวนให้เยาวชนช่วยกันคิดไขโจทย์เรื่องนี้ โดยจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์จากยางที่ใช้แล้ว
ไอเดียที่เคยชนะการประกวดในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีลักษณะซ้ำๆ คือ นำยางเก่ามาสร้างบังเกอร์ เป็นแนวรั้วสำหรับหลบกระสุนและลดแรงเสียดทานจากระเบิด ซึ่งก็สามารถนำไปใช้งานจริงดังที่พบมากในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ แต่ไอเดียนี้ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับภูมิภาคอื่นๆ เท่าไร
ในการประกวดครั้งหลังๆ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับอาชีวะทั่วประเทศช่วยกันเสนอแนวคิดว่า จะนำยางรถยนต์เก่ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ก็เริ่มปรากฏแนวคิดใหม่ๆ โดยผลงานที่ชนะการประกวดล่าสุด เป็นผลงานของวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย ที่ไขโจทย์ของการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า ผนวกด้วยกันกับการหาวิธีแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลากในภาคเหนือ จนได้รับการต่อยอดออกมาเป็นการสร้างฝายชะลอน้ำจากยางรถยนต์
หลังจากไอเดียนี้ชนะเลิศการประกวด มิชลินก็ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พัฒนาแนวคิดนี้ต่อ สนับสนุนยางใช้แล้ว 140 เส้น มาใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างฝายชะลอน้ำสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรแก่ชุมชนในสามจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ตาก และน่าน
ทิพมล เมียงเมิน ผู้อำนวยการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดน่าน กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านเป็นที่สูงชัน หน้าฝน น้ำมักจะมาเร็วไปเร็ว ส่วนหน้าแล้งก็ขาดน้ำอย่างมาก การทำฝายชะลอน้ำช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้บ้าง
วิธีทำก็ไม่ซับซ้อน คือนำยางเก่ามาวางก่อขึ้นซ้อนกันให้ได้ความสูงที่เหมาะสมกับทางน้ำ หาก้อนหินไปอุดในรูตรงกลางยางเพื่อถ่วงให้กำแพงยางนี้มีน้ำหนักไม่ถูกซัดตามแรงน้ำโดยง่าย ขึงให้ยางทั้งหมดแข็งแรงด้วยการผูกเชือกเชื่อมร้อยกันไว้ ออกมาเป็นฝายแบบ DIY แล้วนำไปวางที่ต้นธารน้ำ
ในหน้าฝน ฝายจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลเร็วเกินไป และช่วยป้องกันดินสไลด์ รวมทั้งมีการนำผ้าบางมาปูเอาไว้หน้าฝาย แล้วต่อท่อมาเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรในภาคเหนือ
งานลักษณะนี้ดูเป็นสเกลเล็กมากๆ แต่ก็ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาช่วยคิดหาแนวทางแก้ปัญหาของท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับโจทย์ของการใช้วัสดุสิ่งของโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อเกิดไอเดียฝายจากยางเก่า การยางแห่งประเทศไทยและมิชลินจึงทำงานกับเกษตรชุมชนในสามจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ตาก และล่าสุด ที่ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มเป็นหลักคิดที่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยเริ่มใส่ใจ และยึดถือเป็นจุดยืนขององค์กร และนี่เป็นงานระยะยาวที่จำเป็นต้องมีฝ่ายวิจัยและพัฒนา สำหรับมิชลินเองก็ต้องคิดค้นหาวิธีผลิตยางที่ใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เป็นวัสดุที่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วสามารถนำกลับมารีไซเคิลแล้วผลิตใหม่ได้โดยเหลือขยะเคมีตกค้างให้น้อยที่สุด และเมื่อผลิตออกมาแล้ว ก็ทำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานมากที่สุด เช่นในอนาคตอาจจะมียางที่ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติออกมา และเมื่อดอกยางสึกก็ยังสามารถพิมพ์ดอกใหม่ได้เอง
Fact Box
สูตรสำคัญของเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มคำนึงถึง จะยึดตามหลัก 4R นั่นคือ
- Reduce (การลด) เช่น ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือลดปริมาณสะสมของผลิตภัณฑ์ใช้แล้ว
- Reuse (การใช้ซ้ำ) คือวัสดุที่ผลิตออกมา สามารถนำมาซ่อมแซมแล้วใช้งานได้อีก เผื่อจะได้ลดจำนวนการผลิต
- Recycle (การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการมีกระบวนการรีไซเคิลหรือปรับสภาพดัดแปลงให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ต่อไป
- Renew (การใช้วัตถุดิบหมุนเวียน) นั่นคือการเลือกสรรวัตถุดิบที่หมุนเวียนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้เพิ่มขึ้น