ปมริษยา
ส่งท้ายเดือนแห่งวันแม่ ขอแนะนำ ‘ด้วยรักและความตาย’ หนังสือที่สะท้อนความซับซ้อนของอารมณ์หญิง ความเป็นแม่ที่มีผลต่อลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวน้องสาว และระหว่างเพื่อนด้วยกัน ที่มีทั้งด้านดีด้านร้าย ด้านทำลายและส่งเสริม
(*บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนของรวมเรื่องสั้นในเล่มนี้)
แรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ในการ ‘ทะยาน’ ไม่ว่าจะทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด หรือดิ่งลงจุดต่ำสุด หลายคนมองว่ามันคือ ‘มานะ’ ตามคำแปลในพุทธศาสนาคือ ความถือตัว หากใช้ในบริบทด้านบวก คือการที่ถือว่าตนเองมีดี ก็ต้องไปให้สุดศักยภาพ แต่แรงขับเคลื่อนอีกด้านที่มาพร้อมสัญชาตญาณของมนุษย์ ก็คือ ‘ความริษยา’ ที่ส่งผลให้ได้ทั้งด้านลบหรือบวกเช่นกัน
บางเรื่องใน ‘ด้วยรักและความตาย’ เน้นถึงปมริษยา ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้หญิงกระทำการต่างๆ ต่อกันเองเพื่อเอาชนะหรือเพื่อทำลายอีกฝ่ายให้ย่อยยับ โดยที่ผลจากแรงกระทำนั้นผลักดันให้ผู้กระทำไปอยู่ในจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก็ได้ และที่น่าเศร้าคือมี ‘ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง’ ที่สังคมสร้างขึ้นมากดทับผู้หญิงให้พวกเธอกระทำความรุนแรงต่อกันด้วยรูปแบบการอบรมบ่มเพาะแบบรุ่นสู่รุ่น จากแม่สู่ลูก เพราะคิดว่า การจะอยู่ในสังคมได้ด้วยดีต้องเป็นอย่างแม่ที่ ‘เคยอาบน้ำร้อนมาก่อน’
‘สุดที่รัก’ เรื่องสั้นเรื่องแรกในเล่ม ว่าด้วยโทชิโกะซึ่งเป็นลูกคนโตและถูกแม่เลี้ยงดูให้อยู่ในกรอบของความเป็น ‘หญิงที่ดี’ ทั้งการรักนวลสงวนตัว การต้องเรียนวิทยาลัยสตรี ซึ่งเรื่องไม่ได้ระบุชัดนักว่าทำไมตัวเอกรายนี้จึงถูกกดดันให้อยู่ในกรอบตามขนบทั่วไปของคนเอเชีย
พอมาถึงอาริสะ—ลูกสาวคนที่สอง ความเป็นน้องเล็กที่พ่อแม่อาจรักและเอ็นดูเป็นพิเศษ หรือประกอบกับความเชื่อที่ว่า ลูกสาวคนที่สองสามารถยึดผู้เป็นพี่สาวเป็นแม่แบบได้เอง การให้อิสรเสรีจึงต่างกัน และแต่ละครอบครัวก็อาจมีปัจจัยที่ทำให้เหมือนพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน การเลี้ยงดูโทชิโกะผู้เป็นพี่สาว—ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง จะเข้มงวดกว่าน้องสาว โทชิโกะเป็นสาวที่อยู่ในกรอบ หวั่นกลัวไปหมดแม้กระทั่งพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์เรื่องการท้องก่อนแต่ง เพราะถูกสร้างจินตนาการจากพ่อแม่ถึงความเลวร้ายของการชิงสุกก่อนห่าม แต่ขณะเดียวกัน อาริสะกลับเป็นฝ่ายท้องก่อนแต่ง
โทชิโกะอาศัยอยู่กับพ่อแม่จนอยู่ในวัยที่เรียกว่า ‘สาวแก่’ เธอไม่เคยกล้าเปิดใจกับความรัก วันหนึ่ง อาริสะกลับมาอยู่บ้านเพื่อเตรียมตัวคลอด เนื่องจากสามีติดภารกิจการงาน อาริสะเข้ามาเบียดบังพื้นที่และความสำคัญของโทชิโกะในบ้านไป โทชิโกะจึงหันไปสนใจสการ์เลต แมวสุดที่เธอรับมาเลี้ยง แต่ก็ยังไม่วายถูกอาริสะก่อกวน จนคืนหนึ่งอาริสะเยาะเย้ยพี่สาวถึงเรื่องแมวอย่างคึกคะนอง แต่มันกลับเป็นคล้ายฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้เธอสำเหนียกถึงสิ่งที่อาริสะและครอบครัวกระทำต่อเธอ ให้เธอรู้สึกเหมือนคนไร้ค่าอยู่ตลอดเวลา น้ำหนักจากการที่โทชิโกะถูกครอบครัวและอาริสะกระทำมาอย่างเนิ่นนาน ระเบิดออกมาอย่างโกรธเกรี้ยว นั่นคือแรงริษยาที่โทชิโกะถูกบีบบังคับชีวิตและไม่เคยได้รับอิสรเสรีเท่าเทียมกับอาริสะนั่นเอง
เรียกได้ว่า คะนะเอะเปิดเล่มเรื่องสั้นเล่มนี้อย่างเข้าเป้า ด้วยความรุนแรงที่ผู้หญิงกระทำต่อกัน
ผู้หญิงดี
วิถีแบบญี่ปุ่น ดูเหมือนจะกำหนดความดีและคุณค่าของคนไว้ด้วยการรักษาวินัย และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่รักษาน้ำใจผู้อื่น เรามักจะเคยได้ยินเรื่องความยุ่งยากและพิธีรีตอง การรักษามารยาท หรือการไม่พูดตรงๆ ของคนญี่ปุ่น ฯลฯ แต่นั่นละคือวิถีของญี่ปุ่น ประเทศที่มีวัฒนธรรมซับซ้อนและมีสีสันมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ ผู้หญิงญี่ปุ่นมีความเป็นช้างเท้าหลังสูงมาก เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูก ประพฤติตนตามขนบ รักษาหน้าตาของครอบครัว และตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมที่ ‘ชายเป็นใหญ่’
สองเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นภาพของความพยายามสอนลูกให้เป็นผู้หญิงดีในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ คือ ‘หญิงบาปหนา’ และ ‘คนใจดี’
ในเรื่อง ‘หญิงบาปหนา’ ตัวเอกคือยูกินะ ซึ่งอาศัยอยู่กับแม่ในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งและพบกับมายาซูกิ เด็กชายที่ดูน่าสงสาร ยูกินะคิดไปเองว่า มาซายูกิที่อาศัยอยู่กับแม่ในชั้นบนของอพาร์ทเมนท์นั้นถูกแม่ละเลยและทำร้าย จึงมักจะแสดงน้ำใจและความเป็นห่วง โดยเชื่อว่า นี่คือการเป็นทำตามขนบของผู้หญิงดีโดยการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี โดยที่ลึกๆ แล้วยูกินะก็คาดหวังความรักจากมาซายูกิว่า อาจจะช่วยพาเธอพ้นไปจากครอบครัวที่มีแม่จอมบงการ
จนเมื่อต่างเติบโตขึ้น มาซายูกิก่อเหตุฆาตกรรม ยูกินะเข้าพบตำรวจและสารภาพว่าตัวเธอเองน่าจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้เด็กหนุ่มก่อเรื่องร้ายแรงขึ้น แต่พอตำรวจสอบปากคำมาซายูกิ มันกลับกลายเป็นหนังคนละม้วนที่ออกจะปร่าแปร่ง ดูเหมือนเส้นแบ่งระหว่างความ ‘ใส่ใจ’ ในมุมมองของยูกินะ กับความ ‘สาระแน’ จากมุมมองของมาซายูกิ บางทีก็ต่างกันเพียงนิดเดียว เพียงเพราะยูกินะถูกสั่งสอนให้มีน้ำใจ ทั้งมีความคาดหวังในตัวผู้ชาย เธอจึงกล่าวโทษตัวเองว่า หากยังให้ความใส่ใจมายาซูกิ เขาก็คงไม่ก่อเหตุร้ายขึ้นเช่นนี้ เธอเลือกให้คุณค่าต่อตนเองโดยการสร้างความเชื่อว่า เธอมีอิทธิพลต่อมายาซูกิ เรื่องสั้นเรื่องนี้เสียดสีความเป็น ‘ผู้หญิงดี’ ที่ทึกทักไปเองได้อย่างเจ็บแสบ
เรื่องต่อมาคือ ‘คนใจดี’ เล่าถึงตัวละครโทโมฮิโกะ อาซูมิ โดยใช้มุมมองของเพื่อนๆ ผู้ร่วมงาน และความคิดของตัวเธอเองสลับกันไปมา อาซูมิเป็นหญิงที่ถูกแม่บงการมาตั้งแต่เด็ก ให้ต้องแสดงน้ำใจกับเพื่อนผู้ชายทั้งที่เธอไม่เต็มใจ เช่น เวลาเดินไปโรงเรียน ก็ต้องเดินจูงมือกับเด็กชายที่ปล่อยน้ำมูกไหลย้อยตลอดเวลา ต้องเป็นเพื่อนกับเด็กชายที่มีปัญหาอาเจียนในห้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่อาซูมิถูกปลูกฝังมาแบบนี้จนถึงวัยทำงาน อาซูมิขึ้นชื่อว่าเป็นคนใจดี มีน้ำใจ สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วยได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เธอถูกอบรมฝังหัวนั้นกลายเป็นความเก็บกดไม่พอใจ กลายเป็นแรงสะท้อนที่ระเบิดออกมาอย่างรุนแรงแบบคาดไม่ถึง
ทั้งสองเรื่องนี้คือภาพสะท้อนแรงกดดันหรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำกับผู้หญิงให้เป็น ‘ผู้หญิงดี’ อันมีที่มาจากผู้หญิงถ่ายทอดสั่งสอนกันเอง โดยมีกรอบของปิตาธิปไตยครอบงำไว้อีกชั้นหนึ่ง
พลังขับเคลื่อน
จุดเด่นในงานของคะนะเอะ คือความซับซ้อนในอารมณ์หญิง ที่ซ่อนความรุนแรงไว้ภายใต้ใบหน้านิ่งสงบหรือมารยาทเคร่งจัดทุกกระเบียดนิ้ว ภาพของผู้หญิงลักษณะนี้ชัดเจนในนวนิยายเล่มแรกของเธอคือ ‘คำสารภาพ’ หรืออีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความซับซ้อนอารมณ์หญิงอย่างชัดเจนคือ ‘ชดใช้’ นิยายที่ว่าด้วยแม่คนหนึ่งที่ผูกใจอาฆาตเด็กหญิง 4 คนที่แม่ป้ายความผิดว่าทำให้ลูกสาวของเธอถึงแก่ความตาย จนเด็กหญิงทั้งสี่มีปมฝังใจไปจนโต และต่างก็ชดใช้บาปที่ตัวเองไม่ได้ก่อในรูปแบบต่างกัน ก่อนจะจบด้วยบทสรุปที่คาดไม่ถึง
บ่อยครั้งที่ความริษยาเป็นอารมณ์ที่มักจะนำเสนอในตัวละครหญิง แต่พลังขับเคลื่อนของความริษยานั้น ก็อาจไม่ได้เป็นผลด้านลบหรือการทำลายล้างเสมอไป ในเรื่องสั้น ‘เพื่อนแท้’ ฉายภาพแรงริษยาที่ปลุกให้คนคนหนึ่งมีความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะ เรื่องราวของสองนักเขียนหญิงหน้าใหม่ที่พยายามแข่งขันกันว่า บทละครของใครจะชนะและได้รับเลือกไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ จากคู่แข่งที่ไม่เคยรู้จักกัน วิจารณ์งานกันและกัน กลายเป็นฝ่ายหนึ่งเกิดแรงริษยาที่อีกฝ่ายประสบความสำเร็จ และใช้พลังด้านมืดนั้นผลักดันให้ตัวเองชนะให้จงได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม
คะนะเอะเลือกใช้วิธีพลิกพล็อตเรื่องนี้ให้จบได้อย่างคาดไม่ถึง ตอกย้ำให้เห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนพลังด้านมืดให้กลายเป็นทางสว่างได้ อยู่ที่จะเลือกใช้ เรื่อง ‘เพื่อนแท้’ จึงนับเป็นเรื่องสั้นภายในเล่มนี้ที่ดูจะมีด้านบวกและความหวังอยู่บ้าง
‘ด้วยรักและความตาย’ ของ มินะโตะ คะนะเอะ เป็นรวมเรื่องสั้นที่น่าติดตาม จะแค่อ่านเอาเพลิน เพื่อเจอการหักมุมจบแบบคาดไม่ถึง—เพียงเท่านั้นก็ได้ แต่ลึกลงไป มันเป็นการตีแผ่อารมณ์และความรู้สึกของผู้หญิงและความจริงในสังคมที่ยังคงปรากฎอยู่ นั่นคือความรุนแรงเชิงโครงสร้างปิตาธิไปไตยที่กดทับ ซ้ำรอยกับการที่ผู้หญิงยังคงกระทำต่อกันเองผ่านรุ่นสู่รุ่น นับเป็นปัญหาซ่อนเร้นที่แม้แต่บางที—ผู้หญิงเองก็ยังไม่รู้ตัว