(1)

“คุณเชื่อจริงๆ เหรอว่า ‘เขา’ จะยอมให้พิธาได้เป็นนายกฯ” 

ผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดกับผมหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ไม่นานนัก เป็นประโยคแรกที่ผมนึกถึงหลังจากอ่าน The Almost Prime Minister หนังสือเล่มใหม่ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จบ

ในหนังสือ พิธาเล่าเรื่องตัวเองคู่ขนานกับสถานการณ์ นับตั้งแต่วันที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาฯ การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ไปจนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ด้วยข้อหาล้มล้างการปกครอง

ระยะเวลา 1 ปีสั้นๆ แต่เป็นช่วงเวลาที่การเมืองปั่นป่วนที่สุด ปั่นป่วนก็เพื่อทำอย่างเดียวคือ ไม่ให้แนวคิดทางการเมืองแบบ ‘ส้ม’ มีพื้นที่ในฝ่ายบริหาร และไม่ให้แนวคิดทางการเมืองแบบ ‘ส้ม’ มีพื้นที่ในฝ่ายนิติบัญญัติมากจนเกินไป

เพราะชนชั้นนำไทยเชื่อว่าพวกเขา ‘ไม่ปลอดภัย’ และ ‘ตกใจ’ หากพรรคก้าวไกลจะได้อำนาจฝ่ายบริหารจริง

พิธาเลือกเล่าเรื่องโดยแทรกชีวิตของเขาเอง กับการเตรียมความพร้อมที่จะเป็น ‘นักการเมือง’ ตั้งแต่วัยเยาว์ แพสชันส่วนตัวที่เกี่ยวกับการเกษตร การแปรรูปสินค้าเกษตร การปราศรัยว่าด้วย ‘กระดุม 5 เม็ด’ อันลือลั่น ไปจนถึงบันทึกเหตุการณ์ชั้นดี ตัดสลับกับข่าวและความรู้สึกส่วนตัวที่เขา Reflect เห็น ในวันที่มรสุมทางการเมืองถาโถมเข้ามา

เมื่อเป็น Political Memoir หลากสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตพิธาถูกนำมาผูกโยงกับหนังสืออย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นเพลงของ Coldplay, ศรีราชาร็อกเกอร์ส, ไมลส์ เดวิส (Miles Davis) หรือหนังอย่าง Aftersun (2565) ถูกนำมาผูกกับห้วงเวลาต่างๆ ในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงคิดนโยบาย ช่วงเดินทางหาเสียง กระทั่งช่วงเวลาแห่งความ ‘พ่ายแพ้’ ได้เป็นอย่างดี

หาก The Almost Prime Minister เป็นหนังสักเรื่อง เสมือนที่พิธาบอกว่าชื่อ The Almost มาจากหนังดังของ คาเมรอน โครว์ (Cameron Crowe) เรื่อง Almost Famous (2543) นี่ก็คงเป็นบทภาพยนตร์ชั้นดี มีตัวละคร มีอุปสรรค มีจุดคลี่คลาย มีจุดหักมุม กระทั่งจบแบบไม่สมหวัง

เสียแต่ว่านี่เป็นเรื่องจริงที่คนไทยต้องเจอกันอยู่ทุกวัน และเราก็ยังอยู่ในการเมืองแบบเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน แย่และไร้ความหวังยิ่งกว่าปี 2566 ที่หนังสือเรื่องนี้เริ่มเดินเรื่องด้วยซ้ำ

(2)

อันที่จริง ผมกับทีมที่ The Momentum รู้จักพิธาในฐานะเครื่องผลิต ‘โควต’ 

วันใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าพิธาจะขึ้นปราศรัยในสภาฯ จะมีคนมอนิเตอร์ และตัวผมเองก็มอนิเตอร์ว่าเขาจะพูดอะไร เพราะทุกคำพูดดูเหมือนจงใจให้สื่อมวลชนในยุคออนไลน์สามารถสร้าง ‘โควต’ ได้ และแน่นอนนั่นทำให้พวกเราหลายคนรู้สึกแกม ‘หมั่นไส้’ หมั่นไส้ว่าวันนี้พิธาจะผลิตโควตอะไรเท่ๆ อีก

หนึ่งในโควตอันลือลั่นของพิธาคือ ‘กงล้อแห่งกาลเวลา’

“ท้ายที่สุดนี้ ผมขออวยพรผ่านไปยังผู้มีอำนาจทุกท่านที่เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไว้ได้ ผมขออวยพรให้ท่านมีอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้กับตาตัวเองว่า ผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่านว่าอย่างไรในประวัติศาสตร์ของชาติเรา” ที่เขาพูดกับที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ที่ผลตามมาด้วยการ ‘คว่ำ’ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

แต่พิธาในแบบฉบับตัวหนังสือไม่ได้ผลิตเพียงโควต แต่ยังคมคายและลุ่มลึก เหมือนกับตกผลึกอะไรได้หลายอย่าง

“ผมคาดการณ์ได้ว่าภารกิจนี้จะหนักหนาและจะลงเอยสาหัสกว่าที่คาดแน่นอน ขณะเดียวกันก็อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ มันเหมือนความฝันอะไรสักอย่างที่เราทุ่มเททั้งชีวิต รอคอยมาเนิ่นนานจนเกือบจะลืมไปแล้ว แต่แล้ววันหนึ่งมันก็คือพรุ่งนี้ วงล้อประชาธิปไตยกำลังจะหมุนไปข้างหน้าอีกครั้ง ความเป็นไปไม่ได้จำต้องหลีกทางให้กับความเป็นไปได้ ประชาธิปไตยสวยงามตรงนี้” พิธาเขียนในหนังสือว่าด้วยการเริ่มต้นใหม่ในฐานะ ‘หัวหน้าพรรค’ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้ง 2566 มีคนชวนผมวิเคราะห์หลายครั้งว่าเพราะเหตุใด พรรคก้าวไกลถึงได้เอาชนะพรรคเพื่อไทยไปได้ในโค้งสุดท้าย จนกลายเป็นครั้งแรกที่พรรคเครือข่าย ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ต้องพ่ายในการเลือกตั้ง

คำตอบที่ผมอธิบาย นอกเหนือจากแนวคิดทางการเมืองแบบ ‘ส้ม’ ที่ว่าด้วยการพูดประเด็นโครงสร้างแบบตรงๆ ก็คงเป็นด้วยคนแบบพิธา

เขาไม่ใช่นักการเมืองแบบเดิมๆ ที่เราได้เห็นมา 30-40 ปีก่อน ไม่ได้มีบุคลิกนักปฏิวัติแบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่มีลักษณะความเป็น ‘สตาร์’ อยู่ในตัว เขาหนุ่ม เขามีพลัง เขาตอบคำถามอย่างฉะฉานทุกเรื่อง

เมื่อผสมผสานกับกระแสคนเบื่อพลเอกประยุทธ์ถึงขีดสุด พวกเขาจะต้องหาอะไรที่ตรงกันข้ามกับพลเอกประยุทธ์มากที่สุด ซึ่งคำตอบก็หนีไม่พ้น ‘พิธา’

นั่นจึงเป็นเหตุแห่งความ ‘ตกใจ’ ของชนชั้นนำ เมื่อพรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งในช่วงค่ำวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

(3)

“คนแรกกรุยทางให้กับคนต่อไป ก่อนหน้าผมคือธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์ ฯลฯ ก่อนหน้าพวกเขาก็มีคนอีกมากมายที่เคยพยายามทำให้การเมืองเป็นเรื่องของความหวัง คุณอาจเห็นต่างจากนี้ก็ไม่เป็นไร ผมก้าวย่างตามรอยทางที่พวกเขาถางไว้ ผมจึงเห็นแบบนี้ และเราไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน 

“คุณอาจเดินตามรอยทางของวีรบุรุษในดวงใจคนไหนก็ตาม ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์เสมอ ตราบที่เราหวังจะเห็นภาพใหญ่เดียวกัน ผมเชื่อว่านั่นคือจุดร่วมและจุดเริ่มที่จะทำให้ประเทศเราไปต่อกันได้ แม้ผมจะพ้นเวทีนี้ไปแล้ว ช้าหรือเร็วทุกคนจะพ้นเวทีเสมอในวันหนึ่ง สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่วันไหน แต่อยู่ที่เราได้สร้างอะไรใหม่และฝากอะไรทิ้งไว้หรือเปล่า กล่าวสำหรับตัวผมเอง ผมแน่ใจว่าได้ถางเส้นทางใหม่ที่ไม่มีใครเดินมาก่อน

“แม้เส้นทางของผมจะเต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่มีกุหลาบสักกลีบเดียว และยังสั้นแสนสั้น แต่คุณรู้หรือเปล่า ว่ามันเชื่อมโยงไปมหาสมุทร”​

นี่คือส่วนที่อ่านแล้วชวนให้ย้อนมองกลับหาตัวเองคือ ความเชื่อว่า ‘การเมืองไทย’ เปลี่ยนได้ และเป็นเรื่องของทุกคน 

ผมกลับมาทำงานสื่ออีกครั้ง เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวบนท้องถนนในปี 2563 ถ้าไล่เรียงไทม์ไลน์ก็ใกล้เคียงกับตอนที่พิธาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ผมก็เชื่อลึกๆ ว่า เราจะเปลี่ยนวงการสื่อได้ และถ้าสื่อดีก็จะเป็นหนึ่งในเส้นทางในการเปลี่ยนการเมืองให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราใช้คำว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ ทุกอย่างจะดีขึ้น

ทว่า 4 ปีผ่านไป ทุกอย่างมีแต่แย่ลง พิธาโดนตัดสิทธิทางการเมืองไป 10 ปี ส่วนผมก็อยู่ในวังวน ในธุรกิจสื่อที่ก็ยากพอๆ กับธุรกิจอื่น

สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในห้วงเวลาที่น่าท้อแท้ที่สุดแล้ว… ในเวลาเดียวกัน ‘ชนชั้นนำ’ ที่กุมสภาพการเมืองต้องการคนที่ ‘เชื่อง’ กว่าพิธาเข้ามาทำหน้าที่ และสุดท้ายแม้แต่คนที่ชนชั้นนำ ที่ ‘เขา’ เป็นคนเลือก เขาเองก็กลับไม่ไว้วางใจ 

แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณไม่สามารถเบื่อการเมือง คุณไม่สามารถทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็น ‘เรื่องปกติ’ ได้ ตราบใดที่คุณเริ่มรู้สึกชาชิน คุณจะไร้ความหวังซึ่งการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่คุณรู้สึกสิ้นหวัง พวกเขาจะจัดวางโครงข่ายให้แนบเนียนขึ้น รู้ตัวอีกทีทุกอย่างก็แย่ลง โดยที่คุณไม่มีโอกาสแก้อะไรเลย

“หน้าประวัติศาสตร์การเมืองของเราเป็นเหมือนละครน้ำเน่าที่ฉายวนซ้ำ พล็อตเรื่องเก่าแก่ แค่เปลี่ยนตัวแสดงไปเรื่อยๆ ในเวลาแบบนี้เองที่คนดูจะกดรีโมตปิดโทรทัศน์ เลิกดูดีกว่า และนั่นก็คือสิ่งที่ผู้สร้างละครต้องการที่สุด

“ไม่ว่าจะสิ้นหวังขนาดไหน ผมจึงขอร้องทุกคนเสมอว่าอย่าถอดใจ อย่าทิ้งการเมือง เพราะเมื่อไรที่คุณทิ้งการเมืองการเมืองจะทิ้งคุณ จากนั้นก็จะเหมือนเราเอาประเทศมาวางใส่พาน ถวายให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว” หน้า 182 บท SurrealPolitik

(4)

“คุณเชื่อจริงๆ เหรอว่า ‘เขา’ จะยอมให้พิธาได้เป็นนายกฯ” ผมกลับมานั่งนึกถึงคำถามนี้อีกครั้ง ของผู้ใหญ่ท่านเดิม

ผมเคยนั่งคุยกับพิธาเมื่อหลายปีก่อน เขายืนยันอีกครั้งว่า เขาไม่ใช่คนที่หวังเป็น ‘นักธุรกิจ’ แต่แพสชันทั้งชีวิตของเขาคือการเป็น ‘นักการเมือง’ และในรอบหลายสิบปีมานี้ก็หาคนอย่างเขาได้ยาก

เราคุยกันไปถึงเรื่องหนัง พิธาชอบ The Ides of March (2544) หนังเรื่องเดียวกับที่ผมชอบ 

“แล้วมันเป็นอย่างในหนังจริงไหม” ผมถามพิธา 

“ก็มีส่วน…” พิธายิ้มแล้วตอบกลับ

ผมไม่แน่ใจว่า สิ่งที่พิธาเจอในโลกแห่งความเป็นจริงคล้ายกับในหนังหรือไม่ แต่ถ้าคุณดูหนังเรื่องนั้น จะเข้าใจคำว่า Realpolitik ได้ประมาณหนึ่ง

ถึงวันนี้ หลายปีผ่านไป หากย้อนกลับไปมองพิธา เขาอาจจะไม่ใช่นักการเมืองที่คมที่สุด เก่งที่สุด แต่เขาคือคนที่ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่อง ‘ป็อป’ ที่สุด จุดไฟความหวังให้กับอีกหลายคนให้สนใจการเมือง เป็นคนกรุยทางแบบที่เขาเขียนถึงเพื่อนร่วมงานก่อนหน้านั้น 

ในเวลาเดียวกัน พิธายังสามารถสื่อสารนโยบายของซีกความคิดอนาคตใหม่ ซีกก้าวไกล จนทำให้เรื่องยากๆ อย่าง สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม กระทั่งการแก้ไขหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กลายเป็นเรื่องที่คนพูดถึงทั้งประเทศ กลายเป็นวาระทางสังคม กระทั่งความป็อปดังกล่าว ถูกทำให้ป็อปจนเกินไป และในที่สุดฝ่ายตรงข้ามก็ต้องกลับมา Label พรรคนี้อีกทีให้เป็น ‘พรรคปฏิวัติ’ 

แบบเดียวกับที่พวกเขาตัดสิทธิพิธาและกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เพราะพวกนี้เป็นพวก ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

สิ่งที่ทำให้ The Almost Prime Minister พิเศษอีกอย่างคือ บทสุดท้ายที่ Avocado Books ชวนพิธาเขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคต ในวันที่ 6 สิงหาคม 2577 วันสุดท้ายก่อนที่เขาจะพ้นโทษแบน

จดหมายของพิธาอาจเป็นเรื่องของเขา ชีวิตของเขา ลูกสาวของเขา แต่คำถามที่พวกเราต้องตอบอนาคตที่เราต้องสร้างคือ อีก 10 ปีข้างหน้า การเมืองไทยจะยังล้มลุกคลุกคลานแบบนี้ไหม เศรษฐกิจ-สังคมจะเป็นอย่างไร และถึงเวลานั้น หากการเมืองยังเป็นแบบ 20 ปีที่ผ่านมา เราจะ ‘เบื่อ’ การเมืองหรือยัง 

The Almost Prime Minister จึงไม่ใช่แค่เรื่องของพิธาคนเดียว แต่เป็นเรื่องของพวกเรา เป็นเรื่องของคุณทุกคน

ทุกคนที่ไม่ยอมจำนน

Fact Box

The Almost Prime Minister, ผู้เขียน: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, Avocado Books, 352 หน้า, ราคาปก 370 บาท

Tags: , , , , , , , , , ,