1.
ย้อนกลับไปตั้งแต่ผมไปม็อบครั้งแรกๆ นอกจากจะมีร้านขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องประเภทเสื่อ พัด นกหวีด ตีนตบ ฯลฯ แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือร้านขาย ‘หนังสือเก่า’ ที่เกี่ยวกับการเมืองในอดีต และไม่สามารถหาอ่านได้ง่ายๆ อีกแล้ว จนถึงวันนี้ ผ่านมา 10 กว่าปี ร้านหนังสือเก่าประเภทนี้ยังคงอยู่เคียงข้าง ‘ม็อบ’ อย่างน่าเหลือเชื่อ
“ไม่เอาเล่มนี้ไปด้วยเหรอ เรื่องนี้เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ” ลุงคนขายเชื้อเชิญให้หยิบหนังสือเล่มนี้ไปด้วย ระหว่างที่ผมกำลังจ่ายเงินซื้อหนังสืออีกเล่มระหว่างเข้าร่วมม็อบที่หน้าศาลอาญา แม้จะห่อพลาสติกไว้ และแม้จะเคยได้ยินชื่อของ ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’ คนเขียนเพียงแค่ผิวเผินว่าเป็นผู้นำแรงงานคนหนึ่ง แต่เมื่อได้ยินว่าเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ผมก็ตัดสินใจซื้อทันที
จากคุกถึงคุก พิมพ์ในปี 2522 เป็นบันทึกจาก ‘นักโทษการเมือง’ หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ชื่อ ‘อารมณ์ พงศ์พงัน’ อารมณ์เป็นผู้นำสหภาพแรงงาน เป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวง เป็นรองสหภาพกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย และถูกตัดสิน ‘จำคุก’ ไม่นานนัก หลังจากการรัฐประหารโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ที่มี ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี และพลพรรค ‘ขวาจัด’ เป็นรัฐบาล
ภายหลังการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาและผู้นำแรงงาน เพื่อนของอารมณ์จำนวนมากหลบหนีเข้าป่า ในเวลานั้น ศัตรูของ ‘ฝ่ายขวา’ ที่สำคัญคือ ‘สามประสาน’ ได้แก่ ผู้นำแรงงาน ผู้นำเกษตรกร และนักศึกษา ทำให้จำนวนไม่น้อยเลือกเส้นทางไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะอยู่ไปก็ไม่ปลอดภัย หากไม่ติดคุกก็อาจถูกอุ้มหรือถูกลอบสังหารเอาได้ง่ายๆ
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 3,000 คน ขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารยังได้สร้างกระบวนการ(อ)ยุติธรรม ของตัวเองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ไปจนถึงการขยายอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา และระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลทหารนั้น ผู้ต้องหาไม่สามารถตั้ง ‘ทนาย’ ของตัวเองได้ ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้าข่ายตกเป็นจำเลยของกระบวนการอยุติธรรมนี้หลายคน ตัดสินใจหนีเข้าป่า ที่ซึ่งพวกเขารู้สึกว่าปลอดภัยกว่า และเป็นมิตรกว่า ‘ระบบศาล’ ของประเทศนี้
แต่อารมณ์เลือกที่จะไม่หนี เขาไม่คิดว่าตัวเขาทำอะไรผิด วันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น อารมณ์อยู่ที่บ้าน ไม่ได้ข้องแวะอะไรกับเหตุการณ์ในธรรมศาสตร์เลย และตัวเขาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการเคลื่อนไหวของ พคท. ในเมือง แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้างภายหลังการรัฐประหาร อารมณ์ก็กลายเป็น ‘เหยื่อ’ ทันที
2.
วันที่ 15 ตุลาคม 2519 ตำรวจจับอารมณ์จากบ้านพักที่หมู่บ้านนักกีฬา พร้อมกับผู้นำแรงงาน นักหนังสือพิมพ์ (หนึ่งในนั้นคือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จัตุรัส) และนักวิชาการ ด้วยข้อหากระทำการเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร โดยแยกเขาไว้ที่เรือนจำชั่วคราวที่เศรษฐศิริ
ถึงตรงนี้ อารมณ์เล่าเรื่องคู่ขนานถึงชีวิตวัยเยาว์ของเขาสมัยยังเป็นเด็ก อยู่ที่อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเขาไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ เพราะฐานะที่บ้านยากจนมากเกินไป เมื่อพ่อและแม่ส่งพี่ชายเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แล้ว ก็ไม่เหลือเงินส่งให้เขาเรียน ม.7 และ ม.8 ต่อ เลยต้องไปอาศัยทำงานเป็นเกษตรกร เป็นคนงานอยู่ในไร่มันสำปะหลัง เพื่อรับเงินเดือนเดือนละ 200 บาท ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็นค่าแรงที่ ‘เอาเปรียบ’ คนงานมาก
“เจ้าของไร่นอกจากจะมีเงินเหลือเฟือจากการกำไรการขายผลผลิตมันเส้นแล้ว เขายังมีกำไรจากการค้าแรงงานอีกด้วย” อารมณ์เขียนไว้ในหนังสือ
เพราะฉะนั้น เขาจึงเขียนจดหมายไปถึงพี่ชายเขาทันที ให้ ‘ปลดปล่อย’ เขาออกจากไร่มันสำปะหลัง เพื่อส่งเขาเรียนต่อให้จบชั้นมัธยม และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานแบบนี้ไปตลอดชีวิต
เรื่องความไม่เท่าเทียมติดอยู่ในใจของเกษตรกร ของชนชั้นแรงงาน และของนักศึกษา จนได้คำตอบว่า หากเปลี่ยน ‘การเมือง’ ไม่ได้ ช่องว่างระหว่าง ‘ชนชั้น’ ของประเทศนี้ก็จะห่างขึ้นเรื่อยๆ คนจนในต่างจังหวัดจะจนดักดาน ไม่ได้รับโอกาสใดๆ ในการมีชีวิตที่ดีกว่านี้
กลับมาที่ปี 2519 อีกครั้ง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขบวนการแรงงานเติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในยุค ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ แรงงานเริ่มรวมตัวกันเพื่อจัดตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’ กันหลายแห่ง รวมถึงที่การประปานครหลวงที่อารมณ์ทำงาน เพื่อต่อรองกับการเอารัดเอาเปรียบของนายจ้าง สิ่งที่สหภาพแรงงานของเขาทำสำเร็จในระยะเวลาสั้นๆ ก็คือการเพิ่ม ‘ค่าแรง’ การเปลี่ยนสัญญาจ้างให้เป็นธรรม ปรับขึ้นค่าครองชีพพนักงานให้เท่ากับรัฐวิสาหกิจข้างเคียงอย่างการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงส่งตัวแทนสหภาพไปเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสวนความผิดของพนักงาน ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ
แต่การเติบโตของขบวนการแรงงานก็จบลง ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขบวนการแรงงานทั้งขบวนการถูกมองว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ผู้นำแรงงานถูกทยอยจับกุมเข้าเรือนจำ เพราะรัฐมองว่าเป็นพวกเดียวกับนักศึกษา ในเวลาใกล้เคียงกัน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครู หรือชาวบ้านธรรมดา ต่างถูกนำมาขังคุกตามคำสั่งคณะรัฐประหารเช่นเดียวกับอารมณ์ในยุคนั้น ถ้าไม่พอใจใครก็แค่ใส่ไฟว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’
หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมพร้อมๆ กับอารมณ์นั้น คือ ‘สุภาภรณ์’ สุภาภรณ์เป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในเวลานั้นเธอได้ ‘สองขั้น’ ส่งผลเพื่อนในแผนกอิจฉา เลยใช้ข้ออ้างที่เห็นเธอชอบอ่านหนังสือการเมือง โทรบอกยามที่หน้าองค์การโทรศัพท์ฯ ให้ควบคุมตัวส่งตำรวจในข้อหาคอมมิวนิสต์
นั่นคือช่วงเวลาหนึ่งที่สังคมไทย ‘ประสาทหลอน’ กันได้ถึงขั้นนั้น
3.
ผ่านไปนาน 2 เดือน อันที่จริงอารมณ์ควรจะได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ รวมถึง ‘สุภาภรณ์’ เพราะครบกำหนดการ ‘ฝากขัง’ ของคณะปฏิรูปการปกครองเรียบร้อย ผู้ต้องขังจำนวนมากได้รับการทยอยปล่อยตัวออกไป ภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ว่าจะดำเนินคดีอะไรต่อไปได้อีก
แต่ไม่ใช่อารมณ์ เขาถูกจับกุมต่อด้วย 9 ข้อหาหนัก อาทิ ‘ร่วมกันฆ่าผู้อื่น’ ‘ร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงาน’ ‘สะสมกำลังพลเป็นกบฏ’ พร้อมกับถูกส่งไปควบคุมตัวต่อที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ร่วมกับนักศึกษาที่ถูกจับกุมในเวลานั้นคนอื่นๆ เช่น สุธรรม แสงประทุม, ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ โรดแมปของรัฐบาลธานินทร์ คือจัดการกับพวกคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาดเป็นเวลา 12 ปี นั่นหมายความว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อารมณ์และบรรดานักศึกษาจะต้องอยู่ในคุกแห่งนี้ไปนานเกินทศวรรษ
อารมณ์บอกว่า ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนนั้นถือเป็นรัฐอิสระ ปราศจากการควบคุมโดยตรงทั้งจากกรมราชทัณฑ์ ทั้งจากกรมตำรวจ ใช้ ‘ความพึงพอใจ’ ของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมเท่านั้น ในการปกครองคุก ณ เรือนจำพลเรือนบางเขน นักโทษส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่บังเอิญอยู่ผิดที่ผิดเวลา
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏ 20 มีนาคม 2520 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป นายทหารระดับสูงและนักการเมืองจำนวนมากถูกนำตัวมาไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนด้วยสถานะ ‘นักโทษการเมือง’ เช่นเดียวกัน คนเสียงดังกว่าค่อยๆ เปลี่ยนคุกไปในแนวทางดีขึ้น
และในช่วงครึ่งหลังของปี 2520 สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปอีก รัฐบาลธานินทร์ถูกกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ ลูกพี่ใหญ่ที่คอยสนับสนุนมาโดยตลอด ประชาคมโลกเริ่มจับตามองการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย รวมถึงการพิจารณาคดี ‘6 ตุลาฯ’ อย่างใกล้ชิด ในที่สุด คดี 6 ตุลาฯ ก็ถูกโอนจากศาลทหาร ไปยังศาลพลเรือน
แต่เอาเข้าจริง ในเวลานั้น ทุกอย่างยังดีกว่าวันนี้ การพิจารณาคดี 6 ตุลาฯ ดำเนินไปอย่างเปิดเผย ตัวแทนจากสถานทูตจำนวนมาก กระทั่งสื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากยังสามารถเข้ารับฟังได้ ไม่ได้เหมือนวันนี้ ที่แม้แต่ญาติของผู้ต้องขังยังไม่สามารถเข้าใกล้ได้
4.
เรื่องเริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกรอบในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 จากพลเรือเอกสงัดคนเดิม ที่เห็นว่ารัฐบาล ‘ขวาจัด’ ของธานินทร์เริ่มไปไม่ไหว ในที่สุดก็มีการเจรจาเพื่อลดแรงกดดัน และยุติคดี 6 ตุลาฯ ที่ขมึงเกลียวมากขึ้น หลังหลักฐานหลายอย่างเริ่มมัดว่าไม่ใช่ฝ่ายนักศึกษาที่ใช้ความรุนแรง และมีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐหรือมวลชนที่รัฐจัดตั้งเท่านั้นที่ใช้อาวุธสงคราม
ในที่สุด ผู้ต้องหา 18 คนสุดท้ายก็ได้รับการปล่อยตัว ภายหลังทหาร ‘สายเหยี่ยว’ และ ‘สายพิราบ’ ต่อสู้กันอย่างหนักว่าจะจัดการนักศึกษาทั้งหมดอย่างไร เมื่อหาข้อกฎหมายมาบ่งบอกความผิดไม่ได้ แต่นั่นก็กินเวลานานเกือบ 2 ปี ต้องรอให้ถึงวันที่ 16 กันยายน 2521 เมื่อรัฐบาลเกรียงศักดิ์ตัดสินใจออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ซึ่งนิรโทษกรรม ‘ทุกคน’ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้การสังหารหมู่วันนั้นไม่มีใครต้องรับผิด ส่วนบรรดานักศึกษาและผู้นำแรงงานอย่างอารมณ์ ก็ติดคุกฟรีไปนานกว่า 2 ปี โดยนายกฯ เกรียงศักดิ์ บอกเพียงว่าขอให้คิดว่าเป็น ‘ฝัน’ ที่ผ่านไปเท่านั้น
หลังออกจากคุกและเสียเวลาไปนานกว่า 2 ปี อารมณ์ผู้สูญเสียทุกอย่างพยายามกลับมาขับเคลื่อนสหภาพแรงงานและสภาองค์การลูกจ้างอีกครั้ง แต่ชีวิตของอารมณ์กลับไม่ได้ยืนยาวนัก เมื่ออยู่ในคุก เขาไม่ได้รับการดูแล ‘โรคประจำตัว’ หลายโรคอย่างที่ควรจะเป็น โรคมะเร็งตับของอารมณ์เริ่มกำเริบขึ้นในปี 2522 ทำให้เขาต้องเข้า-ออก โรงพยาบาลตลอดเวลา อารมณ์เสียชีวิตในวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ด้วยวัยเพียง 34 ปี คงเหลือเพียงชื่อของเขา กลายเป็นชื่อมูลนิธิสำหรับดูแลสวัสดิภาพแรงงานตามเจตนารมณ์ตลอดทั้งชีวิตของเขาเท่านั้น
“ความจริงแล้วผมสมควรจะหนี หนีไปให้ไกลจากอำนาจอันไม่ถูกต้องทางด้านการเมือง หนีไปให้ไกลเสียจากการใส่ร้ายป้ายสีทางด้านการเมืองอันแสนจะเลวทราม ทุกๆ ครั้งที่ผมเกิดความรู้สึกทำนองนี้ขึ้นมา ข้อสรุปก็กระจ่างอยู่ภายในจิตใจของผม ทำไมเราต้องหนีคนชั่ว? ทำไมเราต้องหนีคนเลวทราม? ทำไมเราจึงปล่อยให้ความระยำตำบอนต่างๆ ภายในสังคมนี้ขึ้นมามีอำนาจ มีอิทธิพลเหนือเราเล่า?”
“การเอาตัวรอดมันอาจจะทำให้เรามีความสุขชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือตลอดไปในชีวิตของเรา แต่ความชั่วช้านั้น มันจะเกาะกินสังคมตลอดกาล ลูกหลานเหลนคนรุ่นใหม่ในสังคมนี้อีกเล่า ใครจะรับผิดชอบอนาคต ใครจะเป็นผู้ปลดเปลื้องความชั่วนั้นให้แก่เขา คนรุ่นเรามีหน้าที่เช่นนั้นไม่ใช่หรือ” อารมณ์เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ
จนถึงวันนี้ ผ่านมา 42 ปี หลังหนังสือเล่มนี้วางขาย และผ่านมา 41 ปี หลังอารมณ์เสียชีวิต แต่ดูเหมือนว่า ‘ความชั่วช้า’ ที่ถูกบรรยายไว้ในหนังสือในนามของกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้หายไปไหน กระบวนการนี้ยังคงมืดมนเหมือนเดิม วังวนของการรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ ในนามของการ ‘รักษาความสงบ’
หากยังไม่สามารถทำอะไรได้ อีก 40 ปีข้างหน้า ลูกหลานเราอาจต้องกลับมาย้อนอ่านหนังสือของเราในยุคนี้ และอ่านย้อนกลับไปอีก 80 ปี ในหนังสือของอารมณ์ เพื่อที่จะพบว่า ความชั่วช้าและชั่วร้ายทุกอย่างยังคงถูกผลิตซ้ำแบบเดิม
เราคงไม่ต้องการให้เกิดสภาพแบบนั้นแน่ๆ
Fact Box
- อารมณ์ พงศ์พงัน เป็นรองประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง และเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2518 - 2519
- หลังอารมณ์เสียชีวิตได้ 2 ปี มีการก่อตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ก่อตั้งโดยการริเริ่มของผู้นำคนงาน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับอารมณ์ และนักต่อสู้ด้านสิทธิแรงงานทุกคน มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ยังมีภารกิจในการปกป้องสิทธิแรงงาน จนถึงทุกวันนี้
- จากคุกถึงคุก , ผู้เขียน อารมณ์ พงศ์พงัน, สำนักพิมพ์หนุ่มสาว, ปีที่พิมพ์ 2522, ราคาปก 15 บาท