(1)

เมื่อหลายปีก่อน ทาง Documentary Club นำหนังสารคดีเรื่อง The Act of Killing จากอินโดนีเซียมาฉาย หนังที่บรรดาฝ่ายขวาจำนวนมากยังรู้สึกถึงชัยชนะได้กลับมาจำลองเหตุการณ์ การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย ระหว่างปี 1965 – 1966 ซึ่งประมาณการแล้วน่าจะมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 แสนคน พร้อมกับเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมตัวเองอีกครั้ง

แน่นอน เรื่องราวในหนังทำให้ผมอดนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้ ทั้งด้วยการสังหารคอมมิวนิสต์เหมือนกัน การใช้พฤติกรรมดูหมิ่นเหยียดหยามลดทอนความเป็นคนของฝ่ายคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่ที่ต่างกันก็คือฝ่ายขวาของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในอีก 30 – 40 ปีให้หลัง ไม่มีใครสักคนที่รู้สึกภูมิใจกับชัยชนะในวันนั้น หากแต่เลือกจะอยู่ในความเงียบ และส่วนใหญ่ มักจะบอกให้ลืมไปเสีย เพื่อความปรองดอง และความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบงำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาช้านาน

‘Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok’ หนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่ของธงชัย วินิจจะกูลอาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน หนึ่งในแกนนำนักศึกษาสมัย 6 ตุลาฯ เป็นหนังสือที่เจ้าตัว ยืนยันว่าต่างจาก ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลงซึ่งเขียนเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อปี 2558

ธงชัยพาเราเดินทางไปสำรวจความเงียบ ทบทวนห้วงเวลา และการรับรู้ของเหตุการณ์นี้ ตามระยะเวลาที่ผันผ่าน เพื่อหาคำตอบว่าทำไมผู้ถูกกระทำถึงเงียบในช่วงไม่กี่ปีหลัง ทั้งที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ, ทำไมฝ่ายผู้กระทำถึงไม่ได้มีความภาคภูมิใจทั้งที่กระทำในนามของความรักชาติไม่ต่างจากฝ่ายขวาในอินโดนีเซีย แล้วอะไรทำให้วันนี้ 6 ตุลาฯ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง

…..

(2)

ย้อนกลับไปสมัยที่ผมเรียนประถมฯ จำได้ว่ามีหนังสือรวมภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วางอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน หนังสือปกแดงๆ ไร้การเซ็นเซอร์ เต็มไปด้วยภาพสยดสยอง ซึ่งแน่นอน ไม่มีแบบเรียน ตำราเรียน หรือหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนเคยกล่าวถึงมาก่อน

นั่นเป็นช่วงปี 2542 – 2543 ไม่กี่ปีหลังการรำลึกครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ ในปี 2539 ที่ธงชัยอธิบายในหนังสือว่าเป็นการเปิดการสนทนาเรื่อง ‘6 ตุลาฯขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านั้น ทั้งสังคม ทั้งสื่อกระแสหลัก ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึง ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นั่นเป็นเวลาเดียวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีแคนดิเดทคนสำคัญคือ สมัคร สุนทรเวช ลงแข่งขัน สมัครถูกขุดอดีตเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ขึ้นมา ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่เช้าวันนั้น

แน่นอน สมัครปฏิเสธ เขาพูดมาทั้งชีวิตว่า เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เพราะวันนั้น ไม่ได้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่โชคร้าย เสียชีวิตเพียงคนเดียวจากการแขวนคอ

แต่การพูดถึง 6 ตุลาฯ ในวันนั้น และในสื่อกระแสหลัก ก็จำกัดวงผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อยู่ในวงแคบๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัคร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง หรือตำรวจตระเวนชายแดน ไม่มีใครอาจหาญไปขยายวงว่าแท้จริงแล้ว ใครที่อยู่เบื้องหลังกองกำลังจัดตั้ง หรือมีเหตุการณ์อะไรอื่นที่แวดล้อมเหตุการณ์สังหารโหดอีก ขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดวาระข่าวสาร ก็ดูจะพอใจกับการยุติวงไว้แค่นั้น

…..

(3)

แล้วความทรงจำอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป? ในช่วงเวลาไม่กี่ปีให้หลัง 6 ตุลาฯฝ่ายซ้ายหรือนักศึกษาผู้ถูกกระทำ จำต้องสยบยอมในความเงียบ งานรำลึก 6 ตุลาฯ ยังถูกห้ามจัด งานเสวนายังถูกห้ามให้อภิปราย เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี นานจนแม้แต่คนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นหลายคนยังยอมลืมๆไป  

ธงชัยพยายามหาเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร สถานะของ 6 ตุลาฯ ถึงต้องอยู่ในความเงียบงันขนาดนั้น ทั้งในมุมมองของความสงบเรียบร้อยมุมมองในทางพุทธศาสนา ว่าด้วยการปล่อยวางให้อภัย ไปจนถึงการสร้างความปรองดองทางการเมือง รวมถึงหนึ่งในตัวละครสำคัญที่มีอำนาจมากในเหตุการณ์นั้นมากจนปกคลุมเหตุการณ์นี้ไว้อย่างมิดชิด

ในแง่หนึ่ง คำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งออกมาในรัฐบาลพลเอก ธานินทร์ กรัยวิเชียร ในปี 2521เพราะเขียนชัดในกฎหมายว่าเพื่อความสามัคคีของคนในชาติซึ่งทำให้ธงชัยกับนักโทษคนอื่นๆ พ้นจากเรือนจำ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ หลังจากต้องเสียเวลาไปยาวนานหลายปี

ขณะที่อีกด้านหนึ่งฝ่ายขวาก็ไม่มีใครคิดจะขยายความวีรกรรมของตัวเองในเช้าวันนั้นเช่นกัน ทั้งที่พอมีเหตุอ้างได้ เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจในตอนนั้นยังสามารถกล่อมเกลาสังคมให้เชื่อได้ว่า ใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับ นักศึกษามีอาวุธสงคราม รวมถึงมีขบวนการคอมมิวนิสต์จากเวียดนาม และจีนหนุนหลัง ขณะเดียวกัน แต่ละคนก็สามารถพูดได้ว่าทำเพื่อชาติกลุ่มผู้ก่อเหตุรอบธรรมศาสตร์วันนั้น โดยเฉพาะในหัวสมองของฝ่ายขวาทุกคน ยืนยันแน่นอนว่าทำเพื่อปกป้องชาติจากภัยคอมมิวนิสต์ คุ้มกันศาสนา เพราะกระบวนการกล่อมเกลาขณะนั้นยืนยันว่า เพราะนักศึกษาต่อต้านการบวชของพระถนอม กิตติขจร เตรียมเผาวัดบวรนิเวศวิหาร รวมถึงกระทำไปเพื่อปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ก็ไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ขยายความวีรกรรมนั้น บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนดูกังวลกับเหตุการณ์ที่ตามมาว่า ออกจะเลยเถิดเกินไป และยิ่งฟื้นฝอยหาตะเข็บมากขึ้น ผู้ก่อเหตุซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ก็อาจต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามไปด้วย 

กล่าวสำหรับ 6 ตุลาฯ ยิ่งลืมไปมากเท่าไร ไม่ถูกขุดคุ้ยมากขึ้นเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่จะลอยนวลพ้นผิดได้เสมอ เพราะฉะนั้น การไม่ถูกพูดถึงเลย ย่อมเป็นเรื่องดีที่สุด

…..

(4)

ความลืมไม่ได้ จำไม่ลงทำให้ 6 ตุลาฯ 2519 มีสถานะพิเศษที่แตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แม้ทั้งสองเหตุการณ์ ฝ่ายผู้กระทำอย่างรัฐจะไม่มีใครต้องรับผิดชอบ และลอยนวลจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกตามมาหลังจากนั้นเช่นกัน แต่สองเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงมีที่ทางในประวัติศาสตร์ มีการจัดพิธีรำลึก มีอนุสรณ์สถานในพื้นที่สาธารณะ และมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐเข้าร่วมงานทุกปี แต่สำหรับ 6 ตุลาฯ กลับอยู่ในมุมมืด ด้านตรงกันข้าม ไร้สถานะทั้งในประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการและแบบเรียน หากจะรำลึกก็เป็นเหตุการณ์เฉพาะ มีการเสวนาเพียงแค่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ

แต่การไม่ได้รับอนุญาตให้พูดถึงนั้น กลับมีสถานะพิเศษ ยิ่งลบเรื่องนี้ออกจากความทรงจำมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนอีกรุ่นสนใจมากขึ้น การกล่าวถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับพวกเขาอีกต่อไป สถานการณ์การเมืองที่พลิกกลับไปกลับมา การออกใบอนุญาตให้ฆ่าได้กลางกรุงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยไม่ต้องมีใครต้องรับผิด (อีกเช่นเคย) ไม่สามารถทำให้ใครเชื่อได้อีกแล้วว่าคนไทยนั้นรักสงบมีความสามัคคีปรองดอง 

ธงชัย เล่าเรื่องผ่าน Moments of Silence ว่า การใช้ภาพของเหตุการณ์นี้ผ่านภาพยนตร์อย่างดาวคะนองหรือมิวสิควิดีโอเพลงอย่างประเทศกูมีของวง Rap Against Dictatorship เมื่อปี 2561 ได้ทำให้ 6 ตุลาฯ กลับมามีตัวตนอย่างชัดแจ้ง ไม่ได้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างที่คนเจเนอเรชันหนึ่งคิด และครั้งนี้ผู้กระทำก็ไม่ได้ถูกจำกัดวงที่ลูกเสือชาวบ้านหรือสมัคร สุนทรเวชที่เสียชีวิตไปแล้วอีกต่อไป

ธงชัยกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ Moments of Silence เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ที่เขารู้สึกว่าควรเพิ่มบทในหนังสืออีก 1 บท เป็นบทที่ 11 คือการใช้ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ว่าเป็นบทว่าด้วยการทะลุเพดานหรือ ‘Smashing the Ceiling’

…..

(5)

เมื่อการพูดถึง 6 ตุลาฯ เปลี่ยนไป ความเงียบในเรื่องนี้ก็เบาลง ธงชัยกลายเป็นนักเขียนยอดนิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ หนังสือ ‘6 ตุลาฯ ลืมไม่ได้ จำไม่ลงกลายเป็นหนึ่งในหนังสือยอดนิยมของเด็กมัธยมฯ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กเจเนอเรชันนี้ ไม่มีใครสนใจความเงียบของ 6 ตุลาฯ ที่ถูกขีดไว้ก่อนหน้านี้อีกแล้ว ยิ่งประวัติศาสตร์เป็นเรื่องห้ามพูดถึงมากเท่าไร เพดานของความอยากรู้ก็ยิ่งถูกทะลุทะลวงมากขึ้นเท่านั้น  ความพยายามจำกัดวงแบบเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อให้ศึกษาเฉพาะเรื่องที่รัฐอยากให้รู้ จึงไม่มีผลอะไรกับคนรุ่นนี้อีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครหน้าไหนจะอธิบายว่า ‘6 ตุลาฯเป็นความจำเป็น หรือเป็นเรื่องที่ยั่วยุให้บรรดานักศึกษาต้องก่อการ หรือเข้าป่าเพื่อไปเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประวัติศาสตร์หน้านี้ ก็ปลุกไม่ขึ้น’ 

หากยังตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไมในเช้าวันนั้นต้องมีการฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยมกลางเมืองหลวง และทำไมผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์วันนั้น ไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบเลยแม้แต่คนเดียว

Fact Box

Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok : ธงชัย วินิจจะกูล : สำนักพิมพ์ Silkworms

 

Tags: , , , , , ,