หากถามถึงวารสารทางสังคมศาสตร์ในทศวรรษ 2510 หลายคนคงนึกถึง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และถ้าถามถึงวารสารสังคมศาสตร์ในสังคมไทยปัจจุบัน หลายเสียงคงกล่าวว่า ฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารสังคมศาสตร์ที่นำเสนอข้อมูลความรู้อย่างเข้มข้น ชัดเจน ตรงไปตรงมา และมีพลังเพียงพอที่จะเปิดโลกทรรศน์ให้ใครอีกหลายคน

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ และชายผู้พยายามผลักดันโครงการดังกล่าวไปให้ไกลกว่านั้น เพื่อจำลองบริบททางสังคม การเมือง วัฒนธรรมของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สะกดรอยประวัติศาสตร์กลับไปสู่เช้าวันนองเลือดวันนั้น ในโครงการ ‘พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’

ธนาพล เล่าให้เราฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว  เมื่อครั้งเขาเป็นบัณฑิตใหม่ และได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้พบกับลำโพงที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่กระจายเสียงจากเวทีนักศึกษา 

 รอยกระสุนที่เห็นเป็นประจักษ์ และคำยืนยันจากปากของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ทำให้เขาตัดสินใจในทันทีว่าต้องนำมันกลับบ้าน ก่อนที่มันจะถูกทิ้งและหายไปในกาลเวลาเช่นสิ่งของและวัตถุทางประวัติศาสตร์อื่นๆ และต้องนับว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะต่อมามันได้ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศกาล ‘ประจักษ์ I พยาน’ ร่วมกับประตูแดง และกางเกงยีนส์ของ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง

แม้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เพิ่งจะอยู่ในขั้นตั้งไข่ และยังห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก โดยเฉพาะในแง่เงินทุน แต่สายตาของเขาก็ยังบ่งบอกถึงความเชื่อมั่น ศรัทธา และพร้อมรอคอย ถึงแม้มันอาจจะต้องใช้เวลานับจากนี้อีกกว่า 10 ปีก็ตาม

อะไรคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’

ผมนัดพบศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2539 อาจารย์ชวนผมไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลในงานวิจัยของเขา ทำให้ผมมีโอกาสไปค้นข้อมูล คำให้การต่างๆ ในหอจดหมายเหตุ ซึ่งผมน่าจะเป็นคนแรกที่เข้าไปใช้บริการในส่วนที่เก็บข้อมูลของเหตุการณ์ 6 ตุลา ตอนนั้นเห็นว่ายังรก มีฝุ่นเต็มไปหมด เมื่ออ่านแล้วก็นำไปคุยกับอาจารย์ ก่อนมาเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของอาจารย์เรื่อง ‘ความทรงจำฝ่ายขวา’ 

ช่วงที่อาจารย์กลับมาเมืองไทยก็ไปตามสัมภาษณ์ฝ่ายขวาด้วยกัน เราต้องเข้าใจก่อนว่าอาจารย์ธงชัยเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นพวกฝ่ายซ้าย คนที่พีคสุดคือ อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เขาเป็นคนที่จัดรายการวิทยุยานเกราะในวันนั้น เราก็เขียนจดหมายแนะนำตัว บอกว่าอยากสัมภาษณ์และทิ้งเบอร์โทรศัพท์ ไม่นานเขาก็ติดต่อกลับมา บอกว่าอยู่ที่ไหน และมาเจอเมื่อไรก็ได้ จำได้ว่าพอไปถึงบ้าน ภรรยาของเขาชี้หน้าและพูดว่า ‘เรื่องมันจบไปตั้งนานแล้วจะมาคุ้ยอีกทำไม’ ตอนนั้นคุยกันไปประมาณสองถึงสามชั่วโมง ถึงที่สุดไม่ว่าจะถามอะไรออกมา อุทารก็จะมีธงอยู่อันเดียวคือ ‘ผมทำเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’

หลังจากนั้น ประมาณปี 2559 เราจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เริ่มมีไอเดียอยากทำโครงการบันทึก 6 ตุลา เพราะมีเอกสารสำคัญอยู่ในมือเยอะ ต่อมาเราจึงมีความคิดอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง พอลองมองกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คิดถึงเหตุการณ์ช่างไฟฟ้านครปฐมที่ถูกแขวนคอ คิดถึงประตูที่เขาถูกแขวนเอาไว้ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าประตูจะยังอยู่ ลองคิดสิว่า ภาพช่างไฟฟ้าสองคนกับประตูที่เขาถูกแขวนคอผ่านไป 40 กว่าปีมันยังจะอยู่ที่เดิมอีกเหรอ ก็คล้ายๆ ตอนที่ไปเจออุทารที่ยังอยู่ที่เดิมนี่แหละ เหมือนรอเราไปหา 

แต่ข้อจำกัดของโครงการบันทึก 6 ตุลา คือถ้ามันไม่ใช่เอกสารจะเอายังไงดี อย่างประตูเนี่ยถ่ายเสร็จเอาอย่างไรต่อดี เพราะวันใดวันหนึ่งมันก็ต้องย้ายหรือทำใหม่ จึงเจรจากับเจ้าของว่าเดี๋ยวทำประตูใหม่ให้สวยกว่าเดิมแล้วขอเก็บอันเก่าไว้

ถึงที่สุดนำมาสู่ความคิด ในการทำจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งมีสี่คนคือ ผม อ้อ—ภัทรภร ภู่ทอง เปีย—ธีระวัฒน์ รุจินธรรม และพี่เบญ—เบญจมาศ วินิจจะกูล วิธีคิดของเราคือเก็บของเอาไว้ก่อน ทำบทนิทรรศการ ออกแบบตึก เรื่องหาเงิน หาสถานที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย แม้ถ้าโครงการนี้มันไม่สำเร็จ อย่างน้อยวัตถุต่างๆ ก็ยังอยู่กับเรา ประตูจะไม่ถูกทำลายกลายเป็นเศษเหล็ก 

ทำไมถึงต้องเป็น 6 ตุลา เหตุการณ์ในวันนั้นสำคัญอย่างไร 

ส่วนหนึ่งมันเป็นความสนใจส่วนตัวของผม และ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ไกลมาก พยานหลายคนมันยังมีชีวิตอยู่ สามารถไปสัมภาษณ์ หาวัตถุพยานได้ แต่ที่สำคัญอยู่ที่เรามองว่า 6 ตุลามันคืออะไร เหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง หรือมันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน

สำหรับผม ไม่ได้สนใจแค่วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันน่าสนใจเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ แล้วสถานการณ์ทางการเมืองทั่วโลกล้วนไม่สามารถตัดจบภายในตัวมันเอง มันจะมีความเกี่ยวข้องต่อไปยังเหตุการณ์อื่นๆ และหลงเหลือมรดกทิ้งไว้ เช่น การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เราเปลี่ยนแปลงกันมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 มันก็ยังมีมรดกหลายอย่างมาถึงปัจจุบันนี้ ฉะนั้นเวลาเราบอกว่าเราสนใจประวัติศาสตร์ทางการเมือง มันมีความหมายมากกว่าแค่ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

เหตุการณ์ 6 ตุลา ส่งผลมาถึงในปัจจุบันอย่างไรบ้าง 

ในแง่ของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ถ้า 14 ตุลา 2516 คือการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดและเป็นการผลักองค์กรทหารให้กลับเข้ากรมกองเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อนการปฏิวัติ 2475 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทหารชุดรัฐประหาร 2490 ซึ่งครองอำนาจต่อเนื่องจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ดังนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลา จึงเป็นการหยุดการเคลื่อนไหวของมวลชน 6 ตุลา คือการป้องกันและโต้กลับของพลังอนุรักษ์นิยม 6 ตุลา คือจุดสูงสุดของฝ่ายขวา 

เวลาเราบอกว่า ทหารแทรกแซงการเมืองไทย ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนปี 2475 องค์กรทหารเป็นหนึ่งในองค์กรที่ก้าวหน้าที่สุดในประเทศ มีทั้งการจัดตั้งโรงเรียน วารสาร และมีการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ ทหารชุดก่อนการปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่ทหารแบบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือทหารในยุคนี้ ทหารยุคก่อนไปเรียนเมืองนอก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเรียนที่ฝรั่งเศส พระยาทรงสุรเดชไปเรียนที่เยอรมนี หลายคนออกไปเห็นโลกกว้างมามาก 

แต่ในปี 2490 ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ทหารหันกลับไปร่วมมือกับฝ่ายคณะเจ้า จับมือกันล้มปีกคณะราษฎรของฝ่ายอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และเป็นจุดเปลี่ยนเดียวกันที่ทำให้เกิดคำว่า ‘ทุนนิยมขุนนางไทย’ ทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเยอะแยะไปหมด  ทหารตั้งบริษัท ทั้งพวกที่ตั้งแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายอย่างค้าฝิ่น หรือตั้งบริษัทผี ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้เห็นว่า ทุกครั้งที่รัฐประหารและทหารเข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นมรดกจากหลังการรัฐประหาร 2490 ทั้งนั้น

 หลังจากที่ล้มรัฐบาลคณะราษฎร องค์กรทหารก็อยู่ในอำนาจยาวจนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนถูกล้มโดยสิ่งที่เรียกว่าชนชั้นกลาง ซึ่งก่อนหน้าปี 2475 ยังเรียกได้ว่าเป็นหน่ออ่อน แต่ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังยุคพัฒนาประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ถ้ามองแบบอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ชนชั้นกลางที่มีความก้าวหน้าในทศวรรษ 2510 และล้มรัฐบาลทหารของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในปี 2535 พลังของชนชั้นกลางอันเดียวกันกลายเป็นพลังที่ไปเรียกทหารมารัฐประหารในปี 2549 และ 2557 

ดังนั้นเวลามองการเมืองไทย เราต้องมองมันอย่างเป็นพลวัตคือ ในกลุ่มพลังเดียวกัน ใช่ว่าตลอดประวัติศาสตร์เขาจะมีความคงเส้นคงวา เช่นเดียวกับกลุ่มนักศึกษาที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้าในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา วันนั้นคุณเคยถูกไล่ฆ่า ถูกมองไม่เป็นมนุษย์ แต่พอมาถึงปัจจุบัน หลายคนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา กลับกลายเป็นพวกเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร 

ในสังคม ในการเมืองไทย มันก็มีพลังที่เรียกว่าไม่หยุดนิ่ง มันมีพลวัต ฝ่ายที่เรียกว่าปีกก้าวหน้าในอดีต มันไม่ใช่ว่าจะก้าวหน้าตลอดไป มันมีบริบท มันมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

อะไรคือความเลวร้ายที่สุดของเหตุการณ์ 6 ตุลา

การที่มีคนดีใจกับความสูญเสีย เหตุการณ์ 6 ตุลา คนตายมีไม่ถึงร้อยคน น้อยกว่าช่วงสงครามหรือสงกรานต์เสียอีก แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ปริมาณหรือเปล่า

เราเห็นภาพความโหดเหี้ยมในการทำร้ายนักศึกษา หรือภาพที่คนดีใจกับความตายโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ถ้าเราถอยออกมาอีกหน่อย เราจะเห็นว่า เฮ้ย! คนเหล่านั้นไม่ถือความเป็นมนุษย์เลยนี่หว่า และถ้าลองถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคนถึงดีใจกับความตายได้แบบนี้ มันแปลว่าต้องมีการปลุกความเชื่ออะไรบางอย่างมากพอสมควร ความเชื่อที่เพียงพอทำให้คนเราฆ่ากันได้ และใครล่ะ ที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อนี้ 

ถึงที่สุด จิตใต้สำนึกที่สั่งให้คนกลุ่มนึง ‘ฆ่ามันเลยว่ะ’ มันต้องมีแรงจูงใจจากอะไรที่มันใหญ่และสูงส่ง ฝ่ายขวาทุกคนที่ผมไปสัมภาษณ์มา พอผ่านมา 20-30 ปีล้วนจะมีตรรกะง่ายๆ อย่างเช่น ที่เราทำไปก็ยังดีกว่าเขมรแดง หรือถ้าเราไม่หยุดพวกนักศึกษาคอมมิวนิสต์คงมีคนตายเป็นล้าน หรือการฆ่าคนมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีแต่ถ้าเราปล่อยนักศึกษาเหล่านี้ไว้ อาจจะมีคนตายเพิ่มมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นหยวนๆ ก็ได้ และสำหรับผมสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นความรุนแรง

 ดังนั้น เวลาเราบอกว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เราไม่ได้อยากพูดถึงแค่เพียงวัน เวลา สถานที่ของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราอยากพาไปลึกมากกว่านั้น เช่น อะไรที่หล่อเลี้ยงให้คนเหล่านี้คิดอะไรบ้าบอๆ พวกนี้ได้ อะไรคืออุดมการณ์ที่สูงส่งชิบหายของคุณ ที่ทำให้คุณสามารถฆ่าคนได้

เป็นไปได้ไหมที่เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย

ผมไม่เชื่อเรื่องประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เพราะสังคมมีพลวัต แม้กระทั่งฝ่ายขวาใน 6 ตุลา อยากทำเหมือนเดิมก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับผลกลับมาเหมือนเดิม 

ผมคิดว่าในแง่ของการเมือง ทุกอย่างมันมีต้นทุน การเมืองมันไม่ได้เป็นอะไรตื้นง่ายๆ ว่า คุณเคยทำแบบนี้แล้วสำเร็จเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะสำเร็จเหมือนเดิม 100 เปอร์เซนต์ มันไม่ง่ายขนาดนั้น สังคมการเมืองมีพลวัตมากขึ้น ช่องทางในของการสื่อสารมันมีมากขึ้น 

ในปัจจุบัน โลกมันมี 2 ใบ โลกความเป็นจริง กับโลกออนไลน์ ซึ่งมันสะท้อนว่าไม่มีโลกที่ผูกขาดแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะฉะนั้นคุณเลยเห็น #โตแล้วเลือกเองได้ สังคมปัจจุบัน มันยากที่จะมีอำนาจอะไรที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังไม่รวมว่าเราเปลี่ยนรัชสมัย นี่ก็อีกปัญหาหนึ่งเลย อะไรที่เป็นฉันทามติเดิมที่เคยอยู่ร่วมกันของสมัยที่แล้ว ตรงนี้เรายังไม่รู้เลยว่าอะไรยังใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ 

ถ้าเกิดให้เปรียบเทียบสังคม การเมือง วัฒนธรรมในช่วง 6 ตุลา 2519 กับปัจจุบัน สังคมเราเดินหน้า-ถอยหลัง อย่างไรบ้าง 

ผมคิดว่าถ้ามองในแง่ดี คนที่เคยดีใจ แซ่ซ้องสรรเสริญในวันที่ 6 ตุลาว่าที่ทำไปเป็นความดี เป็นวีรกรรมของตัวเอง มีใครกล้าบอกไหมว่า ผมเป็นฮีโร่เอาไม้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ อย่างน้อยเรื่องเหล่านี้มันก็ไม่มีคนรับได้แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งดีงาม เป็นวีรกรรม

แต่ในปัจจุบัน ผมว่ามันก็เลวร้ายไปอีกแบบหนึ่ง มีการอ้างนู้นอ้างนี่ อ้างสิ่งศักสิทธิ์ การใช้กฎหมายผิดๆ เพื่อปิดปากประชาชน รวมถึงตุลาการภิวัฒน์ที่ทำให้ศาลถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เรื่องกระบวนการยุติธรรม 40 ปีที่แล้ว มันคงไม่ห่วยเท่าตอนนี้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ ก่อนหน้าปี 2549 คุณจะไม่เห็นบรรดาผู้พิพากษากลายเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งองค์กรอิสระที่มีอำนาจฟันนักการเมือง และส่งเรื่องกลับมาให้ผู้พิพากษาอีกรอบนึง หรือกรณีคำตัดสิน ม.จ.จุลเจิม ยุคล กับพรรคอนาคตใหม่ หรือกรณีคุณสฤณี อาชวานันทกุลก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ไม่เกิน 12-13 ปี และมันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของศาล

ในแง่ของสิทธิเสรีภาพ มันก็ต้องดีกว่าช่วง 6 ตุลาอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น สังคมไทยเคยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าตอนนี้เยอะและเราอยู่กันได้ อย่างน้อยที่สุด ผมคิดว่าเราต้องกลับไปก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ช่วงที่สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม ภายใต้สิทธิรัฐธรรมนูญ ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน คุณจะไม่เห็นทหารมาแทรกแซงการเมือง ไม่เห็นทหารไปนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ไม่เห็นทหารเอางบฯ กลางไปซื้ออาวุธแทนที่จะไปช่วยน้ำท่วม การที่ทหารมีบทบาททางการเมืองอย่างนี้ กลายเป็นเรื่องปกติของคนจำนวนหนึ่ง สมมติ ผมอายุ 18 ปี ผมจำความได้ตอน 6 ขวบ ผมก็คิดว่ารัฐประหารเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงแล้ว ภายหลังศตวรรษที่ 21 รัฐประหารไม่ใช่เรื่องปกติ มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายและล้าหลัง 

การทำรัฐประหารในประเทศไทยตรงกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า การผ่าเหล่า (Mutation) เพราะในขณะที่ทั่วโลกกำลังหันไปในทิศทางที่รัฐประหารเป็นสิ่งตรงข้ามกับประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยใช้รัฐประหารเป็นวิธีการแก้ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายมันก็แก้ไม่ได้

 ถึงที่สุดผมคิดว่า ระบบการปกครองที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและกินรวบแบบคณะรัฐประหารมันใช้ไม่ได้อีกแล้ว มันไม่มีอำนาจไหนเบ็ดเสร็จอีกต่อไปแล้ว แม้ใครบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นชัยชนะของ พล.อ. ประยุทธ์ และเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตย แต่สำหรับผมถึงแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะยังไม่ชนะ แต่มันก็ยังไม่แพ้ คณะรัฐประหารยังไม่สามารถซื้อใจประชาชนได้ ถ้าเขาซื้อใจประชาชนได้จริง เขาชนะถล่มทลายไปแล้ว ไม่ต้องใช้สมาชิกวุฒสภา 250 เสียงมาโหวตหรอก

ไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาถามว่า อยากอยู่กับประยุทธ์แบบก่อนหรือหลังรัฐประหาร ถ้าเรามองออกไปนอกประเทศบ้าง การที่เรามีผู้นำแบบนี้ เป็นอะไรที่โคตรป่าเถื่อน ลองเปิดตาดูโลกจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรตกค้างในไทยแล้ว

ถึงที่สุดแล้วมันอยู่ที่เราจะมองว่า คุณปกครองคนในสังคมสมัยใหม่ด้วยอะไร อำนาจหรือเหตุผล ถ้าปกครองด้วยอำนาจ คุณบอกว่ากูมีอำนาจจะสั่งยังไง ตัดสินยังไงก็ได้ ใครเป็นพวกกูก็ตัดสินให้รอด ใครไม่ใช่ก็ตัดสินให้ผิด แต่ถามอีกรอบ สังคมที่ปกครองด้วยอำนาจมันพังมากี่ที่แล้ว ถึงที่สุดคุณจะใช้ตรรกะแบบนี้ไปได้ถึงไหน พอกระบวนการยุติธรรมลงมายุ่งกับการเมือง มันก็เละ

ทำไมภาครัฐถึงพยายามทำเหมือนว่า 6 ตุลา ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย

ก่อนหน้านี้การเขียนประวัติศาสตร์แบบไทยเป็นวิธีที่อาจารย์ธงชัยเรียกว่า ราชาชาตินิยม คือมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรือง แบ่งยุค แบ่งสมัย ตามราชวงศ์ แต่ต่อมาคนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมมีแต่ประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ ทำไมถึงไม่มีประวัติศาสตร์ของประชาชนบ้าง 

แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือว่า เราอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างไร ถ้าจำได้สมัยรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือประวัติศาสตร์ไทยออกมาเล่มหนึ่ง ภายในมีการพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา และอธิบายว่าที่ประเทศยังอยู่รอดถึงปัจจุบัน เพราะทรงมีพระราชดำรัสให้ทุกคนรักสามัคคี ดังนั้นถึงที่สุด ถ้าเรามีการพูดถึง 6 ตุลาในแบบเรียน เราก็จะพบคำอธิบาย อย่างเช่น ประเทศไทยมีพ่อบ้านที่ดีช่วยแก้ไขความขัดแย้งให้ประเทศไทยกลับมามีความสุขเหมือนเดิม ดังนั้น ปัญหาหลักมันไม่ได้อยู่ที่การพูดหรือไม่พูดถึงเหตุการณ์ไหน แต่มันคือ เราอธิบายเหตุการณ์เหล่านั้นในแบบเรียนอย่างไรต่างหาก 

ในมุมมองของคุณ มันคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแค่ไหน 

ผมไม่ชอบคำว่าคลาดเคลื่อนนะ เพราะเวลาเราบอกคลาดเคลื่อนเหมือนเรากลายเป็นพวกรู้ดี เหมือนเรามีไม้บรรทัดอันนึงและคุณบอกว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก ผมคิดว่ามันอยู่ที่เสรีภาพ ผมไม่แน่ใจนะ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแบบเรียน ผมไม่แน่ใจว่าเรามีเสรีภาพแค่ไหนในการผลิตแบบเรียน 

สมมติว่า ผมอยากจะผลิตแบบเรียนเวอร์ชันฟ้าเดียวกันสำหรับเด็ก ป.3 และผมอยากให้บรรจุในหลักสูตร ผมต้องทำอย่างไร มีโรงเรียนไหนที่จะใช้ของผมบ้าง ผมคิดว่ามันไม่ใช่การบอกว่าอะไรมันถูก-ผิด มันคือเสรีภาพในแง่ของการใช้ การทำ ว่าเปิดกว้างแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวผมไม่คิดว่ามันจะเปิดกว้างมากเท่าไร

ส่วนหนึ่งเราทำสำนักพิมพ์ ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าเลือกข้าง สำนักพิมพ์เราไม่เอารัฐประหาร เราไม่เอาการแทรกแซงนอกระบบ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปกติที่โลกมันต้องเลือกข้าง แต่ปัญหาของมันคือสังคมเรามีเสรีภาพ มีพื้นที่ให้การเลือกข้างแบบนี้ไหม เลือกข้างไม่ได้หมายความว่าจะเขียนอะไรก็ได้ มันต้องมีตรรกะ ตัวอย่าง ทฤษฎีรองรับ ผมบอกได้ว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่เลวร้ายล้าหลัง ส่วนหนึ่งที่การเมืองไทยไม่พัฒนาก็มาจากการรัฐประหาร และถ้าถามว่าผมเขียนได้ไหม ผมไม่คิดว่าจะเขียนได้

ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่าการศึกษาในระบบมีประสิทธิภาพขนาดนั้น ซึ่งถ้ามันมีประสิทธิภาพคุณจะอธิบายเกี่ยวกับ นักเรียนที่ทำพานไหว้ครูโจมตี คสช. ทั่วประเทศได้อย่างไร และเรื่องที่เด็กหลายคนทั่วประเทศบอกว่า วุฒิสภาเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เป็นส่วนเกินของประชาธิปไตยไทย คุณจะอธิบายอย่างไร 

มันมีสิ่งที่คนเข้าถึงมากกว่าแบบเรียนที่นำอุดมการณ์หลักมาขยายผลต่อ อย่าง เพลงหรือละคร มันเป็น Soft Power ที่ทำให้คนซึมซับ บางคนบอกว่าคนไทยไม่สนใจประวัติศาสตร์ แต่สมัยอยุธยาผ่านมา 200 กว่าปีแล้ว คนไทยยังเกลียดพม่าฉิบหาย เจอพม่าก็บอกว่าเขาเป็นข้าศึก เจอเขมรก็บอกว่าเป็นพวกทรยศไว้ใจไม่ได้ มองลาวก็เห็นเป็นลูกน้อง เวียดนามก็เป็นศัตรูคู่แค้นที่เราไม่เคยชนะ มาเลเซียคือที่อยู่ของพวกผู้ก่อการร้าย มันมีความเชื่ออะไรแบบนี้ที่ฝังลึกอยู่ และจะบอกว่าบอกคนไทยไม่มีความทรงจำได้อย่างไร 

เมื่อไรเราจะได้เห็นพิพิธภันฑ์ 6 ตุลา 

พูดเลยว่า10 ปี แต่สำหรับผมมันก็ไม่นาน เพราะผมยังรู้สึกว่าตอนที่ไปช่วยจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ยังเหมือนเมื่อวานอยู่เลย โครงการนี้เราทำกันทั้งหมดแค่ 4 คน มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ปีหน้าพิพิธภัณฑ์จะแล้วเสร็จ 

ตอนนี้ผมอยากจะเห็นคำสั่งเกี่ยวกับการปฎิบัติการ 6 ตุลา เพราะผมเชื่อว่า 6 ตุลามันมีการเตรียมการ ย้อนกลับไปวันที่ 6 ตุลา 2519 เริ่มมีการยิงกันตอนตี 5 คนเหล่านั้นมาจากไหน ถ้ามาจากประจวบคีรีขันธ์ คนเหล่านี้ออกจากประจวบคีรีขันธ์กี่โมง และมาถึงธรรมศาสตร์กี่โมง สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่อยู่ๆ ปลุกให้ลุกออกจากเตียงมาทำได้เลย ซึ่งจริงๆ ผมอยากทำเป็นหนังย้อนกลับไปเล่าทีละขั้นตอนด้วยเหมือนกัน ถ้ามีหลักฐานเพียงพอ

ถึงที่สุด ถ้าพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาไม่สำเร็จก็ไม่มีปัญหา อย่างน้อยผมคิดว่าผมก็ได้รักษาวัตถุจำนวนหนึ่งเอาไว้ และถ้ามีคนสร้างพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องการเมืองไทย และขอนำวัตถุเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ผมก็ไม่มีปัญหา อย่างน้อยผมคิดว่า วัตถุพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ผมเก็บไว้ อาจจะมีมากกว่าช่วงพฤษภา 35 หรือ พฤษภา 53 ด้วยซ้ำ 

ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา รู้สึกอย่างไรบ้างกับโครงการของคุณ

ญาติของผู้เสียชีวิตมี 2 แบบคือ คนจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากพูดถึงมันอีกแล้ว เพราะพูดถึงแล้วมันเจ็บปวดมันเศร้า แต่อีกจำนวนหนึ่งยังอยากเล่า อยากบันทึก ล่าสุดที่เราจัดแสดงนิทรรศการ ‘ประจักษ์ I พยาน’ ผ่านมา 43 ปี พี่สาวของคุณดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เขาก็ยังเก็บกางเกงยีนส์ของน้องชายที่เสียชีวิตในวันนั้นไว้ และเอามาให้เราจัดแสดง 

ผมคิดว่ามันเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตอย่างหนึ่ง ความยุติธรรมสำหรับผมไม่ใช่เรื่องอายุความของคดี หรือ พรบ.นิรโทษกรรม แต่มันเป็นอะไรที่มากกว่านั้นอย่างการเผยแพร่เรื่องราว หรือว่าการทำอนุสาวรีย์

ดังนั้น หน้าที่ของเราคือ ต้องสร้างพื้นที่แห่งหนึ่ง ให้คนที่พร้อมเล่าได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมา ถ้าในอนาคตเรามีอาคารพิพิพิธภันฑ์เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุพยานเหล่านั้น มันจะดีสักแค่ไหน

ถึงที่สุดแล้ว คุณทำโครงการบันทึก 6 ตุลา และพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เพื่อใครกันแน่

ไม่ต้องอ้อมค้อมเลยคือ เพื่อตัวเอง (หัวเราะ) ตอนแรกเราทำเพื่อตัวเองแน่นอน ไม่ต้องอ้างเรื่องอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ หรืออ้างว่าเรามีภารกิจส่วนตัวในการชำระสะสางประวัติศาสตร์ เราเริ่มจากตัวเองแน่นอน ส่วนมันจะชำระสะสางประวัติศาสตร์และทำให้สังคมดีขึ้นไหมก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป

ถ้าสมมติว่าในวันที่ 6 ตุลา 2519 คุณอายุ 20 ปี และอยู่ในกรุงเทพฯ คุณคิดว่าตัวเองทำอะไรอยู่

อะไรก็เป็นได้ทั้งนั้น ตอนนั้นถ้าผมเกิดในครอบครัวของทหาร ผมอาจจะเป็นฝ่ายขวาก็ได้ ถ้าครอบครัวผมฟังวิทยุยานเกราะ ผมก็อาจจะไปยืนปรบมือกับความสูญเสียก็ได้ แต่ผมคิดว่าในสังคมมันยังมีความเพี้ยน เด็กที่ยืนปรบมือกับความรุนแรงใน 6 ตุลา พอโตขึ้นมาเจอประสบการณ์ใหม่ ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นแนวหน้าในการต่อต้านรัฐประหารก็ได้

 สำหรับผม การเมืองมันคือความเป็นไปได้ การเมืองคือความเปลี่ยนแปลง ตอนที่ผมอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงที่เรียกได้ว่าเป็นแนวหน้าประชาธิปไตย หลายคนเคยก็เคยเป็นฝ่ายขวาอยู่ในองค์กรลูกเสือชาวบ้าน แม้กระทั่งแกนนำเสื้อแดงหลายคนก็เคยเชียร์รัฐประหารมาก่อน แต่เราพูดได้ว่ามีโอกาสมากกว่าที่ฝ่ายขวาจะเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายซ้าย มากกว่าฝ่ายซ้ายจะกลับไปเป็นฝ่ายขวา เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ มันเป็นสิ่งสากล ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะไปในทิศทางเสรีชนมากกว่ายอมถูกกดขี่

Fact Box

  • ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ เป็นความพยายามรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ภาพหลักฐาน ผู้เสียชีวิต-สูญเสีย ตลอดจนองค์ความรู้ที่สังคมไทยควรได้รับ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยหันมาตระหนักและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว มากกว่าถูกกลบฝังให้ลืมตามความพยายามของรัฐ
  • ‘โครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา’ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ธนาพล อิ๋วสกุล, ภัทรภร ภู่ทอง, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม และเบญจมาศ วินิจจะกูล เป็นความพยายามสร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งข้อมูลปรากฏการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม ทั้งมุ่งหวังสร้างพื้นที่อภิปรายแลกเปลี่ยนผ่านการรวบรวมเอกสารและหลักฐาน การจัดแสดง สัมมนา เสวนา ภาพยนตร์สารคดีและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์อื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ในขั้นรวบรวมวัตถุพยานและเงินทุน
Tags: , , , ,