บางคนเรียกหนังสือเล่มนี้ว่านวนิยาย เพราะมันงดงามสละสลวย แฝงด้วยแง่คิดคมคาย บางคนว่าคล้ายสารคดี เพราะพรรณาถึงภูเขา ต้นไม้ ลำธาร ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า หมู่บ้านชนบทได้อย่างแจ่มชัด บ้างบอกเหมือนไดอารีบันทึกเส้นทางชีวิตและการเติบโตผ่านร้อนผ่านหนาวของเด็กชายสองคน ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร สุดท้ายมันถอดมาจากความทรงจำของ เปาโล คนเญตติ (Paulo Cognetti) นักเขียนชาวอิตาลี เจ้าของผลงานหนังสือชื่อ แปดขุนเขา (Le otto montagne) ซึ่งได้รับรางวัล Premio Strega 2017 ของอิตาลี และรางวัล Prix Médicis étranger 2017 ของฝรั่งเศส ทั้งยังถูกแปลและตีพิมพ์ใน 39 ประเทศ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ของ ปิเอโตร กวัสติ เด็กชายชาวเมืองมิลานผู้มีพ่อแม่เป็นคนรักภูเขา ชอบปีนเขา และมีความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางขุนเขา

ทุกวันหยุด พวกเขาพากันขับรถหนีออกจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่เทือกเขาขาวโพลนด้วยหิมะที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงเส้นขอบฟ้า จากถนนสู่ทางดิน ผ่านหมู่บ้านชนบท ลำธาร ต้นไม้ ไต่ระดับขึ้นไปบนสันเขา พื้นหินขรุขระ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทะเลสาบ ผืนป่า ฟ้ากว้าง กระทั่งปีนป่ายถึงยอดเขาแหลมคมที่มีแต่ธารน้ำแข็ง หิมะ และสายลมหนาว 

ปิเอโตรคือส่วนผสมของพ่อ นักเคมีและนักปีนเขาผู้ดื้อรั้น กับแม่ พยาบาลและหนอนหนังสือผู้อบอุ่นละมุนละไม พวกเขาค้นพบโลกใบใหม่ที่ กรานา เมืองเล็กๆ ในหุบเขาทางตอนเหนือของอิตาลีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์อันกว้างใหญ่ไพศาล

“คงจะจริงอย่างที่แม่ว่า เราแต่ละคนมีระดับความสูงของภูเขาที่ตนโปรดปราน มีทิวทัศน์ที่คล้ายคลึงกับตัวเราและเป็นที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ของแม่นั้นแน่นอนว่าเป็นป่าที่ระดับความสูง 1,500 เมตร มีต้นสน ต้นลาร์ช และพุ่มบลูเบอร์รีซึ่งขึ้นในร่มเงาของพวกมัน มีต้นจูนิเพอร์ ต้นกุหลาบป่า และกวางโรแอบซ่อนอยู่ ส่วนผมชอบภูเขาส่วนที่อยู่ถัดจากนั้นขึ้นไป มีทุ่งหญ้า ลำธาร ที่ลุ่มสนุ่น สมุนไพรที่ขึ้นบนเขาสูง และสัตว์กำลังเล็มหญ้า สูงจากระดับนี้ขึ้นไปไม่มีพืชพรรณ หิมะปกคลุมทุกอย่างจนถึงต้นฤดูร้อน และสีที่โดดเด่นคือสีเทาของหินเป็นลายริ้วด้วยควอทซ์ และแต้มเหลืองของไลเคน โลกของพ่อเริ่มต้นที่นั่น…” (หน้า 39)

แล้วชะตากรรมของครอบครัวนี้ก็พลันเปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาตัดสินใจเช่าบ้านหลังเล็กๆ ไว้ตากอากาศในฤดูร้อน อบอวลด้วยกลิ่นฟาง ควันไฟ คอกสัตว์ วางตัวอย่างสงบไม่ไกลจากลำธาร มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นยอดเขา ตอนนั้นเองที่ บรูโน กุลเยลมินา เด็กเลี้ยงวัวในหมู่บ้านเดินเข้ามา ก่อนจะกลายเป็นเพื่อนรักและสมาชิกใหม่ของครอบครัวนับแต่นั้น

เด็กชายทั้งสองใช้เวลาช่วงวัยเยาว์ไปกับการสำรวจธรรมชาติบนภูเขา ว่ายน้ำในทะเลสาบ จับปลาในลำธาร ต้อนวัวผ่านทุ่งหญ้า บางวันเรียนอ่านเขียนจากแม่ บางวันติดตามพ่อขึ้นไปพิชิตยอดเขาลูกใหม่ๆ ก่อเกิดเป็นความผูกพันอันน่าประทับใจ

บรูโนเรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ ส่วนปิเอโตรได้เรียนรู้ชีวิตจากธรรมชาติรอบตัว

“ผมเริ่มเข้าใจความจริงข้อหนึ่ง สำหรับปลาในแม่น้ำ ทุกสิ่งล้วนมาจากภูเขา ไม่ว่าแมลง กิ่งไม้ ใบไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุนี้ปลาจึงมองขึ้นข้างบน รอสิ่งที่จะลงมา ผมคิดว่าถ้าจุดที่เรายืนอยู่ในแม่น้ำเป็นปัจจุบัน อดีตก็คือน้ำที่ไหลผ่านเราไปแล้ว คือน้ำที่ไหลลงไปข้างล่าง ซึ่งไม่มีอะไรให้เราอีก ส่วนอนาคตคือน้ำที่กำลังไหลลงมาจากข้างบน พาอันตรายและสิ่งไม่คาดคิดมาด้วย อดีตอยู่ในหุบเขา อนาคตอยู่บนเขา นี่ไง ผมควรตอบพ่อไปอย่างนี้ ไม่ว่าโชคชะตาจะคืออะไร มันสถิตอยู่ในขุนเขาเหนือศีรษะเรา” (หน้า 29)

วันเวลาล่วงเลยเฉกเช่นฤดูกาลที่ผ่านตัวเราไป จากเด็กชายกลายเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเติบใหญ่เป็นหนุ่มวัยสามสิบ ความสัมพันธ์ของเพื่อนรักทั้งสองยังไม่ขาดสาย แม้ห่างเหินกันไปบ้าง เพราะคนหนึ่งยึดอาชีพถ่ายสารคดี ใช้ชีวิตในเมือง ร่อนเร่พเนจรไปทั่ว ขณะที่อีกคนทำงานก่อสร้าง เลี้ยงสัตว์ ทำฟาร์มอยู่บนภูเขาไม่เคยจากไปไหน ปิเอโตรกับบรูโนยังคงพบกัน เดินเขาด้วยกัน แต่สิ่งที่เชื่อมโยงคนทั้งคู่คือ มรดกที่ดินที่พ่อของปิเอโตรทิ้งไว้ให้

กระท่อมหลังเล็กๆ ตีนเขา มองเห็นทะเลสาบ มีเตาผิงไว้จุดไฟคลายหนาว มีโต๊ะอาหารกลางแจ้งวางขนมปัง ไวน์ ชีส และมีหนังสือให้อ่าน บางค่ำคืนนอนฟังเสียงป่า แหงนมองดาวบนฟ้า บางวันอากาศดีก็กางแผนที่ สวมรองเท้าบูทส์ เดินขึ้นยอดเขา ตามรอยเส้นทางที่พ่อเคยย่ำนำทาง สำหรับปิเอโตร ภูเขาคือที่หลบภัย บาดเจ็บบอบช้ำเมื่อไรก็พาร่างมาให้ธรรมชาติเยียวยา ส่วนบรูโน ภูเขาหมายถึงชีวิตทั้งชีวิต เรียบง่าย ทว่าซ้ำซากจำเจ แม้ยากจนแต่ก็มีความสุข

ทุกครั้งที่ทั้งคู่กลับมาพบหน้ากันหลังจากห่างหายกันนานแรมปี ช่วงแรกแม้เคอะเขิน เคร่งขรึมราวกับคนแปลกหน้า ทว่าเมื่อได้ระบายสารทุกข์สุกดิบ ขุดรื้อความทรงจำเก่าๆ มายิ้มและหัวเราะให้กัน ทุกอย่างก็ค่อยๆ หวนคืนกลับมาดังเดิม และดูจะมีความหมายยิ่งขึ้นด้วย

“ทุกคนเวียนกลับมาเดินบนภูเขาลูกเดิมๆ เป็นเวลาสามสิบ สี่สิบ หรือห้าสิบปีมาแล้ว และเลือกลูกที่นักปีนเขาส่วนใหญ่ไม่สนใจ เช่นเดียวกับผม อยู่ในหุบเขาแคบๆ รกร้าง ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ชายหนวดขาวคนหนึ่งคุยกับผมว่า ในความคิดของเขา มันคือการได้ทบทวนชีวิต คล้ายๆ กับว่าในการเดินเส้นทางเก่าปีละครั้งนั้นเราได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางความหลัง แล้วเราก็ย้อนเส้นทางแห่งความทรงจำ” (หน้า 130)

แม้ ‘โลกในอุดมคติ’ ของทั้งคู่จะโรแมนติกเพียงใด แต่ชีวิตจริงนั้นไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม บรูโนต้องเจอกับอุปสรรคที่เหนือความคาดหมายและไม่อาจแก้ไขได้ ความรักต้องพังทลายพร้อมกับธุรกิจในฝันที่ไม่อาจกอบกู้คืน เพื่อนรักอย่างปิเอโตรทำได้เพียงให้กำลังใจและยืนอยู่เคียงข้าง ก่อนที่ในตอนท้ายเรื่อง พวกเขาทั้งสองจะได้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิต ในฤดูหนาวที่หิมะตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ของอิตาลี 

ด้วยความที่ผู้เขียน เปาโล คนเญตติ เป็นนักปีนเขาตัวฉกาจ ผู้หลงรักเทือกเขาแอลป์และหิมาลัย แปดขุนเขา จึงเป็นหนังสือที่บรรยายถึงภูเขาได้งดงามหมดจด ไร้ที่ติ โดยเฉพาะลักษณะภูมิประเทศและวิถีชีวิตชาวชนบทที่อาศัยอยู่ในหุบเขาสูงของเทือกเขาแอลป์ ทางตอนเหนือของอิตาลี

ผู้เขียนเลือกใช้คำมาอธิบายภาพฉากและบรรยากาศของธรรมชาติในแต่ละฤดูได้อย่างละเอียดลออ จินตนาการถึงแสงแดด หิมะ สายฝน ธารน้ำแข็ง โตรกผา หุบเหว โกรกธาร ทะเลสาบ ต้นไม้ใบหญ้า กลิ่นอายของฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างเห็นภาพกระจ่างแจ่มชัด ระหว่างบรรทัดยังซุกซ่อนปรัชญาคมคายและบทเรียนชีวิต เนื้อเรื่องก็เปี่ยมเสน่ห์ คละเคล้าด้วยความทรงจำที่ครบรส ทั้งสุข เศร้า เหงา ซึ้ง ชุบชูใจ และสะเทือนใจไปพร้อมๆ กัน

อ่านแล้วคิดถึงการเดินทางไป ‘อาบป่า’ ท่ามกลางธรรมชาติ บนภูเขาสูงห่างไกลผู้คน ในวันที่แสงแดดอุ่น อากาศสดชื่น ฟังเสียงน้ำไหลจากลำธาร สูดกลิ่นดินกลิ่นหญ้าใต้ท้องฟ้าใสกับใครสักคน 

นี่คือหนังสืออีกเล่มที่คนรักภูเขาไม่ควรพลาด

Fact Box

แปดขุนเขา (Le otto montagne), เขียน เปาโล คนเญตติ, แปล นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ, สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี, จำนวนหน้า 204 หน้า, ราคา 250 บาท

Tags: , ,