ไม่ใช่คอนเสิร์ตดังที่ไหน หรือกระแสการเมืองเดือดจากพรรคใด แต่แฮชแท็ก #LITFEST เคยได้ขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ในเทรนด์ของทวิตเตอร์กับเขาด้วย

แฮชแท็กนี้เป็นของเทศกาลหนังสือ ‘ไฟลุกพรึ่บ’ หรือ LIT FEST ที่จัดเมื่อ 18-20 มกราคม 2562 ที่มิวเซียมสยาม อย่าคิดว่าคึกคักแค่ในโลกโซเชียล สนามที่ทีมงาน Readery หนึ่งในผู้จัดงานนี้ถนัดและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพราะปรากฏว่าวันงานจริง คนมากันคึกคักจนนึกว่าเป็นเทศกาลดนตรี (ซึ่งก็ไม่ผิดเท่าไร)

อีเวนต์ Book Talk ที่บางคนติดภาพว่าเงียบเหงา กลับแทบไม่เหลือเก้าอี้ว่าง

กิจกรรมแลกหนังสือ Book Blind Date กิจกรรมทำหนังสือเองอย่าง Book Factory มีคนเข้าไปหยิบๆ ติดมือจนหมด และ ‘บูธแตก’ ในความหมายของจำนวนคนที่ล้นหลาม

หรือกิจกรรม Lit Poetry ที่ให้คนมาเล่าเรื่องให้นักเขียนพิมพ์ลงพิมพ์ดีดกันสดๆ ก็มีคิวต่อแถวยาวเหยียดจนเราอยากขยี้ตาว่านักเขียนฮ็อตกันขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไร (หรือฮ็อตนานแล้วแต่เราไม่รู้!)

ความสำเร็จแบบเหวอๆ ครั้งแรกนี้ ทำให้เราต้องชวนทีมงานแกนหลักของงาน ได้แก่ โจ้-อนุรุจน์ วรรณพิณ เน็ต-นัฏฐกร ปาระชัย เอิร์ธ-ชนินทร์ สูงทรง  แห่งร้านหนังสือออนไลน์ Readery จุ๋ม-ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล จากสำนักพิมพ์ P.S. และ นก-ศิริธาดา กองภา จากสำนักพิมพ์เลเจ้นด์ บุ๊คส์ มานั่งคุยกันชัดๆ ขอลอกการบ้านกันไปเลยว่า ทั้งที่พวกเขาเป็นคนทำ-ขายหนังสือที่ไม่เคยจัดงานใหญ่ๆ มาก่อน ทำยังไงให้งานมันคึกคักอบอุ่นขนาดนี้

(จากซ้ายไปขวา) เน็ต-นก-โจ้-เอิร์ธ-จุ๋ม

เรายังไม่รู้สึกว่าใหญ่พอเลย งานเล็กกว่าที่คิดมาก” โจ้กล่าว ทำให้เราต้องเลิกคิ้วแปลกใจแต่เริ่ม

เน็ตเสริมต่อว่า “มีคนบอกว่า ถ้าจะทำตามไอเดียที่คุณเบรนด์สตอร์มมา คงต้องจัดกันเดือนนึง แล้วก็ต้องจัดที่อิมแพคต์ ถ้าเป็นสวนก็คงไม่ใช่มิวเซียมสยาม แต่เป็นสนามกีฬาราชมังฯ คือปริมาณไอเดียมันมหาศาล” ทั้งทีมหัวเราะ พยักหน้าเห็นด้วยแรงๆ

ไอเดียมหาศาลนี้มาจากพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ อย่างโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ (ผู้มาสะกิดชวน Readery ให้จัดงานในตอนแรก) มิวเซียมสยาม ร้านหนังสือฟาธ่อม ทีมกางใจที่รับหน้าที่ออร์แกไนเซอร์ รวมทั้ง 40 สำนักพิมพ์ผู้ร่วมงาน ที่โจ้เน้นย้ำว่าพวกเขาไม่ใช่แค่ผู้เช่าแผง แต่คือผู้ร่วมสร้างสรรค์จนหน้าตาของงานออกมาเป็นอย่างที่เห็น

“เราอยากเห็นงานหนังสือนอกจากงานสัปดาห์หนังสือที่เป็นลักษณะงานเทรดแฟร์ เพราะความสนุกของเราในงานเทรดแฟร์อาจจะน้อย ทุกคนจะวุ่นอยู่กับการขายของ ในขณะที่รูปแบบงานเทศกาลมันสามารถเชื่อมโยงคนอ่าน คนเขียน และสำนักพิมพ์ได้” นกพูดถึงเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมวงผู้ก่อการแต่เริ่ม เพื่อทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นมา

“สิ่งที่เราคุยกับสำนักพิมพ์ตั้งแต่แรก เราไม่ได้พูดถึงการขายเลย คือเราคิดว่างาน LIT FEST ไม่ใช่แค่พื้นที่ขายของ คุณน่ะเคยชินกับการขายของมานานแล้ว แต่อาจไม่เคยขายไอเดีย ใช่ไหม ทั้งที่จริงๆ คนทำสำนักพิมพ์ ไอเดียเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนอ่านยังไม่ได้สัมผัสถึงไอเดียซึ่งเป็นตัวตนของคนทำสำนักพิมพ์มาก่อน”

คนอ่านหนังสือเป็นคนสนุก

นอกจากโลโก้ LIT FEST ฝีมือโจ้-วชิรา รุธิรกนก แห่งดีไซน์เซอร์วิส Rabbithood แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่โดดเด่นตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม คือภาพวาดการ์ตูนลายเส้นของขวัญ STUDIOKANDA ที่มาพร้อมสีสันสดใส เป็นรูปคนอ่านหนังสือในหลายๆ อิริยาบถที่ดูสุดเหวี่ยง ซึ่งตอนแรก งานออริจินัลออกมาเรียบร้อยแบบภาพของหนอนหนังสือที่เราชินตา ที่ทีมงานต้องบอกตรงๆ ว่ายังไม่ใช่

“พี่จุ๋มแหกขาให้ดูเลยว่า ไม่ได้นะ ต้องแบบนี้!” เน็ตกล่าว

“รู้สึกว่ามันเรียบร้อยไป เราอยากให้คนอ่านหนังสือออกมาในธีมที่บ้าและสนุกกว่านั้น เราไม่อยากได้คนอ่านหนังสือแบบเดิมๆ …คือขอนิดนึง ทำยังไงให้คนจำ ทำเป็นท่าโยคะไปเลย ซึ่งน้องเก่งมากที่สามารถจะดัดแปลงให้กลายเป็นท่ากินชานมไข่มุกไปด้วยแต่อ่านหนังสือไปด้วย” จุ๋มอธิบายเหตุผลของการแหกขาเล่นใหญ่ เน็ตเสริมว่า จากเดิมขอให้วาดแค่ 8 ตัว แต่ความบ้า ทำให้ขวัญวาดมาเป็น 100 ตัวจนสะใจ

“เราอยากดึงคนที่รักหนังสือ อยากอ่านหนังสือ ชอบหนังสือ ผลิตหนังสือ ออกจากคอมฟอร์ตโซนตัวเองที่เคยอยู่แบบนิ่งๆ เป็นคนเรียบร้อยๆ …ไม่ใช่ ต้องบ้าๆ กว่านั้น”

แล้วหน้าตามันออกมาสนุกขนาดนี้ จะไม่ทำให้กลุ่มคนอ่านหนังสือแบบเดิมๆ สับสนหรือว่านี่คืองานอะไรกันแน่ เราถาม

“ผิด! เพราะคนอ่านหนังสือเป็นคนสนุก” โจ้รีบตอบทันควัน “เราไปคิดว่าคนอ่านหนังสือต้องเป็นคนน่าเบื่อ แต่เท่าที่เรารู้จัก คนอ่านหนังสือเป็นคนรักสนุก และจริงๆ มนุษย์มันไม่ได้ถูกแบ่งประเภทว่า คนนี้อ่านหนังสือ คนนี้ดูหนัง คนนี้ฟังเพลง เราทำทุกสิ่งในคนเดียวกันนี้แหละ”

“สิ่งที่ LIT FEST นำเสนอให้ คือการที่การเสพหนังสือมันเปลี่ยนท่าจากท่าเดียว คือการอยู่กับหนังสือคนเดียว เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นหมดเลย โดยที่ต้นทางมันยังเป็นคอนเทนต์ที่มาจากหนังสืออยู่ ก็คือออกไปฟังดนตรี เล่าเรื่องหนังสือ เล่นบอร์ดเกมกับนักเขียน” เน็ตกล่าว

จุ๋มยกตัวอย่างกิจกรรมที่เกี่ยวกับการขีดเขียนที่เปลี่ยนจากแบบที่เราคุ้นเคย “Lit Poetry ได้รับความนิยมมาก ต่อแถวกันยาวมาก การที่นักเขียนมานั่งอยู่ตรงนี้กับการแจกลายเซ็นที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มันต่างกันกับนั่งที่นี่ นี่คือการที่คนอ่านมามองตาคุณ แล้วก็เล่าเรื่องบางเรื่องให้คุณฟัง แล้วนักเขียนก็พิมพ์เรื่องนั้นยื่นกลับไปให้ มันได้สื่อสารกัน”

 

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย LIT Fest (@litfest.th) เมื่อ

 

“สิ่งที่เราได้ฟังจากพี่ๆ นักเขียนก็คือ มันทำให้จำได้ว่า เราเป็นนักเขียน เพราะว่าเขาทำงานคนเดียวโดดเดี่ยวมาตลอด กิจกรรมเหล่านี้มันเตือนว่าเรากำลังทำงานสื่อสารกับคน และ LIT FEST มันทำลายกำแพงหลายอย่าง ทำลายว่าคนนี้คือนักอ่าน คนนี้คือนักเขียน มันคือคนกับคนที่นั่งคุยกัน” โจ้กล่าว

ส่วนนกยกตัวอย่างบุ๊คคลับ ที่นำเพจหนังสือต่างๆ มาตั้งวงคุยเรื่องหนังสือกัน “มีอยู่ครั้งหนึ่งคุยเรื่องหนังสือ ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คุยอยู่ดีๆ ก็ไปถึงเรื่องเสรีภาพหรือสิทธิในการใช้ชีวิต กลายเป็นว่าเวลาเราพูดถึงหนังสือ มันไม่ใช่แค่กระดาษหรือตัวเนื้อหาในนั้นอย่างเดียว แต่มันแตกไปได้อีกเยอะ”

แต่กว่าจะเป็นบรรดากิจกรรมแกนหลักที่คอปเซปต์ชัดขนาดนี้ กระบวนการเบรนด์สตอร์มหลายหัวมากกว่า 40 ฝ่าย ทีม Readery จัดการไม่ให้ตีกันได้อย่างไร พวกเขานิ่งเงียบเมื่อได้ยินคำถามนี้

“จริงนะ ช่วงแรกๆ ตีกันฉิบหายเลย” โจ้โพล่งทะลุความเงียบ เรียกเสียงหัวเราะจากเพื่อนร่วมทีม “แต่หนึ่งในคนสำคัญก็คือพี่แมว ประกิต กอบกิจวัฒนา (เจ้าของเพจ อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป) เป็นคนเคาะและตบให้มันอยู่ในคอนเซปต์ ‘inspired by books’ หลังจากนั้นก็ไม่มีตรงไหนงงเลย ทุกอย่างก็เกาะอยู่กับประเด็นนี้ ดนตรีก็จะเป็นวงที่ชอบอ่านหนังสือ หรือสมาชิกในวงเป็นนักเขียน หรือเพลงแต่งมาจากหนังสือ สิ่งที่ตีกัน ถ้าอะไรที่ไม่ได้บันดาลใจมาจากหนังสือ ก็ถูกคัดออก

“สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ เมื่อเราคิดคอนเซปต์ชัด execution มันจะตามมา จะลดการตีกัน”

ปลุกกระแสด้วย ‘ลัทธิเพื่อน’

“ถามว่ามีวิธียังไงให้เกิดกระแส ถ้าตอบแบบง่ายๆ ทฤษฎีหนึ่งของ Readery ที่เราใช้เสมอในการทำงาน เราเรียกว่า ‘ลัทธิเพื่อน’ ขอให้เรามีเพื่อนเยอะๆ แล้วงานสื่อสารมันจะออกไปด้วยพลังของเพื่อน” เน็ตกล่าว “เราเอาสิ่งนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นว่า 5 คนนี้ ใครเป็นเพื่อนใครบ้าง นำเครือข่ายเพื่อนมาวางบนโต๊ะให้หมด”

“เหมือนภาคีนกฟินิกซ์” จุ๋มพูดเสริมให้เห็นภาพ

การมีเพื่อนเยอะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะหาเพื่อนเหล่านี้มาจากไหน

“แรด! เป็นอันดับแรกเลย” โจ้ตอบขำๆ แต่ก็เสริมด้วยสาระ “Readery ได้คอนเน็คชันมาจากคนที่เป็นคู่ค้าของเรา ก็ประมาณ 300 กว่าเจ้า ภาพพิมพ์ก็เช่นกัน แล้วความสัมพันธ์ของเราทั้งสองกับคู่ค้าก็ค่อนข้างดี”

เน็ตพูดถึงกลุ่มเพื่อนอีกฝั่ง คือกลุ่มนักอ่านที่พวกเขาเคยทำงานมาด้วย “เราพยายามสร้างคอมมิวนิตี้นักอ่าน อย่างเพจรีวิวหนังสือเพจต่างๆ พวกนี้เป็นเพื่อนเราหมดเลย อย่างที่เราทำ Book Club มาสองสามปี เปลี่ยนกลุ่มหนังสือไปเรื่อยๆ ทำให้ได้เจอคนหลากหลายมาก อย่างเพจนิยายจีน หรือการจัดมูราคามิเฟสติวัลที่ร้าน Bar Bali”

ถัดจาก ‘ลัทธิเพื่อน’ ที่ดูต้องใช้เวลาสานสัมพันธ์และสั่งสมความเชื่อใจ ในด้านกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ พวกเขาก็มีกระบวนการสอดส่องโลกโซเชียล

“นอกจากการให้ข้อมูลล่วงหน้า แผนพีอาร์อีกอันหนึ่ง คือให้สิ่งที่เกิดขึ้นจากงานวันศุกร์ไปสร้างเกิดกระแสในโซเชียล เพื่อให้มีอะไรตามมาอีกในงานวันเสาร์-อาทิตย์ แฮชแท็กที่เราอยากให้เขาโพสต์ มันพูดถึงอะไรบ้าง แล้วมันไปต่อเรื่อยๆ ไหม” เน็ตกล่าว

“สิ่งที่คนข้างนอกอาจจะไม่รู้ คือทีมงานเบื้องหลังทำงานกันแบบจริงจังมักๆๆ มาก ข้างหน้าดูสนุก ลั้ลลาเนอะ แต่ว่าทีมสนับสนุนมี war room ที่คอยเช็กโลกโซเชียล เช็กฟีดแบ็กตลอดเวลา” โจ้เล่าเรื่องเบื้องหลัง “ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนมีงาน ก็มีคนตั้งคำถามว่าจะเดินทางยังไง เราก็ปรับกลยุทธ์ทุกสิ่งอย่าง ติดต่อ GRAB ไปเพื่อออกโค้ดส่วนลดมางาน วิเคราะห์กันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มาแบบฟลุกๆ ขนาดนั้น”

เป็นคนบ้าที่แคร์มากๆ นะ

โจ้เล่าความประทับใจที่มีต่อทีมงาน ว่าพวกเขาได้ดีเพราะความบ้าของคนทุกๆ ฝ่าย “แต่ท่ามกลางความบ้าคลั่ง ทุกคนก็ทำงานแบบโปรเฟชชันแนลมากๆ”

ขณะที่เน็ตบอกว่า แม้จะไม่เคยมีแบบแผนในการจัดงานอีเวนต์อยู่ในหัวมาก่อนเลย ก็พวกเขาก็วิเคราะห์จากสิ่งที่ทำออกไปเสมอ ว่าสเต็ปต่อมาควรทำอะไร เช่นการจัดแคมปิ้งสามคืนเพื่อมาระดมสร้างกระแสในโลกโซเชียล

“โชคดีอย่างหนึ่งคือทีมเราของข้างครบเครื่อง ทำกราฟิกได้ เป็นอาร์ตไดฯ ได้ เขียนจดหมายเชิญสื่อได้ เขียนโพสต์เฟซบุ๊กได้ ทำมาร์เกตติ้งได้ วิเคราะห์ข้อมูลได้ เราสนุกและแค่ทำออกไป วิเคราะห์ผล แล้วทำออกไปใหม่ วิเคราะห์ผลใหม่”

“ตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ ทั้งทีมกองกลางนี้และทีมพาร์ตเนอร์ที่เราร่วมงานด้วยบอกว่ามันสนุกมาก ดังนั้นเวลาที่เราสนุก เราทำอะไรก็ได้แล้ว” โจ้กล่าว เสริมอีกด้านที่ต้องมาคู่ความบ้า คือความใส่ใจ

“ทั้งทีมกองกลางและทีมออร์แกไนเซอร์ เป็นทีมที่แคร์คนอื่นมาก ทั้งแคร์กันเอง แคร์คนที่จะเข้ามาร่วมงาน แคร์มากๆ น่ะ ดูเขาทุกสเต็ป” และไม่ใช่แค่แคร์ผู้ร่วมงาน แต่ ‘เจ้าบ้าน’ ที่อาศัยรายรอบมิวเซียมสยามก็อยู่ในรัศมีของความใส่ใจ

“น้องๆ ออร์แกไนเซอร์ทีมกางใจเขามองเห็นความสำคัญของชุมชนที่อยู่รอบๆ มิวเซียมสยาม ไปเดินชวนคนที่อยู่รอบๆ นี่มาเปิดร้านในงาน ไม่ต้องอร่อยที่สุดในโลกก็ได้ แต่ต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในสิ่งนี้ ซึ่งบอกเลยว่าเป็นสิ่งที่พวกเราในกองฯ นี้คิดไม่ถึงเลย”

จุดไฟสร้างสรรค์ให้อุ่นกันทั้งปี

ในเมื่องานนี้เป็นเทศกาล ไม่ใช่เทรดแฟร์ ความสำเร็จของงานคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายหนังสือใช่ไหม เราถามไปซื่อๆ ทุกคนยิ้มมีเลศนัย แล้วพูดประสานเสียงกันว่า “แต่…”

“ถึงแม้อันนี้จะไม่ใช่ KPI ที่เราตั้ง แต่ เฮ้ย! ยอดขายมันเยอะมากจริงๆ” จุ๋มอาสาตอบ

นกเสริมด้วยมุมมองของเจ้าของอีกสำนักพิมพ์ “ถ้าเทียบกับระยะเวลาสามวัน ยอดขายมันอลังฯ มาก สำนักพิมพ์ก็บอกว่ามันเกินเป้าที่คาดไว้เพราะว่าคนอ่านกับสำนักพิมพ์ได้มีเวลาคอนเนคต์กัน ได้คุยกันในสิ่งที่เขาต้องการ เป็นพื้นที่ของการเชื่อมโยง”

“สิ่งที่เราตกผลึกได้จากยอดขาย คือด้วยความที่มันเป็นเฟสติวัล คนที่มางานเขาจะวางแผนการใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเปิดงานจนถึงปิดงาน จำนวนชั่วโมงที่เขาใช้อยู่กับเฟสติวัลจึงนานกว่าแค่ไปงานหนังสือ และแน่นอน เวลาคนเรามีความสุข เราก็พร้อมจะจ่ายเงิน” เน็ตกล่าว

ที่ฟังมานั้นมีแต่เรื่องดีๆ แล้วมีอะไรไหมที่ผิดคาด ทีมงานบอกว่าา มีเพียงเรื่องที่อาหารบางส่วนเตรียมไว้ไม่พอเพราะคนมาเยอะกว่าที่คิด และสำนักพิมพ์บางแห่งที่ไม่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ก็ทักมาว่าคราวหน้า ไม่ชวนเขาไม่ได้แล้วนะ

ถ้าเป็นอย่างนั้น ปีหน้า งาน LIT FEST จะขยายขึ้นไหม

“ขนาดอาจไม่ใช่ประเด็นนะ การเติบโตของงานไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของขนาดอย่างเดียว” โจ้ตอบ และมองว่าโจทย์สำคัญของทีมคือทำอย่างไรให้มันสนุกกว่าเดิม เพื่อต่อยอดให้เกิดงานอื่นๆ ไปตลอดทั้งปี

“Readery ในฐานะร้านหนังสือออนไลน์ เห็นว่าเพื่อนสำนักพิมพ์ออกหนังสือน่าสนใจ ปกสวยๆ เยอะมากๆ เราจะทำยังไงให้ความสนุกแบบนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี นี่คือ objective ที่เราทำงานนี้ตั้งแต่มกราคม มันอาจจะไม่ได้เป็น LIT FEST แต่เป็นเทศกาลหนังสืออื่นๆ ที่ทีมจะบิวต์เป็นระยะๆ ต่อเนื่องไปทั้งปี และไม่จำเป็นต้องเป็นแค่งานอีเวนต์ก็ได้”

“จริงๆ อาจเป็นคำถามที่เราต้องทำการบ้านต่อในปี 2 ว่าเราโฟกัสกันที่สเกลของงาน หรือคอนเทนต์ของงาน สิ่งที่เราพยายามบอก The Momentum มาตลอดก็คือ พวกเราบ้า” เน็ตเสริม

“งานนี้เราเห็นการ cross-over หนึ่งชั้นแล้ว ก็คือหนังสือ x ดนตรี คอนเซปต์นี้ยังเป็นแก่นของเราอยู่ว่าถ้าเราจะ cross-over กับอุตสาหกรรมอื่นๆ มันจะทำได้ไหม” เน็ตพูดให้เราคิดต่อ ว่ามันอาจจะเป็นหนังสือกับละครเวที ก็ทำได้

“หรือมันอาจจะ international ขึ้นก็ได้ ปีหน้าเราอาจจะโทรชวนร้านหนังสือในประเทศเพื่อนบ้านมาจัดอะไรเล็กๆ กันในเอเชีย และต่อไป Readery จะไม่ได้เป็นแค่ร้านหนังสือออนไลน์ แต่สามารถครีเอตกิจกรรมเจ๋งๆ ได้อีกเยอะ เพราะทีมพร้อมแล้ว” โจ้พูดพร้อมยื่นหน้ามาใกล้ๆ เครื่องอัดเสียง “พูดง่ายๆ ว่าถ้าใครจะจ้างก็ทำให้ได้

“แล้วใครบอกว่างาน LIT FEST ครั้งต่อไปจะเป็นปีหน้า มันอาจจะเป็นปีนี้ก็ได้ แกคิดเอาเองกันน่ะ”

Tags: , , , , ,