เมียนมากำลังเดินหน้าไปถูกทิศ ถ้าว่ากันด้วยพลังสร้างสรรค์ที่ฉายฉานใน Wathann Film Fest และการระเบิดตัวของหนังอิสระในพม่าในช่วงสองสามปีมานี้

เทศกาลภาพยนตร์วสันตฤดู (Wathann Film Fest) ริเริ่มโดยนักทำหนังอิสระชาวเมียนมารุ่นใหม่ คือ ตูตู ฉิ่ง (Thuthu Shein) และ ติ๊ดดิ (Thaiddhi) ที่จบจาก FAMU (Czech National Film School) สถาบันภาพยนตร์มีชื่อและเก่าแก่แห่งกรุงปราก โดยได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลสาธารณรัฐเชกฯ เมื่อปลายปี 2000 ทั้งสองเล่าว่า ที่ FAMU พวกเขาได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ที่มีศิลปะการสร้างสรรค์ชั้นยอดมากมาย ได้ดูหนังที่คนพม่าไม่เคยมีโอกาสได้ดู เพราะที่ผ่านมา เมียนมาอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหาร หนังทุกเรื่องไม่ว่าหนังของพม่าหรือหนังต่างประเทศที่ลงโรง จะต้องผ่านระบบการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ผลก็คือหนังบู๊และหนังตลกครองตลาดหนังในเมียนมามาตลอดหลายทศวรรษ เพราะค่ายหนังและผู้จัดจำหน่ายไม่อยากเสี่ยงกับการสูญเงินหากหนังถูกห้ามฉาย

ในมหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ (National University of Art and Culture) ของเมียนมา เปิดสอนหลักสูตรโทรทัศน์และภาพยนตร์เช่นกัน แต่คณะนี้ก่อตั้งขึ้นภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการเพื่อผลิตละครโทรทัศน์เป็นหลัก (ผู้เขียนขอเสนอเป็นข้อมูลแก่การขบคิดของผู้อ่านชาวไทย) นักศึกษาที่จบหลักสูตรดังกล่าวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีโอกาสดูหนังกันสักเท่าไร ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดินทางมาถึงกรุงปราก สองนักเรียนทุนจากพม่าจึงตื่นตะลึงกับวัฒนธรรมการเรียนการสอนภาพยนตร์ที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง นอกจากจะสนับสนุนให้นักศึกษาศึกษาและดูหนังที่ท้าทายมุมมอง ยังเต็มไปด้วยประเด็นให้ถกเถียง เป็นงานศิลปะและงานทดลอง ได้วิพากษ์แลกเปลี่ยน และลงมือทำ เช่นตัวอย่างชั้นเรียนเซอร์เรียลิสม์ ที่นักศึกษาได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์บันทึกการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (Diary of masturbation) โจทย์อะไรแบบนี้ดูจะแรงเกินสำหรับนักศึกษาจากอาเซียน กระนั้นพวกเขารู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ และอยากแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้แก่เพื่อนคนทำหนังและผู้ชมที่บ้านเกิด โดยคิดว่าเทศกาลภาพยนตร์ที่นำพาหนังดีมีศิลปะมาฉายให้คนได้ดูกันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เทศกาลภาพยนตร์อิสระวสันตฤดูจึงถือกำเนิดขึ้น

ภาพยนตร์สั้นสัญชาติพม่าเรื่อง Neon Dream กำกับโดย Kriz Chan Nyein

นั่นคือเมื่อปี 2011 แม้ความเปลี่ยนแปลงจะสัมผัสได้ในสายลม แต่เมียนมาก็ยังอยู่ในกรงกั้นของอำนาจเผด็จการอันเหนียวแน่น เรื่องนี้สุ่มเสี่ยง พวกเขารู้แก่ใจ แต่ต้องการท้าทาย ‘วสันต์’ แปลว่าฤดูฝนในภาษาบาลี (ออกเสียง ว่ะต่าน ในภาษาพม่า) เนื่องจากเทศกาลนี้มีขึ้นทุกปีในช่วงต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นฤดูฝน เดิมทีพวกเขาคิดจะเรียกเทศกาลนี้ว่า ‘Raindance Film Festival’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ‘Sundance Film Festival’ เทศกาลภาพยนตร์อิสระมีชื่อของอเมริกา ริเริ่มโดยโรเบิร์ต เรดฟอร์ด แต่ชื่อนั้นถูกใช้แล้ว จึงเปลี่ยนมาใช้ภาษาบาลีแทน ความแตกต่างระหว่างซันดานซ์และว่ะต่านไม่ใช่แค่เรื่องภูมิอากาศ แต่ยังรวมถึงบรรยากาศแห่งเสรีภาพ ว่ะต่านต้องฝ่าฟันระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด ไม่เหมือนกับเสรีภาพและความเปิดกว้างที่ซันดานซ์มี สถานที่จัดก็เป็นอีกปัญหา เพราะในเมียนมามีตัวเลือกไม่มากนักสำหรับการจัดงานที่ไม่อิงกับภาครัฐ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ ‘อิสระ’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเมียนมา

ในที่สุด ทีมผู้จัดก็เลือกหอวัฒนธรรมแห่งหนึ่งเป็นสถานที่จัด ซึ่งเป็นหอประชุมสำหรับกิจกรรมทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ แต่เมื่อเทศกาลเริ่มขึ้น หอประชุมแห่งนั้นก็ดูเล็กแคบไปทันที ด้วยฝูงชนที่กระหายใคร่ชมสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน แม้แต่พระและแม่ชีก็มาร่วมชมด้วยและออกจะพิศวงสงสัยกับทุกสิ่งรอบตัว

ทุกคนนับจากผู้จัด ผู้สนับสนุน แม้กระทั่งผู้ชม ถือว่ากล้าหาญมากที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานและมาชม เพราะในห้วงเวลานั้น สถานการณ์ในเมียนมายังมีแต่ความไม่แน่นอน ‘การเลือกตั้งครั้งแรก’ อย่างที่เรียกกัน ก็เพิ่งมีขึ้นในปี 2010 ท่ามกลางความข้อกังขาร้อยแปดจากประชาชน โดยพรรคเอ็นแอลดี (สันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ก็ไม่ได้เข้าร่วม ไม่มีใครเชื่อลมปากและแผน ‘ปฏิรูป’ ของผู้นำทหาร และทุกอย่างก็พลิกผันได้เหมือนที่เคยเกิดมาตลอดห้าทศวรรษ

อย่างน้อยที่สุด ภาพยนตร์ก็ต่างจากการแสดงหรืองานศิลปะที่ใช้การแสดงเป็นสื่อ (performing arts) ในแง่ที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถรู้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่จะออกสู่สายตาสาธารณชนคืออะไร นอกจากนี้ ก่อนเทศกาลจะเริ่มขึ้น ผู้จัดยังถือโอกาสหยั่งเสียงองค์กรด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างองค์กรด้านภาพยนตร์เมียนมาและมหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรม ถึงพันธกิจต่อการสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่มีเสรีภาพมากขึ้น ในสมัยนั้น ไม่มีใครกล้าประกาศดังฟังชัดว่าจะสนับสนุนกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับรัฐแบบนี้ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีใครบอกปัด ในที่สุด เทศกาลภาพยนตร์อิสระวสันตฤดูก็แจ้งเกิด โดยไม่มีเหตุสะดุดหรือความวุ่นวายใดๆ ผู้ชนะสามคนจากเทศกาลกลายเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลภาพยนตร์อิสระกลุ่มแรกในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เมียนมา

ใครกันบ้างที่ส่งหนังเข้าร่วมเทศกาลครั้งนั้น พวกเขาเรียนรู้และทำหนังกันอย่างไรในเมื่อมีสถาบันที่สอนศาสตร์และศิลป์แขนงนี้รวมทั้งข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์น้อยมาก แรกสุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมียนมาก็เหมือนประเทศอื่นๆ ที่คนจำนวนมากคิดฝันอยากทำหนัง อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการ โอกาสย่อมมีอยู่จำกัด คนจึงต้องช่วงชิงใช้ทรัพยากรและโอกาสที่มีอยู่จำกัดนั้นให้มากที่สุดด้วยจินตนาการและพลังสร้างสรรค์ ที่ผ่านมา หนทางเดียวของการเรียนรู้การทำหนังคือการเป็นลูกมือของผู้กำกับฯ ที่มีชื่อเสียง

เมียนมามีอุตสาหกรรมหนังขนาดใหญ่ที่บายพาสส์การลงโรง แต่ผลิตหนังเพื่อจัดจำหน่ายในรูปของวิดีโอโดยตรง (เป็นหนึ่งในประเทศที่จำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตต่อปีสูงมากจนน่าแปลกใจ แม้จนถึงปัจจุบันจะมีภาพยนตร์ลงโรงราว 20 เรื่องต่อปี) คนที่อยากเป็นผู้กำกับหนังอาจเลือกสมัครเข้าทำงานในบริษัทผู้ผลิตหนังรายเล็ก และเรียนรู้จากผู้กำกับฯ ประจำบริษัท หรือเรียนรู้ด้วยตนเองจากการหาหนังดีๆ มาดู ที่มีวางขายในรูปแผ่นผีวีซีดีเถื่อน โดยไม่มีคนแนะนำ ไม่มีสถาบันสอนทำภาพยนตร์หรือบทวิเคราะห์วิจารณ์หนังให้หาอ่าน เพราะตัวอย่างที่พวกเขาจะหาชมได้จากอุตสาหกรรมหนังของเมียนมาเองก็มีแต่งานประเภทตลกและดรามา

ภาพยนตร์สั้นสัญชาติไทยเรื่อง ชิงช้าสวรรค์ (FERRIS WHEEL) กำกับโดย พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

กระทั่งปี 2002 จึงเริ่มมีหลักสูตรภาพยนตร์เปิดสอน อาทิ หลักสูตรในความร่วมมือระหว่าง FAMU และสมาคมฝรั่งเศส  (FAMU ไม่เพียงแต่เปิดสอนภาพยนตร์ในเมียนมา แต่ยังให้ทุนแก่คนทำหนังรุ่นใหม่ไปศึกษาที่สถาบันในกรุงปรากด้วย) อีกหลักสูตรในช่วงนั้นเป็นหลักสูตรหนังสารคดีขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกตนเองว่า Yangon Film School รวมทั้งหลักสูตรที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวโดย American Center คนที่อยากทำหนังต่างก็ฉวยคว้าทุกโอกาสที่มี แล้วไม่นานนัก มหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติก็จัดตั้งคณะโทรทัศน์และภาพยนตร์ขึ้น และกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนทำหนังก็ไม่ปฏิเสธ พวกเขากระหายที่จะเรียนรู้ และกระหายที่จะสร้างสรรค์ โดยเฉพาะงานประเภทสารคดี

ในยุคของรัฐเผด็จการ กลุ่ม ‘เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า’ พลัดถิ่น (Democratic Voice of Burma) ที่เคลื่อนไหวผ่านรายการวิทยุ ได้เริ่มผลิตรายการข่าวโทรทัศน์ออกอากาศจากนอร์เวย์และส่งสัญญาณให้รับชมได้ในเมียนมา นับจากช่วงต้นปี 2000 และ ‘สายข่าว’ (stringer) ท้องถิ่นที่ทำงานและลักลอบส่งฟุตเทจวิดีโอผ่านเครือข่ายใต้ดินไปให้พวกเขา ก็กลายเป็นวีรบุรุษนิรนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเหตุการณ์ปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) ในปี 2007 นักกิจกรรมมากมายต้องการเป็นประจักษ์พยานและบันทึกความโหดร้ายของเผด็จการทหาร พวกเขาส่งเทปบันทึกภาพที่ได้ให้กับเสียงประชาธิปไตยฯ รวมทั้งสื่อพม่าพลัดถิ่นและสื่อต่างประเทศอื่นๆ ต่อมาภายหลังการเปิดประเทศ พวกเขาจึงยินดีและสนุกสนานกับการได้บันทึกภาพและถ่ายทำบนท้องถนนอย่างอิสระที่เคยถูกห้ามมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ ตลอดห้าปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการระเบิดตัวของภาพยนตร์อิสระในเมียนมา

ในปีนี้ เทศกาลภาพยนตร์อิสระวสันตฤดูย่างเข้าสู่ปีที่ 7 สำหรับเทศกาลตลอดห้าปีหลังนี้ จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์โรงเดี่ยวที่เก่าแก่ที่สุดและเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในย่างกุ้งชื่อว่า โรงภาพยนตร์วาซิยา(Waziya Cinema) ด้วยความพยายามและตั้งใจที่จะสร้างสำนึกของการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ ในระหว่างที่เปิดประเทศ อาคารเก่าจำนวนมากในเมียนมาถูกรื้อถอนทำลายเพื่อหลีกทางแก่อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโรงแรม เพื่อรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ นักท่องเที่ยว และผู้อยู่อาศัย หนึ่งในผลพวงความสูญเสียคือโรงภาพยนตร์ บนถนนโบเกียวในย่านกลางเมือง ซึ่งเคยดาษดื่นด้วยโรงภาพยนตร์จนได้รับการขนานนามว่า ‘ซีเนม่าทาวน์’ บัดนี้มีโรงภาพยนตร์เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง โรงภาพยนตร์วาซิยาเองก็ปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ทีมผู้จัดว่ะต่านได้ขออนุญาตเปิดโรงหนังในความทรงจำนี้ปีละครั้งเพื่อจัดเทศกาลภาพยนตร์นี้เป็นการเฉพาะ ก่อนวันงานผู้จัดจะต้องลงมือทำความสะอาดโรงหนังใหม่หมด และนำอุปกรณ์จำเป็นมาติดตั้งเองทุกอย่าง รวมถึงเครื่องปั่นไฟ (เมียนมาขึ้นชื่อนักเรื่องไฟฟ้าดับ) แต่ผู้จัดมองว่าความเหนื่อยและยุ่งยากเหล่านี้คุ้มค่ากับสถานที่ตั้งอันสะดวกแก่ผู้สนใจ และเหนืออื่นใด สถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียลของวาซิยาก็ช่วยเสริมความอลังการตามขนบพรมแดงของเทศกาลหนังให้แก่ว่ะต่านได้เป็นอย่างดี

ภาพยนตร์สั้นสัญชาติไทยเรื่อง รักษาดินแดน (FAT BOY NEVER SLIM) กำกับโดย สรยศ ประภาพันธ์

เทศกาลหนังเล็กๆ นี้ นับหนึ่งจากการสนับสนุนขององค์กรประเทศเชกฯและฝรั่งเศส ปัจจุบันพวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากสมาคมญี่ปุ่นและสถาบันเกอเธ่ด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ยังขยายเครือข่ายไปสู่แวดวงภาพยนตร์อาเซียน นับจากหอภาพยนตร์ของไทย ฟิล์มไวรัส และ เอส-เอ็กซ์เพรสส์ ของอินโดนีเซีย เพื่อให้ผู้ชมและคนทำหนังเมียนมามีโอกาสได้เห็นว่าแวดวงภาพยนตร์ในประเทศรอบบ้านกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง และก็ได้รับความสนใจอย่างดี

แม้ว่าเทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อภาพยนตร์อิสระโดยเฉพาะ แต่ก็ส่งผลอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมหนังกระแสหลักของเมียนมาด้วย ดังที่ผู้ชมและคนทำหนังอิสระพากันใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางวิพากษ์วิจารณ์หนังประเภทหวานแหววไร้สติ จนได้รับความสนใจจากสถานีสื่อของรัฐ (MRTV) โดยติ๊ดดิในฐานะตัวแทนคนทำหนังอิสระ ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ เพื่อขึ้นโต๊ะร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับผู้กำกับฯ เบอร์ใหญ่จากอุตสาหกรรมหนังกระแสหลักด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ โตเปงซออู (Htoo Paing Zaw Oo) ผู้ชนะเลิศม้ามืดรางวัลหนังสั้นจากว่ะต่านครั้งที่สอง (ถือเป็นม้ามืดเพราะหนังของเขาพ้นซึ่งกรอบไวยากรณ์หนังเดิมๆ และก็มีคนไม่มากในเมียนมาที่จะเข้าใจหนังแนวนี้)ด้วยการสนับสนุนจากว่ะต่าน ได้สร้างหนังยาวเรื่องแรกชื่อ Night โดยไม่ใช่นักแสดงมีชื่อเลย ซึ่งถือเป็นงานฆ่าตัวตายในวงการหนังเมียนมาที่ดาราคือหัวใจของรายได้ นอกจากนี้หนังยังมีโครงเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นงานเชิงทดลอง กระนั้น Night กลับประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ นักวิจารณ์เรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็นศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมหนังเมียนมา นักทำหนังอิสระหลายคนที่หนังของพวกเขามีโอกาสออกสู่สายตาสาธารณชนแต่เฉพาะในเทศกาลหนัง ต่างยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้ และถือเป็นว่า Night ได้ช่วยกรุยทางให้แก่พวกเขา

ในอีกสามปี เทศกาลว่ะต่านจะก้าวย่างสู่ปีที่ 10 ผู้จัดเชื่อว่ามันจะเป็นหมุดหมายสำคัญ ความท้าทายบางประการยังรอให้ฝ่าฟัน ระบบการเซ็นเซอร์ยังเป็นปัญหาใหญ่ การหาทุนก็ท้าทายผู้จัดอยู่ทุกปี (แม้ว่าสองสามปีหลัง พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากธนาคารในประเทศ) และช่องว่างเรื่องจำนวนหนังที่ส่งเข้าร่วมในประเภทต่างๆ ซึ่งหนังสารคดีมักนำโด่งหนังเรื่อง ขณะที่หนังทดลองยังมีน้อยนิด ผู้จัดได้พยายามหาหนังแนวใหม่ๆ มาฉายในช่วงพิเศษ แต่กว่าจะได้เห็นแนวหนังที่หลากหลายขึ้นก็คงต้องรอเวลาอีกสักระยะ สำหรับเทศกาลครั้งที่ 7 นี้ ผู้จัดกล่าวว่า มีหนังนอกหมวดสารคดีส่งเข้าร่วมเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่จัดมา นี่อาจเป็นนิมิตหมายถึงก้าวย่างที่สำคัญอีกครั้ง

หมายเหตุ: บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ โดย สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี

FACT BOX:

เทศกาลภาพยนตร์อิสระวสันตฤดู ครั้งที่ 7 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 กันยายนนี้ ที่โรงภาพยนตร์ Wasiya เมืองย่างกุ้ง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/wathannfilmfest/

Tags: , , , , , , , , ,