หลังจากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนานกว่า 6 ปี LINE ก็กลายเป็นแอปพลิเคชั่นแชตที่มีผู้ใช้มากถึง 44 ล้านคน คิดเป็น 90% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในไทย ธุรกิจของ LINE ประเทศไทยเติบโตอย่างมาก เป็นรองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น และตอนนี้ LINE ประเทศไทยก็มีเป้าหมายชัดเจนนั่นคือการเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน พร้อมทั้งมีชีวิตที่ดีขึ้น
ในโอกาสนี้ ทีมผู้บริหารของ LINE ประเทศไทยได้พูดคุยกับ The Momentum ทั้งในมุมมองทางธุรกิจ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับเราทั้งหลายในฐานะผู้ใช้ LINE ว่าประสบการณ์ที่เราสัมผัสอยู่ในทุกวันนี้มีวิธีคิดเบื้องหลังอย่างไร เราจะได้เห็นบริการใหม่ๆ จาก LINE แบบไหนอีกบ้าง
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด
เริ่มกันที่ ซีอีโอคนล่าสุด ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมไอทีมาอย่างยาวนาน ดร.พิเชษฐ กล่าวถึงการเติบโตของแอปพลิเคชั่นยอดนิยมนี้ว่า
“คงไม่ปฏิเสธว่า LINE เป็นแชตแอปที่ถูกจริตกับคนไทย เราเริ่มจากการเป็นแชตแอป และกลายเป็นที่จดจำมากขึ้นจากสติกเกอร์ซึ่งเป็นฟีเจอร์หนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้การพูดคุยสนุกขึ้น สื่ออารมณ์ได้มากขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเรา หลังจากนั้น เราก็เริ่มสร้างบริการใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์คนไทย ทั้ง LINE TV, LINE TODAY, LINE MAN, LINE JOBS หรือจะเป็นบริการล่าสุดอย่าง LINE Melody เรียกได้ว่าบริการของ LINE ครอบคลุมชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ทำให้เราประสบความสำเร็จในตลาดไทย ยังไม่รวมถึงบริการด้านการเงินที่จะเปิดตัวในอนาคต คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะบอกว่า LINE ได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตของทุกคนไปแล้ว”
Life on LINE: อยู่กับ LINE ได้ 24/7
ดร.พิเชษฐ กล่าวถึงแนวคิดหลักของ LINE Global นั่นคือเรื่อง Life on LINE ที่ใช้วิธีการ Hyper-localization หรือการพัฒนา-ออกแบบบริการให้เข้ากับผู้ใช้ในประเทศไทยให้มากที่สุดเข้ามาเป็นแกนหลัก
“พฤติกรรมของผู้ใช้ในแต่ละประเทศต่างกัน แน่นอนว่าบริการของเราก็ต้องต่างด้วย เช่น แม้ว่า LINE TODAY จะมีในไต้หวัน แต่เนื้อหาของเราก็ไม่เหมือนกัน หรืออย่าง LINE MAN ที่ประเทศอื่นก็ไม่มี ขณะที่บางอย่างที่ต่างประเทศมี เราอยากเอามาทำที่นี่ เราก็ต้องดูเรื่องของความพร้อมของตลาดด้วย ตอนนี้ LINE ญี่ปุ่นกับไต้หวัน ก็ลงทุนในเรื่องของฟินเทคเยอะ และเรากำลังพิจารณา เพราะมันตอบโจทย์สารพัดเลย
แนวคิด Life on LINE ของเรา คือการเข้าไปอยู่ในชีวิตของทุกคน ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าไปยุ่งกับชีวิตเขา แต่เราจะคอยซัพพอร์ตในยามที่เขาต้องการเรา เขารู้ว่าสามารถใช้บริการแพลตฟอร์มเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน อาจจะตื่นเช้ามาอ่านข่าว ดูสภาพการจราจร ผ่าน LINE TODAY หรือดูละครย้อนหลังบน LINE TV คุยแชตกับเพื่อน ฟังเพลงระหว่างอยู่บนรถไฟฟ้า เมื่อหิวก็สั่ง LINE MAN จะสั่งเมื่อไรก็ได้ตลอดเวลา เรามีร้านค้ามากกว่า 50,000 ร้านค้าให้คุณเลือกสรร ชีวิตกลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว”
ปัจจุบัน LINE ประเทศไทยมีคนทำงานกว่า 400 คน โดย ดร.พิเชษฐ เชื่อในวัฒนธรรมองค์ที่เปิดกว้าง พร้อมรับความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่ที่อยากให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เพราะ LINE เองยังสามารถพัฒนาและแตกแขนงออกไปได้อีกหลายทิศทาง เช่นกัน ผู้บริหารในแต่ละด้านของ LINE ประเทศไทย ก็ใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ การทดลอง รวมถึงการทำงานร่วมกับทีม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตนเองดูแลอยู่ให้ดีต่อผู้ใช้ที่สุด
ชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด
LINE จะต้องใช้ง่ายขึ้น และทำให้ชีวิตดีขึ้น
ชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารแผนงานการตลาด การสื่อสารการตลาด และการสื่อสารองค์กร กล่าวว่า LINE ทำการ humanize อยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่าการใช้ LINE ไม่ว่าในส่วนไหนก็ตาม จะต้องง่าย ไม่ยุ่งยาก
“เรามองว่าสุดท้ายแล้วทุกคนต้องการความง่าย ยิ่งเด็กเจเนอเรชั่นปัจจุบันก็ตาม ถึงแม้เขาจะเป็น Digital Savvy หรือเกิดมากับความเป็นดิจิทัลเลย เขาก็ยังต้องการความง่ายดาย รวมถึงผู้ใช้ที่มีอายุ อย่างที่บอกว่าเรากำลังจะก้าวสู่ aging society การทำให้เทคโนโลยีใช้งานได้อย่างง่ายดายเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นบริการของเรา นอกจากว่ามันจะ closing the distance หรือทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้แล้ว เรายังต้องการให้มันทำให้ชีวิตของผู้ใช้ดีขึ้นในแง่มุมอื่นๆ ด้วย”
การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจึงต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อจะตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ใช้สะดวกสบายขึ้น โดยชาญวุฒิบอกเล่าถึงวิธีการทำงานว่าอาศัยทั้ง data ที่มี และการเช็คกับผู้ใช้จริงๆ ด้วย
“บางที data มันก็บอก fact ทุกอย่าง แต่ว่า data มันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งในการจะมองหาโอกาสหรือลู่ทางอื่นๆ เราอาจจะต้องใช้ data มาเป็นตัวตั้งต้น แล้วเราก็ไปหาวัตถุดิบเพิ่ม อาจจะคุยกับผู้ใช้ มากขึ้นเช็คกับเด็กรอบๆ ตัวเช็คกับน้องในทีม เช็คกับคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา อย่างเช่นสมมติ LINE MAN เนี่ย ผมก็เช็คกับพ่อแม่ผมเองว่าทำไมไม่ใช้ เขาบอกกดยาก สั่งยาก เราก็จะมองหาวิธีแก้ปัญหา ก็จะคุยเยอะขึ้นครับ ทำการบ้านเยอะขึ้น
เราต้องถอยออกมาดูตัวเองเสมอ ทุกครั้งเวลาทำงานแล้วพบว่าไอเดียนี้ดีแล้ว เราจะถอยมาก้าวหนึ่ง ถามก่อนถ้าเป็นคนนอกแล้วมองเข้ามาจะรู้สึกยังไง เวลาทำงานผมไม่อยากให้เราเข้าข้างตัวเองมากเกินไป ว่ามันดีแล้ว มันเพอร์เฟ็กแล้ว ผมว่าทุกอย่างมันต้องถามลูกค้าครับ ต้องดูก่อนว่ายัดเยียดไปไหม หรือ messege แรงไปหรือเปล่า หรือเราไปทำให้ลูกค้าเห็น Ad เยอะแล้ว ลูกค้ารำคาญไหม ผมจะค่อนข้างให้ลูกน้องคิดอย่างนี้เสมอ เราต้องทำตัวเป็นลูกค้าโดยไม่มี bias ใดๆ ถ้าถอยออกมาดูแล้วชอบ อยากทำ เราทำเลย”
และสำหรับเป้าหมายการอยู่ใกล้ชิดกับผู้คนตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ท่าที น้ำเสียง และการ approach เข้าหาลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ชาญวุฒิเล่าถึงวิธีการของ LINE ว่า
“เราพยายามอยู่ในชีวิตผู้คนโดยไม่รู้สึกว่าคือการก้าวก่าย ก้าวล้ำ หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาในแง่ที่ไม่ดี ส่วนตัวผม บริการของ LINE ที่มันอยู่รอบตัวทุกด้าน และมันเปลี่ยนพฤติกรรมเราเหมือนกัน แง่หนึ่งทำให้ผมอยู่บ้านมากขึ้น อาจจะเคลื่อนไหวน้อยลง อ้วนขึ้น (หัวเราะ) แต่มันก็มีคนที่ยังคงแอคทีฟนะ เช่นวัยรุ่นก็ยังคงต้องการออกไปนอกบ้าน ไปมีคอนเทนต์ ไปคาเฟ่ ส่งรูปกันทางไลน์ แชร์โลเคชั่นกัน เวลาที่เขาจะสั่งอาหารมาที่บ้านก็อาจเป็นช่วงอ่านหนังสือสอบ ตอนนั้นก็จะสั่งไลน์ LINE MAN ผมว่าคนที่เป็นคนเลือกใช้มันก็คือลูกค้าเขามีสิทธิ์เลือกว่าทำให้ชีวิตเขาสะดวกและง่ายขึ้นยังไงบ้าง ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เรามี”
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพาณิชย์
ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า Shopping กับ Banking จะต้องมา!
แน่นอนว่า LINE ไม่ได้ลุยเดี่ยว พวกเขามีพาร์ทเนอร์ชิพมากมายที่จะมาทำงานร่วมกัน ให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์สะดวกสบายที่หาไม่ได้จากที่อื่น ซึ่งการมองหาพาร์ทเนอร์ชิพนั้นต้องคำนึงถึงทิศทางของผู้ใช้คนไทย ว่าอินกับอะไรบ้าง นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด จะเป็นผู้บอกเล่าทิศทางในอนาคตอันใกล้นี้
“เรามองว่าตอนนี้โอกาสมันเยอะแยะเต็มไปหมด และเราพยายามมองว่าอะไรที่ทำแล้วมันน่าจะทำให้ชีวิตคนไทยมันมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น หรือมีผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่นตอนเราทำพาร์ทเนอร์กับ SCB ที่ทำเรื่อง SCB Connect (บริการแจ้งยอดเงินเข้า-ออก ผ่าน LINE) โอเค ในแง่ของธุรกิจ ฝั่งธนาคารเขาก็ถูก disrupt ไปแต่ที่มันน่าสนใจมากกว่าคือ ชีวิตของคนกับธนาคารได้เปลี่ยนไปเลย และไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะคนในเมือง แต่เปลี่ยนไปทั้งประเทศ ซึ่งตรงนี้มันทำให้เรารู้สึก เราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างผลกระทบ ทำให้ชีวิตของคนไทยสะดวกขึ้น ดีขึ้น ภาคธุรกิจหรือภาคเศรษฐกิจก็เติบโตไปได้ด้วย”
หลังจากความสำเร็จของ SCB Connect ที่ได้รับผลตอบรับดีเยี่ยม นรสิทธิ์กล่าวว่า LINE ยังมีแผนต่อไปที่ตามมาติดๆ
“จริงๆ มันก็ไปไปตามแนวคิด Life on LINE นี่แหละครับ Life on LINE มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ชีวิตใคร ซึ่งนี่คือชีวิตคนไทย แล้วคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง คนไทยเป็นคนที่เอนเตอร์เทนตลอดเวลา (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราจึงเขยิบเข้ามาทำคอนเทนต์ มีทั้ง LINE TV มีทั้ง LINE TODAY ในอนาคตคอนเทนต์ก็จะขยายไปอีกเยอะเลยเหมือนกัน
แล้วเราก็เห็นว่าการช้อปปิ้งก็เป็นเรื่องเอนเตอร์เทนเหมือนกัน ซึ่งปลายปีถึงต้นปีหน้า ช้อปปิ้งเป็นฝั่งที่เราจะขยายใหญ่มากนะครับ เรามองว่าเราสามารถทำอะไรได้อีก เพื่อให้ผู้บริโภคได้มากกว่าที่มีอยู่ เพราะเรื่องช้อปปิ้งมีผู้เล่นเยอะแยะอยู่แล้ว ดังนั้นมันจะเป็นเรื่องที่ว่า ทุกคนมีดีลเยอะแยะเต็มไปหมด แต่แทนที่ผู้บริโภคจะต้องเข้าแอปนั้นออกแอปนี้ เพื่อที่จะซื้อสินค้าชิ้นเดียว LINE Shopping จะดึงทุกอย่างมาเปรียบเทียบให้ดูเลยว่า สมมติโทรทัศน์เครื่องนี้ ซื้อที่ไหนถูกสุด คุ้มสุด แล้วก็ไปซื้อกับเจ้านั้น”
ขณะที่เรื่องบริการทางการเงิน นรสิทธิ์แย้มว่า
“นอกจากเอนเตอร์เทนแล้ว คนไทยยังสนใจเรื่องปากท้องนั่นก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของเงินๆ ทองๆ จึงเป็นสาเหตุว่าปีหน้าเราจะเน้นเรื่องทำ Banking ด้วย โดยจะทำกับ KBank หรือ Rabbit LINE Pay ที่เราทำก็มีพาร์ทกับ AIS แล้วตอนนี้จะเริ่มรู้สึกว่าการใช้จ่ายของผู้คนมันสะดวกขึ้นแล้ว ส่วนที่คนไทยชอบอีกอย่างหนึ่งก็น่าจะเป็นการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกอย่างนึงที่เราน่าจะไปปีหน้า แต่กำลังศึกษาอยู่ครับ”
เจเดน คัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์
LINE MAN จะขยายพื้นที่ และ LINE MAN Grocery จะมาเสริมทัพ
เจเดน คัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ คือผู้รับผิดชอบด้านการวางกลยุทธ์ให้แก่แพลตฟอร์ม สร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของ LINE โดยเฉพาะ LINE MAN ที่เป็นการบุกเบิกวัฒนธรรมการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ในเมืองไทย และ LINE ScaleUp โปรแกรมเพื่อการต่อยอดความสำเร็จของสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดโลก
ในฐานะผู้บริหาร LINE MAN เขาตั้งเป้าที่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและขยายบริการไปยังพื้นที่อื่นๆ ในเมืองไทยมากขึ้น
“เรามีแผนจะเปิดตัว LINE MAN Grocery ช่วงปลายปีนี้ สำหรับบริการจับจ่ายสินค้าประเภท Grocery ในกรุงเทพฯ หรือจะเป็นการขยายบริการไปยังหัวเมืองใหญ่ในปี 2020 ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มแล้วที่พัทยาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีเยี่ยม การเติบโตอย่างต่อเนื่องของ LINE MAN นี้ทำให้เรากลายเป็นสตาร์ตอัปที่ก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย
ท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นนี้ เราทำงานกันภายใต้วิธี ถาม ถกเถียง และลงมือ เรามีการตั้งคำถามสำคัญและเปิดโอกาสให้ทีมถกเถียงกันเวลาประชุม เมื่อได้ข้อสรุป ก็จะรีบลงมือทำให้เร็วที่สุด แล้วเราก็จะได้บทเรียนใหม่ในทุกครั้ง ผมจะยึดหลัก ‘วางแผน ลงมือ ล้มแล้วเริ่มใหม่’ ด้วยความเชื่อว่าหากเราล้มเร็ว ก็จะยิ่งเจอหนทางที่ใช่เร็วขึ้นเท่านั้น มากกว่าการมัวแต่นั่งหาทางที่ใช่ก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาแล้วอาจจะเสียโอกาสในตลาดไปเลยก็ได้”
กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนท์
เช็คข่าว / ตรวจผลสลากกินแบ่ง / ดูดวง / ดูทีวีย้อนหลัง ฯลฯ LINE ยังให้ได้มากกว่านั้นอีก
กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนท์ รับผิดชอบดูแลและบริหารงานในการพัฒนาธุรกิจคอนเทนท์ ได้แก่ LINE TV และ LINE TODAY กล่าวว่าต้องการเป็นพื้นที่ที่คนจะเข้ามาเสพคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและเต็มไปด้วยความหลากหลายพร้อมตอบสนองทุกความสนใจของผู้อ่าน-ผู้ชม ผ่านวิธีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพที่ไว้วางใจได้ ทั้งสำนักข่าว ผู้ผลิตคอนเทนต์ นิตยสาร รวมถึงผู้ผลิตละคร ซีรี่ย์ รายการโทรทัศน์ ฯลฯ ให้ผู้ชมได้ดูได้อ่านกันฟรีๆ
“การที่เรารวบรวมเนื้อหาจากผู้ผลิตรายต่างๆ มารวมไว้ในแพลตฟอร์ม ถือว่าเป็นการสร้าง Ecosystem นี้ขึ้นมาด้วยกัน เพราะว่าทางผู้ผลิตเองเขาก็อยากให้คอนเทนต์เขามีคนดูเยอะๆ ใน LINE TV เองก็จะมีคอนเทนต์เก่าๆ ที่เคยออกทีวีไปแล้วมาลงด้วย จะเป็นคอนเทนต์ที่ดูได้เรื่อยๆ สำหรับผู้ผลิตมันก็จะเป็นการนำคอนเทนต์มาสร้างรายได้ต่อ แล้วเราก็ได้ช่วย Proof กับผู้ผลิตรายการว่าจริงๆ แล้วคนยังดูคอนเทนต์ของคุณอยู่นะ เพียงแต่ว่าเขาเปลี่ยนช่องทางเท่านั้นเอง”
User experience หรือประสบการณ์ผู้ใช้เป็นสิ่งที่ LINE TV และ LINE TODAY ให้ความสำคัญอย่างมากและมีการพัฒนาเสมอ
“ปัจจุบันเราสามารถดู LINE TV ไปพร้อมๆ กับการใช้แอปฯ อื่นๆ ไม่ว่าจะแชทหรือเล่นเกม ล่าสุดนี้ยังมีการพัฒนาให้ดูวิดีโอใน LINE ทีวีผ่านจอใหญ่อย่าง Chromecast ได้ ยิ่งทำให้ประสบการณ์ของผู้ชมสนุกสนานมากขึ้น เขาจะดูเนื้อหาที่เอ็กส์ตรีมกัน เพราะบางทีมันสนุกกว่าการดูคนเดียว”
LINE TODAY เองก็มีการพัฒนาระบบให้ผู้ใช้สนุกไปกับรายละเอียดต่างๆ เช่นการใส่เพลงบิลด์อารมณ์ลงไปในหน้าตรวจผลลอตเตอรี่ หรือจะมีช่วงหนึ่งที่พบว่ามีการเสิร์ฟข่าวให้เราอ่านในหน้าแรกของห้องแชท กณพบอกกับเราว่าสิ่งนี้คือ ‘smart channel’ ซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองของทีม LINE TODAY
“smart channel ก็คือการที่ตัวระบบจะเรียนรู้จากประเภทข่าวที่ผู้ใช้เคยอ่าน หรือประเภทของคอนเทนต์ที่มีแนวโน้มที่เราน่าจะเลือกอ่าน จริงๆ มันเป็นจุดที่เราเพิ่งเริ่มต้น ตัวระบบเองยังต้องมีการเรียนรู้ เราเองก็ปรับตัวรูปแบบของการนำเสนอให้ละเอียดขึ้น เพื่อ user experience ดีที่สุด
หลายครั้งที่การทดลองก็ส่งผลเหนือความคาดหมาย อย่างเมื่อประมาณเดือนที่แล้วที่ทางทีม LINE TODAY ได้ทดลองทำแคมเปญ LINE ดูดวง ที่จะมีตัว smart channel เสิร์ฟดวงของแต่ละคนให้เลยตามวันเกิด ปรากฏว่าผลตอบรับดีมากๆ ตอนนั้นเราได้ user ใหม่ นักอ่านหน้าใหม่ของ LINE TODAY แล้วสิ่งที่ดีกว่านั้นก็คือว่า คนที่เข้ามา กลายเป็นคนที่ชอบอ่าน จำนวนผู้อ่านเติบโตขึ้นมาก”
อีกส่วนหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ original content ที่ทำให้ LINE แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และนอกจาก LINE TV แล้ว LINE TODAY ก็ทำออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองเช่นเดียวกัน
“ก่อนอื่นต้องบอกว่าเราไม่ต้องการที่จะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์แข่งกับผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าอื่น แต่มันจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมกันและกัน ให้แพลตฟอร์มเรามีความแตกต่างและดึงคนที่นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายเดิมเข้ามาได้
LINE TODAY วันนี้ก็เริ่มมีออริจินัลคอนเทนต์ที่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ส่วนหนึ่งที่เราทำมาก่อนหน้านี้แล้วก็คือคอลัมน์ Think TODAY ซึ่งจะร่วมกับนักเขียนในการสร้าง Exclusive Content ที่มีเฉพาะใน LINE ส่วนที่สองจะเป็นงานของทีม LINE TODAY เอง เราจะเรียกว่า TODAY Playground ก็คือให้ editor ในทีมเราเลือกเขียนคอนเทนต์ที่เขาอยากจะเขียน 7 วัน 7 คอนเทนต์ แต่ละวันก็จะมีคอนเทนต์กลุ่มนี้ออกมาแล้วก็หมุนไปเรื่อยๆ
คอนเทนต์ที่เขาเขียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของชีวิต ความรัก การทำงาน ซึ่งมันเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมอยู่ตลอด แล้วพอมาเขียนในสไตล์ของ editor LINE TODAY เอง มันจึงไม่เหมือนใคร LINE TODAY Playground เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนที่แล้ว และได้รับผลตอบรับที่ดีมากเช่นกัน”
LINE กับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
สุดท้ายนี้ ดร. พิเชษฐ ในฐานะประธานผู้บริหาร ย้ำชัดเจนว่า ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ LINE จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันอุตสาหกรรมไอทีและภาคเศรษฐกิจในประเทศไทย
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่านโยบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุม ทำให้ประเทศเราเสียโอกาสไปค่อนข้างเยอะ แต่ทุกวันนี้ผมว่าอุตสาหกรรมได้ครอบคลุมเกือบหมดแล้ว เราต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อดูว่านโยบายภาครัฐจะออกมาในทิศทางไหน ผมเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญอยู่แล้ว ประเทศเรามีคนเก่งเยอะมาก ถ้าเรามีส่วนที่มาสนับสนุนพวกเขา ผมเชื่อว่าการที่ประเทศไทยจะมียูนิคอร์นได้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย”
LINE ยังมองถึงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยให้คนเข้าถึงบริการหน่วยงานภาครัฐได้ดีขึ้น
“สำหรับ LINE ตอนนี้แพลตฟอร์มของเราใช้ง่ายและไปทั่วถึงแล้ว ซึ่งผมว่าถ้าเอา LINE ไปใช้ในการให้บริการประชาชนในภาพใหญ่ ผมเชื่อว่าจะทำให้การบริการง่ายขึ้น เช่นระบบจองคิว ระบบแจ้งเตือน มันคงจะดีมากถ้ามีหน่วยงานราชการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราไปใช้ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเจอฟุตบาธชำรุด ผู้ใช้สามารถแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลยผ่าน LINE แล้วข้อมูลโดยตรงจากผู้ใช้ ก็ยังสามารถเอาไปใช้ประเมินผลได้ สามารถเอาไปในเรื่องการบริหารจัดการบุคลากร การบริหารจัดการงบประมาณ มันจะโฟกัสได้ตรงจุดมากขึ้น
หรือส่วนของ health care เราก็ช่วยได้ เช่นการจองคิวของโรงพยาบาลรัฐ ที่ผ่านมาเคยมีการการจองคิวรองเท้าแตะ คือมาตั้งแต่ตีสาม เพื่อจะรอตรวจจริงเกือบเที่ยง เรื่องพวกนี้เราช่วยได้ ทำให้คนบริหารเวลาได้ ลองดูประสบการณ์การทำพาสปอร์ตสมัยก่อน ตอนเด็กๆ ผมทำพาสปอร์ตต้องรอเป็นเดือน แต่ทุกวันนี้ประมาณ 15 นาที ก็เสร็จแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้”
ดร.พิเชษฐ ยังทิ้งท้ายถึงการสร้างเศรษฐกิจใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยได้สร้างโอกาสให้ร้านอาหารหรือกระทั่งคนที่ไม่มีหน้าร้าน ให้สามารถเปิดบริการได้ผ่าน LINE MAN
“LINE จะทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ผมไม่อยากใช้คำว่าเอสเอ็มอีด้วยซ้ำ เพราะว่าทุกวันนี้ผู้ประกอบการคนเดียวก็ทำมาค้าขายได้ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง ทีนี้ทำอย่างไรให้มันสเกลได้ เติบโตได้แล้วมีประโยชน์กับประเทศไทย ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่สำคัญ นั่นคือการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะช่วยสร้างหรือขยายโอกาสจากทรัพยากรที่คนไทยมี อย่างเช่นในปีหน้านี้ ผมว่าฟินเทคยังมีโอกาสอีกเยอะเลย”
Tags: LINE Thailand, ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา, LINE TODAY, LINE MAN, LINE, LINE TV