เรารู้จักชื่อของ ‘ทานิซากิ จุนอิจิโร’ ประมาณยี่สิบปีที่แล้ว จากหนังสือ ‘เยิรเงาสลัว’ ในร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง สะดุดตาจากชื่อภาษาไทยที่เลือกใช้คำได้อย่างมีเสน่ห์ดึงดูด กับความเรียงภายในเล่มที่ชวนให้เราเสพความงดงามของแสงเงาที่ทาบทับและทอดผ่าน ทั้งพาเราสำรวจวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งแต่สิ่งละอันพันละน้อย ไปจนถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม หนังสือเล่มนี้ผ่านการพิมพ์มาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2537 (และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2561) จากการแปลของ ‘สุวรรณา วงศ์ไศยวรรณ’ นั่นเป็นครั้งแรกที่งานเขียนของทานิซากิ เดินทางมาสู่การจดจำของเรา หลังจากที่เขาเสียชีวิตได้กว่า 40 ปีในตอนนั้น
ทานิซากิล้มป่วยในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2508 และเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม หลังครบรอบวันเกิดในวัย 79 เพียง 6 วัน การเสียชีวิตของเขาคือการสูญเสียนักเขียนคนสำคัญในวงการวรรณกรรม นักเขียนซึ่งมีชื่อเสนอและเป็นตัวเก็งในการรับรางวัลโนเบลอยู่บ่อยครั้ง แต่สุดท้ายแล้ว แม้เขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาวงการศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่น หรือเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้านวัฒนธรรมมาแล้วก็ตามที แต่ที่สุด ชื่อของทานิซากิก็ไม่ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของโนเบล
งานเขียนของทานิซากิ เด่นชัดด้วยพรรณนาโวหาร ละเมียดละไม รุ่มรวยด้วยอารมณ์และถ้อยคำ หากไม่นับ ‘เยิรเงาสลัว’ ซึ่งเป็นความเรียงแล้ว ผลงานอื่นๆ ของเขายังมีอีกหลากหลายแนว ทั้งนิยายลึกลับสอบสวน นวนิยายประวัติศาสตร์ นวนิยายแนวตลกร้าย แต่ที่โดดเด่นและสร้างชื่อที่สุด ล้วนเป็นนวนิยายที่เกี่ยวเนื่องด้วยเพศรสและความรักที่ท่วมล้นไปด้วยความมัวเมาลุ่มหลง ไม่ว่าจะเป็น ‘รักของคนเขลา’ (แปลจาก ฉิจิน โนะ ไอ โดยสำนักพิมพ์ Jlit) ‘รักแสร้ง แรงเสน่หา’ (แปลจาก มันจิ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) ‘บันทึกของชายเฒ่า’ (แปลจาก ฟูเต็นโรจินนิกกิ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) ฯลฯ
เมื่อสืบค้นเข้าไปถึงชีวิตของทานิซากิ จึงเห็นได้ว่าความรุ่มรวยทางอารมณ์และความฉูดฉาดจัดจ้านทางความสัมพันธ์ของทานิซากินั่นเอง ที่เป็นเชื้อไฟในการสร้างสรรค์ผลงานระดับคลาสสิก และยังได้รับการแปลและตีพิมพ์อยู่ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
“สไตล์งานเขียนของทานิซากิจัดอยู่ในประเภทสุนทรีนิยม ใช้การพรรณนาโวหาร ใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ในการสร้างและบรรยายออกมาให้งดงาม สุนทรีนิยมคือความงาม แล้วความงามก็พ่วงไปเรื่องความรัก ความรักก็พ่วงไปเรื่องตัณหา ทานิซากิมีชีวิตรักที่ค่อนข้างโลดโผน มีผู้หญิงมากมาย และเขาก็นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเขาที่สุดนี้มาถ่ายทอดในแบบของเขา ที่เราคิดว่าตัวเขาเองก็คงมองว่าเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดเหมือนกัน” (พรพิรุณ กิจสมเจตน์ — ผู้แปล ‘รักของคนเขลา’)
ความสามารถทางวรรณศิลป์ของทานิซากิ เผยตัวตั้งแต่เขายังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนรักแรกของเขาในวัยแรกรุ่นก็เป็นรักผิดจารีต เนื่องจากชีวิตที่พลิกผันที่ทำให้ทายาทในตระกูลรุ่งเรืองมั่งคั่งอย่างเขา ต้องมาทำงานเป็นเด็กรับใช้ที่เป็นเสมือนเลขาฯ ส่วนตัวให้ชายผู้มีอันจะกิน ทานิซากิหลงรักฟุคุโกะ หญิงรับใช้ในบ้านนายจ้าง และเขียนจดหมายรักถึงเธอจนถูกจับได้ การรักกันระหว่างเด็กรับใช้ถือเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างยิ่งในสมัยนั้น ทั้งคู่จึงถูกแยกตัวและต่างแยกย้ายกลับบ้านเกิด กระทั่งฝ่ายหญิงล้มป่วยจนเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งชื่อของฟุคุโกะ ปรากฏเป็นตัวละครเอกในนิยาย ‘แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน’ (แปลจาก เนะโกะ โตะ โชโซ โตะ ฟุตาริ โนะ อนนะ โดยสำนักพิมพ์ Jlit)
ตั้งแต่นั้น ชีวิตรักของทานิซากิก็ไม่อาจแยกห่างจากคำว่าโลดโผนได้ ทานิซากิเข้าพิธีแต่งงานกับ อิชิกาวะ ชิโยโกะ การแต่งงานซึ่งเกิดขึ้นจากการดูตัว โดยฝ่ายหญิงเป็นสตรีที่อยู่ในขนบญี่ปุ่นที่หัวอ่อน ว่าง่าย แสนจืดและชืดชา เรียกว่านอก ‘สเป็ก’ โดยสิ้นเชิง จนวันหนึ่งน้องสาวของภรรยาซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย ก็ดึงความลุ่มหลงด้านลึกของเขาให้ออกมาแสดงตัว
เซโกะ น้องสาวของภรรยา มีเค้าโครงหน้าแบบฝรั่ง นิสัยพยศ ดื้อรั้น แก่นแก้วแบบหญิงยุคใหม่ ทำให้ทานิซากิปันใจจนถึงขั้นจริงจัง ความนิยมตะวันตกนี้เป็นหนึ่งในอุปนิสัยของทานิซากิ ซึ่งมีช่วงชีวิตอยู่ท่ามกลางการไหลบ่าเข้ามาของโลกสมัยใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สังคมญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนแปลง ผนวกกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของคันโตในปี พ.ศ. 2466 ที่ญี่ปุ่นต้องเปิดทางรับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก และรับเอาความทันสมัยเข้ามาอยู่ท่ามกลางขนบเดิม มีการเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร โรงเต้นรำ คาเฟ่ ไนต์คลับ สถานบันเทิง และทานิซากิเองก็ชื่นชอบในวิถีที่ฟุ้งเฟื่องแบบนั้น
‘รักของคนเขลา’ เปรียบได้กับบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของญี่ปุ่น ฉากในเรื่องคือภาพของการเปลี่ยนผ่านสังคมญี่ปุ่น และทานิซากิซึ่งเขียนเรื่องนี้ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2467-2468 ก็ดึงเอาความจริงเหล่านั้นบรรจุลงในนิยายรักที่เปี่ยมไปด้วยราคะตัณหาของหนุ่มใหญ่และเด็กสาววัยแรกแย้มเช่น ‘โลลิตา’ ของ วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ
เซโกะ—เด็กสาวในโลกของความจริงที่เขาคลั่งไคล้ คือต้นแบบของ นาโอมิ— นางเอกใน ‘รักของคนเขลา’ ที่เรือนร่างและจริตของเธอน่าลุ่มหลง ทั้งยังกล้ากร้านเกินวัย ความโดดเด่นจนเป็นดั่งลายเซ็นของทานิซากิ คือเขาสามารถพรรณาสรีระตลอดจนการแต่งกายและนิสัยใจคอของหญิงสาวได้อย่างละเอียดลออ มีการวิเคราะห์กันว่า ทานิซากิเป็น foot fetishism ที่คลั่งไคล้หลงไหลรูปเท้าสตรี จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะบรรยายทุกตารางนิ้วของหญิงสาวได้อย่างหมดจด และความเป็น foot fetishism ของเขาก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นการเดินทางไปสู่จุดสุดยอดของอัทซึงิ— ชายชราวัย 77 ที่ลุ่มหลงในตัวลูกสะใภ้ ในนวนิยายเรื่อง ‘บันทึกของชายเฒ่า’ (แปลจาก ฟูเต็นโรจินนิกกิฟูเต็นโรจินนิกกิ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) ผลงานเรื่องสุดท้ายของทานิซากิ
ย้อนกลับมาที่ ‘รักของคนเขลา’ นวนิยายซึ่งเขียนขึ้นในยุคต้นของทานิซากิ ซึ่งบรรยายฉากรักและกามารมณ์ได้พองาม ไม่โจ๋งครึ่มเท่างานเขียนของเขาในยุคหลัง เมื่ออ่านแล้วเราอดไม่ได้ที่จะแทนภาพของทานิซากิลงไปในตัวของ คาวาอิ จุนจิ หนุ่มวัยฉกรรจ์ที่คลั่งไคล้เด็กสาววัย 15 อย่างนาโอมิ จากถิ่นเกิดในย่านโกโรโกโส เขาหยิบเธอมาชุบชูเปรียบกับไม้ดอกที่ค่อยรดน้ำพรวนดิน จนผลิดอกให้เขาค่อยๆ ดอมดมดื่มด่ำ และสยบยอมต่ออำนาจของตัณหาแม้จะต้องถูกกระทำย่ำยีทางจิตใจ เพราะชายที่คิดจะเก็บเด็กสาวมาเลี้ยงดู กลับกลายเป็นม้าให้เธอกุมบังเหียนเอาเสียเอง
ทว่าในชีวิตจริงนั้น ทานิซากิไม่อาจได้ลงเอยกับเซโกะ แต่ความปรารถนาครั้งนี้ของเขาก็ทำให้ชีวิตคู่พังครืน เพราะระหว่างที่เขามัวเมาไปกับเซโกะ เขาก็มิได้ไยดีในตัวภรรยา จนเกิดมือที่สามแทรกเข้ามาระหว่างเขากับภรรยา คือนักเขียนชื่อ ซาโต ฮารุโอะ เพื่อนที่ไปมาหาสู่กับครอบครัวทานิซากิ ซึ่งกลายเป็นที่ปรึกษาและคอยปลอบโยนชิโยโกะจนมีใจให้กัน เขารอให้ทานิซากิเปิดทางรักด้วยการหย่า แต่ทานิซากิก็เกิดความหวงไม่ยอมยกให้ จนแตกคอและเลิกคบหากันกับซาโตในที่สุด และความรู้สึกที่อยากเก็บของของตัวเองไว้ไม่ยอมยกให้ใคร ก็ได้รับการถ่ายทอดลงไปในนวนิยาย ‘แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน’ นั่นเอง
‘แมวกับนายโชโซและผู้หญิงสองคน’ เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์อันวุ่นวายของนายโชโซ ภรรยาเก่า กับภรรยาใหม่ โดยมีลีลี่ แมวฝรั่งตัวเมียลายกระดองเต่า เข้ามาเป็นชนวนอย่างที่มันไม่รู้อิโหน่อิเหน่ และในเรื่องนี้ ทานิซากิก็ถ่ายทอดความเป็นทาสแมวของตัวเองลงในตัวของโชโซ ชายหนุ่มผู้หอบหิ้วแมวแสนรักมาเลี้ยงดูจนภรรยาแต่ละคนมิวายต้องอิจฉาในความช่างเอาใจใส่ ด้านหนึ่งของทานิซากินอกจากจะลุ่มหลงในสตรี เขายังลุ่มหลงในจริตของแมวที่ทาสแมวทุกคนย่อมรู้ว่าเป็นสัตว์ที่อยู่เหนือการควบคุม ทว่ามีเสน่ห์บางอย่างที่ทำให้เราหลงรักมันได้อย่างหัวปักหัวปำ
ทานิซากิบรรยายรายละเอียด พฤติกรรมและอุปนิสัยของแมวได้อย่างน่ารักและละเอียดลออไม่แพ้พรรณนาถึงสตรี ด้วยตัวเขานั้นผ่านการเลี้ยงแมวมาหลายตัว และแมวตัวโปรดที่เขารักมากอย่าง ‘เปรุ’ ก็มีสีคล้ายคลึงกับลีลี่แมวในเรื่อง เขารักแมวตัวนี้มากถึงขั้นเมื่อเปรุตายลง ทานิซากิทำการสตัฟฟ์ซากเก็บเอาไว้เพื่อให้มันได้อยู่กับเขาตลอดกาล ส่วนความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับภรรยาที่ว่าไม่รักแต่อยากเก็บไว้ หวงแต่จำต้องยกให้ แต่ก็มิวายยังอยากจะตอแย ก็ถ่ายเทลงในตัวลีลี่ที่โชโซยังคงเทียวไปเทียวมาเพื่อที่จะได้พบหน้าแม้จะยกแมวให้กับภรรยาเก่าไปเลี้ยงดูเพื่อยุติความวุ่นวายในชีวิตคู่กับภรรยาคนใหม่แล้วก็ตามที
นานนับปีกว่าชีวิตการแต่งงานของทานิซากิจะสะบั้นลงอย่างสมบูรณ์ ท้ายที่สุดเขาละเลิกทิฐิกลับมาเป็นเพื่อนกับซาโตและยอมหย่าให้ ทานิซากิยกภรรยาคนแรกให้กับเพื่อนนักเขียน ทว่าก็ยังไว้ลายด้วยการแสดงตัวผ่านบัตรเชิญงานแต่งงานครั้งใหม่ของภรรยาว่า ‘เราทั้งสามได้ตกลงกันด้วยความสมัครใจ ว่าให้จิโยะ (ชิโยโกะ) หย่าขาดกับจุนอิจิโร และแต่งงานกับฮารุโอะ…’ ซึ่งคดียกภรรยาให้เพื่อนนี้ โด่งดังและตกเป็นข่าวครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น
…
ในจำนวนนักเขียนญี่ปุ่นที่ร่วมสมัยเดียวกัน ทานิซากิมีชีวิตรักที่โลดโผนและฉูดฉาดที่สุด เค้าโครงเรื่องและตัวเอกในนิยายจำนวนไม่น้อยมีตัวตนอยู่ในความสัมพันธ์ชู้สาว เช่นประสบการณ์ชีวิตคู่ระหว่างเขากับภรรยาอีกคนหนึ่งคือ ฟุรุกาวะ โชมิโกะ ก็ปรากฏอยู่ในนวนิยาย ‘เดอะ คีย์’ (แปลจาก คะงิ โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ) ที่บรรยายฉากอีโรติกอย่างไม่มิดเม้ม ก่อนเขาจะพบ ‘ปลั๊ก’ ที่เสียบเข้ากันลงตัวกับโมริโตะ มัตซึโกะ ภรรยาคนสุดท้ายซึ่งตัวเธอและพี่น้องของเธอได้กลายเป็นต้นแบบของสี่ดรุณีในเรื่อง ‘ละอองหิมะ’ (ต้นฉบับจาก ซาซาเมะยูกิ เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ชื่อ The Makioka Sisters) นวนิยายขนาดยาวที่ทานิซากิทุ่มเทแรงใจแรงกายสร้างสรรค์ขึ้นแม้อยู่ในภาวะสงครามที่ทางการมีคำสั่งให้นักเขียนทุกคนวางปากกา แต่เขาก็ยังลักลอบเขียนนิยายผ่านแสงตะเกียงยามค่ำคืน
ความรักแบบมดแดงแฝงพวงมะม่วง เกิดขึ้นขณะที่มัตซึโกะมีสามีอยู่แล้ว เธอรู้จักทานิซากิผ่านผลงานของเขา เมื่อได้พบหน้าทานิซากิก็พึงใจไม่น้อยถึงกับย้ายมาอยู่ใกล้บ้าน เวลาเดียวกับที่มัตซึโกะก็หน่ายกับความชืดชาระหว่างกันของเธอกับสามี จนปลงใจแยกทางและคบหากับทานิซากิอย่างเปิดเผยกระทั่งเขาตัดสินใจแต่งงานอีกครั้ง
ความอยู่กันยืดกับภรรยาคนสุดท้ายนี้ พรพิรุณ ให้ความเห็นว่า เกิดจากทานิซากิเป็นคนจำพวกชอบเล่นบทบาทสมมติ ช่วงหนึ่งเขาเรียกมัตซึโกะว่าคุณผู้หญิง แล้วตัวเองสวมบทบาทเป็นคนรับใช้ ซึ่งความเท่าทันกันนี้เองคือสองขั้วที่ ‘สมรส’ กันอย่างลงตัว และดูเหมือนว่าไม่ว่าประสบการณ์ชีวิตช่วงไหน ทานิซากิก็สวมมันเข้ามาลงในนิยายที่เขาเขียนขึ้นเสียแทบทุกครั้ง กระทั่งบทบาทสมมติที่เขาเล่นกับภรรยานี้ ก็สะท้อนลงในเรื่อง ‘ชุนกินโช’ นางเอกตาบอดที่เกิดในตระกูลสูงซึ่งมีสัมพันธ์กับบ่าวผู้ชายในบ้าน
ตลอดชีวิตของทานิซากิ เขาสร้างสรรค์ผลงานออกมากว่า 20 ชิ้น และดูเหมือนว่าชั้นเชิงการประพันธ์ที่เผยให้เห็นด้านมืดของความสัมพันธ์ ท้าทายศีลธรรมท่ามกลางรอยต่อของยุคสมัยแห่งญี่ปุ่น ทำให้นักเขียนนอกครรลองสังคมญี่ปุ่นอย่างเขา เป็นที่เชิดชูและอยู่ในใจคนอ่านมามากกว่าศตวรรษ นับจากนวนิยายขนาดสั้นชิ้นแรกคือ ‘รอยสัก’ (แปลจากชิเซ หนึ่งในเรื่องสั้นซึ่งรวมอยู่ใน ‘บุงโก’ โดยสำนักพิมพ์ Jlit) อุบัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453