ไม่ว่าเราจะเรียกการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็น ภัยพิบัติ, วิกฤต, การระบาดครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ หรือแค่ไข้หวัดอุบัติใหม่ก็ตาม แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการที่เข้มข้นและทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดเพื่อควบคุมสถานการณ์

รัฐบาลไทยเองก็ไม่อยู่เฉย ออกมาตรการตอบโต้การแพร่ระบาด โดยยกระดับจากพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2548 สู่การประกาศใช้พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และเริ่มต้นมาตรการเคอร์ฟิวในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2,579 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต 40 ราย และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1.56 

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดครั้งนี้ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น หากเป็นการวิ่งมาราธอนที่ปลายทางยังพร่าเลือน เพราะการพัฒนาวัคซีนป้องกันยังต้องอาศัยเวลาพอสมควร เพื่อให้มันสามารถเอาชนะโรคร้ายได้จริง แทนที่จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์แล้วรุนแรงกว่าเดิม

จึงคิดว่าถึงคราวเหมาะสมแล้วที่จะพูดคุยกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ ซึ่งเมื่อครั้งเกิดสึนามิในประเทศไทย ปี 2548 เธอเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่เดินไปยังศูนย์ภัยพิบัติแปซิฟิก (Pacific Disaster Center: PDC) ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ของประเทศไทยในเวลาต่อมา

เราชวน ดร.ทวิดา มองมาตรการที่ภาครัฐเลือกใช้เพื่อควบคุมการระบาดว่ารวดเร็ว ทันการ เข้มงวดหรือยัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวจำเป็นแค่ไหนในเวลาแบบนี้ รวมถึงยังมีช่องโหว่ทางนโยบายตรงไหนที่ควรรีบอุดเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่มือ และพาสังคมกลับสู่ภาวะปกติโดยไวที่สุด

ถ้ามองจากหลักวิชาภัยพิบัติ สถานการณ์ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับไหนแล้ว

โดยปกติเราให้นิยามภัยพิบัติว่าเป็น อันตรายภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ และทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จนเกินความสามารถของพื้นที่ ชุมชนหรือสังคมที่เหตุนั้นเกินจะรับได้ ดังนั้น โดยหลักวิชาการแล้ว ตอนนี้มันเป็นภัยพิบัติของพื้นที่แล้ว

แต่ถ้าคิดในมุมที่ว่า ตอนนี้การจัดการส่วนใหญ่ของบางพื้นที่ยังทำได้ดี และยังไม่เกินกว่าศักยภาพของเขา เราเลยจะเห็นภาวะที่ ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันมันเป็นภัยพิบัติหรือเปล่า 

ดังนั้น ถ้าโดยหลักวิชาการและโดยนิยามของภัยพิบัติ มันงับกันไม่ติดว่าจะเรียกว่าอะไร พอไม่รู้จะตัดสินใจใช้กฎหมายตัวไหนก็กระอักกระอ่วน ตั้งแต่แรกจึงมีการใช้ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการพื้นที่ตัวเอง สามารถตัดสินใจและกระทำการโดยที่อาศัยคำปรึกษาจากคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด 

แต่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ก็มีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่มาจาก ‘วิธีการทำงานแบบรัฐไทย’ ที่ พ.ร.บ. ใคร พ.ร.บ. มัน เช่น แต่ละหน่วยงานจะมี พ.ร.บ. ที่รองรับอำนาจ และงบประมาณที่รับรองการทำงานของหน่วยนั้นๆ แล้วมีสักกี่คนที่รู้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ เป็นกฎหมายที่มีผลกับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข ทำให้หลวมทั้งในแง่มาตรการจัดการ โฟกัสของภาครัฐ และวินัยทางสังคม 

พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ จะใช้ได้ดีมากหากวินัยทางสังคมมีความเข้มข้นมากพอกับวินัยของมาตรการภาครัฐ สองตัวนี้ต้องไปด้วยกัน เวลาเราพูดถึงระยะห่างทางสังคมมันคือมาตรการภาครัฐที่ออกมาขอความร่วมมือ และการจัดการภายในของภาครัฐเองก็ต้องคำนึงแนวคิดระยะห่างทางสังคม และผลกระทบที่จะเกิดจากมาตรการดังกล่าวคู่มาเสมอ

ความอิหลักอิเหลื่อมีทั้งในแง่ของนิยามทางทฤษฎี ลักษณะการเกิดโรค ระดับของมาตรการ วิธีการทำงานแบบรัฐไทย กฎหมายเองก็ไม่เอื้อ มันก็เหมือนปัญหาฝุ่น PM2.5 คนที่มีข้อมูลคือกรมควบคุมมลพิษ คนที่อธิบายแนวปฏิบัติได้คือสาธารณสุข แต่คนที่นำแนวคิดไปดำเนินการกลับเป็นฝ่ายปกครอง มันก็เป็นแบบนี้เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวา 

ผ่านการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้ราวอาทิตย์กว่าๆ (26 มีนาคม) ประเมินการรับมือของภาครัฐว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

การมองความเสี่ยงของรัฐในช่วงแรก เบาเกินไปมาก (เน้นเสียง) ต่อมาเราบกพร่องเป็นระยะๆ  เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เราสามารถจัดลำดับความเสี่ยงของแต่ละประเทศได้ สมมติ เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงปานกลางกัก 4 วัน มาจากประเทศที่ไม่ได้เสี่ยง แต่นั่งเครื่องด้วยกัน 1-2 วัน เพื่อทำแบบฟอร์ม tracing เขามีอาการอย่างไร ปลายทางเขาอยู่ที่ไหน ต้องสื่อสารให้จัดการการท่องเที่ยวให้ระแวดระวังขึ้นด้วย แต่ตรงนี้เราพลาดไปแล้ว 

ขณะเดียวกัน การลุกขึ้นประกาศปิด 22 สถานที่อย่างรวดเร็วเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พูดกันตรงๆ ว่าตกใจเหมือนกัน ประกาศแบบวุ่นวายตอนเที่ยง กว่าจะออกมาเคลียร์ก็บ่ายสาม และไม่มีการอธิบายให้ชัดเจนว่าตกลงเอาอย่างไรกันแน่ และให้มีผลวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม คนก็ออกจากกรุงเทพฯ กันหมดสิ

ปกติเวลาที่เราจะลุกขึ้นใช้อำนาจประกาศใดๆ ก็ตาม เราต้องมีแผนที่ออกแบบรองรับให้ครบทุกมุมได้มากที่สุด ถึงแม้มันจะไม่เคยมีวันครบ มันต้องแตะผลกระทบที่กะทันหัน รุนแรง ไม่แตะไม่ได้ อันนี้ถือว่าบกพร่อง

ถ้าจะปล่อยคนกลับ ทำไมถึงไม่ทำการคัดกรอง และประสานกับจังหวัดเพื่อให้รู้ว่าต้องรับคนกลุ่มนี้จำนวนเท่าไหน คนมันต้องกลับ เพราะการอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ยากมาก ถ้ากลัวคนแตกตื่น ลองดูกระทรวงอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ (อว.) ประกาศให้ทุกมหาวิทยาลัยใช้ระบบการเรียน-สอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รู้ว่านักศึกษาจะทยอยกลับบ้าน เราก็ขอว่าช่วยให้ข้อมูลไว้ก่อนว่าไปไหนมาบ้าง กลุ่มเสี่ยงเรายังไม่ปล่อยออก เราจัดการคัดกรองก่อน มันต้องมีการวางอะไรแบบนี้ไว้

และถ้าออกจากโรงพยาบาลแล้วมันยังไม่จบแค่นั้น โรคระบาดเป็นเรื่องจิตวิทยา ถ้าร่างกายยังอ่อนแอ มีโอกาสติดใหม่ไหม คนที่อยู่บริเวณนั้นจะคิดว่าอย่างไร มันยังไม่สิ้นสุด และท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีศักยภาพตรงนี้ไม่เท่ากัน

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้รวมอำนาจมาตัดสินใจที่ส่วนกลางได้เต็มที่ และเมื่อมีอำนาจแล้วก็ควรใช้อำนาจนั้นให้เป็น ออกแบบการบริหารจัดงานให้ถูกตามสถานการณ์ที่รวดเร็วขึ้น เช่น ทำแบบปฏิบัติให้ทุกพื้นที่เอาไปปรับตามบริบทของตัวเอง จังหวัดสีแดงแบบหนึ่ง สีส้ม สีเหลืองแบบหนึ่ง ส่วนสีเขียวแนะนำเขาว่าคัดกรองโรคได้อย่างไรบ้าง 

รัฐไทยเป็นรัฐแบบอะไรที่ยังไม่เกิดหรือคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนจะมีแนวโน้มไม่อยากให้ทำ ไม่มีใครอยากเริ่มต้นทำเพราะกลัวการตรวจสอบภายหลัง กลัวไม่คุ้มค่า ซึ่งในเรื่องสาธารณภัยในยุคใหม่วิธีคิดแบบนี้ต้องเลิก

รัฐไทยเป็นรัฐแบบอะไรที่ยังไม่เกิดหรือคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนจะมีแนวโน้มไม่อยากให้ทำ ไม่มีใครอยากเริ่มต้นทำเพราะกลัวการตรวจสอบภายหลัง กลัวไม่คุ้มค่า ซึ่งในเรื่องสาธารณภัยในยุคใหม่วิธีคิดแบบนี้ต้องเลิก

การดำเนินงานของภาครัฐดูติดขัดมีปัญหาบางอย่างตลอดเวลา มองว่าเรื่องไหนน่ากังวลที่สุด

ความเข้มข้นของมาตรการที่เรากำลังใช้อยู่ มันไปไม่สุดเพราะติดปัญหาอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก ศักยภาพของคนในการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ใช่ทุกคนจะทำระยะห่างได้เหมือนกันหมด อยู่ที่วิธีคิดของตัวบุคคลด้วย 

เรื่องที่สอง ถ้าจะให้ระยะห่างทางสังคมมีศักยภาพ มาตรการภาครัฐทุกเรื่องต้องเข้มข้น แต่ตอนนี้ยังมีการโดยสารรถสาธารณะที่หนาแน่นอยู่เลย พอไปตรวจสอบปรากฏว่า ภาครัฐยังคงทำงานกันฮึ่มฮึ่ม ทำไมไม่ให้มีคนเข้าออฟฟิศส่วนหนึ่ง ที่เหลืออยู่บ้านให้หมด เอกสารบางอย่าง ยกเว้นเอกสารการเงิน เซ็นกันแบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ไหม หรือถ้าออกเอกสารไปแล้ว ทักไลน์ไปหรือถ่ายรูปกับเอกสารก็ได้ว่าอนุมัติจริง

อย่างเกาหลีใต้ เวลาเขาเช็คว่าคนที่กักตัวเองอยู่บ้านจริงไหม เขาให้ถ่ายรูปส่ง แต่เขาจะไม่ได้ถ่ายรูปเฉยๆ เขาจะให้โจทย์ เช่น เช้านี้คุณไปถ่ายรูปกับห้องน้ำที่ไม่ใช่ห้องน้ำส่วนตัว พอตอนบ่ายขอห้องครัว เห็นไหมว่ามันมีวิธีการง่ายๆ เลย 

อย่าคาดหวังว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นคฑาวิเศษ รัฐต้องตามหาผู้ติดเชื้อให้เจอ แต่เราเรียนรู้จากเกาหลีใต้ว่ายิ่งกวาดมากยิ่งพบมาก แต่เมื่อพบแล้วคำถามต่อมาคือจะพาไปไหน บางคนมีเชื่้อแต่ไม่มีอาการ ต้องพาไปสถานกักกันตัวของรัฐ (State Quarantine) อาจเป็นโรงแรมที่เสนอตัวหรือสถานพยาบาลที่พอทำได้ ขณะเดียวกันอีกกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย พาไปสถานพยาบาลที่ดีขึ้น และทำให้เป็นระบบเชื่อมต่อกันให้ดี 

ตอนนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้แบบขอความร่วมมือ ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติไม่เท่ากัน ลักลั่นต่อกัน ต่างกับปกติที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกปุ๊บ เครียดปั๊บ รวมถึงรัฐไทยไม่เคยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินกับเรื่องโรคระบาด ดังนั้น การบังคับความเข้มข้นเพิ่มทีละระดับจึงพอทำความเข้าใจได้ว่าต้องการค่อยๆ ให้มาตรการระยะห่างทางสังคมมีวินัยมากขึ้น 

 แต่เมื่อประกาศใช้แล้ว การปล่อยให้การขอความร่วมมือเป็นเรื่องเบี้ยหัวแตกก็ไม่ถูก ไหนๆ ก็ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ต้องอาศัยสิทธิพิเศษให้เยอะหน่อย เช่น ทำให้ระบบข้อมูลถึงกันได้อย่างมีเอกภาพ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ให้ครอบคลุม เช่น ปัจจุบัน แย่ แย่ที่สุด และสั่งเลยว่าส่วนไหนควรทำอย่างไร แต่ไม่ใช่พูดว่า “ให้ทุกคนทำตามหน้าที่อย่างสุดความสามารถ” หรือ “ให้ทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก”

ทำไมภาครัฐถึงตัดสินใจใช้มาตรการเคอร์ฟิวแค่เฉพาะช่วงกลางคืน 

ถามว่าทำไมไทยถึงประกาศเคอร์ฟิวกลางคืน โดยปกติส่วนใหญ่ถ้าคุณไปตั้งวงกัน เฮฮาสังสรรค์ คุณก็ต้องกลับบ้านถูกไหม ดังนั้น ตัดตอนคุณไม่ให้ไป ไม่ต้องมีร้านค้าที่มีของเติมให้ได้ตลอดเวลา มาตรการนี้ต้องการจำกัดพฤติกรรมตรงนี้ ยังไม่รวมพื้นที่บางจังหวัดที่การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมมักจะนิยมช่วงเวลากลางคืน บรรยากาศมันไม่ให้ก็อาจจะมีกิจกรรมพวกนี้น้อยลง 

นอกจากนี้ มันยังเป็นช่วงเวลาที่มีผลกระทบน้อยกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ถ้าขืนคุณลดตอนกลางวัน มันอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า การหยุดชะงักและความเครียดในสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดการต่อต้านมาตรการระยะห่างทางสังคมได้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ภาครัฐเข้มงวดกับภาคประชาชน ภาคประชาชนก็อยากเห็นผลลัพธ์ที่ก้าวกระโดดจากภาครัฐทันทีเหมือนกัน

สอง กิจกรรมตอนกลางคืนมักมีรั้วรอบขอบชิด ทำให้ควบคุมยาก เจ้าหน้าที่เหนื่อยมาทั้งวันการตรวจสอบก็ลำบาก สาม ให้หมอได้พักบ้าง อย่าลืมว่าทีมสาธารณสุขไม่ได้ทำแต่เรื่องโควิด-19 ยังมีผู้ป่วยเร่งด่วนในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

 การสื่อสารของภาครัฐกับประชาชนจะมีเวลาอธิบายเนื้อหากันให้เข้าใจมากขึ้น มีเวลาจัดเตรียมตัวเองในการใช้ชีวิตพรุ่งนี้ได้ดีขึ้น ดังนั้น ดิฉันคิดว่าประโยชน์ที่จะได้จากการเคอร์ฟิวช่วงกลางคืนมีค่อนข้างเยอะ

 แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนที่เป็นแรงงานภาคกลางคืนก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หนึ่ง ในกรณีที่เขาเช่าห้องผลัดกันนอน เขาจะต้องเจอกัน สอง เขาจะขาดรายได้ ภาครัฐต้องคิดเรื่องสร้างงาน ในหลายๆ ประเทศเวลาเขามีพื้นที่กักกันหรือให้ประชาชนกักกันตัวเอง ก็จะมีคนที่ถูกมอบหมายให้เป็นคนส่งของ คนคอยตรวจกำกับ หรือคอยทำข้อมูลของผู้ที่เป็นผู้เคลื่อนย้ายตัวเอง แต่ถ้าดำเนินมาตรการแบบนี้แล้วยังไม่เห็นผล ดิฉันคิดว่าการขยายเวลาจะเกิดขึ้น

อะไรคือเกณฑ์ที่ภาครัฐควรใช้ เพื่อขยายหรือลดระยะเวลาของมาตรการเคอร์ฟิว 

การขยายเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง หน่อมแน้มเราไม่คุยนะ แต่หากจะตัดสินใจขยายเวลา ลองวิเคราะห์ก่อนไหมว่า ทำให้แต่ละภาคส่วนทำงานเหลื่อมเวลากันได้ไหม เพื่อลดความหนาแน่นของการรวมกลุ่ม 

หลักที่ควรจะคิดตอนนี้คือ ตอนนี้กิจกรรมมันไปหนาแน่นเรื่องอะไร หากรัฐสั่งได้ด้วยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งเลย ลดกิจกรรมบางอย่างลง ภาคเอกชน หากต้องการให้เขาหยุดจะมีการช่วยเหลือเขาอย่างไร ช่วยเรื่องค่าไฟโรงงานไหม เผื่อว่าเขาจะยังจ้างงานได้อยู่ ช่วยจัดสรรตลาดให้โรงงานเหล่าดีไหม

ภาครัฐเองเปลี่ยนมาทำงาน เสาร์-อาทิตย์ ไหม เพราะตอนนี้ไม่มีใครต้องใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อไปเที่ยวหรือใช้เวลาในครอบครัวแล้ว ดิฉันคิดว่ามาตรการแบบนี้น่าจะเวิร์กมากกว่า 

แต่ต้องสั่ง ให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นแพทเทิร์น อย่าปล่อยให้ใช้ดุลยพินิจ เพราะคุณต้องการความร่วมมือจากทุกคนด้วยสปีดที่เท่ากัน ทำพร้อมกัน ในเรื่องที่เป็นแบบแผนเดียวกันได้ อันไหนที่มันเป็นเรื่องแล้วแต่บริบทของพื้นที่ปล่อยเขา แต่แบบแผนกลางต้องแน่น

ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันลดลง ภาครัฐมีแนวโน้มยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเปล่า

ดิฉันมองว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีประโยชน์สูงสุดอยู่แค่ 3 เรื่อง หนึ่ง มันห้ามบางพฤติกรรมที่เสี่ยงได้จริง สอง ในเชิงจิตวิทยา มันทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ใกล้ตัว  สาม มันทำให้ทุกหน่วยงานหันมาอยู่ภายใต้ทิศทางการทำงานเดียวกันหมด เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมโรค หรือ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาฯ มักถูกมองเป็น พ.ร.บ. ของหน่วยงานใดหน่วยหนึ่งเท่านั้น ไม่เคยถูกมองเป็น พ.ร.บ.ชาติ 

แต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ควรจะใช้อย่างยาวนานมากนัก เพราะถ้ามีมาตรการที่เข้มข้น มีแบบแผนการทำงานที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น พ.ร.บ. ควบคุมโรคก็ใช้ได้ มันมีอำนาจหลายอย่างที่เป็นอำนาจหลักใกล้เคียงกัน 

ดังนั้น ดิฉันพูดแบบภาคประชาชนเลยนะ มาร่วมมือกันค่ะ ทำภาคประชาชนให้เข้มงวดที่สุดเท่าที่เป็นได้ ไม่ให้มีเรื่องเหลวไหล รวมกำลังตั้งมั่น ที่เหลือเราโทษรัฐเลย หละหลวม ไม่เข้มงวด ทำไมไม่ทำแบบนี้ สอนรัฐกลับ และในท้ายที่สุด พ.ร.ก. มันก็จะลดลง และอาจเหลือแค่ควบคุมบางพื้นที่ ในบางจังหวัดด้วยซ้ำ 

การจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ควรจะใช้อย่างยาวนานมากนัก เพราะถ้ามีมาตรการที่เข้มข้น มีแบบแผนการทำงานที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น พ.ร.บ. ควบคุมโรคก็ใช้ได้ มันมีอำนาจหลายอย่างที่เป็นอำนาจหลักใกล้เคียงกัน 

มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

เราต้องยอมรับว่าภาคประชาชนกระตือรือร้นขึ้นหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เราต้องยอมรับว่า พอเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันทำให้เรารู้สึกว่าต้องระมัดระวังตัวเองบ้างแล้ว อย่างน้อยต้องไม่ออกไปนอกบ้านพร่ำเพรื่อ อันนี้มันมีผลจริงๆ

แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้าพูดแล้วภาคประชาชนอย่าโกรธกัน สังคมไทยมีวินัยเรื่อง กฎอ่อน (Safety Culture) น้อย เราขับรถฝ่าฝืนกฎอ่อนทั้งหมดที่มี ไฟเหลืองคุณหยุดไหม เส้นประคุณไปไหม ป้ายเหลืองหยุดคุณชะลอไหมก็ไม่ ซึ่งมาตรการระยะห่างทางสังคมและมาตรการต่อสู้โรคส่วนใหญ่ เป็นกฎอ่อนทั้งนั้น

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันมีผลในเชิงจิตวิทยา สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันไกล มันจะใกล้ขึ้น อย่างน้อยต่อให้คุณไม่กลัวโรค คุณก็ขี้เกียจออกไปตอบคำถามตามด่านต่างๆ และถ้าคุณอายุมากแล้ว คุณออกไปเดินที่ไหนก็จะมีคนเริ่มมอง การตัดสินทางสังคม (Social Judgement) ก็เริ่มจะมีผล เขาให้อยู่บ้าน ออกมาเดินอะไรตอนนี้ อันนี้จิตวิทยาทั้งหมด และก็เป็นเพราะความไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมความปลอดภัยของสังคมไทยเองด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุด ถ้าพูดแล้วภาคประชาชนอย่าโกรธกัน สังคมไทยมีวินัยเรื่อง กฎอ่อน (Safety Culture) น้อย เราขับรถฝ่าฝืนกฎอ่อนทั้งหมดที่มี ไฟเหลืองคุณหยุดไหม เส้นประคุณไปไหม ป้ายเหลืองหยุดคุณชะลอไหมก็ไม่ ซึ่งมาตรการระยะห่างทางสังคมและมาตรการต่อสู้โรคส่วนใหญ่ เป็นกฎอ่อนทั้งนั้น

กรณีคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยกลับและไม่กักตัวคุมโรคในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา สะท้อนอะไรบ้าง

เป็นความหละหลวมของมาตรการอย่างไม่ต้องพูดถึงหรือถามใคร ตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคก็ควรมีการกักกันแล้ว และถามว่าคนที่เดินทางเข้ามาทราบไหมว่าต้องมีการกักกันตัว ทำไมเขาจะไม่ทราบ ต่อให้สถานทูตและสายการบินไม่บอกตอนขึ้นเครื่อง กัปตันก็ต้องบอกตอนลอยอยู่บนฟ้า ตัวพวกเขาเองก็ดูข่าวไหม 

 ดิฉันคิดว่าประชาชนรู้ แต่ส่วนที่ประชาชนบางคนจะคิดว่า “ขอกลับบ้านก่อนได้ไหม” หรือ “ทำไมมันเป็นแบบนี้ จัดการอย่างไรตั้ง 4-5 ชม.” ตรงนี้เป็นอารมณ์ของคน ดังนั้น เรามาพูดเรื่องการจัดการว่าควรทำอย่างไร 

การใช้คำว่า ‘ชะลอ’ ตรงนี้สำคัญมาก การชะลอแปลว่าลด เพื่อเข้าไปสู่การห้ามหรืองด หรือเข้าไปสู่สถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อใช้คำว่าชะลอก็ต้องมีการออกแบบมาตรการและปฎิบัติการควบคู่กันไป เพราะคำว่าชะลอคือการใช้ดุลยพินิจ บอกให้ชะลอการเดินทางลง เขาต้องคิดแล้วว่าตั๋วซื้อหรือยัง มีเงินใช้อีกกี่วัน วีซ่าขาดไหม พ่อ-แม่จะไหวหรือเปล่า นี่คือดุลยพินิจทั้งสิ้น ถ้าไม่ออกแบบกระบวนการ คุณเอาความจำเป็นไปใส่ดุลยพินิจก็เสร็จสิ

กรณีที่ไม่มีการกักตัวคนที่เดินทางกลับประเทศเมื่อ 4 เมษายน ตั้งแต่บนเครื่องบินสามารถประสานให้กัปตันชี้แจงได้ว่า พอลงจากเครื่องนะครับจะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ อาจช้าหน่อย อย่าโกรธกัน และก็เริ่มคัดกรอง ผู้มีอุณหภูมิส่งโรงพยาบาลเลย คนที่ไม่มีอุณหภูฒิแบ่งกี่กลุ่ม มาจากประเทศเสี่ยงอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ กักตัวแน่นอน 14 วัน ซึ่งตอนนี้สนามบินแทบจะร้างแล้ว มีห้องเยอะแยะ แล้วทำประวัติการเดินทาง และการบอกว่ามีคนสั่งมา เอ๊ะ มันมีคนสั่งเหนือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ด้วยหรือ อันนี้ดิฉันก็สงสัยเอง ไม่ตั้งใจจะถามอะไรใคร คุณทำให้ความเชื่อมั่นของภาคประชาชนลดน้อยลง กรณีแบบนี้รัฐควรจัดการได้ และควรจัดการให้ดีด้วย

ถ้าคิดแบบญี่ปุ่น บางคนกลับมาเสื้อผ้ายังไม่ได้ซัก ช่วยซักให้เขาหน่อยไหม มันเป็นความใส่ใจที่ทำให้ได้ใจจากประชาชน อย่าลืมว่าตอนนี้คุณต้องการความร่วมมือ และถ้ามีสัก 3-4 คนที่อยู่ในที่กักกันเขาเขียนเฟซบุ๊กว่า รัฐไทยเริ่มปรับปรุงเรียนรู้ พยายามช่วยพวกเรา ‘โห !’ ทำแบบนี้ดีกว่าในนายกฯ ออกมาพูดสร้างบันดาลใจตั้งเท่าไร

มันเป็นความใส่ใจที่ทำให้ได้ใจจากประชาชน อย่าลืมว่าตอนนี้คุณต้องการความร่วมมือ และถ้ามีสัก 3-4 คนที่อยู่ในที่กักกันเขาเขียนเฟซบุ๊กว่า รัฐไทยเริ่มปรับปรุงเรียนรู้ พยายามช่วยพวกเรา ‘โห !’ ทำแบบนี้ดีกว่าในนายกฯ ออกมาพูดสร้างบันดาลใจตั้งเท่าไร

สหภาพยุโรปเองก็มีข้อตกลงร่วมกันในการปิดพรมแดนจากนักเดินทางนอกทวีป เอเชียใต้ก็เริ่มมีการพูดคุยภายใต้นามสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation : SAARC) อีกครั้ง อาจารย์มองว่า ASEAN ควรจะมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคเช่นกันไหม

ความร่วมมือเรื่องโรคระบาดไม่เหมือนน้ำท่วม ที่ต้องอาศัยคนช่วยขนของ ตอนนี้คนจะขนของยังต้องนึกเลยว่าคนนี้เป็นใคร ไปไหนมาบ้าง ดีไม่ดีคนที่มาช่วยก็ถูกกักตัวเสียอีก นอกจากนี้ แต่ละประเทศก็ต้องใช้ของอุปโภคบริโภคเหมือนกันหมด ดิฉันเลยมองว่างานนี้ยาก 

แต่อันที่จริง อาเซียนมีความร่วมมือที่เรียกกันว่า ADMERE: ASEAN Agreement for Disaster and Emergency Mangaement อยู่ มีแม้กระทั่ง ข้อตกลงในการป้องกัน ลดผลกระทบ เตรียมพร้อม ตอบสนอง และความช่วยเหลือข้ามดินแดน มีทีมเคลื่อนที่ที่ทำการประเมินความเสียหายและส่งความช่วยเหลือ มีกระบวนการครบพร้อม มีข้อตกลงที่เซ็นร่วมกันว่าจะบริหารจัดการร่วมกัน มีแม้กระทั่งคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกันแล้ว

ก่อนหน้านี้ ตอนที่คนไทยเดินทางกลับจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือตอนไทยปล่อยออกไปเมียนมาหรือลาวก็เหมือนกัน ควรจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตรงชายแดน ใครจะผ่านด่านต้องทำคล้ายแบบฟอร์มที่คนกรุงเทพฯ กรอกเวลาออกไปต่างจังหวัด จำนวนเท่านี้ไปไหนมาบ้างและมีอาการอะไรหรือเปล่า เอาข้อมูลตรงนี้ไปติดตามต่อและก็กักกัน 

ต่อไปนี้ ตามด่านต่างๆ จะต้องมีการทำ Tracking แชร์ข้อมูลกันในภูมิภาคว่าใครไปไหนมาไหน มีโรคอะไรหรือเปล่า พูดง่ายๆ ว่างานนี้จะรื้อ Big Data ในเรื่องโรคระบาดภายในแรงงานข้ามชาติและการเดินทางของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ มั่นใจว่ากลุ่มเบื้องหลังอาจมีการแลกเปลี่ยนบทเรียน หรือผลลัพธ์บางอย่าง เดี๋ยวเราคงจะได้เห็น

ประเทศไทยผ่านภัยพิบัติมาไม่น้อย สึนามี (2548) ไข้หวัดนก (2545) หรือภัยแล้งที่วนเวียนมาทุกปี ทำไมภาครัฐและภาคประชาชนเราถึงยังดูไม่มีวัฒนธรรมหรือความพร้อมต่อภัยพิบัติเสียที 

พูดอย่างยุติธรรม ประวัติศาสตร์ของการจัดการภัยพิบัติประเทศไทยเกิดขึ้นหลังสึนามิปี 2548 เพราะว่าไทยเป็นพื้นที่ที่สงบร่มเย็นมาก่อน นานๆ จะเกิดเรื่องสักครั้ง หรือเรื่องที่เกิดบ่อยเราก็รู้สึกว่าคุ้นชิน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ปีไหนไม่ท่วมยังไม่หมดปี

ซึ่งดิฉันมองว่าทั้งภาครัฐและภาคประชาชนยังช้าอยู่ ในภาคประชาชน การเปลี่ยนพฤติกรรมต้องเปลี่ยนตั้งแต่เรื่องยังไม่เกิด เปลี่ยนพฤติกรรมในภาวะปกติ ต่อไปนี้ต้องล้างมือบ่อยๆ เลิกกินข้าวช้อนเดียวกัน นี่ยังไม่นับว่าจะกินของดิบกันต่อไปอีกไหม

ในภาครัฐ การทำงานของรัฐไทยแต่ไหนแต่ไร เคยชินกับการทำงานแบบเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างทำตามที่ พ.ร.บ. กำหนดมาตั้งแต่ต้น พอถึงเวลาต้องมาทำงานร่วมกันในประเด็นสาธารณะ ไปไม่ได้เลย ใครเป็นเจ้าภาพ งบประมาณใคร เหยียบเท้ากันไหม พูดง่ายๆ ว่า ความเร็วของเราไม่เท่า disruption ที่มันเกิดขึ้นกับทุกเรื่อง ดังนั้น พอเกิดวิกฤตที่เป็นภาวะเร่งด่วน มันถึงทำได้ยากและช้า และมันก็ไม่ทันเหมือนคอยตามแต่ไล่งับปัญหา

สุดท้ายที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยขาดความสามารถในการมองไปข้างหน้า สังเกตไหมว่า ประเด็นสาธารณะต่างๆ ในประเทศนี้มีลักษณะเกิดแล้วค่อยแก้ เราคุ้นชินกับการตั้งฉากทัศน์แบบที่อยากได้ในอนาคต และพยายามผลักตัวเองให้ไปถึง คำถามคือ จากวันนี้ถึงวันนั้น จะไม่มีฉากทัศน์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นเลยหรือ มันจึงไม่มีการทำงานในเชิงที่เรียกว่า วิเคราะห์ความเสี่ยงล่วงหน้าในะระยะยาว เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน และลดความเสี่ยงเพื่อที่วันนั้ เราจะจัดการกับปัญหาได้โดยง่าย 

ประเทศไทยขาดความสามารถในการมองไปข้างหน้า สังเกตไหมว่า ประเด็นสาธารณะต่างๆ ในประเทศนี้มีลักษณะเกิดแล้วค่อยแก้ เราคุ้นชินกับการตั้งฉากทัศน์แบบที่อยากได้ในอนาคต และพยายามผลักตัวเองให้ไปถึง คำถามคือ จากวันนี้ถึงวันนั้น จะไม่มีฉากทัศน์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นเลยหรือ

สังคมในตอนนี้ค่อนข้างไม่ไว้ใจรัฐ และบางครั้งก็ไม่ไว้ใจกันเองด้วย ภาครัฐสามารถทำอย่างไรได้บ้างในสภาวะเช่นนี้ 

ถ้าเอาในทางหลักการและทฤษฎี ผู้นำที่จะนำในภาวะวิกฤตได้ดี ต้องนำไปในภาวะที่ไม่ใช่วิกฤตได้ดีก่อน สร้างความเชื่อมั่นให้ดีในภาวะปกติ ให้คนทุกระดับมั่นใจว่าคุณสามารถคิดเพื่อทุกคน ตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พอเกิดวิกฤต มันจะเรียกร้องความเร่งด่วนในการตัดสินใจ ผู้นำทุกคนต้องแสดงให้เห็นว่ารับรู้สถานการณ์ได้อย่างที่สถานการณ์เป็น และสื่อสารกับสาธารณะเป็นระยะๆ ใน 3 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบแรก เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความยากลำบาก สื่อสารให้รู้ว่าเกาะติดทุกเรื่องราว แต่มันยากมาก ตรงนี้สำคัญเพื่อให้ทุกคนตระหนักว่ากำลังพยายามทำอย่างสุดความสามารถ สอง เพื่อให้การบริหารจัดการมันดีขึ้น บอกเขาว่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับเขา ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าเป็นความพยายามตัดสินใจ สาม เพื่อให้หน่วยงานทำงานอย่างเข้มข้น เข้มงวด และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนให้ดี 

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น การสื่อสารทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากงานไม่ทำในอย่างที่พูดออกไป มันพูดไม่ได้ ของมันไม่จริง สื่อออกไปไม่ได้ 

ผู้นำมีหน้าที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ตั้งต้น (Enabler) ที่ดี ทำให้สิ่งที่ทำไม่ได้ทำได้ขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ต้องเป็นนักเชื่อม (Collaborator) ที่ดี แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถจับคนนู้นคนนี้มาทำงานร่วมกันได้ และข้อสามคือภาวะผู้นำ (Leader) เป็นผู้นำต้องตัดสินใจยากๆ ได้ ต้องมีทิศทาง หลงทางไปบ้างกลับมาให้เร็ว อย่าใช้เวลามากนัก

ตอนนี้ทำข้อไหนไปแล้วบ้าง

(นิ่งคิด) เริ่มเห็นความเป็นผู้ตั้งต้น พยายามปลดล็อกหลายเรื่อง เริ่มมีแหล่งทรัพยากรมากขึ้น จัดระบบการทำงานมากขึ้น ความเป็นนักเชื่อม เห็นแต่ในรูปแบบบน-ล่าง ยังไม่เห็นในทางปฏิบัติให้เป็นระบบ การเอาคนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้คนเหล่านั้นทำงานประสานกันให้ดีด้วย แต่กรณีสนามบินสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่างที่ดีว่ายังทำได้ไม่ชัด

ด้านความเป็นผู้นำ นายกฯ เป็นคนที่มีบุคลิกฟันฉับ ไม่ค่อยเกรงใจอะไรใคร ซึ่งเป็นบุคลิกที่เหมาะกับภาวะวิกฤตมาก ในวิกฤตผู้นำมักจะไม่เป็นที่รักของใคร เพราะต้องตัดสินใจและสร้างผลกระทบกับคนไปเสียหมด บุคลิกแบบนี้ น่าจะให้ ฉับ ฉับ ตัดสินไปเลย แต่ข้อมูลต้องพร้อม การวิเคราะห์ผลกระทบต้องพร้อม และอย่าทะเลาะกันเองภายในทีม ถ้าจะทะเลาะกันเอาให้เสร็จเสียก่อน แล้วผู้นำค่อยออกมากระจายข้อมูลให้ทราบ 

 และถ้ามันไปผิดทาง เฉไฉบ้าง ไม่แปลกที่ผู้นำจะออกมาพูดว่า “ณ เวลานี้ เราไม่สามารถจัดการได้ทันจริงๆ เราล่าช้าไป 1-2 วัน แต่ตอนนี้เรากำลังทำงานกันตลอด 24 ชม. เพื่อที่จะตามสถานการณ์ไปให้ทัน ขอเวลาเราอีกหน่อย เราจะทำทุกอย่างให้ทันเวลาและเร่งประสิทธิภาพมากขึ้น”

ไม่เห็นเป็นไร การยอมรับและแก้ไขเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้นำนะคะ

(แก้ไขล่าสุดเมื่อ: 14 เมษายน 2563 เวลา 18.00 น.)

เฟซบุ๊ก Tavida Kamolvej

Tags: ,