เด็กชายคนหนึ่งชอบวาดรูปและจินตนาการเป็นเรื่องราว เขาเริ่มต้นด้วยความเพลิดเพลิน แล้วค่อยๆ ขยับเป็นความจริงจัง ทั้งส่งผลงานไปนิตยสาร ทำหนังสือทำมือ และวาดเผยแพร่บนเว็บไซต์โดยไม่สนใจค่าตอบแทน เมื่อลายเส้นและเรื่องเล่าปรากฏตัวในโลกออนไลน์ บรรณาธิการมืออาชีพเลยเห็นแววและติดต่อให้เขาส่งผลงานเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ในสายตาพ่อแม่ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนมาตลอด

“ตอนผมเป็นเด็ก พ่อแม่เห็นเราชอบวาด เอ้ย.. มีความคิดสร้างสรรค์ เลยส่งไปเรียนวาดตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ประถมจนถึงม.ต้น” ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์  หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘สะอาด’ นักเขียนการ์ตูนที่ปัจจุบันมีผลงานหนังสือหลายเล่ม มีผู้ติดตามในเพจ ‘Sa-ard สะอาด’ มากกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นคน และปัจจุบันยังเผยแพร่งานอย่างสม่ำเสมอที่เว็บไซต์ The Momentum และนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ พูดถึงชีวิตวัยเด็กที่ความชอบได้รับแรงสนับสนุนจากพ่อแม่

“แต่พอเห็นว่าผมจริงจัง เลยเริ่มมาคุยว่า ‘เอาจริงเหรอ’ แม่เห็นนักเขียนการ์ตูนไปออกทีวี ก็พูดว่า ‘นักเขียนการ์ตูนตัวเหลืองๆ นะ ดูไส้แห้ง เหมือนไม่ค่อยได้กินข้าว’ พูดด้วยความเป็นห่วง แล้วลึกๆ คงกังวลอนาคตของลูกด้วย” เมื่อถึงวัยที่ต้องคิดเรื่องอนาคต ชีวิตของเขากลายเป็นเรื่องเล่าหักมุม

“ผมอ่านประวัตินักเขียนการ์ตูนดังๆ ไม่มีใครจบมหาวิทยาลัยเลย งั้นต้องลุยแล้ว วาดการ์ตูนได้เงินน้อย งั้นผมต้องทำงานอย่างอื่นแล้วเขียนการ์ตูนไปด้วย นึกถึงพนักงานเซเว่น ผมเขียนความรู้สึกไว้ในไดอารี่ว่า เรียนไปแล้วไม่ได้อะไร ทุกวันนี้เรียนเพื่อแม่ ปรากฏว่าแม่มาแอบอ่านแล้วเขียนโต้ตอบ เขียนยาวเลย น่าจะร้องไห้ด้วย ‘ชีวิตของภูมิยังอีกยาวไกล แล้วชีวิตภูมิเป็นของแม่ครึ่งนึง’ เขาคงอกหัก เพราะตอนเด็กๆ ผมบอกว่าอยากเป็นหมอ แล้วเปลี่ยนมาอยากเรียนศิลปะ สุดท้ายพอไม่อยากเรียนแล้ว เหมือนเขาหัวใจสลาย”

แน่นอนว่าคนหนุ่มชัดเจนในความชอบของตัวเอง แต่ในฐานะลูกชาย เขาประนีประนอมกับแม่โดยการเลือกเรียนด้านศิลปะในคณะที่เรียนเพื่อเป็นครูของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เลือกเพราะคิดว่าวิชาเรียนคงใกล้กับการวาดการ์ตูนมากที่สุด แต่ชีวิตนักศึกษาครั้งแรกไม่ได้เป็นอย่างคาดหวัง เขาเจอเรื่องขัดใจบางอย่างในระบบการศึกษา จึงตัดสินใจเปลี่ยนสถาบันและสาขา มาเรียนคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับปริญญาตามความคาดหวังและห่วงใยของแม่

แต่ไม่ใช่แค่เรียนจนจบ หลายปีในรั้วมหาวิทยาลัย เขาเอาจริงเอาจังกับการวาดการ์ตูน (เลยไม่ได้เข้าเรียนครบทุกคาบ) ถึงขนาดว่าตอนปี 2 ได้รับรางวัล International Manga Award 2012 ซึ่งถือเป็นรางวัลระดับนานาชาติในแวดวงการ์ตูน จากหนังสือการ์ตูนชื่อ ‘ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง’ (ตีพิมพ์ปี 2554) พร้อมกันนั้น บางรายวิชาได้พาเขาเปิดโลกและทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมต่างๆ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

จากเด็กชายที่ชอบวาดรูป สู่คนหนุ่มที่เอาจริงเอาจังกับทางที่เลือกแล้ว กระทั่งลงหลักปักฐานในอาชีพนักเขียนการ์ตูนมาแล้วหลายปี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขาชอบและเชื่อในสิ่งนี้ แต่อย่างที่รู้กัน ในความเป็นเลิศและอยู่รอดอย่างมั่นคง จริงใจ และสง่างาม แม้คุณจะเชื่อมั่นและชัดเจนเพียงใด แต่ไม่มีอาชีพไหนง่ายดาย และยิ่งไม่ง่ายเอาเสียเลย กับอาชีพที่อยู่นอกเหนือการให้คุณค่าของคนส่วนใหญ่ในสังคม

ไม่ง่าย – แต่เขาลงมือทำ เรียนรู้ และปรับตัว พร้อมกับซื่อสัตย์ในสิ่งที่ตัวเองเป็น

เล่าให้ฟังหน่อยว่าการวาดการ์ตูนเข้ามาในชีวิตคุณได้ยังไง

กิจกรรมที่พี่สาว พี่ชาย และผม ทำด้วยกันคือการอ่านและวาดการ์ตูน วาดในสมุดแบบมีเส้น แต่งเป็นเรื่องราว แล้วเอามาแลกกันอ่าน ผมเริ่มวาดตอน ป.3 ช่วงนั้นพี่ชายอยู่คนละที่ ผมอยู่อำเภอปากช่อง พี่ชายอยู่อำเภอเมืองโคราช เลยจะวาดกับพี่สาวเป็นหลัก ทำเสร็จแล้วเอาไปอวด ถ้าไม่เข้าใจก็อธิบายเพิ่ม เป็นการ์ตูนแอ็คชั่น นินจา ต่อสู้ ปล่อยพลังเท่ๆ ตัวดี-ตัวร้าย เอาจริงๆ นิสัยเราสามคนต่างกันมาก แต่มีการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นจุดร่วมทำให้เราคุยกันได้ ตอนเด็กผมทะเลาะกับพี่สาวบ่อย หรืออย่างพี่ชายก็ทะเลาะกันจนตอนโตเลย แต่กับเรื่องการ์ตูน ชอบ-ไม่ชอบอะไร เพราะอะไร กลับเป็นเรื่องที่เห็นตรงกัน

ความสนุกในการวาดการ์ตูนของเด็ก ป.3 คืออะไร

ผมรู้สึกเสมอว่าวัยเด็กไม่ค่อยมีความสุข เป็นเด็กขี้แง มีปมด้อยเยอะ เช่น อยากได้ของเล่นแล้วไม่ได้ พ่อแม่ไม่ตามใจ ก็ขี้แง เลยโดนล้อที่ขี้แงอีก ผมจะมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ถ้าผมน้อยใจจะไปคุยกับกำแพง คุยประมาณครึ่งชั่วโมง ผมเลยโดนล้อเรื่องการคุยกับกำแพงอีกทอดหนึ่ง แต่การวาดการ์ตูนเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผมเป็นอะไรก็ได้

การเป็นคนขี้แง พอเขียนการ์ตูนฮีโร่ มันเพิ่มพลังข้างในไหม

อาจจะไม่ขนาดนั้น แค่รู้สึกว่ามันเป็นโลกที่เราเป็นอะไรก็ได้ คิดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะคิดยังไง ผมเขียนการ์ตูนให้พี่สาวอ่านแล้วเขาหัวเราะ โอเค เขาเป็นคนเส้นตื้น ผมได้เขียนเพื่ออวดพี่สาวแหละ แต่ถึงจุดหนึ่งผมไม่สนใจแล้วว่าเขาจะอ่านรู้เรื่องไหม ผมเขียนเพราะอยากเล่าออกมา แค่นั้นเอง

พอช่วง ป.6 – ม.1 ผมเริ่มส่งผลงานไปนิตยสารไทคอมิค ช่วงแรกที่ส่งจะเป็นสามพี่น้องทำการ์ตูนด้วยกัน ผมกับพี่ชายทำต้นฉบับด้วยกัน ส่งผลงานด้วยกัน เป็นสิ่งที่ทำร่วมกันในวัยเด็ก แต่ไม่ผ่านหรอก มีผ่านอยู่เรื่องนึงมั้ง ตอนหลังๆ เริ่มส่งแยกทีละคน ทุกคนเริ่มคิดวาดของตัวเองแล้วก็ส่ง พี่สาวผมเป็นคนมีพรสวรรค์สุด คือวาดและส่งไปที่ไหนก็ผ่าน

ตอนที่การ์ตูนได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ดีใจแค่ไหน

ดีใจๆ วิ่งรอบบ้านเลย

เกิดความรู้สึกว่า เออ กูเก่งว่ะ บ้างไหม

ผมจำความรู้สึกครั้งแรกไม่ค่อยได้แล้ว (เงียบคิด) เออ ครั้งแรกอาจจะมีนะ เชี่ย เราเหนือกว่าคนอื่นๆ ที่อายุเท่ากัน เพราะผมส่งงานเร็ว แต่พอเริ่มจริงจังกับการเขียนการ์ตูน ผมจะไม่เอาคำว่า ‘เก่ง’ เข้ามาเพื่อจะหยุดพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าได้อะไรเข้ามา ผมจะแค่ ‘เออ ก็ดีนะ’ แล้วสกัดกั้นความรู้สึกของตัวเองไปทันที

ผมเขียนการ์ตูนให้พี่สาวอ่านแล้วเขาหัวเราะ โอเค เขาเป็นคนเส้นตื้น ผมได้เขียนเพื่ออวดพี่สาวแหละ แต่ถึงจุดหนึ่งผมไม่สนใจแล้วว่าเขาจะอ่านรู้เรื่องไหม ผมเขียนเพราะอยากเล่าออกมา แค่นั้นเอง

ตีพิมพ์ชิ้นแรกได้เงินไหม

ไทคอมิคจะมีการ์ตูนหน้าเดียวจบ อันที่ได้เงินต้องเป็นอันดับหนึ่งของการ์ตูนหน้าเดียวจบนั้น ผมน่าจะได้รางวัลรองๆ รางวัลน่าจะเป็นแมกกาซีนสักอย่าง จำไม่ได้แล้ว แต่ความรู้สึกคือ มันได้ตีพิมพ์ และมีคนพูดถึงงานเราว่า “เฮ้ย… คุณทำต้นฉบับที่มีลิขวิดเยอะแบบนั้นไม่ได้นะ”

คุณเคยพูดว่า ช่วงนั้นวาดๆๆ โดยไม่ได้คิดถึงค่าตอบแทนเลย

ผมเริ่มส่งการ์ตูนตั้งแต่ ม.1 – ม.2 แล้วมาหนังสือทำมือกับพี่ชาย เขาอายุมากกว่าผม 6 ปี ตอนนั้นเขาเรียนสถาปัตย์ปี 1 เราทำหนังสือทำมือไปขายที่งาน Fat เป็นช่วงที่หนังสือทำมือกำลังบูม พิมพ์ไปเยอะ (ลากเสียง) ห้าร้อยเล่ม ซึ่งมันเยอะสำหรับหนังสือทำมือ ขายไปได้ประมาณร้อยเล่มมั้ง แต่ผมไม่ได้สนใจเรื่องยอดขายเลย พอขายไม่ได้ พี่ชายบอกว่าทำหนังสือก็แค่นี้ แต่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตไปกว้างกว่า เลยไปวาดการ์ตูนลงเว็บ exteen

วางแผนยังไง ลงทุกกี่วัน

มั่ว ไม่ได้มีแผนอะไร คิดได้ก็วาดแล้วลงเลย ตอนนั้น exteen มีนักเขียนเยอะมาก วิชัย (วิชัย มาตกุล) มุนิน (มุนินทร์ สายประสาท) นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) ทรงกลด (ทรงกลด บางยี่ขัน)

ตอนนั้นคิดเรื่องการทำให้สำนักพิมพ์เห็นเพื่อทำเป็นอาชีพบ้างไหม หรือแค่อยากเล่ากับคนทั่วไป

ไม่มีเลย ไม่ได้คิดเรื่องอาชีพ เรารู้แหละว่าชอบวาด แต่อาชีพนักเขียนการ์ตูนมันยากเหี้ยๆ คือ ตอนนั้นเราเห็นเส้นทางอาชีพของหมอ มันยาก มันต้องเรียนในมหาวิทยาลัย แต่กับนักเขียนการ์ตูนคือไม่เห็น เราแค่ชอบอ่าน ชอบวาด แต่ถึงขั้นเป็นอาชีพ (เงียบคิด) มันพอรู้แหละว่าโมเดลประมาณไหน เช่น ต้องทำหนังสือให้ได้รางวัล หรือเป็นนักเขียนประจำของแมกกาซีนนี้นะ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะเหมาะกับแบบไหน เราทำมันออกมาก่อน

อาชีพนักเขียนการ์ตูนมันยากเหี้ยๆ คือ ตอนนั้นเราเห็นเส้นทางอาชีพของหมอ มันยาก มันต้องเรียนในมหาวิทยาลัย แต่กับนักเขียนการ์ตูนคือไม่เห็น

ตอนนั้น บก. คนแรกที่ติดต่อมาคือใคร

คนแรกคือพี่บิ๊กบุญ (ภูมิชาย บุญสินสุข) ของ a book เขาก็เล่น exteen แล้วตามบล็อกของผม ชอบการ์ตูน ช่วงที่นั้นคงหานักเขียนจากใน exteen ผมเลยได้มาร่วมงานกับ a book ก่อนหน้านั้นผมมีงานลงแมกกาซีนมาบ้างประปราย ซึ่งปัจจุบันเจ๊งไปหมดแล้วล่ะ

เรียกได้ว่าอยู่ตรงไหนหัวหน้าตายหมด

(หัวเราะ) แต่แมกกาซีนมันก็ตายหมดนะ

คิดว่า บก. เลือกคุณเพราะอะไร

อืม (เงียบคิด) สไตล์มั้ง เพราะเล่มแรกของ a book อยากได้คนเขียนการ์ตูนที่มีสไตล์ต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่น และไม่ใช่การ์ตูนต่อสู้ของเด็กผู้ชาย ซึ่งของผมจะมีเนื้อหาที่ไม่ต่อสู้

การทำงานแบบมีบรรณาธิการจริงๆ จังๆ แตกต่างกับการส่งงานไปนิตยสารยังไงบ้าง

การทำงานกับ บก. จะมีคนมาวิจารณ์งาน ลึกๆ แล้วผมเป็นคนไม่มั่นใจตัวเองด้วยมั้ง เลยต้องการใครสักคนมาบอกว่าสิ่งที่ทำมันโอเค

แต่การวิจารณ์อาจนำเสียงที่ไม่โอเคมาให้นะ

ใช่ๆ แต่เป็นสิ่งที่นักเขียนต้องเรียนรู้ให้ได้ เราต้องรับคำวิจารณ์ แก้ไขงาน เพื่อพัฒนางานร่วมกัน ผมใช้เวลาค่อนข้างเยอะช่วงแรก มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานในระยะยาว

ตอนนั้นวาดเรื่องอะไรไป แล้ว บก. วิจารณ์อะไรกลับมา

ผลงานที่ลง a book เป็นงานที่ไม่ถูกแก้เลย แต่มาจากงานก่อนหน้านั้นที่ผมเคยเสนอ a book เสนอด้วยความรู้สึกว่าเท่มาก ดาร์กมาก คอนเซ็ปต์มันคือ บาป 7 ประการของฝรั่ง ผมได้บาป ‘อิจฉา’ คิดเป็นเรื่องของคนที่ทำงานในบริษัท ตัวละครเป็นผู้ใหญ่เลย คนนึงอิจฉาอีกคนนึง เพราะมีเมียที่ดีกว่า นู่นนั่นนี่ดีกว่า สุดท้ายหัวหน้าที่ถูกอิจฉาฆ่าตัวตาย คนที่อิจฉาถูกเลื่อนขั้นมาตำแหน่งเดียวกัน พอถูกเลื่อนขั้นกลับพบว่า ตำแหน่งหัวหน้ามีเรื่องเหี้ยอะไรมากมายที่ไม่เคยรู้ ฉากจบคือมันไปงานศพของเพื่อน มองที่ปล่องควันเมรุแล้วบอกว่า “เหี้ย กูอิจฉามึงที่มึงตายวะ” ผมเล่าด้วยคอนเซ็ปต์ว่า ความอิจฉามันลึกได้ขนาดนั้นไหม

บก. บอกว่าไม่ผ่านเพราะอะไร

เขาคงคิดว่าไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น หรือว่าไม่ได้เป็นตัวผม เพราะเขาเคยอ่านงานผมมาแล้วคิดว่ามันไม่ได้เป็นแบบนี้ งานชิ้นแรกของผมควรแสดงออกถึงตัวตนที่ดีที่สุด มันจะเป็นสิ่งที่คนอ่านจะนิยามเราไปตลอด

พอทำเรื่องใหม่ไป เขาซื้อ โอเค ผ่าน เป็นเรื่องเพื่อนที่ขายภาพด้วยกัน เพื่อนคนหนึ่งขายได้ดีกว่า หน้าตาหล่อกว่า และมีเพื่อนอีกคนที่ขายภาพไม่ได้ แล้วเป็นคนคิดเยอะ ก็คิดว่าคนรอบตัวมีแต่คนขี้อิจฉาหมดเลย คนนู้นก็อิจฉา คนนี้ก็อิจฉา แต่เราก็จะสื่อว่า ไม่ว่าเราจะอิจฉาใครก็จะมีใครอื่นที่มาอิจฉาเราก็ได้ แล้วผมเล่าด้วยฉากที่ตัวละครทุกตัวอิจฉากันไปหมดเลย แต่ไม่ได้เล่าในเชิงดาร์ก เล่าในเชิงสว่างๆ หน่อย

ตอนเขียนเรื่องแรกแล้ว บก. บอกว่า “ไม่ใช่ตัวภูมิ” คุณเห็นด้วยไหม

ไม่รู้ เขาพูดถึงขนาดว่า “อยากให้ภูมิวาดเส้นสปีดเยอะๆ” ตอนเด็กๆ ผมชอบขยี้เส้น เส้นสปีดเป็นเส้นพุ่งๆ เคลื่อนไหวๆ ผมจะขยี้เส้นให้เวอร์ๆ เวอร์กว่าญี่ปุ่นทั่วไป สมมติว่าเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เส้นจะพุ่งเข้าหากัน หรือเส้นที่มีการวิ่ง มันจะมีเส้นที่ทแยงไปข้างๆ มันเป็นสไตล์ที่ผมจะวาดแอ็คชั่นเยอะๆ เขาบอกว่ามันน่าจะมีฉากโชว์สไตล์วาดของเรา

พอหนังสือออกมา คุณรู้สึกหรือเปล่าว่าเป็น ‘เรา’ มันจำกัดความได้ขนาดนั้นไหม

เอาจริงๆ แล้วผมไม่ค่อยสนใจ อยากโฟกัสว่าจะเล่ายังไงให้ดีมากกว่า ไม่ค่อยสนใจสไตล์มาแต่ไหนแต่ไร แค่ทำเรื่องแบบที่เราชอบ หรือภาพก็ตาม เราโฟกัสว่ามันสื่อสารได้ไหม

หลังจาก a book มีสำนักพิมพ์ไหนเข้ามาอีก

ตอนทำงานกับ a book คือ ม.5 พอช่วง ม.6 ผมเริ่มส่งงานตามที่ต่างๆ พี่ปราบดา หยุ่น ทำแมกกาซีนการ์ตูนชื่อ Mud มีพี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) มาลงด้วย ผมก็ส่งไป เลยเริ่มมีพื้นที่ในวงการ ทำให้ Let’s Comic มาชวนลองเขียนเรื่องสั้น

พอวาดหลายๆ สื่อ พ่อกับแม่มองเรายังไง

ตอนผมเป็นเด็ก พ่อแม่เห็นเราชอบวาด เอ้ย.. มีความคิดสร้างสรรค์ เลยส่งไปเรียนวาดตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ประถมจนถึง ม.ต้น แต่พอเห็นว่าผมจริงจัง เลยเริ่มมาคุยว่า เอาจริงเหรอ แม่เห็นนักเขียนการ์ตูนไปออกทีวี ก็พูดว่า ‘นักเขียนการ์ตูนตัวเหลืองๆ นะ ดูไส้แห้ง เหมือนไม่ค่อยได้กินข้าว’ พูดด้วยความเป็นห่วง แล้วลึกๆ คงกังวลอนาคตของลูกด้วย

ช่วงนั้นอยากเรียนต่ออะไร

ผมอ่านประวัตินักเขียนการ์ตูนดังๆ ไม่มีใครจบมหาวิทยาลัยเลย งั้นต้องลุยแล้ว วาดการ์ตูนได้เงินน้อย งั้นผมต้องทำงานอย่างอื่นแล้วเขียนการ์ตูนไปด้วย ตอนนั้นนึกถึงพนักงานเซเว่น

ในมุมหนึ่งที่เรามีงานลงแล้ว ทำไมไม่คิดว่า วาดแบบเดิมให้ถี่ๆ เพื่อให้มีเงินมาดำรงชีวิต

เพราะผมเป็นคนทำงานช้ามาก  เช่น ผมเขียนสามเดือนได้แปดพัน เลยคิดว่าพนักงานเซเว่นน่าจะรวยกว่าในจุดนี้ แล้วคงเป็นสเตปแรกที่นักเขียนการ์ตูนต้องเผชิญ เราก็คิดว่าไปลุยมันเลยดิวะ การเรียนน่ะ เสียเวลา

คุณบอกแม่ยังไง คงไม่ได้บอกว่าจะเป็นพนักงานเซเว่นใช่ไหม

ไม่ได้บอกๆ (หัวเราะ) ผมเขียนความรู้สึกไว้ในไดอารี่ว่า เรียนไปแล้วไม่ได้อะไร ทุกวันนี้เรียนเพื่อแม่ ปรากฏว่าแม่มาแอบอ่านแล้วเขียนโต้ตอบ เขียนยาวเลย ‘ชีวิตของภูมิยังอีกยาวไกล แล้วชีวิตภูมิเป็นของแม่ครึ่งนึง’ เขาคงอกหัก เพราะตอนเด็กๆ ผมบอกว่าอยากเป็นหมอ แล้วเปลี่ยนมาอยากเรียนศิลปะ สุดท้ายพอไม่อยากเรียนแล้ว เหมือนเขาหัวใจสลาย พอคุยกันเลยได้ข้อสรุปว่าจะเรียนศิลปะ (ในคณะที่เรียนเพื่อเป็นครู)

เมื่อเลือกเรียนคณะที่น่าจะตรงกับความสนใจ แล้วทำไมถึงเปลี่ยนมาเรียนวารสารล่ะ

มหาวิทยาลัยที่เรียนมีการรับน้อง ตอนนั้นไม่ค่อยมีกระแสเรื่องโซตัส ผมเจอว้ากให้เต้น เต้นแรงๆ มันแปลก มันเพี้ยนมาก แล้วคนอื่นก็จริงจังกัน ไม่ได้มองว่าเพี้ยน ต้องตั้งใจเต้นเพื่อเอก ผมก็มีคำถาม ทำไปทำไม เพื่ออะไร นั่นเป็นดอกแรกที่เป็นปัญหา แล้วพื้นที่ของคณะนี้ควรเป็นบรรยากาศของคนที่อยากเป็นครู ต้องมีจิตวิญญาณการเป็นครู แล้วครูที่มาสอนครูเรียกว่าปรมาจารย์ใช่ไหม ต้องโคตรเทพเลย รุ่นพี่ก็ต้องมีบรรยากาศสนใจเรื่องการศึกษา แต่ก็ไม่เป็นแบบนั้น ผมโดนเพื่อนล้อมากเลยว่า “คนเหี้ยอะไร ไปรับน้องวันเดียวแล้วอยากซิ่ว” ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าตัวเอง หรือรุ่นพี่ หรือมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา

หลังจากรับน้องสองสามวันเลยไปบอกแม่ว่า “จะไม่เรียนแล้ว” ไม่อยากเรียนที่นี่ และไม่ได้อยากเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะนอกจากคณะนี้ก็ไม่มีคณะที่อยากเรียนแล้ว หรือไปที่ไหนก็คงมีการรับน้องแบบนี้เหมือนกัน เลยคุยกับแม่แบบจริงจัง อยากเขียนการ์ตูน

แม่ว่ายังไง

โหย ร้องไห้ จะตัดแม่ตัดลูก จริงๆ ผมเฟลนะ ตัดแม่ตัดลูกเลยเหรอ แม่พูดประมาณว่า “เขาจะเอาหน้าไปไว้ไหนในสังคม” ทั้งห่วงผมและห่วงตัวเอง ผมก็เฟลทั้งสองแง่เลย พี่สาวกับพี่ชายก็ไม่เห็นด้วย ผมเลยคิดว่า เออ กลับไปเรียนละกัน พอกลับไปก็พบว่า บางวิชาโอเคนะ แต่อาจารย์โดดสอนเยอะ เพื่อนก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด เลยไม่เรียนที่นี่แล้ว สุดท้ายเลยเปลี่ยนมาคณะวารสารศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ คิดว่าเหมือนทำงานเซเว่น แต่แม่เป็นคนจ่ายตังค์ให้ ระหว่างนั้นก็เขียนการ์ตูนไปด้วย ผมไปมหาวิทยาลัยเพื่อแม่ แต่ตัวเองจะโฟกัสที่การเขียนการ์ตูน  

แม่ยอมรับการลาออกจากที่เดิมด้วยเหตุผลอะไร

ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องโซตัสกับแม่นะ เพราะรู้สึกว่าพูดไม่ได้ หรือแม้แต่กับเพื่อนก็ตาม จำไม่ได้ว่าบอกเหตุผลอะไร อย่างน้อยเข้าคณะที่จะเรียนให้จบ ดีกว่าไม่เรียนเลย

ถ้ามีคณะที่ชอบจริงๆ จะเป็นแบบไหน

คณะเขียนการ์ตูนศาสตร์ ซึ่งต่างประเทศมีนะ เช่น ญี่ปุ่น แต่เพิ่งมาเข้าใจตอนโตว่า เพราะญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมการ์ตูนที่ใหญ่มาก เลยผลิตคนมาป้อนอุตสาหกรรม

คณะวารสารฯ ตรงกับความคาดหวังไหม

ผมเรียนเอกหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ตอนนั้นอยากทำแมกกาซีน เพราะตอนมัธยมผมเคยทำแมกกาซีน ชอบมาก ปรากฎว่าไปชอบวิชาเขียนข่าว แล้วผมได้เจออาจารย์ที่ตั้งใจสอน เป็นการสอนแบบ Problem base learning สอนวิชาหนังสือพิมพ์โดยหยิบประเด็นขึ้นมาคุยกันว่า ประเด็นนี้แตกไปสู่อะไรที่น่าสนใจได้บ้าง เขียนข่าวออกมาก็ถกกันต่อ อาจารย์ออกแบบการสอนได้ดี เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเสียงของเรามีความหมายในห้องเรียน เขารับฟัง เป็นอาจารย์ที่บอกว่า “เวลาคุณเดินเข้าห้องสอบ ไม่จำเป็นต้องเอาเสื้อใส่ในกางเกง จะเอาเสื้อใส่ในกางเกงไปทำไม” ชื่ออาจารย์รุจน์ โกมลบุตร เจอกันในวิชาเขียนข่าว

เรียนสี่ปี เราไม่ได้เรียนอะไรเกี่ยวกับการวาดการ์ตูนเลยเหรอ

มีวาดรูปครับ เป็นวิชาบังคับ แต่ผมได้ C (หัวเราะ) มันคือวิชาศิลปะการสื่อสาร ให้ทำงานออกแบบ ทำรายงานและมี drawing แต่ผม drawing ไม่เก่งด้วยล่ะมั้ง วิชาที่ผมลงคือวิชาเอาตัวรอด วิชาที่บอกกันว่าปล่อยเกรด แล้วผมเอาเวลาทั้งหมดไปเขียนการ์ตูน จริงๆ คือโดดเรียน (หัวเราะ) ใช้วิชามาร ไปตีซี้กับคนกลุ่มนี้ “เอ้ย โบว์ โบว์อ่านการ์ตูนเราใช่มะ เดี๋ยวเราจะเขียนการ์ตูนให้ดีที่สุดเลย โบว์ช่วยงานเราด้วย” (หัวเราะ) เหี้ยมาก แล้วผมมีผลงานใช่ป่ะ ก็เอาไปให้อาจารย์อ่าน เพื่อให้เห็นว่าเราทำงานอยู่ อาจจะมาเรียนน้อย จาก F ก็อาจกลายเป็น D ได้

ผมได้เจออาจารย์ที่ตั้งใจสอน เป็นการสอนแบบ Problem base learning สอนวิชาหนังสือพิมพ์โดยหยิบประเด็นขึ้นมาคุยกันว่า ประเด็นนี้แตกไปสู่อะไรที่น่าสนใจได้บ้าง เขียนข่าวออกมาก็ถกกันต่อ อาจารย์ออกแบบการสอนได้ดี เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเสียงของเรามีความหมายในห้องเรียน

จบมาด้วยเกรดเท่าไร

สองกว่า วิชามารผมโหดอยู่ เอาตัวรอดเก่ง (ยิ้ม)

ช่วงมหาวิทยาลัย คุณส่งงานไปตามนิตยสารตลอด

รวมเล่มแรกเขียนตอนปี 1 แต่ออกตอนปี 2 ทั้งปี 1 เขียนแต่เล่มนี้ แทบไม่ได้เรียน แทบไม่มีเพื่อน เพื่อนสนิทสุดคือน้องขายน้ำแถวหอที่ซื้อกาแฟ เพราะขึ้นไปบนหอแล้ววาดรูป

ถือว่าให้เวลากับการวาดภาพค่อนข้างเยอะ

โหย โคตรเยอะ ช่วงนั้นผมอ่านกนกพงศ์ (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2539 ที่ช่วงชีวิตหนึ่งเคยไปเก็บตัวเขียนหนังสืออยู่บ้านหลังเล็กท่ามกลางหุบเขาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วบอกตัวเองว่า “กูจะเป็นกนกพงศ์นะ”  เราต้องอยู่กับมันให้นานที่สุด ยิ่งพยายาม งานจะยิ่งดี

ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Let’s Comic) คือหนังสือเล่มแรก แถมได้รับรางวัลใหญ่ด้วย (International Manga Award ประจำปี 2012) เนื้อหาคือตัวคุณเลยไหม

ใช่ๆ

เราผ่านความเคว้งคว้างหลายแบบ โดยเฉพาะเส้นทางอาชีพนักเขียนการ์ตูน แล้วเราตั้งไว้ว่าอยากจะให้ขั้นตอนการทำหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ ซึ่งน่าจะใช้เวลาหลายเดือนหน่อย เป็นตัวพิสูจน์ว่าเราโอเคกับการทำงานนี้ไหม เลยคิดงานไปและหาตัวเองไปด้วย

คุณเคยพูดว่า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เคยสับสนในเรื่องอาชีพ จะวาดการ์ตูนต่อไป หรือเป็นเอ็นจีโอไปเลย มันเกิดขึ้นก่อนหรือหลังได้รับรางวัล

เกิดทีหลังนะ

พอได้รางวัล ผมเอาโล่ไปเก็บในซอกเลยอะ เหมือนที่บอกว่าไม่อยากเหลิง เพราะรางวัลนี้เป็นรางวัลใหญ่ที่สุดที่นักเขียนการ์ตูนไทยจะมีได้แล้ว แล้วมันได้มาเร็วมาก เล่มแรกก็ได้เลย แล้วถ้าไปยึดติดจะยิ่งเหลิง ผมเลยแทบจะไม่สนใจรางวัลเลย เพิ่งจะมาสนใจช่วงหลังๆ ว่าผมต้องเอามาขายเพื่อให้หนังสือขายออก (หัวเราะ)

ใครเป็นคนบอกวิธีการจัดระเบียบอีโก้ การได้รางวัลโคตรเย้ายวนเลยว่า เฮ้ย กูสะอาดนะเว้ย โคตรเท่

กนกพงศ์ไม่ได้บอก ใครบอกวะ พวกคนในสายงานเขียนนี่แหละที่บอกว่า เราต้องไม่พอใจกับงานเขียนของตัวเอง ไม่งั้นเราจะหยุดพัฒนา ไม่รู้ว่านักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นหรือเปล่า คงนักเขียนไทยนี่แหละ

รางวัลไม่ได้มาสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพเหรอ

พอผมจะไม่เหลิงกับมัน เลยตีกลับไปว่า เขาให้กูเพราะอะไรวะ ให้เพราะคิดว่าการให้รางวัลนักเขียนการ์ตูนอายุน้อยจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองของญี่ปุ่นรึเปล่า เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเป็นคนจัดรางวัลนี้ แล้วเราเชื่อถือกรรมการได้แค่ไหน ช่วงมหาวิทยาลัย ผมอ่านหนังสือเยอะ เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วมันจะมีนักเขียน เช่น คำ ผกา ที่พูดประมาณว่า “ถ้าสังคมมีความทุกข์ คุณจะมีความสุขได้ยังไง” ไม่มั่นใจว่าพูดแบบนี้หรือเปล่า แต่เซนส์ผมจับได้ประมาณนี้ดังนั้น คุณต้องทุกข์ไปกับสังคมดิวะ ผมรับความคิดมาเต็มๆ และอาจเชื่อมโยงกับความเป็นของกนกพงศ์ด้วย

แล้วตอนไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่น เขาพาผมไปโซนที่โดนสึนามิ รถซ้อนกันเป็นสิบยี่สิบคัน เราไปดูแล้วรู้สึกว่า เชี่ย แม่ง โศกนาฏกรรมมาก แต่หลังจากนั้นก็มากินเบียร์อย่างเฮฮาปาร์ตี้ แล้วผมรู้สึกผิดกับการมีความสุข “ไอ้เหี้ยเรามีความสุขได้เหรอวะ” รู้สึกตอนนั้นเลย ตอนกินเบียร์มันจะคิดได้ครึ่งนึงใช่ป่ะ พอสร่างแล้วก็จะคิดได้เต็มๆ แต่ไม่ได้ซีเรียสกับมันหรอก มาเข้มข้นตอนที่เราเขียนการ์ตูนเยอะๆ และเรารู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวพันกับสิ่งที่อ่าน โลกยังมีปัญหาอีกมากมาย ทำไมเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นไม่สามารถลิงค์การ์ตูนกับความรู้สึกผิดของตัวเองได้ ซึ่งก็มีคนบอกแหละว่า คุณเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับสังคมดิวะ แต่ลึกๆ เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าใจสังคม ไม่เข้าใจการเมืองขนาดนั้น มันเป็นนามธรรมมาก

วิชาที่เรียนต้องทำหนังสือพิมพ์แล้วเอาไปขาย ผมเอาไปขายยาม เพราะขายง่าย ผมบอกเขาว่า “ช่วยสนับสนุนหนังสือพิมพ์นักศึกษาหน่อยครับ” เขาก็ช่วย ผมคนชั่วอะครับ (หัวเราะ) ทุกคนที่ซื้อบอกกลับมาว่า “ทำข่าวค่าแรงให้หน่อย ค่าแรงน้อยมากเลย” ประมาณ 8-10 คน ผมเลยเอามาเสนอในกองฯ ทุกคนโอเคเพราะคิดว่าทำง่าย แค่สัมภาษณ์ยาม สัมภาษณ์บริษัท และสัมภาษณ์นักกฎหมาย จบ ปรากฎว่าพอไปสัมภาษณ์ยาม ไม่มีใครยอมบอกว่าค่าแรงน้อย ไม่มีใครให้ชื่อตัวเองเพราะกลัวบริษัทเล่น แล้วในแง่การเขียนข่าว มันลงชื่อว่า ‘นาย ก.’ ไม่ได้ มันไม่มีน้ำหนักในการเป็นข่าว

ข่าวนั้นมันเลยเป็นมหากาพย์ที่ผมต้องไปล่ารายชื่อยาม แล้วเรื่องกลายเป็นว่า พอบริษัทจ้างยามในราคาถูก เลยมียามที่หมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาเยอะมาก ยามแต่ละคนก็ดูมีประวัติน่าฉงน บางคนในบางตึกเหมือนจะเป็นคนขโมยของเอง เลยมีการสัมภาษณ์คนดูกล้องวงจรปิดในพื้นที่นั้น ไปสัมภาษณ์ฝ่ายสถานที่ แล้วกลายเป็นข่าวที่ยามทั้งมหาวิทยาลัยอ่าน เป็นครั้งแรกที่ผมต้องปะทะกับคนมีอำนาจโดยตรง ต้องพยายามประสานทั้งความเป็นครู ความเป็นกนกพงศ์ ความเป็นคำ ผกา ความเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์ และจิตวิญญาณนักสื่อสารมวลชน เข้ามาสู้กับโลกแห่งความจริง สุดท้ายค่าแรงยามขึ้นประมาณยี่สิบกว่าบาท ไม่ถึงขั้นต่ำอยู่ดี แต่ถือเป็นแรงกดดันให้บริษัทยามต้องยกระดับค่าแรง ซึ่งผมเทคเครดิตไม่ได้หรอก เพราะบริษัทบอกว่าจะขึ้นอยู่แล้ว แต่ในแง่กระบวนการเรียนรู้ ผมรู้สึกว่าผมได้อะไรเยอะมาก

ผมได้เรียนรู้ปัญหาของคนจริงๆ นะ รู้ว่ามียามที่ทำงานที่อู่ตอนเช้า กลางคืนเป็นยามกะดึก แล้วก็หลับ เป็นยามหลับที่เราด่าๆๆ เขาโชว์รูปให้ผมดูว่าลูกป่วย เป็นโรคไตหรือตับอะไรไม่รู้ ผมเลยรู้สึกว่าโลกมันเป็นแบบนี้ โลกมันเทามาก ที่ผมรู้สึกกับมันมาก เพราะพวกเขาใกล้กับนักศึกษามาก เจอหน้าทุกวันแต่เราไม่เคยรู้เรื่องชีวิตเขาเลย ในแง่การเรียนรู้มันอิมแพคกับผมมาก และทำให้เรายังอยากทำงานที่มีศักยภาพเต็มที่แบบนี้ เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า “กูใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่กูมีในชีวิต ทุ่มกับสิ่งนี้ได้หมดเลยนะ”

มีนักเขียนที่พูดประมาณว่า “ถ้าสังคมมีความทุกข์ คุณจะมีความสุขได้ยังไง” ผมรับความคิดนั้นมาเต็มๆ 

พอเรียนจบ อาชีพแรกที่ทำคืออะไร

ก่อนจบกับหลังจบ ทำเหมือนเดิมเป๊ะ แค่ตัดการเรียนออก แล้วเขียนการ์ตูนเท่าเดิมด้วย เพราะขี้เกียจ (ยิ้ม)

แล้วเวลาเรียนที่หายไปทำอะไร

เออ นั่นดิ เล่นโปเกมอน (หัวเราะ) ช่วงหลังเรียนจบ ผมไม่ค่อยโฟกัส ก็ไปรับโปรเจ็คต์ต่างๆ ออกแบบคาแรคเตอร์ วาดการ์ตูนให้แสตมป์ รับเขียนบทบ้าง อะไรแบบนี้

เริ่มเขียนการ์ตูนประเด็นทางสังคม-การเมือง ตอนไหน

มันค่อยๆ เขยิบจากการเขียนการ์ตูนแก๊กให้มติชน เขียนตอนเรียนอยู่ ซึ่งมติชนเป็นเวทีที่ใส่อะไรไปก็ไม่ว่า ผมเริ่มจากเรื่องการศึกษาที่สนใจมานานแล้ว แต่อาจไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรหรอก แค่รู้สึกว่ามันตลกดี เราคิดได้พอดี แล้วมาเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับเด็กชาติพันธุ์ เขียนให้เกรียนศึกษา อันนั้นเหมือนเป็นสารคดีการ์ตูนอันแรก

ตอนเรียนจบ ผมมีไอเดียว่าอยากเขียนการ์ตูนในฐานะนักสื่อสาร ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า วงการศิลปินกระแสหลักไทยไม่มีคนที่ทำงานแล้วแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง แต่ต่างประเทศยังมี Coldplay U2 ที่ทำเพลงหรือคอนเสิร์ตเชื่อมกับการเมืองตลอดเวลา แต่ศิลปินไทยพออยู่ในกระแสจะเซ็นเซอร์ตัวเอง พูดถึงเมื่อก่อนนะ ตอนนี้เริ่มมีแล้ว ตอนนั้นผมรู้สึกว่า กูอยากเป็นแบบนั้น อยากเขียนการ์ตูนให้สนุกเหี้ยๆ เพื่อสื่อสารกับคนให้มากที่สุด ทำให้เขาชอบการ์ตูน และสื่อสารว่าควรสนใจสิ่งนี้

คุณเคยเล่าว่า อยากเขียนการ์ตูนมังงะเป็นเล่มๆ และอยู่ได้เป็นอาชีพ แต่การจะเป็นคนนั้นได้ต้องมีฐานคนอ่าน ซึ่งการเมืองเป็นเรื่องต้องห้ามของศิลปินในบ้านเรา เสียฐานคนอ่านแน่ๆ คุณบาลานซ์ยังไง เพราะหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 คุณพูดเรื่องการเมืองในเพจตัวเอง (Sa-ard สะอาด) อยู่พอสมควรเลย

จัดการไม่ได้ เละ มั่วเลย ถ้าสังเกตเพจจะเห็นว่ามันมีการ์ตูนแบบ เชี่ยไรไม่รู้ และการเมืองจ๋า สุดท้ายเหมือนจะเสียไปทั้งสองฝ่าย คนที่ชอบการเมืองก็จะไม่ชอบเพจผม เพราะมึงลงการ์ตูนส่วนตัว ขณะที่คนชอบการ์ตูนผมตั้งแต่แรกก็จะรู้สึกว่าทำไมมึงต้องเล่นเรื่องการเมือง แต่ผมได้รับคำแนะนำจากหลายคน ซึ่งดีมากนะ เช่น แยกเพจไปดิ

แต่ผมคิดว่า ก็อยากให้เพจมันสื่อสารว่าการเมืองเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมมีทั้งส่วนที่เล่นโปเกมอน กนกพงศ์ และการเมือง ก็เป็นผมทั้งหมด ไม่ได้มองเรื่องความเป็นแบรนด์อะไรเลย ซึ่งไม่รู้เป็นความผิดพลาดหรือเปล่า

การเมืองเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมมีทั้งส่วนที่เล่นโปเกมอน กนกพงศ์ และการเมือง ก็เป็นผมทั้งหมด

ช่วงนั้นคุณพูดเรื่องการเมืองอย่างไรบ้าง

ทั้งการ์ตูน ทั้งแชร์แสดงความเห็น โพสต์ภาพแบบ ปล่อยปล่อยไผ่ ปล่อยเพื่อนเรา

คุณกลัวบ้างไหม

กลัวสัส กลัวเหี้ยๆ ผมเป็นคนขี้กลัว กลัวคนไม่รัก เป็นมาตั้งนานแล้ว แล้วที่แสดงออกคือประนีประนอมที่สุด ผมพูดด้วยท่าทีไม่ให้อีกฝ่ายดูแย่ ไม่มี hate speech ผ่านการคัดกรองสุดชีวิตแล้ว ผมเคยโพสต์อันหนึ่งแล้วใจเต้น ต้องไปขี่จักรยานรอบหมู่บ้าน (หัวเราะ) ไอ้เหี้ย จะเป็นอะไรเปล่าวะ จำไม่ได้แล้วเรื่องอะไร คงแค่แสดงจุดยืนออกมา

ช่วงเวลานั้นคือการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารใช่ไหม

ผมต้องการสื่อสารว่ารัฐประหารไม่เวิร์คยังไง ความรู้สึกว่าไม่เวิร์ค ช่วงแรกๆ ไม่มีคนออกมาพูดเลย โดยเฉพาะวงการศิลปิน ไม่มีเลย ไม่มีใครกล้าออกมาสื่อสาร ไม่เหมือนไข่แมวทุกวันนี้ แล้วพอไม่มีคนออกมาพูด ยิ่งรู้สึกว่าจำเป็นต้องพูด

คุณเจออะไรบ้าง

ผมไม่เจอในทางการเมืองที่มาบอกว่า คุณหยุดได้แล้ว ไม่เจอเลย

มีเสียงผิดหวังไหม เช่น คุณไม่น่าพูดเรื่องการเมืองเลย

เออ อันนั้นเยอะ คนที่เป็นนักอ่านและติดตามมานาน ช่วงแรกๆ ไม่ตอบคนที่ผิดหวัง ผมก็พิมพ์ประมาณว่า “ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณครับ” แต่จะมีแอบไฝว้ประมาณว่า “ช่วยอธิบายหน่อยครับ” เรามีหมวกที่ต้องดูเรื่องแบรนด์ และมีหมวกการสื่อสาร ถึงที่สุดแล้วผมให้ความสำคัญกับหมวกการสื่อสารมากกว่า คนจะไม่อ่านการ์ตูนของผม โอเค เขาอาจเกลียดผมก็ได้ แต่ถ้าผมไม่ได้บอกในสิ่งที่รู้สึกว่าสำคัญกับสังคม ผมไม่ค่อยโอเคกับตัวเอง

เรื่องสำคัญตั้งมากมายไม่ยอมสื่อสาร ทำไมต้องเรื่องการเมือง มันสำคัญยังไง

เรามองสิ่งแวดล้อมทางการสื่อสารทั้งหมดแล้วเห็นว่า ณ ตอนนั้น เรื่องนี้มันไม่มีคนพูด เราจำเป็นต้องพูด สังเกตว่าตอนนี้ผมหยุดเพราะรู้สึกว่ามีคนพูดได้ดีกว่าแล้ว ผมมาเน้นการสื่อสารที่ช้าลง คือการมาทำหนังสือ รู้สึกว่ามันยืนระยะได้ดีกว่า เหมือนเราก็แสวงหาที่ยืนของตัวเองในทางการสื่อสารอยู่ตลอด

ที่บอกว่ากลัว กลัวอะไร คุก ปรับทัศนคติ คนไม่รัก อันไหนคือความกลัวที่ชัดที่สุด

ที่ชัดสุดคือ กลัวคนรอบข้างไม่รัก นี่คือความโหดของการเมืองไทย ผมรู้สึกว่ายิ่งช่วงที่มันแหลมคม คนไฝว้กันรุนแรง ผมเซนซิทีฟกับคนรอบข้างมากสุด

แต่สุดท้ายก็ทำ คุณได้หรือเสียอะไรไปจากการทำ

(เงียบคิด) ผมไม่ค่อยรู้ว่าได้อะไรว่ะ ทำให้ได้งานที่ The Momentum ไง (หัวเราะ) อย่างน้อยผมได้ตอบว่าตัวเองทำแล้ว ส่วนเสียเยอะเลย ผมอ่านคอมเมนท์หมด เฮิร์ตนะ คือผมเป็นยังงี้ ชมมาร้อย โฟกัสอันที่ด่าหนึ่ง แต่ก่อนนะ ตอนนี้ไม่เป็นละ เช่นมีคนบอกว่า ขยะ หรือ ไร้ค่า อะไรสักอย่างนี่แหละ ผมถามตัวเองว่า กูไร้ค่าจริงเหรอวะ ช่วงขี่จักรยานวนรอบหมู่บ้านก็ถามคำถามนี้ละ “กูเป็นขยะจริงเหรอวะ” เออ ในแง่ความเป็นคนทำงานศิลปะ ผมว่าตัวเองขยายขอบเขตการเป็นตัวเองได้ไกลขึ้น ไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือเซ็นเซอร์น้อยกว่านักเขียนคนอื่น เท่ากับผมมีอิสระในการทำงานมากขึ้น อาจจะเป็นข้อดีก็ได้ มีอิสระในการทำคอนเทนต์มากขึ้น

ตลอดเวลาผมมีความเคว้งคว้างใน 2 เส้นทาง แล้วเหมือนยังเชื่อมไม่ค่อยติด คือ เวลาที่ผมต้องไปเขียนงานสารคดี เช่น เรื่องปัญหาที่ดิน ต้องอยู่กับมันเป็นเดือน ผมก็อยากเขียนการ์ตูนตลก แต่พอผมเขียนการ์ตูนตลก ก็รู้สึกว่ามันต้องทำอะไรบางอย่างออกมา ผมคงต้องทำมันไปทั้งคู่ แต่การทำทั้งคู่เท่ากับว่าเราจะไม่ได้กลายเป็นคนเขียนการ์ตูนที่ไปสู่วงกว้าง เพราะการไประดับโลกหมายความว่าคนส่วนใหญ่ต้องชอบ ผมเริ่มพบว่าสิ่งที่ตัวเองชอบ คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบเท่าไร โดยเนื้อตัวของผมอาจไม่ได้แมสขนาดนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งมาพบทีหลัง แต่ถ้าพูดแบบนี้หมายถึงเรื่องอุตสาหกรรมวงการหนังสือการ์ตูนไทยด้วย มันไม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนทำงานการ์ตูนเป็นซีรีส์แล้วอยู่ยาวไปตลอดชีวิต มันไม่มีในประเทศนี้

คุณเคยเล่าว่า นักเขียนการ์ตูนชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทยในอดีต ปัจจุบันต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นยามแล้ว

ผมกลับไปถามคนที่เชียงใหม่ที่น่าจะคลุกคลีกับเขา ก็ได้คำตอบว่า เออ ใช่ครับ เป็นยาม ขายเฉาก๊วย ไปรับจ้างเขียนสตอรี่บอร์ดเพื่อเอาเงินมาเขียนการ์ตูน

ตอนรู้เรื่องนี้มีผลกับเรายังไง เปรียบเทียบในแง่แบรนด์ เขาเป็นนักเรียนการ์ตูนชื่อดังในยุคหนึ่ง

(เงียบคิด) แง่หนึ่งทำให้ผมกลับมาคิดเรื่องเงินมากขึ้น เราเตลิดเปิดเปิงกับอุดมการณ์มาตลอด เลยอยากเขียนการ์ตูนเพื่อเป็นอาชีพให้ได้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาไม่คิดถึงมันในระยะสิบปียี่สิบปี พอความจริงนี้ฟาดมา ผมเลยวกกลับมา ไอ้เหี้ย นี่คือธรรมชาติของสายอาชีพนี้ ตอนแรกคิดว่าเฉพาะบ้านเรา แต่พอไปออสเตรเลีย ก็พบว่าเป็นเหมือนกัน

คิดเรื่องเงินมากขึ้นคือยังไง

ผมเริ่มถามตัวเองว่าจะออกแบบอาชีพนี้ได้ยังไงบ้าง ต้องจริงจังกับความเป็นแบรนด์ของตัวเองมากขึ้นไหม ต้องมีความถี่ในการทำงานขึ้นหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมามั่วตลอดเลย

วางแผนจะทำอะไรไว้บ้าง

ผมตั้งใจจะทำการ์ตูนสารคดี ตอนนี้ทำสำนักพิมพ์ที่ทำการ์ตูนประเด็นสังคมชื่อ ‘ด้วง’ ผมคิดในแง่เงินเลย ก็ไปบอกแหล่งทุนตรงๆ เลย โมเดลของผมคือต้องการระดมทุนจากแหล่งทุนที่รู้สึกว่าควรมีการสื่อสารแบบนี้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผมจะผลิตคอนเทนต์ที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพออกมา แต่ขอเงินเขา แล้วผมก็เอาตังนี้มาเลี้ยงชีพด้วยส่วนหนึ่ง พิมพ์งานออกมาเผยแพร่กับสังคมด้วยส่วนหนึ่ง เราอยากให้คนอ่านสนใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น หรือคนอ่านจะได้รู้ว่ามันมีวิธีการสื่อสารแบบนี้มากขึ้น เป็นวิธีการที่ผมได้เงิน ได้ทำสิ่งที่ชอบ และวางรากฐานต่อคนอ่านด้วย

ทุกวันนี้ทำงานอะไรบ้าง

คอลัมน์ที่ The Momentum มติชนสุดสัปดาห์ และงานฟรีแลนซ์ เพิ่งเขียนบทซีรีส์ให้ Line TV ออกแบบคาแรกเตอร์

ถือว่างานไม่น้อยเลยนะ

ผมเขียนการ์ตูนแก๊กเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ในระยะยาว ในแง่วิชาชีพ การ์ตูนแก๊กมันอายุสั้นมาก งานที่อายุยาวสุดต้องเป็นการ์ตูนซีรีส์อะแหละ คงเขียนขึ้นมาสักเรื่อง เพราะว่าในแง่ตลาดวงการการ์ตูน มันเป็นเรื่องของคาแรกเตอร์ ถ้าเรามีเรื่องเล่าให้คาแรกเตอร์ แล้วมันไปต่อได้ มันก็หาเงินได้จากช่องทางนี้ อันนั้นคือขาหนึ่ง แล้วอย่างที่บอก ผมจะทำสำนักพิมพ์ อยากฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อผลิตหนังสือการ์ตูน สำนักพิมพ์ที่ผมทำกับพี่ชาย มันมีทั้งการ์ตูนที่ผมทำเองคนเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีระบบที่เราฟอร์มทีมขึ้นมาด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทางซีรีส์ทั้งหมด ซึ่งพี่ผมจะมีช่องทางโปรดักส์จำนวนมหาศาลมาทำเสื้อ หรือ โมเดล อะไรแบบนี้

อีกขาหนึ่งก็ทำออนไลน์ไปด้วย พบว่ายังไงออนไลน์ก็ต้องทำอยู่ดี เพจ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม สุดท้ายก็ต้องเคลื่อนพวกนี้ แต่สุดท้ายผมพบว่าเพจอะ กลุ่มคนอ่านเพจไม่ค่อยเชื่อมกับหนังสือเท่าไร เพราะงั้น advertorial เลยเป็นช้อยส์หนึ่ง ที่มันไม่เกี่ยวกับคนอ่านหนังสือเลย แต่เป็นช่องทางหารายได้ทางหนึ่ง แต่ความยากคือการหา advertorial ที่เรารับได้นี่แหละ

ย้อนไปช่วงทำเพจแรกๆ คุณเคยบอกว่าจะไม่รับโฆษณา แล้ววันหนึ่งมารับแล้ว โอเค รับประมาณนึง รับแบบเลือกงาน จุดเปลี่ยนเกิดจากรายได้ไม่เพียงพอหรือเปล่า

ไม่ใช่ว่าอยู่ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัย ความกลัว เรื่องกลัวเป็นอันหนึ่ง ในตอนที่เรารู้สึกว่าอาชีพหรือเส้นทางนักเขียนการ์ตูนมันแหว่งๆ หรือเราได้เห็นนักเขียนการ์ตูนหลายคนที่เลิกเขียนไป (เงียบ)

มีอยู่วันนึง ผมตัดสินใจใช้เส้นทุกอย่างที่มี พิมพ์ไปหาทุกๆ คน “มีคอลัมน์ว่างไหมครับ” เพื่อให้มีคอลัมน์ประจำและรู้สึกว่าปลอดภัย เกิดรายได้เป็นรายเดือน เช่น ครอบครัวเจ๋งเป้ง เขียนอาทิตย์ละตอน ขอเพิ่มเป็นสองตอนเพื่อให้รู้สึกว่า กูจะได้ตังค์จากส่วนนี้แล้วค่อยไปเต้นรำที่ไหนก็ได้

เสียฟอร์มศิลปินไหม

ไม่นะ เฉยๆ ผมเป็นคนกะล่อน (หัวเราะ)

ไม่ได้อุดมการณ์จ๋าแล้ว เริ่มประเมินว่าเงินที่ได้เท่านี้ แต่ละเดือนปลอดภัยไหม

มันหลายอันว่ะ มันมีขานักเขียนการ์ตูน ขาของวงการสิ่งพิมพ์ที่มันขาลงทั้งวงการ ขาแมกกาซีนการ์ตูน แม้กระทั่งการ์ตูนญี่ปุ่นเองก็ดาวน์ เท่ากับว่ามันคืออุตสาหกรรมทั้งหมด แล้วสุดท้ายมันคือขาเอ็นจีโออะ เห็นเพื่อนที่ทำงานเอ็นจีโอบางคนมีปัญหาเรื่องสภาพการเงินมาก ผมพบว่าถ้าเราจะทำงานประเด็นทางสังคมต่อไป ต้องคิดเรื่องตังค์มาก มันเป็นสิ่งแรกที่ต้องคิดด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นสิ่งที่จะทำได้ระยะยาว ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแค่วัยรุ่นที่เอาชีวิตตัวเองมาแผดเผากับอุดมการณ์ และก็เลิกไปทำมาหาแดกอย่างอื่น คือผมอยากทำยาวๆ เลยต้องบริหารเรื่องเงินดีๆ

ทุกวันนี้พอใจกับปัจจุบัน ทั้งในแง่รายได้ และสิ่งที่ทำ

มันก็เกินสิ่งที่คิดว่าทำได้มาเยอะ ไม่เคยคิดว่าจะเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพได้ ไม่คิดว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ได้ด้วยซ้ำ แค่คิดว่าจะได้ทำในสิ่งที่ชอบอย่างเดียว หรือเรื่องตังค์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน และมันได้มากกว่าที่คิด มากๆๆ ผมมองภาพตัวเองของการเป็นนักเขียนการ์ตูน เหมือนกนกพงศ์ คือไปอยู่ในกระท่อม อยู่ต่างจังหวัด กินน้อยๆ แต่ที่ได้มามันเยอะกว่าที่คิด ส่วนเรื่องอิมแพค ผมไม่แน่ใจ แต่ถามว่าจำนวนคนที่ชอบงานเราถึงขนาดนี้ พอใจนะ เซอร์ไพรส์ด้วยซ้ำ มีคนเจอเราแล้วร้องไห้ก็มี

ในสายอาชีพนักเขียนการ์ตูน คุณอยากเห็นตัวเองเป็นยังไง

ผมอยากทำสำนักพิมพ์ที่ว่า มันน่าจะตอบโจทย์หลายอย่างในชีวิต ธุรกิจก็ยังไม่ได้ศึกษาอย่างดีหรอก แต่อยากให้มันสร้างคนได้ หาเพื่อนที่คิดคล้ายกันแล้วทำงานด้วยกัน ลึกๆ ผมยังชอบอะไรแบบนี้อยู่ ระหว่างนี้ผมอยากหาเพื่อนได้เยอะๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นแต่ก่อน ผมมองภาพนักเขียนการ์ตูนโดดเดี่ยวมาก “กูจะทำแบบนี้ และกูจะทำให้มันได้” แต่ตอนนี้ โดยเฉพาะวงการที่ต้องขับเคลื่อนสังคม มันต้องทำด้วยกันใช่มะ ผมอยากหาพาร์ทเนอร์ หาเพื่อนที่ทำด้วยกันเยอะๆ มาแลกเปลี่ยนกันเยอะๆ

Tags: , , ,