สำหรับคนรักศิลปะ การได้เสพสุนทรียะและดื่มด่ำความงามจากชิ้นงานที่หลงใหล คือการได้ประโลมจิตวิญญาณด้วยฝีแปรงของจิตรกร หรือการสลักเสลาของประติมากรผู้สร้างผลงาน คุณค่าทางใจที่งานศิลปะมอบให้นี้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ครอบครองรู้สึกควรค่า และนำมาซึ่งการเก็บสะสมไว้ใกล้ตัว

ชุ-มัญชุสา อุดมวิทย์ เป็นอีกหนึ่งคนที่ลุ่มหลงในงานศิลปะ และเริ่มเก็บสะสมชิ้นงานที่ชอบมาแล้วเป็นเวลานาน โดยมีงานอาร์ตทอยเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนจะขยับมาสู่งานประติมากรรมฝีมือคนไทยมานานนับสิบปี กระทั่งวันหนึ่งที่บทสนทนาของผู้ใหญ่ที่นับถือ ได้จุดประกายให้เธอเปลี่ยนโชว์รูมนำเข้ารถหรูซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว มาเป็นแกลเลอรี่เพื่อนำชิ้นงานที่สะสมออกมาแสดงให้คนอื่นได้ชื่นชม และแบ่งปันกันอย่างที่เรียกว่า ‘สมบัติผลัดกันชม’ ซึ่งเป้าหมายของเธอไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่ตรงกลางให้คนรักชอบงานศิลปะมาพบปะแลกเปลี่ยนผลงานกันเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้ศิลปินไทยรุ่นใหม่ หรือศิลปินไทยที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานสู่นักสะสม และสร้างเนื้อสร้างตัวจากอาชีพศิลปินได้

“เราเริ่มต้นจากการเป็นนักสะสม พอได้เข้ามาอยู่ในแวดวงนี้ก็มองเห็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในแง่มุมการสะสม ก็คือการลงทุนกับงานศิลปะ เป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ในทางหนึ่ง” มัญชุสาเล่าให้ฟังขณะนำชมผลงานซึ่งจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี่

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจัดวางอยู่ในส่วนแสดงงานจำนวน 150 ชิ้น คืองานนิทรรศการ ‘พ่อไม่ได้จากไปไหน’ ที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา และจัดต่อเนื่องมาเป็นเวลาสามปีแล้วในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะจบช่วงแสดงงานไปแล้ว แต่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไป ยังสามารถเข้าชมได้ฟรีด้วย งานชุดนี้ยังไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายไปไหน อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีงานชุดใหม่เข้ามาจัดแสดงเป็นการหมุนเวียน งานทุกชิ้นแสดงถึงความงามและรายละเอียดอันแสดงถึงพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตร ผ่านงานมืออันประณีตของศิลปิน ที่ในสายตาของนักสะสมอย่างเธอแล้ว คือคุณค่าที่ยากจะประเมิน

พระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ของ สตีเวน มุตธิกุล โจนส์ เป็นงานบรอนซ์ที่ถ่ายทอดชิ้นงานออกมาได้อย่างเปี่ยมอารมณ์และความรู้สึก มัญชุสาชื่นชอบงานของศิลปินท่านนี้อยู่แล้วเป็นการส่วนตัว จากงานประติมากรรมร่วมสมัยที่ผสานความเป็นไทยกับสากลเอาไว้ในชิ้นงานอย่างแยบคาย และเธอเองก็มีเก็บสะสมอยู่หลายชิ้น เมื่อศิลปินทำงานประติมากรรมชุดนี้ เธอจึงได้สิทธิ์ในการจับจองเป็นคนแรกๆ

“ศิลปินเก็บรายละเอียดเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะการทำงานนี้จะผิดพลาดไม่ได้ในเรื่องรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเหรียญตรา ลายพระหัตถ์ ฉลองพระองค์ สีพระพักตร์ แววพระเนตร กระทั่งความพลิ้วของฉลองพระองค์ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ ซึ่งอาจารย์สตีฟบอกว่ากว่าจะได้ชิ้นนี้ท่านเอาผ้ามาคลุมก่อนเพื่อหารอยยับย่นว่าจะเป็นไปทางไหน เป็นพระบรมรูปที่ในหลวงทรงโบกพระหัตถ์ให้กับพสกนิกร ในพระราชพิธีฉลองกาญจนาภิเษก ที่สำคัญคือศิลปินได้ร้อยเรียงพระราชกรณียกิจของในหลวงเอาไว้ค่อนข้างครบ ทั้งการทำฝนเทียม เรือใบ กล้องถ่ายรูป เขื่อน สะพานภูมิพล ไร่นาสวนผสม ฯลฯ”

การจะได้ผลงานที่เป็นชิ้นหายาก นักสะสมต้องใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวกับศิลปิน มัญชุสาเล่าว่าในตอนเริ่มต้นเธอเองก็ต้องตามหางานด้วยตัวเอง เคยกระทั่งบุกไปถึงบ้านศิลปินเพื่อขอแบ่งปันงานมาเก็บไว้ บางครั้งได้ บางครั้งไม่ได้ จนเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น การได้จับจองก็ง่ายขึ้น ซึ่งในเงื่อนไขนี้ นักสะสมหน้าใหม่ยากที่จะเข้าถึง

“การเก็บงานประติมากรรมหรืองานศิลปะมันก็เหมือนกับเราเล่นหุ้น ซื้อหุ้น ถ้าวันนี้เราลงทุนกับหุ้นถูกตัว มีอนาคตเป็นบวก ก็มีกำไรหรือมีมูลค่ามากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ในการดูงาน หลักการง่ายๆ ที่จะดูว่าชิ้นไหนเหมาะแก่การลงทุน หนึ่ง เราต้องดูว่าศิลปินท่านนั้นมีชื่อเสียงไหม แต่การจะไปเก็บแต่งานดังๆ ก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะราคางานของศิลปินระดับเบอร์หนึ่งเบอร์สองของเมืองไทยก็หยิบจับไม่ไหวสำหรับคนเริ่มต้น”

และหากมองการณ์ได้แม่น “บางชิ้นนี่แค่เปลี่ยนเดือน เปลี่ยนสัปดาห์ ราคาก็ขึ้นหลายเท่าตัว อย่างชิ้นนี้ผ่านมาสามปี ราคาขยับขึ้นไม่ต่ำกว่าสี่ถึงห้าเท่า” เธอหมายถึงงานพระบรมรูปของอาจารย์เอก กระจ่างช่วย จิตรกรที่มีชื่อเสียงในการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ เมื่อเขาหันมาทำงานประติมากรรมชิ้นแรกคือพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 งานของเขาก็เป็นที่ต้องการ จนผลงานที่ทำออกมาเพียง 99 ชิ้นไม่พอต่อนักสะสม ทำให้มูลค่าของงานชุดนี้สูงขึ้นตามกฎอุปสงค์และอุปทาน

เธอยกตัวอย่างงานของอาจารย์กิตติพงษ์ สุริยทองชื่น กับพระบรมรูปขณะทรงถือแผนที่ไว้ในพระหัตถ์อันเป็นพระราชอิริยาบถที่คุ้นตา ซึ่งเธอเก็บสะสมไว้ทั้งงานเอพีและงานเอดิชั่น

พระบรมรูปทั้ง 150 ชิ้น แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 4 โซน คือโซนพระเมตตา โซนใต้ร่มพระบารมี โซนสายใยรัก และโซนภูมิพโล ที่เล่าถึงเรื่องราวในแต่ละแง่มุมต่างกันไป ทั้งการเสด็จครองราชย์ การทรงงาน ทรงผนวช ในหลวงกับพระบรมวงศานุวงษ์ ความผูกพันกับสุนัขทรงเลี้ยง และพระบรมรูปในแต่ละช่วงพระชนมายุ ซึ่งล้วนเป็นงานที่ต้องตาของคนดู และแน่นอนว่าต้องใจนักสะสมอย่างเธอมาก่อน ไม่อย่างนั้นแล้วคงไม่ได้มาจัดแสดงอยู่ที่นี่

“จากที่ตัวเองประสบมา เราเองก็ไม่ได้ชิ้นงานจากศิลปินโดยตรงทุกชิ้น บางชิ้นเราได้จากแกลเลอรี่ และแน่นอนว่าเมื่อเก็บงานที่ได้มาจากแกลเลอรี่ ราคาก็ต้องขยับอยู่แล้ว แล้วยังจากแกลเลอรี่มาสู่มือนักสะสมอีก แต่ข้อดีของการได้งานมาจากแกลเลอรี่คือ แกลเลอรี่จะเป็นตัวสกรีนให้เราแล้วว่างานชิ้นนั้นมีอนาคตพอสมควร แล้วแกลเลอรี่จะบอกได้ว่างานชิ้นนี้ผ่านมือใครมาแล้วบ้าง ยิ่งถ้าผ่านมือนักสะสมเบอร์ต้นๆ ระดับเจ้าสัวของประเทศ ก็หมายความว่างานนั้นย่อมมีอนาคตแน่นอน”

ในห้องซึ่งจัดแสดงงานประติมากรรมร่วมสมัย เราได้เห็นอัตลักษณ์ของงานไทยผสมผสานกับแนวคิดที่เป็นสากลของสุรทิน ตาตะนะ งานชิ้นที่ชื่อวีนัส ตัวแทนของหญิงงาม ก้มมองเงาในน้ำที่สะท้อนสังขารความแก่ชรา กินรีสองพี่น้องที่ยังอ่อนเยาว์ ทำให้เรามองเห็นความน่ารักของช่วงวัยที่เราไม่คุ้นเคย หรือในชิ้นงานที่ชื่อ ‘ดุสิตทิพย์เทวา’ ของสราวุฒิ คำมูลชัย ซึ่งมีผลงานประติมากรรมในห้องพระบรมรูป งานของเขาในห้องนี้ยังคงสื่อถึงความหมายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งสถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นดุสิต

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของงานร่วมสมัย ยังมีงานที่สะท้อนมุมมองของคนยุคใหม่ เช่นงานของลำพู กันเสนาะ ที่คนคนหนึ่งกำลังนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม แต่เท้าข้างหนึ่งคีบไม้เซลฟี่เพื่อถ่ายรูปตัวเองลงโซเชียลอย่างไม่ละวาง หรืองานของวิษณุพงษ์ หนูนันท์ ที่ปั้นคาแรกเตอร์ของ ตูน บอดี้สแลม ‘แตะขอบฟ้า’ ในวันที่เขาออกวิ่งเพื่อระดมทุนหาเงินให้กับโรงพยาบาล โดยมีพวงมาลัยธนบัตรคล้องคอ ซึ่งหนึ่งในงานชุดนี้เคยผ่านราคาประมูลมาแล้วในหลักแสน

ถัดมาอีกห้องหนึ่ง คือห้องเก็บสะสมประติมากรรมพระพิฆเนศในปางต่างๆ รวมถึงเครื่องทรงที่แปลกตา เช่นชิ้นหนึ่งที่โดดเด่นมากคือพระพิฆเณศวรทรงชุดทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นการผนวกเอานาฏกรรมชั้นสูงอย่างโขน มาผนานเข้ากับงานศิลป์ อีกห้องหนึ่งที่แยกพื้นที่ออกมาเป็นสัดส่วน คือห้องแสดงพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ 9 รัชกาล ของอาจารย์วัชระ ประยูรคำ และงานชิ้นสำคัญของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ในงานชื่อ Inner Mind ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่ถอดประกอบได้ และงานชุดเดียวกันนี้มีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศด้วย

ไม่ได้มีเพียงแต่มัญชุสาที่เป็นนักสะสม เพราะ สุนทร งามเกิดศิริ สามีของเธอ ก็เป็นนักสะสมพระบูชาด้วยเช่นกัน แต่ละองค์ก็มีเรื่องราวในการหล่อการสร้าง ที่สมัยก่อนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 มักจะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเททอง และพระบูชาซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระเก่านี้ จะผ่านการปลุกเสกจากครูบาอาจารย์ จึงเป็นที่ต้องการมากของนักสะสม

ในขณะที่สามีสะสมพระบูชา มัญชุสาเองก็ชื่นชอบงานพุทธศิลป์ ซึ่งเป็นงานพระพุทธรูปที่ออกแบบโดยศิลปิน จึงมีความงามที่แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่จัดสร้างโดยวัดต่างๆ ด้วยการนำศิลปะเข้าไปสร้างสรรค์รายละเอียดและลวดลาย ไม่ว่าจะเครื่องทรง ฐานพระ โดยงานพุทธศิลป์นี้มัญชุสาเก็บสะสมมานานกว่าสิบปีแล้ว และวันนี้ก็แบ่งปันให้กับคนที่สนใจรับช่วงไปชื่นชมด้วย

“ในห้องนี้เป็นการเก็บเพื่อการลงทุนทั้งหมด เราทำแกลเลอรี่ให้เป็นพื้นที่กลางของคนที่อยากสะสมงานเข้ามาซื้อขาย ถ้ายังไม่มีความรู้ก็ขอความรู้จากที่นี่ได้ อีกส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำคือให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางรวมผลงานของศิลปินไทยที่ตอนนี้อยู่กันคนละที่ทาง ให้ที่นี่เป็นเวทีหนึ่งของศิลปิน และเราอยากสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานประติมากรรม ให้มีพื้นที่โชว์ผลงานของตัวเอง เพราะศิลปินทุกคนก่อนจะมีชื่อเสียงเขาต้องเริ่มต้นจากการเป็นศิลปินโนเนม เขาจะมีชื่อเสียงโด่งดังไม่ได้ถ้าไม่มีคนให้โอกาสหรือให้พื้นที่เขา การสะสมงานศิลปะก็เหมือนการซื้อหุ้นน่ะค่ะ เรากำลังมองหาหุ้นตัวใหม่ๆ ที่สามารถจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าในอนาคตได้ แต่การที่งานของเขาจะมีมูลค่า ก็ต้องมาจากการสนับสนุนหรือผลักดันหลายๆ ส่วนด้วย

“เราพยายามจะสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานของศิลปินออกไปอยู่ในมือนักสะสมท่านอื่น เพราะการเปลี่ยนมือจะทำให้เกิดมูลค่าตามกลไกของมันเอง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงาน เมื่อไรที่งานนี้มีการเปลี่ยนมือ นั่นหมายถึงมูลค่าของงานชิ้นนั้นจะยิ่งทวีขึ้นไปเรื่อยๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าฝีมือศิลปินไทยไม่แพ้ศิลปินชาติใดในโลก ทั้งแง่ความคิด จินตนาการ หรือแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดชิ้นงาน หากเราทำให้ผลงานของศิลปินไทยไปวางอยู่ในแกลเลอรี่ต่างประเทศหรืออยู่ในมือนักสะสมต่างประเทศได้ เราจะยินดีมากกว่าการลงทุนเก็บงานของศิลปินต่างชาติเอาไว้กับตัวเสียเอง”

นอกจากเป็นตัวกลางให้นักสะสมได้เข้ามาสัมผัสชิ้นงานประติมากรรมที่มีมูลค่าในอนาคตแล้ว ณ สยาม แกลเลอรี่ ยังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหรือหน่วยงานได้จัดนิทรรศการไม่ว่าจะเพื่อการศึกษาหรือเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ว่าจะในแง่ไหนแล้ว เพื่อให้ศิลปะได้ใกล้ชิดกับทุกคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเพียงชื่นชมหรือค้นหาแรงบันดาลใจ ก็สามารถเข้าชมงานได้ฟรีทุกวันที่แกลเลอรี่เปิดทำการ

Fact Box

ณ สยาม แกลเลอรี่ ตั้งอยู่บนถนนลาดพร้าว ระหว่างซอยลาดพร้าว 122-124 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 09.30-18.00 น. โทร. 02-514-0600, 082-559-1444 และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://m.facebook.com/nasiamgallery/

Tags: , , ,