คุณพลิกแคตตาล็อกห้างขายเครื่องเรือนสแกนดิเนเวียนสวยหรูดูอบอุ่น คล้อยตามความงาม แล้วเงยหน้าขึ้นมองห้องตัวเอง จะดีแค่ไหนถ้าซื้อโต๊ะตัวนี้มาวางที่มุมนี้ มีชั้นวางไม้ไนต์เบิร์ชมาประกอบเข้ากับตู้หนังสือไม้โอ๊ค จินตนาการว่าคนรักเดินไปหยิบหนังสือแล้วหันมายิ้มมุมปากให้คุณ

คุณตัดสินใจว่านั่นคือชีวิตที่มีความสุข คุณคำนวณราคา แล้วเริ่มเก็บหอมรอมริบ

Horrorstör หรือ เฮี้ยนสิงห้าง เขียนโดย เกรดี เฮนดริกซ์ (Grady Hendrix) เป็นหนังสือนวนิยายที่ส่งมอบความรู้สึกน่าประทับใจที่ว่านั้นตั้งแต่หน้าปกแรกในฉบับดั้งเดิม เจตนาทำเลียนแบบแคตตาล็อกอิเกียจนอาจหยิบสลับกันได้ ทั้งแบบอักษร สไตล์การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ แต่ถ้าหากสังเกตให้ดี ในกรอบรูปภาพเบื้องหลัง คือความสยองขวัญที่ซ่อนอยู่ ท่ามกลางบ้านที่ดูอบอุ่นน่านอน ซึ่งสะท้อนเรื่องราวภายในหนังสือเล่มนี้

เป็นความกวนประสาทอย่างแรกที่จะดึงเราเข้าสู่ประเด็นที่จริงจังกว่านั้น

เมื่อแรกตีพิมพ์ในปี 2014 Horrorstör ได้รับการนิยามประเภทว่าเป็น Comedy horror สร้างความฮือฮาในหมู่นักวิจารณ์หนังสือ และได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นซีรีส์

หนังสือเล่มนี้แปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย โตมร ศุขปรีชา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book ภายในเล่ม ยังคงออกแบบหน้าเปิดแต่ละบทเหมือนกับต้นฉบับ คือมีลักษณะเป็นรูปแบบรายการสินค้าในแคตตาล็อก มีชื่อสุดแสนสแกนดิเนเวียนเป็นชื่อบท เผยรายละเอียดความกว้าง ยาว สูง สีที่มีให้เลือก คุณสมบัติ เลขสินค้า พร้อมคำบรรยายที่ทำให้อยากควักบัตรจ่าย พร้อมกับจินตนาการในหัวว่าชีวิตจะดีขึ้นเพราะสิ่งนี้

ทำไมต้องเป็นห้างขายเฟอร์นิเจอร์ แถมยังต้องเป็นแบบอิเกียด้วย?

ผู้เขียนไม่ได้เขินอายที่จะให้ตัวละครกล่าวแทนอย่างโต้งๆ ว่าห้าง ‘ออสก์’ (ORSK) ในเรื่องนั้นจงใจเลียนแบบห้างอิเกีย ทั้งชื่อเฟอร์นิเจอร์ คำโฆษณา และแม้แต่การออกแบบทางเดินภายในห้าง ซึ่งเรียกอย่างงดงามว่า ‘การสร้างประสบการณ์การช็อปปิง’ ทุกเส้นทางเดินมีความหมาย ทุกองค์ประกอบการจัดวางมีเป้าประสงค์ให้ลูกค้าควักเงินจ่าย …โดยรู้ตัวแต่ควบคุมตัวเองไม่ได้

น้ำเสียงการประชดประชัน เริ่มตั้งแต่การที่เฟอร์นิเจอร์ซึ่งสะท้อนชีวิตเอกเขนก กลับกลายเป็นสิ่งเดียวกับสาเหตุที่คนจำนวนหนึ่งต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ซึ่งหมายรวมทั้งพนักงานในออสก์เอง และทั้งลูกค้าที่อยากได้มันแล้วต้องไปทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อมัน

ขึ้นชื่อว่าเป็นนิยายสยองขวัญ (แม้จะแทรกความตลกขบขันมาด้วย) การวางโครงเรื่องจึงจำกัดที่ตัวละครหลักจำนวนน้อย ได้แก่ พนักงานออสก์ห้าคน เอมี่ เบซิล แมตต์ ทรินิตี้ และรูธ กับตัวละครปริศนาอีกหนึ่งตัว ภายในสถานที่ปิดอย่างห้างออสก์ ยามกลางคืน ร้างไร้ผู้คน

 

เฟอร์นิเจอร์ซึ่งสะท้อนชีวิตเอกเขนก กลับกลายเป็นสิ่งเดียวกับสาเหตุที่คนจำนวนหนึ่งต้องทำงานตัวเป็นเกลียว

เนื้อเรื่องเล่าผ่านมุมมองของเอมี่ พนักงานออสก์ที่ไม่ค่อยเอาการเอางาน และมองว่าการทำงานเป็นความจำใจเหลือทนของชีวิต เพราะเธอเองติดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แถมยังต้องเร่งหาเงินมาจ่ายคืนค่าเช่าบ้านที่เช่าร่วมกับคนอื่นๆ ก่อนจะโดนเตะโด่งออกจากบ้าน การรักษางานไว้จึงเป็นความจำเป็นที่ทั้งเกลียดทั้งหวงแหน

ในตอนหนึ่ง เธอนิยามตนเองว่า “ล้มเหลวในการทำอะไรก็ตามในชีวิต นั่นคือธรรมชาติของเธอ ล้มเหลวและเลิก ถ้าใครผ่าเธอออกมา จะเห็นความล้มเหลวและเลิกล้มอยู่ในกระดูกของเธอ” (ตอน HUGGA หน้า 154) ซึ่งนี่เองคือผลผลิตที่ค่านิยมในสังคมกระทำต่อคนคนหนึ่ง

แม้ว่าเอมี่จะคิดว่าตัวเองแสนล้มเหลว แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ชื่นชมกับการงานที่ทำอยู่ และมีทัศนคติลบๆ กับองค์กรที่ทำงานให้ เธอพูดถึงออสก์ว่า บนผนังของห้างมีป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า ‘งานหนักทำให้ออสก์เป็นครอบครัวเดียวกัน งานหนักนั้นฟรีเสมอ’ ซึ่งในความเห็นของเธอ คำพูดนั้นเป็นคำพูด ‘ตอแหล สไตล์ยุโรป’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ออสก์สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบห้างอื่น แต่มันไม่มีอะไรแย่ไปกว่าห้างที่เสแสร้งเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น (ตอน ARSLE หน้า 47)

ต่างจากเอมี่ เบซิลและรูธเป็นพนักงานที่มุมานะทำงานแบบไม่หือไม่อือ เบซิลมีฐานะเป็นหัวหน้าของคนทั้งหมด และเขามองว่าการ

ทำงานเปรียบดังศีลธรรมของชีวิต ส่วนรูธยิ้มรับอุปสรรคต่างๆ ตราบใดที่เธอยังรักษางานและชีวิตปกติสุขอย่างนี้ไว้ได้ ในวัยที่ไม่พร้อมจะเริ่มต้นผจญภัยกับอะไรใหม่ๆ แล้ว

เรื่องมีอยู่ว่า จู่ๆ ห้างที่ทำหน้าที่บริการความสุขให้ผู้คนในยามกลางวันก็เกิดเรื่องผิดปกติขึ้น เฟอร์นิเจอร์ถูกทำลายเปรอะเปื้อน ห้องน้ำมีกราฟิตีข้อความประหลาดปรากฏขึ้นอย่างไม่มีที่มา เบซิลทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องสืบสวนหาสาเหตุ ก่อนที่เรื่องจะไปถึงหูผู้บริหารระดับสูง อันจะกระทบต่อตำแหน่งและความภาคภูมิใจในตัวเองของเขา

เขาจึงขอให้เอมี่และรูธอยู่ยาม คอยเดินตรวจตราตอนกลางคืน เพื่อจับคนร้ายให้ได้

เอมี่เห็นแก่เงินค่าตอบแทนที่จะได้จากการทำล่วงเวลา และรูธพร้อมใจจะทำเพราะมองว่ามันคือหน้าที่

ในที่นี้ ความรับผิดชอบ ความจน และความหวั่นวิตกต่อการเปลี่ยนแปลง คือปัจจัยที่นำสู่ความสยอง

พวกเขาเดินหน้าสู่ความมืด ไปเจอเหตุการณ์เสี่ยงชีวิตและวิญญาณอาฆาต

 

ความรับผิดชอบ ความจน และความหวั่นวิตกต่อการเปลี่ยนแปลง คือปัจจัยที่นำสู่ความสยอง

ประเด็นในเรื่องนำสู่บทวิพากษ์สังคม ทั้งการแขวะวิธีคิดที่สมาคมคนรักงานจะต้องร้องกรี๊ด เช่น “แส้ของข้าจะเฆี่ยนแยกสัตว์ร้ายในตัวเจ้าออกมา แล้วบังคับให้เจ้าไปทำงาน เพราะงานคือการรักษาทางศีลธรรมที่จะช่วยเยียวยาความคิดที่ตกต่ำของเจ้า” และ “ให้งานหนักรักษาความอ่อนแอภายในจิตใจของเจ้า” (ตอน FRANJK หน้า 131)

เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ เฟอร์นิเจอร์ในบทเปิดแต่ละบทกลายร่างเปลี่ยนรูปไปเป็นเครื่องทรมาน เช่น เฟอร์นิเจอร์แห่งการทำซ้ำ การนั่งติดเก้าอี้ และการเดินไปโดยไม่มีจุดหมาย

เราพบว่าสิ่งที่น่ากลัว (หรือสิ่งที่ เฮนดริกซ์ ผู้เขียน ตั้งใจออกแบบให้เรากลัว) ไม่ใช่ผี แต่เป็นสิ่งที่ทุนนิยมทำกับสมองของเรา ทำให้เราแก้ปัญหาและเอาตัวรอดด้วยวิธีสามัญตามสัญชาตญาณไม่ได้ และตัดสินใจทำอะไรตาม ‘คู่มือ’ ของการเป็นพนักงานดีเด่น เช่นตอนที่เหตุการณ์เริ่มไม่ปกติ มีคนถูกผีสิงจนกรีดคอตัวเอง แต่เบซิลยังคงไม่เดินหนีออกไปจากเหตุการณ์สยดสยอง

“ผมเป็นมืออาชีพ” เบซิลพูด “นี่คือความหมายของการเป็นมืออาชีพ เราจะเดินออกไปจากหายนะแล้วคิดว่าจะมีใครทำความสะอาดให้ไม่ได้” (ตอน MESONXIC หน้า 140)

ความสุดโต่งของเบซิลไปถึงขีดสุด เมื่อเขายืนเผชิญหน้ากับฝูงผีที่กรูกันเข้ามาอย่างรวดเร็ว แล้วพูดอะไรไม่ได้ นอกจากสิ่งที่ได้รับการอบรมมา “ออสก์ปิดแล้ว พวกคุณกำลังบุกรุกทรัพย์สินเอกชนอยู่นะ” (ตอน BODAVEST หน้า 164)

เมื่อมีเจ้านายแบบนี้ เอมี่จะเอาชีวิตรอดมาได้หรือไม่ ที่เหลือคงต้องให้ผู้อ่านไปรอลุ้นกันในเล่ม

โดยภาพรวม เฮี้ยนสิงห้าง อาจจะไม่สะใจคอหนังสือแนวสยองขวัญนัก เพราะอันที่จริงหนังสือแทรกไปด้วยการเสียดสีจิกกัด เหมือนอ่านคอลัมน์ประชดของนักเขียนปากจัด มีความสยองขวัญเป็นเพียง ‘รูปแบบ’ การนำเสนอ ที่หากขวัญอ่อนหน่อยก็จะสะดุ้งตกใจบ้าง

 

 

FACT BOX:

เฮี้ยนสิงห้าง ฉบับภาษาไทย แปลโดย โตมร ศุขปรีชา ออกแบบปกโดย wrongdesign และภาพวาดปกโดย น้ำใส ศุภวงศ์ ตีพิมพ์เมื่อ กันยายน 2560 โดยสำนักพิมพ์ a book

ซื้อได้ที่ http://godaypoets.com/HORRORSTOR

Tags: , , , , , , , , ,