“พวกเขาพรากลูกไปจากฉันด้วยเหตุผลเดียวคือ ฉันเป็นเลสเบี้ยน”

1

นักข่าวสาวแห่งสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษ ได้รับข้อมูลจากหญิงชราวัย 74 ปี จูดี มอร์ริส (Judi Morris) เล่าถึงชีวิตสุดลำบากที่เธอต้องเผชิญมาตลอดชีวิต กับคำว่า ‘แม่เลสเบี้ยน’

จูดีเล่าว่า เธอแต่งงานมีลูกกับชายหนุ่ม ก่อนจะพบตัวตนว่าเป็นเลสเบี้ยน แม้จะคุยกับสามีอย่างเข้าใจ พร้อมจะแยกทางไปมีชีวิตของตัวเอง แต่สิ่งที่ทั้งสองทะเลาะและมีปากเสียงกันมากนั่นก็คือคำถามว่า ลูกจะอยู่กับใคร

“เขาควรอยู่กับฉันมากกว่า” จูดีย้อนความหลัง

กระนั้นเมื่อการต่อสู้ว่า ใครควรมีสิทธิในการเลี้ยงดูบุตรขึ้นสู่ชั้นศาล ผู้พิพากษาและกฎหมาย พร้อมทั้งสังคมต่างฉายอคติสุดเจ็บปวด พวกเขายืนยันว่า ไม่สามารถให้แม่เลสเบี้ยนดูแลลูกได้ พ่อซึ่งเป็นผู้ชายเท่านั้นถึงจะมีสิทธิในส่วนนี้

นั่นทำให้จูดีถูกพรากลูกไปเมื่อหลายสิบปีก่อน

การไปอยู่กับพ่อที่เป็นผู้ชายกลับทำให้เด็กน้อยโตมามีปัญหา เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เจ้าตัวเลือกเฮโรอีนเป็นวิธีหลบหนีชีวิต ติดหนักมากจนนำไปสู่การก่อเหตุอาชญากรรม ถูกจับติดคุก กว่าที่จูดีจะรู้และเข้าช่วยเหลือลูก ก็สายเกินไปแล้ว

“เขาได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ไม่ได้รับเสื้อผ้าที่เพียงพอ และเห็นในสิ่งที่เด็กไม่ควรเห็น”

ปี 2022 ลูกรักของจูดีก็เสียชีวิตจากการติดเชื้อผ่านทางเข็มฉีดยา ปิดฉากชีวิตด้วยวัยเพียง 51 ปี มันทำให้หญิงชราใจสลาย

“ถ้าฉันได้สิทธิดูแลลูก ชีวิตเขาจะต้องต่างไปจากเดิมแน่นอน”

นักข่าว The Guardian รวบรวมข้อมูลก่อนจะพบว่า จูดีไม่ใช่แม่เลสเบี้ยนรายเดียวที่เจอปัญหานี้ ในช่วงปี 1970-1990 ผู้พิพากษาอังกฤษต่างมีอคติพรากเด็กไปให้พ่อดูแลถึงกว่า 30 กรณีด้วยกัน แทบไม่มีกรณีไหนเลยที่จะยกลูกให้กับแม่ที่เป็นเลสเบี้ยน

หญิงสาวรายหนึ่งเผยว่า เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์บุกเข้าบ้าน แล้วพาตัวลูกของเธอออกไป ขณะที่เด็กน้อยวัยแค่ 2 ขวบ เพียงเพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน กว่าจะได้เห็นหน้าลูกอีกครั้งก็ต้องใช้เวลา 3 ปีในการต่อสู้ จนศาลอนุญาตให้สามารถเจอลูกได้แค่เดือนละ 1 วันเท่านั้น

“นี่คือชัยชนะที่ฉันได้รับ” เธอเล่าอย่างเจ็บปวด

สำหรับสาเหตุที่เด็กไม่สามารถพบแม่ได้มีเพียงข้อเดียวคือ หญิงผู้ให้กำเนิดเป็นเลสเบี้ยน กฎหมายบ้านเมืองมองว่า เป็นอาการป่วย จึงไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กอยู่ด้วย

ไม่เพียงแม่เลสเบี้ยนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ลูกที่ถูกกีดกันจากพ่อและทางการไม่ให้พบมารดาบังเกิดเกล้าก็มีความเจ็บปวดเช่นกัน

“ฉันอายุได้แค่ 8 ขวบ ตอนพวกเขาพาตัวไปจากแม่”

นี่คือความเจ็บปวดที่สุดของคนเป็นแม่ หลายคนเลือกก้มหน้ายอมรับชะตากรรม แต่หลายคนขอท้าทายอำนาจกฎหมาย พวกเธอไม่ยอมแพ้ 

ในสหรัฐอเมริกามีการก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือแม่เลสเบี้ยน มีนักกฎหมายเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับพวกเธอ และหลายครั้ง เพื่อป้องกันการเอาเด็กคืน ทางกลุ่มจึงมีเครือข่ายใต้ดินเพื่อปฏิบัติการสุดระห่ำ นั่นก็คือ

“การลักพาตัวลูกให้มาอยู่กับแม่เลสเบี้ยน”

หลายกรณีจบลงด้วยการถูกตำรวจตามตัวพบ แม่ติดคุก ส่งลูกไปอยู่กับพ่อ แต่บางเคสแม่และลูกรอดพ้นจากทางการ ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขจนถึงปัจจุบัน

ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1975 ที่สหรัฐฯ

“มีคนพาตัวฉันไป โดยพวกเขาลืมไปว่าฉันทิ้งตุ๊กตาไว้ ตอนนั้นฉันร้องไห้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะฉันต้องการพ่อ

“จนเมื่อขึ้นรถไป ฉันถึงได้พบกับแม่”

2

จอร์เจตต์ ดูบัวส์ (Georgette DuBois) ไม่เสียเวลาเหมือนแม่เลสเบี้ยนฝั่งอังกฤษ ที่นี่สหรัฐฯ เธอรู้ดีว่า หากต้องขึ้นศาลเรียกร้องสิทธิการดูแลลูก ผู้พิพากษาและองคาพยพของกฎหมาย จะไม่มีวันยืนข้างเธอ พวกเขาจะไม่มีวันเห็นใจแม่เลสเบี้ยน

ดูบัวส์จึงตัดสินใจครั้งสำคัญ เธอติดต่อทนายความให้ติดต่อไปยังเครือข่ายใต้ดินของผู้หญิงเลสเบี้ยน พร้อมทักหาเพื่อน 3 คน ขึ้นรถขับมุ่งหน้าไปบ้านของอดีตสามี

เพื่อนหญิงของเธอปลอมตัว อ้างเป็นนายหน้าขายบ้าน เคาะประตูแล้วก็พบแฝดของอดีตสามีดูบัวส์ การพูดคุยมีขึ้นเพื่อเบี่ยงความสนใจ ระหว่างนั้นแม่เลสเบี้ยนกับผู้ร่วมก่อเหตุเข้าไปในบ้าน แล้วเอาผ้าห่มคลุมเด็กหญิงวัย 3 ขวบ ลูกของเธอเองที่ชื่อว่า คารา (Kara) ออกมา

ขณะนั้นเด็กน้อยกำลังเล่นตุ๊กตา เธอไม่ทันรู้ตัวว่า ถูกพาตัวออกจากบ้านแล้วนำตัวขึ้นไปในรถ แม้ฝาแฝดของอดีตสามีจะพบดูบัวส์แล้วถามด้วยความสงสัยว่า พาตัวลูกไปไหน

“ฉันไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น ได้แต่รีบเดินไปขึ้นรถ”

ตอนนั้นคาราตกใจ ทำอะไรไม่ถูก คิดถึงตุ๊กตาและพ่อ เธอไม่เห็นว่าใครอุ้มไป จนขึ้นรถแล้วขับออกไป ก่อนหันไปเจอกับแม่

ดูบัวส์เติบโตมาในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ในชุมชนเคร่งศาสนา พออายุได้ 19 ปี เธอก็แต่งงานกับชายหนุ่มในชุมชน

“ตอนนั้นฉันคิดว่าตัวเองทำเรื่องที่ถูกต้องแล้ว”

หญิงสาวให้กำเนิดคาราและเลี้ยงดูเด็กน้อย ดูเหมือนเป็นครอบครัวที่อบอุ่น จนกระทั่งสามีเริ่มมีเมียน้อย ส่วนดูบัวส์ก็พบว่า ตัวเองชอบผู้หญิง

“ฉันไม่ได้คิดว่า ตัวเองเป็นเลสเบี้ยน ฉันแค่กำลังมีความรัก น่าเสียดายที่อดีตสามีตายเสียก่อน เลยไม่เคยถามเขาว่า รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้”

เมื่อฝ่ายชายระแคะระคาย จนเค้นความจริง น่าแปลกคือ เขากลับเปิดกว้างเรื่องนี้ให้กับดูบัวส์ หากอยากมีคนรักเป็นผู้หญิงก็ทำได้ แค่ย้ายออกไป ดูเหมือนทั้งสองจะตกลงกันอย่างลงตัว

แต่อยู่ดีๆ ฝ่ายชายกลับพาลูกสาวย้ายไปอยู่ต่างเมือง

“มีคนบอกว่า เขาทำแบบนี้เพื่อปกป้องคารา ฉันคิดว่าอดีตสามีคงคิดว่า จะปล่อยให้ลูกอยู่กับเลสเบี้ยนแบบนี้ไม่ได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเล่า เลยพาลูกไปที่อื่น”

ตอนแรกดูบัวส์อยากจะสู้เรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย เพราะตอนนั้นแพทยสภาอเมริกา ถอดพฤติกรรมรักร่วมเพศจากอาการป่วยทางจิตไปแล้วในปี 1973 แต่ศาลแทบทุกแห่งทั่วประเทศ ปฏิเสธการให้สิทธิเลี้ยงดูเด็กแก่แม่เลสเบี้ยน พวกเขาจะยกให้พ่อ ป้า น้า อา ปู่ หรือสถานสงเคราะห์มากกว่าจะยินยอมให้แม่เลสเบี้ยน โดยไม่พิจารณาหรือสนใจว่าอีกฝ่ายจะมีความพร้อมในการเลี้ยงดูดีแค่ไหน

ศาลไม่เคยอนุญาตแม้แต่กรณีเดียว

นั่นจึงทำให้ดูบัวส์ตัดสินใจลักพาตัวลูกสาวไปอยู่ที่อื่นแทน

เธอเริ่มจากการสืบเสาะหาที่อยู่ของอดีตสามี โดยไปที่บ้านซึ่งทั้งสองเคยใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนพบเอกสารการใช้บัตรเครดิตแจ้งว่า ฝ่ายชายย้ายไปอยู่ที่รัฐมิชิแกน (Michigan) แล้ว

เมื่อรู้ที่หมาย ดูบัวส์จึงติดต่อทนายของตัวเอง แล้วหาเพื่อนหญิง 3 คน วางแผนและตัดสินใจติดต่อสมาคมช่วยเหลือแม่เลสเบี้ยนเพื่อหาสถานที่ซ่อนตัว อเมริกาเป็นประเทศกว้างใหญ่ไพศาลเพียงพอที่จะให้แม่กับลูกได้อยู่ร่วมกันแบบไม่มีใครมาพรากได้แน่นอน

เมื่อตกลงสถานที่ได้จึงเริ่มลงมือก่อเหตุ และมันก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย

ดูบัวส์กับลูกสาวได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้งแล้ว

และครั้งนี้ทั้งสองจะไม่แยกจากกันอีกต่อไป

3

คาราเล่าให้นักข่าว The New York Times ที่เกาะติดเรื่องนี้ว่า แม่พาเธอไปอยู่ในชุมชนเลสเบี้ยน ซึ่งทีแรกเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนแต่งตัวสบายๆ ไม่แต่งหน้า แม่พยายามปกปิดตัวตนให้ตัวเองและเธอด้วย

แม้จะมีชีวิตปกติ แต่ลึกๆ คาราหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า จะมีคนพาตัวเธอไปจากแม่ นี่เป็นความกังวลที่เกาะกินจิตใจเด็กน้อยเสมอมา

แต่หากตัดเรื่องความหวาดหวั่นตรงนี้ไป พบว่าดูบัวส์พยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกสาว ณ ชุมชนที่อยู่กันเป็นไปอย่างสงบสุข และไม่ได้มีเพียงครอบครัวของดูบัวส์เท่านั้น แต่ยังมีแม่เลสเบี้ยนคนอื่นที่พยายามเลี้ยงดูลูกตัวเอง มีเครือข่ายมากมายคอยช่วยเหลือ พาไปเปลี่ยนชื่อ ซ่อนตัว และช่วยหนีออกนอกประเทศ 

ทุกคนทำไปเพื่อสิ่งเดียว อยากให้แม่กับลูกได้อยู่ด้วยกัน และเลี้ยงดูเด็กให้ดีที่สุด

นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวนี้ยืนยันว่า แม่เลสเบี้ยนหลายคนใช้ช่องทางกฎหมาย เพื่อขอสิทธิดูแลเลี้ยงดูลูกแล้ว แต่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม แม้จะยืนยันว่าตัวเองดีพร้อมกว่าฝ่ายพ่อแค่ไหน ศาลก็ไม่เคยอนุญาต

เมื่อเส้นทางกฎหมายไม่ได้ผล จึงต้องใช้แผนสำรอง นั่นก็คือการลักพาตัวเด็กแทน

คาราเล่าว่า แม้ชีวิตหลังถูกลักพาตัวจะไม่มีพ่อ ซึ่งเธอคิดถึงอยู่ตลอดเวลา แต่การอยู่กับแม่ก็เติมเต็มความสุข เพราะดูบัวส์สนับสนุนลูกทุกอย่างเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ ไม่ว่าอยากทำอะไร เรียนอะไร จัดให้ได้เสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น เลสเบี้ยนคนอื่นก็ยังช่วยเหลือพูดคุยสนับสนุนคารา เมื่อโตมาคาราพบว่า ตัวเองชอบผู้ชาย แต่ก็ไม่มีใครว่าอะไรทั้งสิ้น คนในชุมชนต่างมองทุกคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม และพร้อมสนับสนุนให้เติบโตขึ้นอย่างที่เจ้าตัวต้องการ

เมื่อคาราอายุได้ 15 ปี มีข่าวส่งมาถึงครอบครัวแม่ ก่อนจะถูกส่งต่อมายังชุมชนเพื่อบอกข่าวร้ายแก่ดูบัวส์และคาราว่า อดีตสามีและพ่อของเด็กน้อยที่ถูกลักพาตัว ป่วยเป็นมะเร็งสมอง และเขาร้องขอทางครอบครัวของอดีตภรรยาว่า

“พาคารามาพบหน้าหน่อย”

ลูกสาวที่ไม่ได้เจอพ่อเป็นสิบปี รำลึกถ้อยคำวิงวอนว่า

“พ่ออยากเห็นหน้าฉันครั้งสุดท้ายก่อนตาย”

หลังถูกลักพาตัวหายไปกว่า 12 ปี บัดนี้ลูกสาวกับบิดาพร้อมมารดาจะได้พบหน้ากันอีกครั้ง

ดังที่คาราเล่ากับนักข่าวเสมอว่า เธอกลัวว่าพ่อจะตามตัวเจอและจับแม่ไป แม้จะอยากพบหน้าพ่อ แต่เธอรักและพอใจที่อยู่กับแม่มากกว่า 

กระนั้นสิ่งที่แม่กับลูกสาวคู่นี้ครุ่นคิดในใจเสมอมาคือ หลังก่อเหตุลักพาตัว ทำไมไม่เคยมีทางการหรือตำรวจสืบสวนไล่ล่าพวกเธอเลย

คำตอบของปริศนาเรื่องนี้ได้รับการเฉลย เมื่อดูบัวส์พาคาราไปพบหน้าอดีตสามีและพ่อของลูกอีกครั้ง

“กลายเป็นว่า หลังรู้ว่าใครเอาลูกไป เขาไม่เคยไปแจ้งความหรือร้องต่อศาล ให้สั่งตำรวจออกไปล่าตัวเลย พ่อบอกว่า แม่รักคารามากและต้องดูแลหนูอย่างดีที่สุดแน่นอน” 

หลังเกิดเหตุ อดีตสามีของดูบัวส์ย้ายไปอยู่รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่งงานใหม่มีลูก ชีวิตอบอุ่นร่ำรวย และทุกคนนิสัยดี ต้อนรับอดีตภรรยากับลูกสาวอย่างคึกคัก

“ลูกๆ ของพ่อ ให้ของขวัญฉันด้วย” คารารำลึกความหลัง

ดูบัวส์ ลูกสาว และอดีตสามี รำลึกความรัก ครอบครัวที่แคลิฟอร์เนียมีทุกอย่างพร้อม น่าอิจฉา กระนั้นคาราก็ไม่เสียดายชีวิตที่เกิดขึ้น เพราะแม่ก็ดูแลเธออย่างดีที่สุดเหมือนกัน

โลกผ่านการดิ้นรนต่อสู้ เพราะคนไม่จำนน กว่ากฎหมายจะปรับตัว กว่าสังคมจะยอมรับว่าความเป็นพ่อเป็นแม่ ไม่ควรถูกจำกัดแค่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น แต่หมายถึงศักยภาพที่จะดูแลเด็กให้เติบโตในสังคมได้ 

กว่าจะถึงวันนั้น มีหลายครอบครัวที่ปวดร้าว มีพ่อเป็นเกย์ มีแม่เป็นเลสเบี้ยน ถูกตราหน้าประณามบังคับว่า คนเหล่านี้ไม่อาจดูแลลูกให้เติบโตมาได้ ต้องพรากแยกขาด ทำให้พ่อแม่เจ็บปวด เพราะไม่อาจกอดปลอบลูกยามทุกข์ ร่วมยินดียามเด็กเป็นสุขได้

ทุกอย่างเดินทางมาไกลมาก ท่ามกลางอดีตแสนลำบากที่ไม่ควรลืม คาราย้ำเตือนกับสื่อว่า

“ถ้าฉันเป็นแม่ก็คงทำแบบเดียวกัน นั่นก็คือหาลูกให้พบ พาไปอยู่ด้วย และดูแลอย่างดีที่สุด” 

วันนี้ดูบัวส์แก่ชรา ชีวิตผันผ่านอะไรมามาก ทนต่อเสียงดูถูกจากสังคม มีความรักหลายครั้ง ดีบ้างล้มเหลวก็เยอะในชีวิตคู่ แต่ทุกลมหายใจ เธอมอบให้ลูกสาวคนนี้เสมอ

ปัจจุบันคาราเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปะ แม้ชีวิตจะเจอเรื่องสุดแปลก ไม่ได้สมบูรณ์ แต่เธอก็ผ่านมันมาได้ เพราะแม่เลสเบี้ยนคนนี้

ดูบัวส์มองหน้าลูก แล้วพูดออกมาว่า “เราสองคนดูแลกันและกัน พึ่งพากัน ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้”

คารายิ้ม “เราผูกพันกัน น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมกว่า”

“แม่เห็นด้วย”

มันคือการต่อสู้ ที่ทุกฝ่ายทุกคนต้องเสียสละมากมาย แม้มันจะเว้าแหว่ง แม้มันจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็คือชีวิตที่ทั้งสองได้เลือก ได้อยู่ร่วมกัน เยี่ยงมนุษย์ เหมือนใครหลายคน

ถ้อยคำที่งดงามและประทับใจอันเป็นบทสรุปของทุกอย่าง เกิดขึ้นในประโยคต่อจากนี้ เมื่อคาราหันไปสบตากับดูบัวส์ แล้วพูดออกมาว่า

“แม่คะ หนูรักแม่ค่ะ”

หญิงชรายิ้ม ก่อนกล่าวตอบไปว่า

“แม่ก็รักลูกเช่นกันนะ”

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theguardian.com/commentisfree/2024/dec/18/lesbian-mothers-scandal-custody-cases-families

https://www.bbc.co.uk/programmes/m0025vb2

https://www.nytimes.com/2025/06/29/us/lesbian-mothers-underground-kidnapping.html?smid=nytcore-ios-share&referringSource=articleShare

https://time.com/6101095/nuclear-family-hbo/

Tags: , , , , ,